nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

​ราชันผู้พลัดแผ่นดินฯ : อย่าเป็นเยี่ยงฝ่ามือของพวกเจ้า จงเป็นเยี่ยงฝ่าเท้า*


หนังสือ "ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง" หนังสือหนา ๔๒๓ หน้า เล่าเรื่องการขึ้นครองบัลลังก์ของพระเจ้าธีบอ (King Thibaw) กับพระนางศุภยาลัต การสิ้นสุดราชวงค์คองบอง การเสียเอกราชของพม่า การเนรเทศ และทุกแง่มุมของชีวิตครอบครัวกษัตริย์องค์สุดท้ายอันรันทดที่ผู้เขียนสืบค้นเอกสารและสัมภาษณ์บุคคลมาอย่างละเอียดลออ เรียบเรียงเล่าต่อมาจนถึงรุ่นลูกหลานเหลน อรรถรสของหนังสือเล่มนี้เกินกว่าคุณค่าของหนังสือเล่มหนึ่ง

มีความน่าประทับใจ ตื่นตะลึง รันทดหดหู่ในหลายๆ ตอนที่ฉันอดไม่ได้ที่จะย้อนกลับไปอ่านซ้ำภายในสัปดาห์เดียว และอดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าในบันทึก เพื่อเชิญชวน ทั้งนักอ่านและมิใช่นักอ่าน ผู้สนใจประวัติศาสตร์และผู้ไม่สนใจ รวมทั้งผู้ชื่นชอบนวนิยาย เพราะนี่คือชีวิตจริงๆ ของบุคคลระดับสูงสุดที่มีเลือดเนื้อมิใช่เรื่องแต่ง

......................

พระเจ้าธีบอ พระนางศุภยาลัต (กลาง) และ พระนางศุภยากะเล (กนิษฐาของพระนางศุภยาลัต)

พระเจ้าธีบอ (King Thibaw) ในหนังสือพม่าเสียเมืองของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียก "พระเจ้าสีป่อ" เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า ครองราชย์ต่อจากพระเจ้ามินโดง พระราชบิดาผู้ทรงปรีชาสามารถและเป็นที่รัก ต่างจากราชโอรสโดยสิ้นเชิงเพราะช่วงเวลา ๗ ปี (คศ.๑๘๗๘-๑๘๘๕) ที่ทรงครองราชย์ทรงอยู่ใต้อำนาจของพระราชินีศุภยาลัต สตรีจอมบงการผู้ปรารถนาอำนาจและอำมหิต ด้วยพระชนม์ ๒๖ พรรษา พระองค์และราชินีถูกเนรเทศไปอยู่อินเดีย สิ้นสุดระบบกษัตริย์ พม่าถูกอังกฤษผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเมืองประเทศราช

พระเจ้ามินโดง (พระราชบิดาของพระเจ้าธีบอ)

พระเจ้าธีบอเป็นโอรสลำดับท้ายๆ ของ พระเจ้ามินโดง (ครองราชย์ ๑๘๕๓-๑๘๗๘) ทั้งพระมารดาก็เป็นเจ้าหญิงจากเมืองประเทศราช ทรงเป็นเจ้าชายที่ไม่อยู่ในความสนใจ การขึ้นครองราชย์มิได้เกิดขึ้นแบบปกติ

"ซินผิ่วมะฉิ่น" พระมเหสีรองของพระเจ้ามินโดง เมื่อรู้ว่าธิดาองค์รองคือ "เจ้าหญิงศุภยาลัต" ทรงไปแอบรักใคร่มีความสัมพันธ์กับเจ้าฟ้าธีบอผู้ "ซื่อๆ ไร้พิษภัย" แผนการร้ายของเธอคือ ต้องให้ธีบอเป็นกษัตริย์เพื่อที่ศุภยาลัตจะได้เป็นมเหสี และตัวเธอเองจะเป็นผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังบัลลังก์ แต่การณ์มิเป็นไปดังคาด เพราะศุภยาลัตนั้นสืบทอดนิสัยใจคอไปจากพระมารดาอย่างครบถ้วนและชาญฉลาดยิ่งกว่า เธอไม่ยอมให้พระมารดามีอำนาจใดๆ เมื่อทุกอย่างอยู่ในมือเธอ

ตามธรรมเนียมแห่งราชวงศ์ กษัตริย์มีสนมได้หลายองค์ และศุภยาลัตมิใช่มเหสีเอก แต่เธอได้กำจัดสตรีทุกคนที่เข้าใกล้พระเจ้าธีบอ สตรีนางหนึ่งชื่อ "มิขิ่นจี" ที่พระเจ้าธีบอหลงรักและ "แอบมีสัมพันธ์" โดยไม่ให้ศุภยาลัตล่วงรู้ (การ "แอบมีสัมพันธ์กับสตรี" ของผู้เป็นกษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดูเป็นเรื่องน่าขัน) สุดท้ายแล้วสตรีนางนี้ถูกฆ่าตาย จากนั้นพระเจ้าธีบอมิมีสตรีอื่นอีก เธอจึงเป็นมเหสีเอก กับเจ้าหญิงศุภยากะเลน้องสาวของเธอที่ไม่มีพิษภัยใดๆ ที่เธอยอมให้ร่วมบัลลังก์ราชินี

ภาพวาดการสังหารหมู่ในบริเวณพระราชวัง (อ่านรายละเอียดในหนังสื่อ พม่าเสียเมือง ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช)

เหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่จารึกไว้ในประวัติศาสตร์คือ การสังหารหมู่เจ้าชายเจ้าหญิงที่เป็นโอรสธิดาของพระเจ้ามินโดงรวมทั้งพระชนนีของเจ้าฟ้าเหล่านั้นรวมกว่า ๘๐ องค์แล้วฝังพระศพไว้ภายในพระราชวัง เพื่อให้บัลลังก์ของกษัตริย์และราชินีปราศจากเสี้ยนหนาม คนทั่วไปคิดว่าพระเจ้าธีบอกับศุภยาลัตเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่นักประวัติศาสตร์พม่าออกมายืนยันว่าพระเจ้าธีบอมิได้รู้เห็นเรื่องนี้ ผู้วางแผนทั้งหมดคือ อดีตมเหสีซินผิ่วมะฉิ่น พระมารดาของศุภยาลัต และศุภยาลัตรู้เห็นเรื่องนี้

ตลอดรัชกาล พระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตมิกล้าเสด็จออกจากพระราชวังเลย เพราะเกรงจะมีการลอบสังหาร

วันที่ ๑๑ ตุลาคม ๑๘๗๘ ปีแรกของการขึ้นครองราชย์ เป็นวันถือน้ำพิพัฒนสัตยาเพื่อให้ข้าราชบริพารและประชาชนถวายสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ คำประกาศของกษัตริย์ความตอนหนึ่งว่า

"จงรักภักดีต่อเราผู้เป็นเจ้าเหนือหัวเพียงผู้เดียว

อย่าเป็นเยี่ยงฝ่ามือของพวกเจ้า จงเป็นเยี่ยงฝ่าเท้า..."

(ราชันพลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง , ๒๕๕๗ : หน้า๔๘)

ก่อนรัชสมัยพระเจ้าธีบอ อังกฤษรุกรานพม่า ๒ ครั้ง และยึดเอาแผ่นดินพม่าทางตอนใต้ไปผนวกกับอินเดียภายใต้การปกครองของตน

นักธุรกิจชาวอังกฤษเข้ามาทำธุรกิจตัดไม้ในพม่า เมื่อพม่ารู้ว่าอังกฤษหลีกเลี่ยงไม่จ่ายเงินสัมปทานครบถ้วนตามจริง จึงส่งเรื่องขึ้นศาลและศาลตัดสินให้นักธุรกิจนั้นชำระเงินพร้อมค่าปรับ อังกฤษไม่พอใจและเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้คือให้นำคดีนี้ไปขึ้นศาลอังกฤษอีกครั้ง ด้วยศักดิ์ศรีของประเทศเอกราช พระเจ้าธีบอไม่ทรงยินยอม ทั้งในรัชสมัยของพระองค์ยังไปใกล้ชิดฝรั่งเศสโดยหวังจะถ่วงดุลอำนาจกับอังกฤษ จึงเป็นเหตุความไม่พอใจให้อังกฤษยกกำลังทหารมาทางแม่น้ำอิระวดีไปจนถึงมัณฑะเลย์เมืองหลวง ส่งสารไปยังพระเจ้าธีบอให้ยอมแพ้

เสนาบดีเพียงคนเดียวเสนอให้พระเจ้าธีบอเจรจาเพื่อรักษาบ้านเมืองและระบบกษัตริย์ แต่ส่วนใหญ่เสนอให้ต่อสู้ แน่นอนว่าพระนางศุภยาลัตทรงตัดสินพระทัยเลือกต่อสู้ในขณะที่พระเจ้าธีบอทรงลังเล มีการวิเคราะห์กันว่า หากพระเจ้าธีบอทรงโอนอ่อนในครั้งนั้น สถาบันกษัตริย์ของพม่าอาจยังคงอยู่??

วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๑๘๘๕ เป็นวันสุดท้ายของกษัตริย์ หลังจากทรงพยายามเจรจาเพื่อขอให้พระองค์และครอบครัวได้พำนักในพม่ามิถูกเนรเทศออกจากประเทศ แต่การเจรจาไม่สำเร็จ เรืออังกฤษจอดรอกษัตริย์และครอบครัวริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี พระองค์ได้รับอนุญาตให้นำสิ่งใดหรือผู้ใดที่พระองค์ต้องการไปด้วย

ตลอดคืนสุดท้ายอันทุกข์ระทมของกษัตริย์และราชินี สตรีได้รับอนุญาตให้เข้าออกวังได้ ทรัพย์สินมีค่ามากมายถูกลักขโมยขนออกไปโดยข้าราชบริพารและประชาชนพม่าตลอดคืน

เมื่อพระเจ้าธีบอต้องการให้เสนาบดีบางคนตามเสด็จ จึงทรงรับสั่งกับพวกเขาว่า

"เมื่อเราต้องไปเป็นเชลย ผู้ที่รักเราจะตามเราไปด้วย แต่พวกที่รักตัวเองจะอยู่ที่นี่เพื่อดูแลทรัพย์สินของตัวเอง" (หน้า ๑๒๑)

"พระองค์ต้องสะเทือนใจอย่างที่สุดเมื่อมีเสนาบดีชราเพียงคนเดียวที่จะตามเสด็จ ขณะที่คนอื่นๆ ทั้งหมดจ้องมองพื้นเบื้องหน้าพวกเขาอย่างแน่วแน่ ถึงตอนนี้พระองค์มองพวกเขาอย่างรังเกียจและไม่อยากเชื่อ..."(หน้า ๑๒๑-๑๒๒)

พระเจ้าธีบอจับพระหัตถ์พระนางศุภยาลัตกับพระนางซินผิ่วมะฉิ่นไว้คนละข้างขณะเด็จพระราชดำเนินออกจากวัง มีผู้บันทึกไว้ว่าทรง "สง่างามและอ่อนโยน...ให้เกียรติพระราชินีและพระนางซินผิ่วมะฉิ่นในเวลาเช่นนี้"

ขณะทั้ง ๓ พระองค์เสด็จผ่านประตูวังชั้นใน ทรงทรุดพระองค์ลงหมอบลงกราบไปทางทิศที่ฝังพระศพพระเจ้ามินโดง กษัตริย์องค์ก่อนผู้เป็นพระราชบิดา และ พระสวามี

สมาชิกครอบครัวอันประกอบด้วย กษัตริย์ธีบอ พระราชินีศุภยาลัตขณะทรงครรภ์แก่กับพระธิดาองค์น้อย ๒ พระองค์ พระนางศุภยากะเล และพระนางซินผิ่วมะฉิ่นอดีตมเหสีพระเจ้ามินโดง ออกเดินทางไปยังท่าเรือ เป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้เห็นกษัตริย์ของพวกเขา

เมื่อไปถึงท่าเรือยามพลบค่ำเกือบสิ้นแสง ความสะเทือนใจและหวาดวิตกถึงอนาคตท่วมท้นพระทัย ทรงอ่อนแรงและลังเล นางกำนัลของพระนางศุภยาลัตเล่าว่า

"เป็นเรื่องยากสำหรับพระองค์ที่จะย่างพระบาทออกจากพระราชอาณาจักรที่เคยครอบครอง พระองค์จึงลังเล....พระราชินีทรงเดินไปกุมพระหัตถ์กษัตริย์ไว้และนำเสด็จพระองค์ไปที่เรือเหมือนมารดาจูงบุตรที่กำลังหวาดกลัว ทั้งสองพระองค์ขึ้นเรือไปด้วยกัน...ไม่กี่นาทีต่อมาเรือถอนสมอแล่นออกไปกลางแม่น้ำกว้างใหญ่...ท่านอาจกล่าวว่าพระนางไม่ใช่ราชินีที่ดี พระองค์ไม่ใช่กษัตริย์ที่ดี แต่ทั้งสองพระองค์เป็นกษัตริย์และราชินีของพวกเรา ท่านคิดว่าเราจะสามารถรักนายที่เป็นคนต่างชาติได้เท่ากับที่เรารักกษัตริย์ของเราซึ่งพระองค์เป็นส่วนหนึ่งของพวกเราได้งั้นหรือ?" (หน้า ๑๒๔)

...........................

แม้ฉันมิใช่คนพม่า แต่เมื่ออ่านถึงตอนนี้ก็รู้สึกสะเทือนใจไปกับชตากรรมของกษัตริย์พม่าที่ต้องถูกเนรเทศออกไปจากแผ่นดินของพระองค์อย่างโดดเดี่ยวในคราวนั้น

ความรู้สึกสูญเสีย ผิดหวัง สำหรับกษัตริย์นั้นย่อมหนักหนากว่าคนปกติ ใครจะคาดเดาพระทัยพระองค์ว่าอาจทรงรำลึกถึงคำมั่นของข้าราชบริพารและประชาชนในวันที่พระองค์ทรงครองราชย์ใหม่ๆ

...อย่าเป็นเยี่ยงฝ่ามือของพวกเจ้า จงเป็นเยี่ยงฝ่าเท้า (ที่มิอาจพลิกข้างได้)...

อาทิตย์ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘

……………………

บันทึกเพิ่มเติม

เกี่ยวกับหนังสือ "ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง"

เขียนโดยสตรีชาวอินเดีย Sudha Shah บอกเล่าเรื่องราวของพระเจ้าสีป่อและราชินีศุภยาลัตเมื่อถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดียที่ไม่เคยถูกเล่าที่ไหนมาก่อน ผู้เขียนทำการบ้านมาดีเยี่ยมไว้ในหนังสือหนา ๔๓๒ หน้า แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์ซ้ำ ๓ ครั้งในปี ๒๕๕๗ อ่านเพลิน และได้ความรู้มากมาย.

........................

พระธิดา ๔ พระองค์ของพระเจ้าธีบอ

เรียงจากซ้ายไปขวา เรียกตามที่อังกฤษเรียก : เจ้าหญิงสี่ - เจ้าหญิงใหญ่ - เจ้าหญิงสาม - เจ้าหญิงสอง

สององค์แรกประสูติในพม่า เจ้าหญิงสามอยู่ในพระครรภ์พระนางศุภยาลัตขณะถูกเนรเทศ

หนังสือเล่าเรื่องชีวิตของทุกพระองค์อย่างละเอียดละออ และน่าสนใจมาก

...............................

หมายเลขบันทึก: 590672เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ให้ดอกไม้ก่อนนะค่ะ เด๊่ยวฟ้าตามมาอ่าน

น่าสนใจประวัติศาสตร์พม่ามากๆ

พี่นุ้ยครับ

อ่านแล้วเห้นความน่ากลัวของประเทศที่มารุกรานประเทศอื่น

สิ่งสำคัญคือความสามัคคีของคนในชาติ

มีความสำคัญมากๆครับ

ยินดีค่ะคุณฟ้า aingfar พี่ตั้งใจไว้ว่าจะเล่าเรื่องราวของบรรดาเจ้าหญิงธิดาของพระเจ้าธีบออีก ๒ บันทึก

ขอบคุณค่ะ อาจารย์ต้น

ดิฉันไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์พม่ามาก่อน เคยแต่อ่านเรื่องราวราชวงศ์อังกฤษ ธิเบต จีน แต่หนังสือเล่มนี้กระตุ้นความสนใจมาก

เรื่องของเจ้าหญิงใหญ่ (พระธิดาองค์โตของพระเจ้าธีบอ) ชีวิตของเธอรันทด น่าเห็นใจมาก สมัยยังอยู่ที่รัตนคีรี เธอไปมีความสัมพันธ์กับยามประตูวังชาวอินเดียที่มีครอบครัวอยู่แล้ว ตั้งครรภ์ มีลูกสาวที่สืบทอดหลานเหลนโหลนของกษัตริย์พม่ามาจนทุกวันนี้

ขอบคุณค่ะอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง

อาจารย์พูดได้ตรงใจพี่ที่สุด ขณะอ่านพี่รู้สึกเศร้าไปกับชาวพม่า และสงสารเห็นใจครอบครัวกษัตริย์มาก แม้เวลาจะผ่านไปเป็นร้อยปีแล้ว

แต่เมื่อเทียบเคียงกับเวลาอ่านเรื่องเบื้องหลังราชวงศ์อังกฤษ (ที่มีหนังสือให้อ่านมากที่สุด) พี่กลับไม่มีความรู้สึกที่ลึกซึ้งแบบนี้

ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาให้กำลังใจค่ะ

- อาจารย์จัน จันทวรรณ (จำได้ว่าอาจารย์ชอบหนังสือแนวนี้)

- คุณดารณี ดารนี ชัยอิทธิพร และ

- คุณวินัย วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์

ขอยคุณดอกไม้จากน้องเพชร เพชรน้ำหนึ่ง ค่ะ

อ่านแล้วเศร้า แต่ก็บทเรียนที่น่าศึกษา

ซื้อมาอ่านแล้วค่ะ กำลังถึงตอนที่อังกฤษเข้ามาในวังแล้ว เดี๋ยวถึงตอนออกจากวังไปอินเดียค่ะ อ่านแล้วคิดถึง ร. 5 และบรรดาขุนนางที่ทรงใช้งาน ถ้าไม่ใช่พระองค์ท่านคนไทยคงเก่งอังกฤษหรือฝรั่งเศสแน่ ๆ

อ่านได้วันละนิด ต้องดูแลตาตามหมอสั่ง เพิ่งทำเลเซอร์มาค่ะ

ดิฉันก็คิดแบบนี้ค่ะคุณ pooklook88

ปวะวัติศาสตร์ราชวงศ์หลายๆ ประเทศอ่านแล้วเศร้าจริงๆ ค่ะ

ขอบคุณนะคะที่ตามมาอ่านบันทึกยาวๆ ของดิฉัน

ขอบคุณมากนะคะอาจารย์ GD ที่แวะมาส่งข่าว เห็นหายไปพักหนึ่ง

พักมากๆ ก่อนนะคะ เดี๋ยวกลับมาอ่านวันสองวันก็จบ ดิฉันอ่านสองรอบแล้วค่ะ

นักเขียนท่านนี้เขียนได้ละเอียดละออครบถ้วนกระบวนความ ไม่มีอะไรเหลือให้สงสัย (เพราะเป็นผู้หญิงไงคะ-แน่ะมีเพศนิยมซะด้วย)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท