nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

​หนัง ๒ เรื่องกับหนังสือ How Children Succeed พูดเรื่องเดียวกันคือ ความมุมานะ


หนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง (How Children Succeed) เล่าเรื่องปัจจัยด้านลักษณะนิสัย (Character) ที่ทำให้เด็กๆ ฝ่าฟันอุปสรรคเอาชนะตัวเองไปสู่ความสำเร็จ มิใช่แค่สติปัญญา (Intellectual) อย่างเดียวที่เคยเป็นหลักยึดในการพัฒนาเด็กมาหลายทศวรรษ

ฉันอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างยืดเยื้อยาวนานร่วมเดือน อ่านแล้ววาง วางแล้วอ่าน อ่านเพื่อคิดต่อว่าแล้วไงล่ะ ตรงไหนที่เอาไปใช้ได้บ้าง อ่านเพื่อคิดให้เห็นภาพ อ่านเพื่อเชื่อมโยงกับประสบการณ์อันน้อยนิดด้านการศึกษา และด้านจิตวิทยาการเรียนรู้ ฯลฯ ช่างเป็นข้อจำกัดที่แก้ไม่ตก

ช่วงเวลาเดียวกันได้ดูหนัง ๒ เรื่อง คือ The Karate Kid (2010) กับ McFarland USA (2015) สาระสำคัญที่ได้จากหนังเป็นสาระเดียวกับที่ได้จากหนังสือ นั่นคือ “ความมุมานะ” เป็นลักษณะนิสัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ

นี่คือที่มาของการเขียนบันทึกนี้

……………………

ลักษณะนิสัยที่นำไปสู่ความสำเร็จจากในหนังสือ How Children Succeed

หนังสือพูดถึงโรงเรียนคิปป์ (KIPP Academy) เป็นหลัก ทั้งนี้เพราะคิปป์เป็นโรงเรียนที่เน้นการพัฒนาลักษณะนิสัยที่พิสูจน์แล้วจากงานวิจัยว่าเป็นปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จ ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ด้านวิชาการอื่นๆ

KIPP ย่อมาจาก Knowledge is Power Program = หลักสูตรความรู้คือพลัง

คิปป์ “เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผสมผสานการเรียนในห้องเรียนที่เข้มงวดและทุ่มเทพลังงานไปกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม” (หน้า ๘๙)

โรงเรียนทั่วไป (รวมทั้งโรงเรียนในประเทศไทย) ประเมินนักเรียนด้วย ผลการเรียนเฉลี่ย (GPA = Grade Point Average) แต่นักเรียนที่คิปป์จะถูกประเมินเพิ่มอีก ๑ เรื่อง คือ ลักษณะนิสัยเฉลี่ย (CPA = Character Point Average) โรงเรียนจะแจ้งผลประเมินแก่ผู้ปกครองและนักเรียนปีละ ๒ ครั้ง

เมื่อ เดวิด เลวิน (David Lewin) ผู้พัฒนาหลักสูตรของคิปป์ถูกขอให้เลือกลักษณะนิสัยที่สำคัญมากอันดับต้นๆ ที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต เขาเลือกออกมา ๗ ประการตามลำดับดังนี้

ความมุมานะ การควบคุมตนเอง ความกระตือรือร้น การเข้าสังคม ความกตัญญู การมองโลกในแง่ดี และ ความสงสัยใคร่รู้

ความมุมานะ และ การควบคุมตนเอง มีความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ

..............................

ความมุมานะ เปลี่ยนชีวิตเด็กๆ ในหนัง McFarland USA

McFarland USA สร้างจากเรื่องจริงของครูชื่อ Jim White กับนักเรียนของเขาที่โรงเรียนมัธยมแมคฟาแลนด์ แคลิฟอเนีย

จิมเป็นครูที่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการสอนลูกศิษย์ให้ “ได้อย่างใจ” จนเผลอควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ขว้างรองเท้าไปใส่นักเรียนจนถูกเลิกจ้าง จิมพาครอบครัวที่มีลูกสาว ๒ คนย้ายไปสอนโรงเรียนมัธยม ในเมืองเล็กๆ ชื่อ McFarland ทั้งเมืองมีแต่ชาวเม็กซิกันที่ยากจนประกอบอาชีพรับจ้างทำงานในไร่

เมื่อจิมเห็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งวิ่งไปกลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน เขาจึงคิดจะสร้างทีมวิ่ง Cross-Country ขึ้น การสร้าง “ความเปลี่ยนแปลง” ในกลุ่มเด็กๆ ที่เป็น “พลเมืองชั้นสอง และยากจน” ไม่ใช่เรื่องง่าย เด็กๆ ต้องมีทั้ง “แรงจูงใจ” และ “ความมุมานะ” เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

เมื่อ “ครู” อย่างจิม มี “เป้าหมาย” ชัดแล้ว งานเป็นลำดับขั้นที่แสนยากเย็นของเขาคือ

  • ชักชวนเด็กๆ ให้มองเห็นเป้าหมายร่วมกันกับเขาเพื่อให้เกิด "แรงจูงใจ"
  • ฝึกหนัก และซ้ำซาก ที่จำเป็นต้องมี “ความมุมานะ”
  • ประเมินผลการฝึกหนักด้วยการนำนักเรียนทีม “McFarland” ไปแข่งขันครั้งแรก ทีมได้ที่โหล่
  • ค้นหาจุดอ่อนและฝึกหนักอย่างซ้ำซาก
  • ความร่วมมือของครอบครัว
  • ความร่วมมือของชุมชน

ครั้งหนึ่งเด็กๆ ในทีม ๓ คนจาก ๗ คน ถูกพ่อแม่ห้ามมาฝึกซ้อมเพราะ “ต้องไปช่วยทำงานรับจ้างในไร่” เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ ครูจิมใช้ความจริงใจเป็นเครื่องมือเอาชนะอุปสรรคโดยเสนอตัวไปช่วยทำงานในวันหยุดเพื่อชดเชยเวลาที่ขอให้เด็กๆ มาฝึกซ้อม กับรอให้เด็กๆ ช่วยงานครอบครัวเสร็จเสียก่อนจึงมาฝึก ครูจิมเดินไปหาทุกครอบครัวที่มีปัญหา

ความตั้งใจ และจริงใจ ทำให้เขาได้รับความร่วมมือจากชุมชนเล็กๆ ของเมืองแมคฟาแลนด์ ช่วยกันหาเงินมาสนับสนุนทีม หลังจากที่เขาจ่ายเงินตัวเองเพื่อซื้อชุดกีฬาให้เด็กๆ

ฉากที่ฉันประทับใจคือ หลังแข่งชนะได้เข้ารอบไปแข่งขันระดับรัฐ จิมขับรถ (เขาทำหน้าที่ทั้งเป็นโคช และพนักงานขับรถพาทีมไปแข่งขัน) ไปที่แห่งหนึ่งเพื่อเป็นรางวัลแก่เด็กๆ พนักงานเก็บเงินค่าผ่านเข้าบอกราคา ๙ เหรียญ เขาบอกว่า “ผมมี ๕ เหรียญกับเด็กๆ ที่ไม่เคยเห็นทะเลมาก่อนในชีวิต” พนักงานใจดีคนนั้นบอกว่า “งั้นผมให้คุณเข้าไปโดยไม่เก็บเงิน เชิญครับ”

จากเด็กๆ ที่ “เกเร ไม่เอาถ่าน” จิมพัฒนา “ลักษณะนิสัย” ที่สำคัญต่อความสำเร็จ นั่นคือ มีเป้าหมาย แรงจูงใจ และ ความมุมานะ นำทีมแมกฟาแลนด์ชนะเลิศของรัฐแคลิฟอเนียในปี ๑๙๘๗ จิมนำทีมโรงเรียนชนะเลิศระดับรัฐเรื่อยมาติดต่อกัน ๙ ปี

เด็กๆ ในชุมชนยากจนแห่งนี้ ไม่เคยมีใครได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย ด้วยวิธีคิดของพ่อแม่ผู้หาเช้ากินค่ำว่า “เรียนไปทำไมเสียเวลาทำมาหากิน”

ชัยชนะของทีมแมคฟาร์แลนด์ทำให้จิมมีชื่อเสียง โรงเรียนใหญ่ๆ ในเมืองเสนอตำแหน่งให้แต่เขาปฏิเสธ เขายังคงทำงานต่อไปจนเกษียณที่นั่น

จิม ไวท์ (ตัวจริง) กับทีมนักเรียนที่ชนะเลิศของรัฐแคลิฟอเนีย

เด็กทั้ง ๗ คนของจิม ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับชุมชนแห่งนั้น ทุกคนกลับไปช่วยโรงเรียนแมคฟาแลนด์ฝึกรุ่นน้องต่อไปเรื่อยๆ

เคล็ดลับความสำเร็จของเด็กๆ คือ พวกเขามี “ความมุมานะ” ในการฝึกซ้อม

..........................

ความมุมานะจากหนัง The Karate Kid

The Karate Kid ฉบับสร้างใหม่ปี ๒๐๑๐ เฉินหลงรับบทเป็น “ฮัน” กับ จาเดน สมิธ รับบทเป็น “เดร” เด็กชายที่ตามแม่ไปอยู่เมืองจีน และได้เจอกับ “ครูฮัน” ที่รับเดรเป็นศิษย์สอนวิชากังฟูให้

วันแรกของการเรียน ครูฮันบอกให้เดร “ถอดเสื้อออก - แขวนไว้ – หยิบมันขึ้นมา - สวมอีกครั้ง – ถอดออก – แขวนไว้ – หยิบมันขึ้นมา – สวมอีกครั้ง -----”

ครูฮันให้เดรทำสิ่งเดิม ซ้ำซาก ทั้งวัน และทุกวัน

เด็กอย่างเดร ย่อมไม่สามารถทำสิ่งที่เขารู้สึกว่า “ไร้สาระ” และ “นี่ไม่ใช่การสอนกังฟู” เขาจึงโกรธสุดเหวี่ยงจนระเบิดอารมณ์ถามหาเหตุผลในสิ่งที่ครูให้ทำ

“Attitude” เป็นคำตอบของครู ด้วยเหตุผลว่าเดรมิได้มี Attitude ต่อการเรียน ดังนั้นเดรจึงไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นนักเรียนของเขาต่อไป

เมื่อฉันดูหนังมาถึงตอนนี้ ก่อนที่ครูฮันจะเฉลย พลันคำว่า “ความมุมานะ” ที่ได้อ่านจากหนังสือ “โผล่” มาในทันที แม้ครูฮันในหนังไม่พูดคำนี้

ถ้าฉันเป็นคนเขียนบทหนัง ฉันจะให้ครูฮันตอบเดรว่า “ความมุมานะ เจ้ายังขาดสิ่งนี้ จำไว้เดร” ให้กล้องจับใกล้ไปที่ใบหน้าของเดร กับแววตาที่เข้าใจ แล้ว คัท

หลังฉากปะทะอารมณ์จบลง เดรตั้งใจฝึกซ้อม “ท่าถอดเสื้อ – แขวนเสื้อ” อย่างเต็มใจ

ฉากจบ เดรได้เป็นแชมป์กังฟูรุ่นเยาว์ ทั้งหมดนี้มาจาก “ความมุมานะ”

.................................

บทสรุป

“ความมุมานะ” คือ ความมุ่งมั่นเดินหน้าทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ว่าจะมีอุปสรรคขวากหนามใดๆ มาขวางกั้น แม้สิ่งนั้นจะ ยาก ซ้ำซาก จำเจ

นักกีฬาทุกคน ต้องฝึกฝนในแต่ละทักษะซ้ำซากทุกเมื่อเชื่อวันจนมันฝังลึกในรอยหยักของสมอง

นักเรียนที่ชนะการแข่งขันระดับโอลิมปิก ก็ต้องฝึกฝนสิ่งใหม่ที่ยาก และฝึกฝนบางเรื่องซ้ำซากทุกเมื่อเชื่อวันในห้องทั้งทำคนเดียว ทำในห้องเรียน จนมันฝังลึกในรอยหยักของสมอง

การเรียนทุกวัน มีทั้งวิชาที่น่าเบื่อ กิจกรรมที่น่าเบื่อ กับวิชาที่ชอบ กิจกรรมที่ใช่ แต่ทำไมเด็กบางคนผ่านไปได้ แต่บางคนผ่านไม่ได้

แม้ว่า หลังจากอ่านหนังสือ How Children Succeed จนจบ ฉันจะยังไม่ได้คำตอบว่า “แล้วเราจะสร้าง “ความมุมานะ” ให้เกิดขึ้นในตัวเด็กๆ ได้อย่างไร??" แต่...ไม่มีความคลางแคลงใจใดๆ ในข้อที่ว่า ความมุมานะ เป็นลักษณะนิสัยที่สำคัญยิ่งยวดต่อความสำเร็จในชีวิต.

……………………

ศุกร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 593006เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2015 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2015 07:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

ทึ่งกับความคิดของพี่มากครับ

ขอบคุณค่ะคุณแสง แสงแห่งความดี... สำหรับกำลังใจ

พี่สนใจเป็นพิเศษเรื่องการศึกษาและการพัฒนาเด็ก

การเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นความพยายามที่ยากมาก ใช้เวลามาก เพราะขณะเรียบเรียงความคิดเพื่อเขียนก็ได้เห็นภาพความคิดตัวเองชัดขึ้นๆ ตัวเองก็ได้ประโยชน์จากการเขียนด้วยค่ะ

และได้ประโยชน์มากขึ้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยน

น่าสนใจทั้ง 2 เรื่องเลย

เรื่องแรกจุดประกายคล้ายเรื่อง คิดถึงวิทยาครับ

อยากให้พี่ดู

ต้องชอบแน่ๆ

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณครับสำหรับการแบ่งปันที่ดีๆ

...ไม่ว่าจะมีอุปสรรคขวากหนามใดๆ มาขวางกั้น แม้สิ่งนั้นจะ ยาก ซ้ำซาก จำเจ.....


หมายเหตุ- KIPP Academy เป็นเครือข่ายโรงเรียนของรัฐในระดับมัธยมปลายซึ่งเปิดรับนักเรียนผู้ด้อยโอกาสเช่น พวกที่มีเชื้อสายผิวดำและลาติน ฟรี

https://en.wikipedia.org/wiki/Knowledge_Is_Power_P...

ขอบคุณค่ะน้อง ขจิต ฝอยทอง

พี่ไม่ค่อยได้ดูหนังไทย แต่จะต้องหา คิดถึงวิทยา มาดูตามที่อาจารย์แนะนำ

ขอบคุณมากค่ะอ.โรจน์ rojfitness ที่กรุณาหา link โรงเรียนคิปป์มาให้

ช่วยให้บันทึกสมบูรณ์ขึ้น เพราะดิฉันลืมเล่าไปว่า โรงเรียนคิปป์เป็นโรงเรียนที่รัฐตั้งขึ้นสำหรับกลุ่มเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนจริงๆ เพราะกลุ่มนี้เป็น "กลุ่มเสี่ยง" ด้วยปัจจัยด้านครอบครัว เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด

ตัวชี้วัดสำคัญของความสำเร็จ คือ การได้เรียนต่อมหาวิทยาลัย และ มีงานทำ

มีการติดตามเด็กๆ จากคิปป์พบว่า เด็กๆ จากคิปป์จำนวนมากได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และมีงานทำ

หนังสือเล่มนี้ทำให้ดิฉันนึกถึงโรงเรียนอาชีวะของบ้านเราค่ะ มิใช่ด้วยเรื่องการจบแล้วมีงานทำ เพราะสายวิชาชีพตลาดแรงงานต้องการมาก แต่ดิฉันหมายถึงการ "สร้างลักษณะนิสัย" ซึ่งก่อนอ่านดิฉันคิดว่าเป็น "ทางตัน" ที่จะแก้ปัญหาอาชีวะ

ดิฉันอยากเห็นวิทยาลัยอาชีวะเป็นสถานศึกษาที่มีเกียรติสูงเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัย

"การพัฒนา" ทุกสิ่ง ต้องการ "องค์ความรู้" น่าเสียดายที่ประเทศเราไม่ให้คุณค่าของ การใช้องค์ความรู้

ไม่สร้างเองก็ได้ แต่ สามารถใช้องค์ความรู้ที่ผู้อื่นคิดไว้แล้ว (ที่มีเกินพอ) มาใช้ก็ได้

ขอบคุณค่ะคุณ ดารนี ชัยอิทธิพร ที่แวะมาให้กำลังใจ

หวัดดีพี่นุ้ย เดี๋ยวนี้คุณมะเดื่อแทบไม่ได้ดูหนังเลย

-สวัสดีครับพี่หมอ

-ตามมาให้กำลังใจครับ

-ผมส่งอีเมลล์ขอคำปรึกษาเรื่องสุขภาพไปในเมลล์ของพี่หมอด้วยนะครับ

-รอบกวนขอคำแนะนำจากพี่หมอด้วยครับ

-ขอบคุณครับ


ชอบมากๆค่ะ...ขอบคุณที่นำมาแบ่งปัน

ขอบคุณค่ะ น้องครู คุณมะเดื่อ หนังดีๆ ให้ข้อคิดเรามากนะคะ หาแผ่นมานอนดูที่บ้านก็ได้ค่ะ

ขอบคุณน้องเพชร เพชรน้ำหนึ่ง พี่เพิ่งได้รับ mail วันนี้เองค่ะ หาข้อมูลจากหมอข้างตัว และหมอสูตินรีแพทย์ให้เรียบร้อย ตอบ mail แล้ว ขอให้โชคดีนะคะ พี่จะรอข่าวดี

ขอบคุณค่ะอาจารย์จัน จันทวรรณ ที่แวะมาให้กำลังใจ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะพี่นุ้ย เด็กเล็กยังมองเป้าหมายในอนาคตไม่ชัดเจน ต้องเห็น ได้ยินตัวอย่าง หรือมีผู้นำ พาทำ ปลูกฝัง อย่างมุมานะเช่นกัน หากพ่อแม่ คนเลี้ยง ญาติใกล้ชิด คุณครู ไม่มีหรือมีคุณสมบัติมุมานะน้อยไป ยากที่จะเกิดได้เองนะคะ ยกเว้นเด็กพิเศษจริง ๆ

น่าสนใจมากครับ..


“เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผสมผสานการเรียนในห้องเรียนที่เข้มงวดและทุ่มเทพลังงานไปกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม”

...

การเรียนรู้ด้วยตนเอง ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง และไม่แยกส่วนจากบริบทรอบกาย เรียนรู้แบบนี้แหละครับผมว่าจะเกิดทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ที่น่าประทับใจ

ชื่นชมและขอบพระคุณสำหรับบันทึกดีๆ บันทึก นี้ครับ


สวัสดีค่ะพี่นุ้ย

ขอบคุณมากๆที่นำมาแบ่งปันค่ะพี่

อิทธิบาท ๔


ฉันทะ (ความพอใจ)

....เริ่มด้วย ชื่นชอบ เป็นหลัก

เพลิดเพลิน ขยันผลัก ฉุดเสมอ

การกิจ ที่ยาก นะเกลอ

เหมือนเจอ จับกล้วย ปลอกกิน

วิริยะ (ความเพียร)

....พานพบ พอใจ ในสิ่ง

ยากยิ่ง มิท้อ ฝันถวิล

หยาดเหงื่อ น้ำตา หลั่งริน

ไม่สิ้น เพียรทน ทำการ

จิตตะ (ความคิด)

....ให้ใจ กายเฝ้า ครุ่นคิด

มุ่งพิชิต เช้าค่ำ สืบสาร

ไถ่ถาม ค้นคว้า จดจาร

สำราญ ฝึกประลอง เชิงเชาว์

วิมังสา (ความไตร่ตรอง)

....สิ่งใด ได้รู้ เรียนลอง

ไตร่ตรอง อย่าง่าย เชื่อเขา

อาจอ้าง ผิดหลง มัวเมา

พิเคราะห์ ขัดเกลา จึ่งดี

ขอบคุณค่ะน้องหมอ ธิรัมภา

ที่พูดมาตรงใจพี่ทั้งหมด

"เด็กเล็กเห็นเป้าหมายอนาคตไม่ชัดเจน" จริงค่ะ เด็กๆ ทำเพราะเห็นผู้ใหญ่ทำ ทำด้วยสนุก และมีการเสริมแรง ดังนั้่นผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็กต้อง "ทำให้เห็น ชวนทำ เสริมแรง" เป็นทั้ง ศาสตร์และศิลป ในการเลี้ยงลูก

"ประตู" การเรียนรู้แต่ละเรื่อง "เปิด" ในช่วงเวลาต่างกัน ถ้าพ่อแม่ไม่รู้ ไม่ใช้โอกาสสำคัญนี้เสริมแรงลูก ประตูก็จะปิด พ่อแม่เดี๋ยวนี้ (รวมทั้งพี่ด้วย) ไม่ใช้งานลูก เป็นผลเสียฉกรรจ์ หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่พ่อแม่ไม่สอนงานบ้าน เขาจะ "จัดการ" เรื่องในบ้านตัวเองไม่เป็น นี่เรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเองนะ พี่เจอจุดอ่อนกับหลุมพรางการเลี้ยงลูกพอสมควร ไม่กล้าเขียนกลัวลูกกินตับ

รัฐบาลจะส่งเสริมเรื่องการเลี้่ยงลูกเล็กให้มีคุณภาพ แค่ให้เงินทุกเดือนไม่พอ ต้องให้ความรู้พ่อแม่ด้วย และเป็นความรู้ที่ถูกต้อง

ตั้งแต่อ่านหนังสือเล่มนี้ พี่วนเวียนคิดอยู่ ๒ เรื่อง

๑. "ลักษณะนิสัย" สำคัญพอกับ "สติปัญญา" และทั้งสองสิ่ง "สร้างได้"

๒. พี่ไม่รู้ว่า "สร้างอย่างไร" และ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้พ่อแม่รู้ก่อนมีลูก

อยากประมวลความคิดเขียนบันทึกต่อเนื่องก็ไร้ความสามารถ และไม่สามารถสลัดความตั้งใจนี้ทิ้งได้ แย่จริง

ป.ล. ที่ห่างหายไปนานเพราะวนเวียนหาหนังสือในตู้ กับหายไปกลืนน้ำแร่รักษาโรค พอแก่โรคมันไม่เกรงใจค่ะน้อง

ขอบคุณอาจารย์ แผ่นดิน มากๆๆ

พี่ชอบทั้งย่อหน้าของอาจารย์ และอยากให้เป็นจริง "การเรียนรู้ด้วยตนเอง ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง และไม่แยกส่วนจากบริบทรอบกาย เรียนรู้แบบนี้แหละครับผมว่าจะเกิดทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ที่น่าประทับใจ"

จากที่อ่านบันทึกอาจารย์นะคะ พี่ชื่นชมว่าอาจารย์มี ทั้ง Critical & Creative Thinking อาจารย์คิดต่อให้พี่ทีนะคะว่า

๑. ครูจะสามารถออกแบบกิจกรรมเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียน "ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง" ได้หรือไม่ และอย่างไร

๒. เด็กเล็กๆ วัยอนุบาล ทำได้หรือไม่ เพราะพี่คิดว่า พฤติกรรมเรียนรู้ (เช่นใฝ่รู้ อยากรู้อยากเห็น พยายามหาคำตอบ สรุปความคิด เล่าให้ผู้อื่นรู้ด้วย ฯลฯ) ต้องสร้างแต่เล็ก เกินอนุบาลก็เกือบสาย

พี่ว่าชั้นเรียนแบบนี้มันสนุกสนาน เร้าใจ และเรียนรู้

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

ขอบคุณคุณยายจ้า มนัสดา

ทำให้พี่มีเรี่ยวแรงเขียนบันทึกนะคะ

ขอบพระคุณนะคะคุณ share

อ่านที่เขียนทั้งหมดทำให้เรียนรู้ค่ะว่า แท้จริงแล้ว ศาสนาพุทธของเราสอนสิ่งเหล่านี้มานมนาน แม้ชื่อเรียกจะต่างกัน แต่ความหมายเดียวกันเป๊ะ

ฉันทะ - วิริยะ - จิตตะ - วิมังสา กินความกว้างกว่า "ความมุมานะ" ไปเยอะนะคะ แต่ล้วนสำคัญต่อความสำเร็จ ดิฉันไม่กล้าเทียบเคียง (เพราะรู้ไม่พอ) ทั้งที่เป็นคนชอบเทียบเคียงเพราะเชื่อว่าความจริงทั้งหลายนั้นเป็นสากล

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท