Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คนตกเรือที่อัมบนเป็นคนไร้รัฐจริงหรือ ? เป็นคนไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลจริงหรือ ?


กรณีศึกษาคนตกเรือที่เกาะอัมบน : พวกเขาเป็นคนไร้รัฐจริงหรือ ? พวกเขาเป็นคนไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลจริงหรือ ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10153308929803834

---------------

ข้อเท็จจริง[1]

---------------

บริษัท สมุทรสาครห้องเย็น จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายไทย โดยมีผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นคนสัญชาติไทย และมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร นอกจากนั้น บริษัทนี้ยังมีบริษัทลูกซึ่งตั้งตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย โดยใช้ชื่อว่า "บริษัท สมุทรสาครห้องเย็น (มาเลเซีย) จำกัด" ในปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทลูกนี้ก็คือ บริษัท สมุทรสาครห้องเย็น จำกัด ดังนั้น สำนักงานแห่งใหญ่ที่แท้จริงของบริษัท สมุทรสาครห้องเย็น (มาเลเซีย) จำกัด จึงตั้งอยู่ในประเทศไทยเช่นกัน ในขณะที่สำนักงานตามตราสารจัดตั้งย่อมตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๐ บริษัทสมุทรสาครห้องเย็น (มาเลเซีย) จำกัด ได้เข้าร่วมทุนกับ บริษัท Deep Sea Fishing จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตามกฎหมายอินโดนีเซีย และมีผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นบุคคลสัญชาติอินโดนีเซีย จึงมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย สัญญาร่วมทุนระหว่างบริษัททั้งสองทำในประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญเพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมา ๑ บริษัทตามกฎหมายอินโดนีเซียเพื่อเข้ารับสัมปทานการจับปลาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอินโดนีเซีย บริษัทนี้ถูกจดทะเบียนก่อตั้งใน พ.ศ.๒๕๕๑ โดยให้ชื่อว่า "บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด"

ขอให้ตระหนักว่า ในปัจจุบัน หุ้นร้อยละ ๖๐ ของบริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด เป็นของ บริษัทสมุทรสาคร (มาเลเซีย) จำกัด ส่วนอีกร้อยละ ๔๐ เป็นของบริษัท Deep Sea Fishing จำกัด ดังนั้น สำนักงานแห่งใหญ่จึงตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ประเทศไทย สำนักงานตามตราสารจัดตั้งตั้งอยู่บนเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย

บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการประมงน้ำลึกในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอินโดนีเซีย และส่งปลาขายต่อที่ตลาดปลาใหญ่หลายแห่งของประเทศไทย บริษัทนี้มีเรือประมงน้ำลึกหลายลำซึ่งบางลำจดทะเบียนเรือตามกฎหมายไทย แต่บางลำจดทะเบียนเรือตามกฎหมายอินโดนีเซีย

ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ ผู้จัดการบริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด ได้ว่าจ้างบุคคล ๓ คน มาทำงานในเรือประมงน้ำลึกที่มีชื่อว่า "มารีน่าหนึ่ง" ซึ่งจดทะเบียนเรือตามกฎหมายไทย โดยมีบริษัท สมุทรสาคร จำกัด เป็นเจ้าของเรือ อันได้แก่

(๑) นายสม ซึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวรประเภท ท.ร.๑๔ ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทย เขาจึงมีเลขประจำตัวประชาชนไทย ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๒

(๒) นายอาโละ ซึ่งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราวประเภท ท.ร.๑๓ ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติอาข่า ทั้งที่ประเทศอาข่าก็ไม่มีอยู่จริงบนโลกนี้ อีกทั้งเขาไม่ได้รับการยอมรับในสถานะคนสัญชาติของประเทศใดเลยบนโลก เขามีเลขประจำตัวประชาชนไทย ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗ ทั้งนี้ เพราะเขาเกิดที่โรงพยาบาลแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ จากบิดาและมารดาที่อพยพหนีภัยความไม่สงบจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๓๐

(๓) นายสัมริน ซึ่งมีชื่อในทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘/๑ ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติกัมพูชา แต่ยังไม่มีการรับรองสถานะของนายสัมรินในทะเบียนราษฎรของรัฐกัมพูชาแต่อย่างใด เขาเกิดในประเทศกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ จากบิดาและมารดาซึ่งเกิดในประเทศกัมพูชาเช่นกัน แต่เป็นการเกิดนอกโรงพยาบาล เขาไม่เคยได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐกัมพูชา ทั้งที่บิดาและมารดาได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐกัมพูชาแล้ว โดยผ่านการพิสูจน์สัญชาติภายใต้ MOU ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาใน พ.ศ.๒๕๕๕ แต่ด้วยนายสัมรินไปทำงานในเรือมารีน่าหนึ่งในน่านน้ำอินโดนีเซีย เขาจึงไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนแรงงานพร้อมกับบิดาและมารดา จึงไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชาพร้อมกับบิดาและมารดา

ใน พ.ศ.๒๕๕๕ ลูกเรือทั้งสาม ก็คือ (๑) นายสม (๒) นายอาโละ และ (๓) นายสัมรินได้หลบหนีลงจากเรือมารีน่าหนึ่งในขณะที่เรือนี้เข้ามาส่งปลาที่เกาะอัมบน เนื่องจากรู้สึกกดดันที่ต้องอาศัยอยู่และทำงานหนักบนเรือมาตลอดเวลาเกือบ ๓ ปี บุคคลทั้งสามมาดำรงชีวิตบนเกาะอัมบนอย่างยากลำบาก อาศัยนอนข้างถนน และรับจ้างทำงานรายวันไปเรื่อยๆ บางวันก็มีเงินซื้ออาหารประทังชีพ บางวันก็ไม่มี เขาไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ เลย ทั้งนี้ เพราะเอกสารรับรองตัวบุคคลที่มีอยู่นั้นถูกเรียกเก็บไว้กับ "ไต้ก๋งเรือ" ตั้งแต่ในช่วงแรกที่ลงมาทำงานในเรือ

ชาวอัมบนจึงเรียกบุคคลในสถานการณ์นี้ว่า "คนตกเรือ" เพราะพวกเขามาจากเรือประมงน้ำลึกที่เข้ามาจอดที่ท่าเรือเพียงชั่วเวลาสั้น แล้วก็จะออกเดินทางไปทำงานในน่านน้ำลึกต่อไป หรือบางที พวกเขาก็จะถูกเรียกว่า "คนผี" เพราะพวกเขาไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ ว่าชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ เป็นใครมาจากไหน

ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ คุณสมพงษ์ สระแก้ว แห่ง มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network Foundation) หรือเรียกกันสั้นๆว่า "LPN" ได้พบบุคคลทั้งสาม ในระหว่างที่ไปติดตามหาแรงงานจากประเทศไทยที่ตกเป็นคนตกเรือและคนผีบนเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ตามคำร้องทุกข์ของบุคคลในสถานการณ์นี้คนหนึ่งที่เขียนจดหมายถึง LPN และคุณสมพงษ์ก็ได้พยายามประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลทั้งสาม

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำถามให้ผู้เข้าสอบวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลได้พิจารณาและให้คำตอบดังต่อไปนี้

--------

คำถาม

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า เราอาจสรุปได้ว่า นายสม นายอะโละ และนายสัมริน เป็นคนไร้รัฐ (Stateless Persons) ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และเราอาจสรุปได้ว่า บุคคลทั้งสามประสบปัญหาบุคคลไร้เอกสารรับรองตัวบุคคล (Undocumented Persons) ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด[2]

--------------

แนวคำตอบ

---------------

มีคำตอบสำหรับคำถามในข้อนี้ ๒ ประเด็น กล่าวคือ (๑) บุคคลทั้งสามตามข้อเท็จจริงมีสถานะเป็นคนไร้รัฐหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? และ (๒) บุคคลทั้งสามตามข้อเท็จจริงมีสถานะเป็นคนไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

(๑)นายสม นายอะโละ และนายสัมริน มีสถานะเป็นคนไร้รัฐ (Stateless Persons) หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

"คนไร้รัฐ (Stateless Person)" ก็คือ คนที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐทุกรัฐบนโลก อันทำให้คนดังกล่าวตกเป็น "คนไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Pertsonal State)"

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล มนุษย์ทุกคนย่อมจะต้องได้รับการรับรองสถานะคนเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดและหรือรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุพการีทั้งสอง อันทำให้คนดังกล่าวย่อมได้รับการบันทึกทั้งในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติของรัฐใดรัฐหนึ่ง อันทำให้คนดังกล่าวย่อมมีสถานะเป็น "คนมีรัฐเจ้าของตัวบุคคล" อันทำให้นายทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎรย่อมมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้แก่คนดังกล่าว คนในสถานการณ์นี้ย่อมมีสถานะเป็นคนที่ "มี" เอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ (Documented Person) คนในสถานการณ์นี้จึงไม่ประสบทั้งปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร แต่ในทางตรงกันข้าม หากคนดังกล่าวไม่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก พวกเขาก็จะมีสถานะเป็น "คนไร้รัฐ" อันทำให้ตกเป็นคนที่ "ไม่มี" เอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ (Undocumented Person) เพราะไม่ปรากฏตัวนายทะเบียนราษฎรของรัฐเพื่อออกเอกสารรับรองตัวบุคคล

จะเห็นว่า นายสม นายอะโละ และนายสัมริน ไม่ตกเป็นคนไร้รัฐ บุคคลทั้งสามถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย จึงมีรัฐไทยเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล พวกเขาย่อมมีสถานะเป็นราษฎรไทย และถือเอกสารรับรองตัวบุคคลอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย

แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นคนที่มีรัฐหรือคนที่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ก็ไม่หมายความว่า คนในสถานการณ์นี้จะได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ โดยรัฐใดรัฐหนึ่งเสมอไป พวกเขาอาจจะมีสถานะเป็น "คนมีรัฐมีสัญชาติ" หรือ "คนมีรัฐแต่ไร้สัญชาติ" ก็เป็นได้

เราจะเห็นในประการแรกว่า นายสมตามข้อเท็จจริง เป็นคนที่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทย เขาจึงมีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย นายสมย่อมได้รับบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร คนในสถานการณ์นี้ย่อมมีเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎร คนในสถานการณ์นี้ย่อมมีสถานะเป็นคนที่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ (Documented Person) โดยสรุป รัฐไทยย่อมมีหน้าที่ออกเอกสารเพื่อรับรองความเป็นราษฎรไทยของนายสม และเพื่อรับรองสถานะคนสัญชาติไทยให้แก่นายสม และยังมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้แก่นายสมเพื่อการแสดงตนในการเดินทางข้ามชาติอีกด้วย โดยสรุป นายสมก็คือ "คนสัญชาติไทย" ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยนั่นเอง

ในประการที่สอง เราจะเห็นว่า นายอาโละตามข้อเท็จจริง ย่อมมีสถานะเป็นคนที่มีรัฐแต่ไร้สัญชาติเขามีสถานะเป็นคนมีรัฐ เพราะได้รับการบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เขาจึงมีสถานะเป็นราษฎรไทย รัฐไทยจึงมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้แก่นายอาโละ เขาจึงมีสถานะเป็นคนที่มีเอกสารรับรองตัวบุคคล (Documented Person) เช่นกัน คนในสถานการณ์นี้จึง "ไม่" ประสบปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร แต่นายอาโละย่อมมีสถานะเป็นคนต่างด้าว ไร้สัญชาติ ทั้งนี้ เพราะรัฐไทยบันทึกเขาในสถานะ "คนสัญชาติของประเทศอาข่า" ซึ่งไม่มีอยู่จริงบนโลกนี้ การที่นายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยบันทึกว่า นายอาโละมีสัญชาติอาข่า ก็ไม่ทำให้นายอาโละมีรัฐเจ้าของสัญชาติได้จริง เขาจึงยังประสบปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ เขาจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าว (Alien) ในทุกประเทศบนโลก เขาอาจมีหรือไม่มีสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ก็ได้ เขาอาจมีสิทธิอาศัยถาวรหรือชั่วคราวในรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎร ก็ได้ โดยสรุป รัฐไทยย่อมมีหน้าที่ออกเอกสารเพื่อรับรองความเป็นราษฎรไทยของนายอาโละ แต่รัฐไทยไม่มีหน้าที่รับรองสถานะคนสัญชาติให้แก่นายอาโละ หากยังฟังไม่ได้ว่า นายอาโละมีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ในเรื่องของการเดินทางข้ามชาติ รัฐไทยย่อมมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้แก่นายอาโละเพื่อการแสดงตนเพื่อการนี้เช่นกัน แต่ที่ต้องสังเกตต่อไปว่า การที่มีข้อเท็จจริงว่า เขาเกิดที่โรงพยาบาลแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ จากบิดาและมารดาที่อพยพหนีภัยความไม่สงบจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๓๐ ย่อมหมายความว่า เขามีข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่า เป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ หากเขาสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์สิทธิในสัญชาตินี้ได้จริง เขาก็จะได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยได้เช่นกัน รัฐไทยก็จะออกเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติไทยให้แก่เขาแทนที่จะรับรองเขาในสถานะราษฎรต่างด้าวใน ท.ร.๑๓ โดยสรุป นายอาโละก็คือ "คนต่างด้าวเทียม" ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยนั่นเอง

ในประการที่สาม เราจะเห็นว่า นายสัมรินตามข้อเท็จจริง ย่อมมีสถานะเป็นคนที่มีรัฐแต่ไร้สัญชาติเช่นกันเขามีสถานะเป็นคนมีรัฐ เพราะได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย (ท.ร.๓๘/๑) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เขาย่อมมีสถานะเป็นราษฎรไทย เช่นกัน และรัฐไทยจึงมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้แก่นายสัมรินเช่นกัน เขาจึงมีสถานะเป็นคนที่มีเอกสารรับรองตัวบุคคล (Documented Person) เช่นกัน คนในสถานการณ์นี้จึง "ไม่" ประสบปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร แต่นายสัมรินก็ยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าว ไร้สัญชาติ เช่นกัน ทั้งนี้ เพราะรัฐไทยบันทึกเขาในสถานะ "คนสัญชาติของประเทศกัมพูชา" ซึ่งมีอยู่จริงบนโลกนี้ แต่รัฐกัมพูชายังไม่รับรองนายสัมรินในสถานะคนสัญชาติกัมพูชา การที่นายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยบันทึกว่า นายสัมรินมีสัญชาติกัมพูชา ก็ไม่ทำให้นายสัมรินมีรัฐเจ้าของสัญชาติได้จริง เขาจึงยังประสบปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติ เขาจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าว (Alien) ในทุกประเทศบนโลก เขาอาจมีหรือไม่มีสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง ก็ได้ เขาอาจมีสิทธิอาศัยถาวรหรือชั่วคราวในรัฐเจ้าของทะเบียนราษฎร ก็ได้ โดยสรุป รัฐไทยย่อมมีหน้าที่ออกเอกสารเพื่อรับรองความเป็นราษฎรไทยของนายสัมริน แต่รัฐไทยไม่มีหน้าที่รับรองสถานะคนสัญชาติให้แก่นายสัมริน เพราะนายสัมรินไม่มีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ในเรื่องของการเดินทางข้ามชาติ รัฐไทยย่อมมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้แก่นายสัมรินเพื่อการแสดงตนเพื่อการนี้เช่นกัน แต่ที่ต้องสังเกตต่อไปว่า เมื่อรัฐกัมพูชารับรองสถานะคนสัญชาติกัมพูชาให้แก่นายสัมรินแล้ว รัฐแรกที่มีหน้าที่ออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้แก่นายสัมริน ก็คือ รัฐกัมพูชา มิใช่รัฐไทย ในวินาทีที่นายสัมรินได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติกัมพูชา เขาก็จะมีสถานะเป็นคนหลายทะเบียนราษฎร และมีเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยสองรัฐเจ้าของตัวบุคคล กล่าวคือ (๑) รัฐกัมพูชาย่อมมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติกัมพูชาให้แก่นายสัมริน ในขณะที่ (๒) รัฐไทยมีหน้าที่ออกเอกสารรับรองสถานะคนต่างด้าวที่ตั้งบ้านเรือนในประเทศไทย ทั้งที่ไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย โดยสรุป นายสัมรินก็คือ "คนต่างด้าวแท้" ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยนั่นเอง

(๒)นายสม นายอะโละ และนายสัมริน มีสถานะเป็นคนไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับบุคคลทั้งสาม เราอาจสรุปได้ว่า บุคคลทั้งสามย่อมมีสิทธิในเอกสารรับรองตัวบุคคลตามกฎหมายไทย เป็นอย่างน้อยที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม สภาวะคนไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลของบุคคลทั้งสามเกิดขึ้นในข้อเท็จจริง ซึ่งเขาไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ เลย ทั้งนี้ เพราะเอกสารรับรองตัวบุคคลที่มีอยู่นั้นถูกเรียกเก็บไว้กับ "ไต้ก๋งเรือ" ตั้งแต่ในช่วงแรกที่ลงมาทำงานในเรือ อันเป็นเหตุให้พวกเขาไม่อาจใช้เอกสารที่ออกโดยรัฐไทยในการแสดงตัว และด้วยเหตุที่เขาไม่เคยร้องขอเอกสารเพื่อการเดินทางข้ามชาติจากรัฐไทย เขาจึงไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลในการเดินทางข้ามชาติ ทั้งที่มีสิทธิที่จะร้องขอได้

เราจึงตอบคำถามในเขานี้ว่า บุคคลทั้งสามมีสถานะเป็นคนไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลโดยข้อเท็จจริง และเมื่อเรื่องราวของเขาถูกรับรู้โดยรัฐไทย รัฐนี้ก็ย่อมมีหน้าที่ที่จะออกเอกสารรับรองตัวบุคคลให้แก่แต่ละคน ตามธรรมชาติแห่งสิทธิที่แต่ละคนมีอยู่ อย่างน้อย รัฐไทยย่อมไม่อาจปฏิเสธหน้าที่ที่จะรับรองสถานะราษฎรไทยของบุคคลทั้งสาม


[1] เป็นกรณีศึกษาที่สร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ และสถานการณ์ก็ยังดำเนินการอยู่จนถึงในช่วงเวลาที่มีการสอบ ชื่อบริษัทและชื่อคนตกเรือ/คนผีเป็นชื่อสมมติ แต่ชื่อของผู้ให้ความช่วยเหลือ กล่าวคือ คุณสมพงษ์ สระแก้ว เป็นชื่อจริงของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง คุณสมพงษ์ทำงานเป็น NGO ด้านแรงงานที่มีผลงานยาวนานในประเทศไทย และได้เคยมาแบ่งปันล่าสุดในห้องเรียนกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาของหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๗.๓๐ – ๒๐.๓๐ น.

[2] การสอบความรู้วิชา น.๔๙๑ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ชั้นปริญญาตรี ภาคปกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การสอบภาคที่ ๒ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗ วิชาบังคับ ชั้นปีที่ ๔ วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 590536เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2015 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2015 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thanks for this detailed reasoning/legalising post.

What is Thailand's (Act/Constitution describing) legal responsibility for these people and who (or office) is in charge of upholding this responsibility?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท