Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อเสนอของ อ.แหวว เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฯ เกี่ยวกับหมวด ๒ ประชาชน


ข้อเสนอเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฯ ในภาพรวมและบททั่วไป

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกการเตรียมข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10153231023318834

----------------------------------------------------------

สำหรับ ๑๐ นาทีแรกเพื่อเสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น ดิฉัน รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร สมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ หมายเลขที่ ๑๕๕ ขอมีความเห็น ๓ ประการดังต่อไปนี้

ในประการแรก ดิฉัน ขอแสดงความชื่นชมที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ประสบผลสำเร็จในการรักษาโครงสร้างและสาระสำคัญในการยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรไทยได้ตามธรรมเนียมปฏิบัติไทยที่มีมา และยังผสมผสานเอาแนวคิด "ใหม่ที่จำเป็น" ในการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตเอาไว้ได้มากทีเดียว กฎหมายที่ดีที่สุดที่ควรยกร่างขึ้นในสภาของประเทศใดก็ตามก็ควรจะเป็นกฎหมายที่ตอบเสนอความต้องการของสังคมในประเทศนั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญยิ่งแล้ว ก็จะยิ่งต้องตระหนักในปัญหาและโอกาสที่ประเทศเป็นอยู่หรือควรจะเป็นและคำว่า "ประเทศ" นั้น ย่อมจะต้องให้ความสำคัญกับประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะ"ประชาชนที่ด้อยโอกาส" ดิฉันก็ตระหนักได้ในหลายวรรคตอนในหลายมาตราของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่รับรองสิทธิของเหล่าคนด้อยโอกาสและกระบวนการตามกฎหมายและกระบวนยุติธรรมเพื่อรับรองและพัฒนาสิทธินี้ให้แก่บุคคลที่อยู่ในความดูแลของรัฐไทยดิฉันจึงมีความชื่นชมและมีความหวังว่า ร่างรัฐธรรนูญฯ ฉบับนี้น่าจะนำไปสู่การจัดการให้ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีอยู่ในประเทศไทยหมดไปโดยเร็วและป้องกันปัญหาใหม่ให้แก่สังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพความยุติธรรมทางสังคมย่อมจะเกิดขึ้นโดยการปฏิรูปประเทศไทยที่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นกลไกประสิทธิภาพที่สำคัญ

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีหลายช่วงตอนที่ยังมีความคลุมเครือหรือดูมีความไม่สอดคล้องกันจนอาจนำไปสู่ความสับสนในการบังคับใช้ในเวลาต่อไปหรืออาจมีความขาดไปซึ่งหลายเรื่องราวที่สำคัญของประเทศไทยที่ควรจะเพิ่มเติมดิฉันคงไม่อาจกล่าวถึงในรายละเอียดสำหรับทุกปัญหาดังกล่าวมาคงกล่าวถึงได้เพียงบางส่วนและส่งต่อประเด็นที่พบเห็นให้แก่เพื่อนสมาชิกท่านอื่นได้เสนอแนะต่อไป

ในประการที่สอง ดิฉันจึงใคร่ขอกล่าวถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับปัญหาการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย ที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ น่าจะมองเห็น ด้วยว่า ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทยเนื่องจากมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายอันนำไปสู่ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือความหลายรัฐหลายสัญชาติ ที่รัฐควรจะต้องมีกฎหมายเพื่อกำหนดกลไกในการจัดการโดยเฉพาะปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งสร้างความด้อยโอกาสทางกฎหมายแก่มนุษย์ทั้งที่อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย

เราคงต้องตระหนักว่า ในประเทศไทยของเรานี้มีคนในพื้นที่ป่าเขา รวมถึงในหมู่เกาะในทะเลไทยที่ยังประสบปัญหาความไร้สถานะบุคคลที่ชอบด้วยด้วยกฎหมายทั้งที่มีข้อเท็จจริงที่ฟังได้ชัดเจนว่ามีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายแต่เมื่อไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก ก็จะตกเป็น "คนไร้รัฐ"และสถานการณ์ดังกล่าวก็ทำให้ไม่ถูกรับรองสถานะ "คนมีสัญชาติของรัฐใดเลยบนโลก"จึงตกเป็น "คนไร้สัญชาติ" สถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ไม่มีบัตรประชาชนที่แสดงสถานะ"คนที่มีสัญชาติไทย" ซึ่งเป็นทางเข้าสู่สถานะ "พลเมือง"ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้แต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อมิให้คนในสถานการณ์ดังกล่าวยังคงตกหล่นจากสิทธิที่พวกเขาพึงมีดิฉันจึงขอเสนอให้มีการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายในรูปแบบที่ยอมรับในทางปฏิบัติระหว่างประเทศที่เริ่มต้นโดยข้อ๖ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ซึ่งประเทศไทยยอมรับในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๑ในวรรคที่ ๒ ของมาตรา ๔ ในบททั่วไปของร่างรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งข้อเสนอนี้ก็เป็นของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคมชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส อีกด้วย

ดังนั้น ดิฉันจึงขอให้ร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ บัญญัติรับรองเพิ่มเติมแก่มนุษย์หรือบุคคลธรรมดาว่า "บุคคลมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย" และหากปรากฏในบททั่วไปของร่างรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมมีความหมายว่า รัฐไทยตระหนักในหน้าที่ของตนที่จะต้องรับรองและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานดังกล่าวแก่มนุษย์ที่จะได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายตามที่กฎหมายธรรมชาติที่มนุษย์แต่ละคนพึงมีการจัดการปัญหาการรับรองสถานบุคคลตามกฎหมาย กล่าวคือ (๑) การจดทะเบียนคนเกิด (๒)การจดทะเบียนคนอยู่ และ (๓) การจดทะเบียนคนตาย ก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทยซึ่งมีไม่ต่ำกว่า ๓ ล้านคนที่ปรากฏมาอย่างคั่งค้างก็จะได้รับการจัดการอย่างรวดเร็วขึ้นมีการป้องกันปัญหาในอนาคตอย่างรอบด้านมากขึ้น ความเข้าใจผิดว่าการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์เป็นการทำร้ายความมั่นคงของประเทศก็จะหมดไป ทั้งนี้ เพราะปรากฏความชัดเจนในแนวคิดเรื่องนี้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การระบุถึง"สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย" ในรัฐธรรมนูญจะเป็น "จุดคานงัด"ที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้ในความเป็นจริง ทั้งนี้กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของประเทศไทย รวมถึงแนวนโยบายที่ออกตามกฎหมายดังกล่าวมีความพร้อมอยู่แล้วในการให้ความคุ้มครองบุคคลตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้การสร้างความชัดเจนของภารกิจของรัฐไทยในเรื่องนี้จึงมีความคุ้มค่ามากที่สุดที่ไม่ควรมองข้ามไปในโอกาสที่จะมีการปฏิรูปประเทศไทย

ในประการที่สาม ดิฉันใคร่ขอให้ร่างรัฐธรรมนูญฯฉบับนี้ตระหนักในภารกิจที่จะคุ้มครองคนสัญชาติไทยในต่างประเทศ ทั้งนี้ เพราะปรากฏมีคนสัญชาติไทยจำนวนไม่น้อยที่อพยพไปทำงานตลอดจนตั้งถิ่นฐานบนดินแดนของรัฐต่างประเทศ และก็ปรากฏชัดเจนว่าด้วยความเจริญก้าวหน้าของศักยภาพในการเดินทางและสื่อสารคนสัญชาติไทยดังกล่าวก็มิได้ขาดความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับประเทศไทย กล่าวคือ ยังมีทรัพย์สินในประเทศไทย ยังคงไปมาหาสู่กับประเทศไทย ในหลายสถานการณ์ คนดังกล่าวเป็นปัจจัยเด่นในการพัฒนาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศที่พวกเขาไปตั้งบ้านเรือนอยู่การปรากฏตัวของพวกเขาก็คือการปรากฏตัวของสินค้าไทยและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศแม้รัฐธรรมนูญจะนิ่งเฉยในประเด็นนี้รัฐไทยก็มีอำนาจที่จะให้ความคุ้มครองแก่คนสัญชาติไทยในต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย Diplomatic Protection หรือสนธิสัญญาทางไมตรีหรือความตกลงส่งเสริมการค้าการลงทุนหลายฉบับ แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้กฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวจะมีความผูกพันรัฐไทยแต่ก็ไม่สร้างแรงกระตุ้นที่จะมีการสร้างก้าวเดินที่เป็น "จุดคานงัด" ในกลไกการบริหารประเทศเพื่อดูแลคนสัญชาติไทยในต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพดังที่ปฏิบัติกันในทางปฏิบัติของนานาประเทศการคิดใหม่ในเรื่องนี้น่าจะทำให้รัฐไทยย่อมมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่เดียว

ดิฉันจึงขอเสนอให้บัญญัติในวรรค ๒ ของมาตรา ๕ ในร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ว่า "คนสัญชาติไทยย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในหรือนอกประเทศไทย" บทบัญญัตินี้จะสร้างการปฏิรูปในหน่วยงานของรัฐไทยที่มีหน้าที่ดูแลคนสัญชาติไทยในต่างประเทศอยู่แล้วและอาจมีหน่วยงานใหม่และแนวคิดใหม่ที่จะไปดูแลสุขภาวะของคนสัญชาติไทยในต่างประเทศทั้งที่รวยและจนคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีและช่วยตัวเองได้ ก็จะมีความรู้สึกดีกับประเทศไทยและยังคงสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยในขณะที่คนยากจนก็จะได้รับความช่วยเหลือ คนที่ตกอยู่ในวิกฤตการณ์แห่งชีวิตก็จะได้รับการกอบกู้ให้กลับมาสู่ศักยภาพที่จะดำรงชีวิตต่อไป เราคงตระหนักในเคราะห์กรรมของแรงงานประมงไทยที่พบในเกาะอัมบนและเกาะเบนจิน่า ในประเทศอินโดนีเซีย หรือคนสัญชาติไทยในวิกฤตการณ์การเมืองที่ประเทศเยเมนเป็นต้น หากไม่มีการสร้างมาตรฐานการคุ้มครองดังกล่าวตามกฎหมายรวมถึงการมีระบบการให้ความคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพการคุ้มครองคนสัญชาติไทยในต่างประเทศจะเป็นเพียงการช่วยเหลือเฉพาะหน้าเมื่อเกิดวิกฤตการณ์เท่านั้นนอกจากนั้น ความช่วยเหลือยังเป็นไปอย่างล่าช้าการสร้างจุดคานงัดในแนวคิดทั่วไปของรัฐไทยในประเด็นที่สองนี้ ก็เป็นข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคมชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส อีกด้วย

ดิฉันขอขอบพระคุณ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกคนที่ทำร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้มาอย่างดี และมองเห็นทุกคนยากไร้ในความดูแลของรัฐไทย คำว่า "คนยากไร้" ปรากฏตัวในกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยแล้ว ดิฉันตระหนักว่า ท่านทำงานหนัก และท่านก็มีหัวใจสำหรับประชาชนรากหญ้าเป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ท่านพิจารณาสร้างความชัดเจนและจุดเริ่มต้นที่เป็นคานงัดเพื่อสุขภาวะของมนุษย์ในสังคมไทยโดยเฉพาะมนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่ชัดเจนแท้จริงกับประเทศไทย

ดิฉันไม่ขัดแย้งที่ท่านจะให้ความหมายของคำว่า"พลเมือง" ให้หมายความถึง "คนที่มีสัญชาติไทย" เท่านั้น แต่ดิฉันกังวลว่า คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยจะเข้าไม่ถึงเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติไทย จึงตกเป็น"คนต่างด้าวเทียม" ในสายตาของรัฐไทย ในวินาทีสุดท้ายของการนำเสนอนี้ดิฉันจึงขอให้ท่านกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกท่านโปรดสร้างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะเอื้อให้คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยทุกคนไม่ประสบโศกนาฏกรรมจนกลายเป็น"คนต่างด้าวเทียม" และถูกปฏิเสธความเป็นพลเมืองอันทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิที่งดงามตามที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้สร้างการปฏิรูปเพื่อพวกเขา ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

ในท้ายที่สุด ดิฉันขอขอบพระคุณท่านสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและประชาชนทุกท่านที่กำลังฟังการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ

-------------

หมายเหตุ

-------------

๑.ในการประชุมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคมชุมชนเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส หลายครั้งที่ประชุมกังวลในความหมายของคำดังกล่าวที่ยังไม่มีความชัดเจนนักในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และการยกระดับความเป็นพลเมืองขึ้นมากมาย และจำกัดความให้คำว่า "พลเมือง"หมายถึง "คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย" เท่านั้นก็จะทำให้มีมาตรฐานและคุณภาพของสิทธิที่แตกต่างกันระหว่างคนที่เป็นพลเมืองในความหมายใหม่และคนที่ไม่เป็นพลเมืองในความหมายใหม่ เรื่องนี้อาจไม่ใช่ความแตกต่างระหว่างคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยและคนที่ไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยแต่ยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย"ก็จะถูกถือเป็นคนต่างด้าว" กล่าวคือ มีสถานะเป็น "คนต่างด้าวเทียม" ปัญหาความไม่เป็นธรรมจึงอันเกิดขึ้นแก่คนสัญชาติไทยที่ยังโชคร้ายนี้ด้วยต่อไปนี้ จึงอาจมีช่องว่างแห่งการใช้สิทธิของพลเมืองระหว่างคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยที่ได้รับการรับรองแล้วในทะเบียนราษฎรและคนทียังมิได้รับการรับรองดังกล่าว

๒.ดูเหมือนว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการรับรองตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗ เราก็ต้องจำแนกสิทธิออกเป็น ๓ ลักษณะสำหรับคนในสามวงกลมดังกล่าว ปัญหาก็คือ

(๑) สิทธิที่ถูกระบุในร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมสำหรับคนตามธรรมชาติที่พวกเขาเป็นอยู่หรือไม่ ?

(๒) กระบวนการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้สิทธิดังกล่าวเกิดขึ้นจริงสำหรับคนในแต่ละสถานการณ์ได้จริงหรือไม่ ? และจะเกิดขึ้นได้จริงในระยะเวลาตามสมควรหรือไม่ ? และ

(๓) หากคนในแต่ละสถานการณ์เข้าไม่ถึงสิทธิจะมีกระบวนการยุติธรรมที่เหมาะสมสำหรับผู้เข้าไม่ถุงสิทธิหรือถูกละเมิดสิทธิหรือไม่ ?

--------------------------------------

บันทึกเสียงการเสนอในรัฐสภา

--------------------------------------

https://drive.google.com/file/d/0B2CCpo5p0UqDVlBPdjM0Nkx3VjA/view?usp=sharing

--------------------------------------

บันทึกการถอดเสียงการเสนอในรัฐสภาโดย นางสาวปภาวดี สลักเพชร ผู้ช่วยปฏิบัติงานคนที่ ๓ ของ

--------------------------------------

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=470785946405066

หมายเลขบันทึก: 589301เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2015 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2015 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท