จาก บางกอกคลินิก ถึง มท.1: กรณีปัญหาการละเมิดสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมในพื้นที่จังหวัดตาก


โครงการบางกอกคลินิกฯ จึงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า การกระทำของนายทะเบียนในพื้นที่บางนายที่ขาดความเข้าใจหรืออาจจะมีทัศนคติในเชิงลบในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ จะเป็นเหตุให้แนวนโยบายอันดีของรัฐไทยไม่ถูกปฏิบัติตาม และประเทศไทยจะต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังที่ปรากฏตอนหนึ่งในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ.๒๐๑๕ ของสหรัฐอเมริกาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการค้ามนุษย์ว่า “เนื่องด้วยความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ชาวเขาจำนวน ๙๐๐ คนได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทย และแม้เจ้าหน้าที่ในส่วนกลางจะมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ‘ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของบุคคลเป็นความเสี่ยงที่ทำให้บุคคลตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้’ แต่ในความเป็นจริงพบว่า ความเข้าใจดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปปรับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับการทำงานในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค” และในท้ายที่สุด โครงการบางกอกคลินิกฯ เกรงว่าการกระทำของนายทะเบียนในพื้นที่ดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยกลุ่มประชาชนและภาคประชาสังคมจังหวัดตากได้ในที่สุด

หนังสือจากโครงการบางกอกคลินิกฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หารือการวางมาตรฐานและแนวทางในการเแก้ไขเอกสารทางทะเบียนราษฎรที่มีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริง: กรณีนายชนินทร์ (ไม่มีนามสกุล) และ นายเบียะอ่อ (ไม่มีนามสกุล) กะเหรี่ยงดั้งเดิมจากอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตากลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๘


เรื่อง หารือการวางมาตรฐานและแนวทางในการเแก้ไขเอกสารทางทะเบียนราษฎรที่มีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริง: กรณีนายชนินทร์ (ไม่มีนามสกุล) และ นายเบียะอ่อ (ไม่มีนามสกุล) กะเหรี่ยงดั้งเดิมจากอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

อ้างถึง

  1. หนังสือกรมการปกครองด่วนที่สุด ที่ มท ๐๓๐๙.๑/๑๖๖๗๑ เรื่อง หารือเรื่องการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗
  2. หนังสือกรมการปกครองด่วนมาก ที่ มท ๐๓๐๙.๑/ว๓๐๔๒ เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคล ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘

สิ่งที่ส่งมาด้วย

  1. กรณีศึกษานายชนินทร์และครอบครัว บุคลากรสาธารณสุขไร้สัญชาติชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เพื่อพิสูจน์การเกิดในประเทศไทย และการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักดินแดน แห่งมาตรา ๒๓พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ โดย นางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายโครงการสี่หมอชายแดนจังหวัดตาก และนักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘
  2. กรณีศึกษานายเบียะอ่อและครอบครัว บุคลากรสาธารณสุขไร้สัญชาติชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแห่งอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เพื่อพิสูจน์การเกิดในประเทศไทย และการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักดินแดน แห่งมาตรา ๒๓พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ โดย นางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายโครงการสี่หมอชายแดนจังหวัดตาก และนักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘

สำเนาถึง

  1. อธิบดีกรมการปกครอง
  2. รองอธิบดีกรมการปกครองฝ่ายบริหารงานส่วนภูมิภาค (คุณดลเดช พัฒนรัฐ)
  3. ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก (คุณสมชัยฐ์ หทยะตันย์ติ)
  4. นายอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก (คุณสมชาย ไตรทิพย์ชาติ)


ด้วย โครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษากฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคล ภายใต้กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นทั้งภาควิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการประชากรของรัฐไทยและหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่มีปัญหาในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย อีกทั้งปัจจุบันได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อต่อยอดการสำรวจสถานการณ์ด้านสุขภาวะของคนชายแดนจังหวัดตาก หรือ “โครงการสี่หมอชายแดนจังหวัดตาก” ได้รับคำร้องกรณีนายชนินทร์ (ไม่มีนามสกุล) และนายเบียะอ่อ (ไม่มีนามสกุล) จากคลินิกกฎหมายโรงพยาบาลท่าสองยาง จังหวัดตาก ตั้งแต่วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๗ และได้มีการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกรณีดังกล่าวเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน (โปรดดูสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑ และ ๒)


โครงการบางกอกคลินิกฯ พบว่าในกรณีของนายชนินทร์ (ไม่มีนามสกุล) และ นายเบียะอ่อ (ไม่มีนามสกุล) นั้น มีประเด็นสำคัญที่จำต้องมีการหาแนวทางอันเป็นมาตรฐานและสร้างความเข้าใจแก่นายทะเบียนในพื้นที่ กล่าวคือ การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในพื้นที่ห่างไกลและเคยอยู่ในภาวะการสู้รบในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขเอกสารทะเบียนราษฎรที่มีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริง อันเป็นสาระสำคัญต่อการใช้สิทธิและได้รับรองสิทธิในสัญชาติไทยตามสิทธิอันชอบธรรมและสมศักดิ์ศรี ซึ่งการนำมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรให้กับประชาชนในพื้นที่เขตเมืองในสถานการณ์ปัจจุบันมาปรับใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมในสถานการณ์อดีตที่บรรพบุรุษของพวกเขาหนีภัยความตายจากการสู้รบอพยพเข้ามาในประเทศไทยนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นส่วนของ “การเรียกร้องและรับฟังพยานหลักฐานในการบันทึกข้อเท็จจริงของพวกเขา” เพราะในสองสถานการณ์ดังกล่าวย่อมมีพฤติการณ์แวดล้อมทั้งบริบทพื้นที่และบริบทเวลาที่แตกต่างกัน


อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงแนวนโยบายของรัฐไทยในอดีตจะเห็นว่ารัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยมีนโยบายเร่งรัดในการขจัดปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติรวมถึงปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้มาโดยตลอด รวมถึงความพยายามของกรมการปกครองในปัจจุบันในการวางหลักเรื่องแก้ไขเอกสารของทางราชการซึ่งมีการยอมรับว่าอาจจะเกิดความผิดพลาดได้มาตั้งแต่อดีต โดยคำนึงถึงสถานการณ์แวดล้อมเป็นสำคัญ รวมถึงการวางหลักการรับฟังพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงบางประการที่ประชาชนมิอาจแสวงหาพยานเอกสารได้ ดังจะเห็นได้จากหนังสือ ๒ ฉบับ คือ (๑) หนังสือกรมการปกครองด่วนที่สุด ที่ มท ๐๓๐๙.๑/๑๖๖๗๑ เรื่อง หารือเรื่องการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๗ และ (๒) หนังสือกรมการปกครองด่วนมาก ที่ มท ๐๓๐๙.๑/ว๓๐๔๒ เรื่อง ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาเรื่องสัญชาติและสถานะบุคคล ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ (ตามอ้างถึง ๑ และ ๒)


โครงการบางกอกคลินิกฯ จึงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า การกระทำของนายทะเบียนในพื้นที่บางนายที่ขาดความเข้าใจหรืออาจจะมีทัศนคติในเชิงลบในการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ จะเป็นเหตุให้แนวนโยบายอันดีของรัฐไทยไม่ถูกปฏิบัติตาม และประเทศไทยจะต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ละเมิดสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ดังที่ปรากฏตอนหนึ่งในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ.๒๐๑๕ ของสหรัฐอเมริกาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการค้ามนุษย์ว่า “เนื่องด้วยความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ชาวเขาจำนวน ๙๐๐ คนได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทย และแม้เจ้าหน้าที่ในส่วนกลางจะมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของบุคคลเป็นความเสี่ยงที่ทำให้บุคคลตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้ แต่ในความเป็นจริงพบว่า ความเข้าใจดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปปรับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับการทำงานในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค”[1] และในท้ายที่สุด โครงการบางกอกคลินิกฯ เกรงว่าการกระทำของนายทะเบียนในพื้นที่ดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยกลุ่มประชาชนและภาคประชาสังคมจังหวัดตากได้ในที่สุด


ในการนี้ โครงการบางกอกคลินิกฯ ในฐานะภาควิชาการและที่ปรึกษาของโครงการสี่หมอชายแดนจังหวัดตาก จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านโปรดพิจารณาอย่างเร่งด่วนใน “การวางมาตรฐานและแนวทางในการเแก้ไขเอกสารทางทะเบียนราษฎรที่มีความขัดแย้งกับข้อเท็จจริง รวมถึงการซักซ้อมความเข้าใจถึงมาตรฐานและแนวทางดังกล่าวกับนายทะเบียนในพื้นที่” เพื่อการแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมของไทยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเคยอยู่ในภาวะการสู้รบในอดีต เพื่อมิให้ความไม่เข้าใจหรือทัศนคติในทางลบของนายทะเบียนท้องถิ่นบางนายทำให้เกิดการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบมาสู่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือแม้แต่รัฐไทยเอง นอกจากนี้ยังจะทำให้การแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนไร้รัฐไร้สัญชาติเกิดความล่าช้ามากยิ่งขึ้น


การแก้ไขปัญหากรณีนายชนินทร์ (ไม่มีนามสกุล) และ นายเบียะอ่อ (ไม่มีนามสกุล) นั้น ย่อมส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์อื่นหรือบุคคลอื่นในสถานการณ์เดียวกัน และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนายทะเบียนท้องถิ่นในการปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประชาชนอันเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงมหาดไทยที่ว่า “เป็นกระทรวงหลักในการบริหารจัดการและบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขประชาชน" อีกด้วย


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้


นางสาวบงกช นภาอัมพร

นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์

นางสาวปภาวดี สลักเพชร

นักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิกฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



[1] แปลความ โดย น.ส.บงกช นภาอัมพร จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ.๒๐๑๕ ของสหรัฐอเมริกา หน้าที่ ๓๓๔ ซึ่งปรากฏข้อความดังต่อไปนี้ “Due to proactive efforts by some officials, 900 hill tribe members received citizenship. While national-level officials seemed to have a greater understanding that statelessness may be a risk factor for trafficking, this understanding had not necessarily become a standard at the municipal and regional levels.”

หมายเลขบันทึก: 593097เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2015 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2015 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท