ลีกวนยู มองจีน สหรัฐ และ ระบบโลก


ประสบการณ์ของประธานาธิบดีนิกสัน เป็นตัวอย่างนักยุทธศาสตร์ที่เน้นผลสัมฤทธิ์ เขาจะเข้าไปสังสรรค์ไม่ใช่ปิดล้อมจีน แต่หากจีนไม่เล่นตามกติกาเป็นพลเมืองที่ดีของโลก เขาจะถอยกลับไปวางแผนสอง ในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศที่จะถูกเลือกให้ร่วมกระดานหมากรุกเคียงข้างอเมริกา ก็คือ ญี่ปุ่น เกาหลี อาเซียน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย

ลีกวนยูมองจีน



หนังสือเล่มใหม่ "LEE KUAN YEW : The grand master's insights on China, the United States, and the Wold" ซึ่งเป็นการรวมบทสัมภาษณ์ในที่ต่าง ๆ ของลีกวนยู โดยใช้การพูดคุยระหว่างลีกวนยูกับนักวิจัยจาก Belfer Center for Science and International Affairs จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเป็นแกนกลางในการเดินเรื่อง



หนังสือเล่มนี้ได้ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และอดีตประธานสภาความมั่นคงสมัยประธานาธิบดี นิกสันและฟอร์ด มาเขียนคำนิยมให้ พอจะคาดเดาได้ว่าคิสซิงเจอร์เมื่อเขียนคำนิยมก็ต้องพูดถึงลีในแง่ดี แต่ถ้าเราอ่านระหว่างบรรทัดของคำนิยมนี้ เราจะพอคาดเดาได้ว่ามุมมองแบบไหนที่ "ถูกใช้" และ "ได้รับการยอมรับ" ในแวดวงนักนโยบายของเวทีการเมืองระหว่างประเทศ


"His analysis is of such quality and depth that his counterparts consider meeting with him as a way to educate themselves. For three generations now, whenever Lee comes to Washington, he meets with an array of people spanning the top ranks of the American government and foreign policy community. His discussions occur in an atmostphere of rare candor borne of high regard and long-shared experience. Every American president who has dealth with him has benefited from the fact that, on international issues, he has identified the future of his country with the fate of democracies. Furthurmore, Lee can tell us about the nature of the world that we face, with especially penetrating insights into the thinking of his region."


และแน่นอนความคิดเห็นของลีที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเหล่าผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ เข้าพบลีกวนยูนั้น จะเป็นเรื่องอื่นไปไม่ได้ นอกจากความคิดเห็นเรื่องร้อนแรงอย่าง "จีน" และ "อนาคตของจีน"



คำถาม: จีนต้องการแทนที่สหรัฐเพื่อเป็นที่ 1 แทนในเอเชียไหม

ลีตอบ: จีนต้องการขึ้นเป็นที่ 1 แทนสหรัฐอย่างแน่นอน ไม่ต้องสงสัยในเรื่องนี้เลย โกลด์แมนแซคทำนายว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าด้วยอัตราขนาดนี้ เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จีนกำลังไล่ตามสหรัฐทั้งการส่งคนขึ้นไปบนอวกาศ และใช้มิสไซล์ยิงดาวเทียม แล้วพวกเขายังมีวัฒนธรรมอายุ 4,000 ปี คนอีก 1.3 พันล้านคน เอาแค่ส่วนน้อยในนี้ก็สามารถดึงกลุ่มอัจฉริยะมาได้ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว

ตลาดของคน 1.3 พันล้านคนนี้ มีขนาดใหญ่เกินกว่าจะปฏิเสธได้และทั้งรายได้และกำลังซื้อมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น

แต่จีนจะไม่มีวันเป็น "ประเทศตะวันตก" เด็ดขาด จีนจะเป็นจีนและต้องการให้ประเทศตะวันตกยอมรับจีนในเรื่องนี้



คำถาม: ถ้าจีนเป็นมหาอำนาจได้จริง จีนจะเป็นอย่างไร

ลีตอบ: ในความคิดของจีน แต่เดิมมาจีนคือ "อาณาจักรกลาง" (จงกั๋ว หรือ 中国) ในเอเชียสมัยโบราณ จีนเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และประเทศอื่นรอบจีนต้องยอมรับอำนาจของจีน (เช่นการส่งบรรณาการมาคำนับ)

ไม่มีใครในเอเชีย (หรืออาเซียน) จะแน่ใจได้ว่าจีนจะทำตัวแบบเดียวกับสหรัฐแบบที่เคยเป็นมา จีนต้องการให้ประเทศอื่นในเอเชียให้การเคารพนับถือจีน จีนอาจจะพูดว่าไม่ว่าประเทศจะใหญ่หรือเล็กต่างก็เท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงหากเราทำอะไรที่ทำให้จีนไม่พอใจ จีนก็จะบอกว่าคุณกำลังทำให้คน 1.3 พันล้านไม่พอใจนะ ช่วยรู้ที่รู้ทางของคุณหน่อ



คำถาม: ยุทธศาสตร์ของจีนที่จะเป็นที่ 1 คืออะไร

ลีตอบ: จีนจะไม่ท้าทายสหรัฐโดยตรง เพราะในขณะนี้สหรัฐมีความเข้มแข็งทางการทหาร และเทคโนโลยีที่เหนือกว่า แต่จีนจะใช้จำนวนคนที่มากกว่า ที่มีทั้งฝีมือและการศึกษาในการ ขายของถูก สร้างของถูก กว่าคนอื่น ๆ

จีนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของ เยอรมนี และ ญี่ปุ่น ที่ไปท้าทายระเบียบโลกในขณะนั้นโดยตรง จึงต้องประสบหายนะ ซึ่งจีนไม่โง่ และจีนจะใช้รายได้ประชาชาติ GDP ไม่ใช่รายได้ประชาชาติต่อหัว (จีนไม่สนใจรายได้ต่อคน เท่ากับรายได้ประเทศโดยรวม) เป็นอำนาจในการต่อรอง

แม้ขีดความสามารถทางการทหารของจีนจะไม่สามารถทัดเทียมกับสหรัฐในเวลาอันใกล้ แต่จีนจะพัฒนามาตรการแบบไม่สมมาตร (asysmmetrical means) เพื่อทอนกำลังทหารของสหรัฐล

จีนเข้าใจเป็นอย่างดีว่า การเติบโตของตนนั้นขึ้นกับการนำเข้า พลังงาน วัตถุดิบ และ อาหาร *ดังนั้นจีนต้องการเส้นทางขนส่งทางทะเล* ดังนั้นสิ่งที่ปักกิ่งกังวลที่สุดคือ *ช่องแคบมะละกา*

จีนสามารถรอได้ถึง 30 - 50 ปี ที่จะใช้ช่วงเวลานี้ค่อย ๆ สั่งสมกำลังทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร "อย่างสันติ" ค่อย ๆ เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจรวมศูนย์แบบคอมมิวนิสต์ ให้กลายเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาด

จีนจะไม่เดินซ้ำรอย เยอรมนีและญี่ปุ่น ส่วนข้อผิดพลาดของโซเวียตก็คือพวกเขาให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายทางทหารมากจนเกินไป และให้ความสนใจกับเทคโนโลยีของพลเรือนน้อยเกินไป ดังนั้นเศรษฐกิจของโซเวียตจึงล่มสลาย ผู้นำจีนรู้ดีว่าถ้าเมื่อไหร่จีนไปแข่งขันสะสมอาวุธกับอเมริกา จีนจะหมดตัวทันที

ดังนั้นจีนจะยอมก้มหัวให้ "ในช่วงนี้" ยิ้มรอเวลาอีก 40 - 50 ปี หรือนานกว่านั้นก็ได้!

เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ จีนจะมุ่งเน้นเรื่องการศึกษาให้กับเยาวชน โดยคัดเลือกคนที่มีสติปัญญาสูงสุด ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้ง เศรษฐกิจ การบริหารธุรกิจ และภาษาอังกฤษ

สำหรับยุทธศาสตร์ของจีนต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็มีง่าย ๆคือ "มาเติบโตกับเราสิ"

จีนจะดึงดูดประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปในขอบเขตอิทธิพลของตน ด้วยอำนาจอันล้นเหลือทางเศรษฐกิจ เพราะขนาดตลาดของจีนและกำลังซื้อของจีนจะมีขนาดใหญ่จนยากปฏิเสธได้ แม้แต่ญี่ปุ่น เกาหลี ใต้หวัน ก็จะถูกจีน "กลืน" อย่าง "สันติ"

ประเทศอื่นในเอเชียยังอยากให้สหรัฐอยู่ในเอเชียแปซิฟิคเพื่อคานอำนาจจีน อันที่จริงสหรัฐฯ ควรจะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษกับประเทศอื่นในเอเชีย (อย่าง TPP) ให้สำเร็จก่อนหน้านี้สัก 30 ปี แต่ตอนนี้สายไปเสียแล้ว

จีนจะเน้นย้ำว่าพวกเขาจะใช้มาตรการทางเศรษฐกิจในการขยายเขตอิทธิพลของตนในเอเชีย ดังนั้นเครื่องมือที่พวกเขาจะใช้ในขณะนี้คือ เวทีทางการทูต ไม่ใช่การใช้กำลังทางทหาร.



คำถาม: จุดอ่อนของจีนมีอะไรบ้าง

ลีตอบ: ตอนนี้จุดอ่อนภายในของจีนอยู่ที่ วัฒนธรรม, ภาษา และการไม่สามารถดึงดูดผู้ที่มีพรสวรรค์จากต่างประเทศ รวมทั้งระบบการปกครอง

ลีกวนยูมองว่าตอนนี้ ภาษาอังกฤษ *เป็นภาษาของโลกไปแล้ว* ต่อให้จีนเปิดรับให้มีผู้ย้ายถิ่นเข้าไปในประเทศได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าคนเลือกได้ก็จะเลือกไปอเมริกามากกว่า การจะอยู่อาศัยในจีนได้ต้องใช้ภาษาจีนและระบบภาษาจีนนั้นยุ่งยากกว่ามาก ลีกวนยูเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ว่าเป็นคนเชื้อชาติจีนเหมือนกัน แต่สิงคโปร์จงใจเลือกภาษาอังกฤษเป็นหลัก และภาษาจีนเป็นรอง ลีบอกว่าสิงคโปร์ตั้งใจในเรื่องนี้เพื่อทำให้คนสิงคโปร์สามารถเชื่อมตัวเองเข้ากับโลกได้ และสามารถเข้าถึงวิทยาการและนวัตกรรมที่ล้ำหน้า การเข้าถึงเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ผ่านตัวภาษา แต่ยังเป็นระบบคิดที่ถูกครอบด้วยตัวภาษาอังกฤษอีกชั้นหนึ่ง ลีกวนยูบอกว่าเคยแนะนำผู้นำจีนเรื่องนโยบายภาษานี้ แต่จีนมีวัฒนธรรมและความภาคภูมิใจที่เข้มแข็งเกินกว่าจะทำเช่นเดียวกับสิงคโปร์ได้

ในแง่วัฒนธรรม แม้จีนจะสามารถไล่กวดทันสหรัฐในแง่เศรษฐกิจ แต่ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมจะไม่สามารถไล่ทันอเมริกาได้เลย เพราะจีนมีวัฒนธรรมที่จะไม่ยอมให้มีการแลกเปลี่ยนหรือแข่งขันทางความคิดอย่างเสรี ลีกวนยูชวนให้คิดถึงตรรกะง่าย ๆ ที่ว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ประเทศที่มีประชากรมากกว่าอเมริกาถึงสี่เท่าแถมยังมีผู้คนที่มีความสามารถเต็มไปหมด แต่กลับไม่สามารถคิดเทคโนโลยีที่ล้ำยุคออกมาได้เลย?

ธรรมเนียมของจีนนั้นเมื่อส่วนกลางเข้มแข็ง ส่วนภูมิภาคก็อ่อนแอ และในทำนองกลับกันส่วนภูมิภาคเข้มแข็งเมื่อไหร่ ส่วนกลางก็จะอ่อนแอ เมื่อส่วนกลางอ่อนแอ "จักรพรรดิก็จะอยู่ห่างออกไปและภูเขาก็จะสูงชันขึ้น" สิ่งเดียวที่จีนกลัวก็คือการที่จีนจะคุมมวลชนของตนไม่อยู่ จีนรู้ว่าจะเกิดเรื่องนี้ขึ้นแต่ไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใ

นอกจากนี้ก็มีปัญหาเรื่องขนาดอันใหญ่โตของประเทศ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ย่ำแย่ ความอ่อนแอของสถาบัน ผลตกค้างของระบบเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของโซเวียตที่จีนเคยนำมาใช้

ปัญหาใหญ่ที่สุดของจีนคือความแตกต่างระหว่างเมืองแถบชายฝั่งทะเลที่ร่ำรวย และเมืองในเขตที่ลึกเข้ามาในพื้นทวีปที่ยากจน (รวมทั้งความเหลื่อมล้ำในตัวเมืองเหล่านั้นด้วย) สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัจจัยทำให้เกิดการจราจลและอาจลุกลามบานปลายได้

ลีกวนยูมองว่า เทคโนโลยีจะทำให้ระบอบการปกครองของจีนล้าสมัย ภายในอีก 20 ปีข้างหน้า (2030) เมืองต่าง ๆ ของจีนจะต้องรองรับประชากรราว 70 - 75% คนเหล่านี้จะมีทั้ง โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต ทีวีดาวเทียม แล้วคนเหล่านี้ก็จะสามารถเข้าถึงความรู้จากนอกประเทศได้ สามารถจัดตั้งกันเองได้ พอเมื่อเป็นดังนั้นแล้วระบบการปกครองแบบปัจจุบันจะใช้ไม่ได้อีก การตรวจสอบสอดส่องคนต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ทำไม่ได้ เพราะมีคนมากเกินไปที่จะทำได้ทั่วถึง

แต่จีนอาจผ่อนปัญหานี้ลงไปได้บ้างถ้าใช้วิธีแบบ "สัมฤทธิผลนิยม" คือยังคงใช้ระบบควบคุมอย่างเข้มงวด เหมือนที่จีนทำอยู่แล้ว ไม่อนุญาตให้มีการจราจลไม่อนุญาตให้มีการประท้วง แล้วค่อย ๆ โอนอำนาจให้กับท้องถิ่น และคนชั้นล่างลงไป


คำถาม: จีนต้องการบรรลุเป้าหมายการเป็นหมายเลข 1 เร็วช้าเท่าใด

ลีตอบ: จีนไม่เร่งรีบที่จะเป็นหมายเลข 1 ของโลกแทนสหรัฐ การมีพื้นที่อยู่ใน G20 ก็โอเคสำหรับจีน ในกลุ่มนี้มุมมองของจีนก็จะถูกรับทราบอย่างชัดแจ้งและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ได้รับการปกป้อง แต่ต้นทุนในการรับผิดชอบก็จะกระจายออกไปให้กับอีก 19 ประเทศที่เหลือด้วย

ชนชั้นนำจีนแม้ว่าจะมีมุมมองที่ค่อนไปทางระมัดระวังตัวและอนุรักษ์นิยม แต่พวกเขาก็จะทำงานบนพื้นฐานของฉันทามติมากกว่าการโหวต และด้วยมุมมองระยะยาว ดังนั้นศตวรรษที่ 21 ก็อาจเป็นศตวรรษของจีนก็ได้ หรือแชร์ร่วมกันกับสหรัฐก็ได้ แต่หลังจากนั้นศตวรรษของจีนก็จะตามมาอยู่ดี


คำถาม : จีนมองบทบาทของสหรัฐในเอเชียอย่างไร

ลีตอบ : จีนไม่เคยประมาทศักยภาพของประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่สามารถครองความเป็นผู้นำในภูมิภาคต่อเนื่องกันถึงเจ็ดทศวรรษ นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สหรัฐยังประกันเสถียรภาพด้านความมั่นคงให้กับ ญี่ปุ่น ประเทศเสือเอเชียทั้งหลาย รวมถึงจีนเองด้วย จีนทราบดีว่าพวกเขายังต้องการตลาดของสหรัฐ เทคโนโลยีของสหรัฐ และการส่งนักศึกษาจีนไปเรียนต่อสหรัฐ เพื่อนำเอาความรู้ล้ำหน้าที่สุดของโลกกลับมาใช้ยังจีน ดังนั้นจีนมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะไปต่อกรกับสหรัฐในช่วง 20 - 30 ปีนับจากนี้

ตรงข้ามจีนจะยอมรับระเบียบโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบันค่อย ๆ รอเวลาที่เข้มแข็งพอที่จะ "นิยาม" ระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจโลกขึ้นมาใหม่


คำถาม: จีนจะยังคงการเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักไปอีกหรือไม่

ลีตอบ: สามทศวรรษที่ผ่านมาจีนเติบโตในอัตราเฉลี่ย 10% ต่อปีบางครั้งถึง 12% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ไม่ธรรมดา ลีมองว่าจีนน่าจะยังคงการเติบโตในอัตรานี้ได้อยู่ในทศวรรษข้างหน้า เพราะจีนมาจากฐานการเติบโตที่ต่ำ และจำนวนผู้บริโภคขนาด 1.3 พันล้านจะช่วยเพิ่มการเติบโตได้แน่


คำถาม: จีนจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่

ลีตอบ: จีนไม่มีทางเป็นประเทศที่เป็น "เสรีประชาธิปไตย" เพราะถ้าเป็นเมื่อไหร่ จีนจะล่มสลายทันที

ลีบอกว่าปัญญาชนจีนเองก็ตระหนักเรื่องนี้ดี การปฏิวัติประเทศให้เป็นประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นยาก ลีชี้ให้ดูขบวนนักศึกษาสมัยเทียนอันเหมิน เดี๋ยวนี้พวกเขาหายไปไหนแล้ว? คนจีนต้องการจีนให้ฟื้นกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ต่างหาก

แต่ถ้าพูดถึงระบอบประชาธิปไตยในระดับหมู่บ้านและเมืองเล็ก ๆ อันนี้พอเป็นไปได้ แม้จะมีแรงต้านพวกนี้อยู่แต่จะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ระบบการสื่อสารและอินเทอร์เน็ตจะช่วยเร่งแนวโน้มนี้เพิ่มมากขึ้น

แต่ระบบส่วนกลางอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักในอีก 50 ปีข้างหน้า

ชนชั้นนำจีนจะยอมรับเทคนิคใหม่ ๆ ยกเว้นเส้นทางประชาธิปไตย ที่อนุญาตให้มีการลงคะแนนเสียงเท่ากันทุกคน และระบบหลายพรรคการเมือง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ต้องการควบคุมเสถียรภาพทางการเมือง และพวกเขาไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ที่มีขุนศึกควบคุมเขตต่าง ๆ ในท้องถิ่นอย่างในสมัย ทศวรรษ 1920 และ 1930


คำถาม: แล้วจีนจะเป็นที่ 1 ได้ไหม

ลีตอบ: จีนต้องตระหนักว่าศักยภาพตนเองอยู่ที่เศรษฐกิจไม่ใช่การทหาร จีนมีกำลังคนมากและสามารถผลิตของได้ถูกกว่าใครในโลก อิทธิพลของจีนในแง่นี้จะเติบโตมากขึ้นและมากขึ้นจนเกินศักยภาพอเมริกา

จีนอาจมีโอกาสมีปัญหาเหมือนกัน ถ้าผู้นำของจีนที่ถูกเลือกขึ้นมาไม่ตระหนักถึงแนวทางนี้ ซึ่งมีลักษณะสัมฤทธิผลนิยมมากกว่าเป็นไปตามอุดมการณ์ทางการเมือง โอกาสที่ว่านี้ลีมองว่ามีสัก 20% ลีไม่ถึงกับมองว่าเป็นไปไม่ได้เลย และโอกาสนี้ก็อาจจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจีนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของ ระบบการเมืองภายใน วัฒนธรรมทางธุรกิจ การลดปัญหาการคอรัปชั่น และการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ขึ้นมา

ลีมองในแง่ดีว่า ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษที่ฟื้นกลับคืนมาของเอเชียในโลก มีหายนะที่อยู่ในการคาดการณ์น้อยเต็มทีที่จะทำให้จีนแตกเป็นเสี่ยงและกลับไปเป็นประเทศที่มีพวกขุนศึกคอยรบกันอีก แต่จีนจะต้องตระหนักถึงเรื่องการศึกษากับประชาชนของตนในการเข้าถึงวิทยาการและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เพื่อที่จะทำให้สังคมเป็นอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบในก้าวแรก ถัดจากนั้นก็จะบรรลุถึงสังคมไฮเทคโนโลยีในก้าวถัดไป กระบวนการทั้งหมดนี้อาจใช้เวลา 50 - 100 ปี (ลีมองอินเดียตรงข้ามกับจีนว่า การทำประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมได้ไม่ดีเท่าจีน แต่ไปเน้นการบริการ ซึ่งทำให้ประเทศไม่มีความเข้มแข็งเท่าจีนในขณะนี้)




ลีกวนยูมองอะไรในอเมริกา?



--อเมริกาจะยังคงยิ่งใหญ่ต่อไปหรือไม่ในทศวรรษหน้านี้?

เราได้นำเสนอจีนจากสายตาของลีกวนยูไปแล้ว ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และยุทธศาสตร์ที่ควรจะเป็น ตอนต่อไปนี้เป็นตอนสำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะทำให้เราทราบมุมมองของผู้นำระดับโลกเช่นลีกวนยูในการประเมินสถานการณ์อเมริกาตามความเป็นจริง

และเราจะปิดท้ายซีรี่ส์นี้ด้วยการปรับตัวของสองยักษ์มหาอำนาจนี้ และผลกระทบกับการเมืองเศรษฐกิจโลก พร้อมทั้งความท้าทายต่อไป



คำถาม: อเมริกากำลังตกอยู่ในการ "อ่อนกำลังลง" อย่างเป็นระบบหรือไม่?

ลีตอบ: ไม่เลย แม้ว่าอเมริกากำลังตกที่นั่งลำบากในการแก้ปัญหาเรื่องหนี้และการขาดดุลงบประมาณ แต่ผมไม่เคยสงสัยเลยว่าอเมริกาจะกำลังตกต่ำลงเป็นประเทศชั้นสอง

อเมริกาแสดงให้เราเห็นว่าพวกเขาสามารถฟื้นตัวและกลับคืนมาได้แล้วในประวัติศาสตร์ จุดแข็งของอเมริกาไม่ได้อยู่แค่เรื่องความคิด แต่สามารถคิดได้กว้างขวาง เต็มไปด้วยจินตนาการ และมีลักษณะมุ่งผลสัมฤทธิ์ พวกเขามีศูนย์ความเป็นเลิศหลากหลายที่จะแข่งขันกันสร้างนวัตกรรม ค้นหาแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ แถมสังคมนี้ยังสามารถดึงดูดอัจฉริยะหลากหลายจากทั่วโลกมารวมตัวกัน ภาษาอังกฤษที่อเมริกาใช้เป็นหลักนั้นเล่าก็เป็นภาษาใช้งานของโลก (lingua franca) ที่เป็นที่ยอมรับของผู้นำในด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม ธุรกิจ การศึกษา การทูต และแม้กระทั่งใครก็ตามที่สามารถไต่เต้าขึ้นไปถึงระดับบนสุดของสังคมของตนทั่วโลก

แม้ว่าอเมริกาจะเผชิญหน้าความยากลำบากทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่จิตวิญญาณด้านการสร้างสรรค์ ความสามารถในการฟื้นฟูสภาพ และการสร้างนวัตกรม จะทำให้ให้พวกเขาสามารถหยัดยืนต่อปัญหาหลักต่าง ๆ ได้ แล้วสามารถเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้น แล้วฟื้นขีดความสามารถในการแข่งขันกลับมาอีกครั้ง

ในอีกสองสามทศวรรษข้างหน้า อเมริกายังคงเป็นสุดยอดอำนาจขั้วเดี่ยว อเมริกามีพลังอำนาจทางทหารที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก และมีระบบเศรษฐกิจที่มีความเป็นพลวัตสูงที่สุดด้วยเช่นกัน ในระบบเศรษฐกิจนั้นมีจักรกลในการสร้างการเติบโตอยู่สามประการคือ นวัตกรรม ความสามารถในด้านผลิตภาพ และ การบริโภค

อเมริกายังคงเป็นผู้กำหนดเกมในช่วงระยะเวลาอีกสามสิบปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสันติภาพ หรือเสถียรภาพในระดับนานาชาติใดก็ตามไม่อาจแก้ไขได้หากปราศจากการนำของอเมริกา ยังไม่มีประเทศ หรือกลุ่มประเทศใดก็ตามในโลกที่สามารถแทนที่อเมริกาในฐานะอำนาจที่สามารถบงการโลกได้

อเมริกาเผชิญความท้าทายจากสงครามก่อการร้ายในช่วง 9/11 ความช็อคจากสถานการณ์ในขณะนั้นไม่สามารถหยุดยั้งพวกเขาได้ และพวกเขาไม่รีรอที่จะใช้พลังอำนาจทางทหารเพื่อเปลี่ยนเกมจากพวกก่อการร้าย ตามล่าไปสุดขอบโลก พบแล้วทำลายเครือข่ายก่อการร้ายอย่างถอนรากถอนโคน

ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า อเมริกากำลังจะกลายเป็น "จักรวรรดิอเมริกา" แบบเสมือนจริง ไม่ว่าเราจะทำงานอยู่ส่วนใดบนผืนพิภพ เราจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงเข้ากับกิจการและผลิตภัณฑ์ของบรรษัทอเมริกัน ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า จักรวรรดิจะต้องรวบรวมผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างศาสนา เข้าเป็นหนึ่งเดียว



คำถาม: จุดแข็งของอเมริกาคืออะไร?

ลีตอบ: ทัศนะที่ว่า "เราสามารถทำได้" (a can-do approach to life) ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ทุกสิ่งสามารถถูกแยกแยะ ถูกวิเคราะห์ และถูกรื้อกำหนดใหม่ขึ้นมาได้ ต่อให้ทำได้หรือไม่ก็ตาม คนอเมริกันเชื่อว่ามันสามารถแก้ไขได้ ถ้าใส่เงิน การวิจัย และความพยายามลงไปเพียงพอ ลีบอกว่าตลอดช่วงชีวิตเขาได้เห็นอเมริกาได้ปรับแต่งและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของตนครั้งแล้วครั้งเล่า นับแต่พวกเขาจมลงในทศวรรษ 1980 แล้วดูเหมือนกับญี่ปุ่นและเยอรมนีจะแซงหน้าอเมริกาไป แต่แล้วเศรษฐกิจอเมริกาก็หวนกลับมาคำรามอีกครั้ง ระบบของอเมริกาเป็นระบบที่มีความยอดเยี่ยม มันมีขีดความสามารถในการแข่งขันเหนือใคร

สิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจอเมริกาสามารถเอาชนะคนอื่นได้คือ วัฒนธรรมผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุนมองว่าความเสี่ยงและความล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิต และมีความจำเป็นต่อการประสบความสำเร็จ เมื่อพวกเขาล้มเหลว พวกเขาก็ลุกขึ้นใหม่แล้วเริ่มต้นด้วยความสดชื่นอีกครั้ง ตอนนี้ทั้งญี่ปุ่นและยุโรปจำต้องหาทางรับวัฒนธรรมนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถการแข่งขันของตน แต่ปัญหาคือวัฒนธรรมอเมริกันแบบนี้ขัดแย้งกับวัฒนธรรมที่เน้นความเป็นส่วนรวมของพวกเขา อาทิเช่นญี่ปุ่นมีประเพณีการจ้างงานชั่วชีวิต พวกเยอรมันมีระบบสหภาพที่ต้องทำการตัดสินใจร่วมกับระดับบริหาร ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสสนับสนุนสหภาพกดดันนายจ้างให้ต้องจ่ายค่าชดเชยหากมีการปลดคนงานออก

สหรัฐอเมริกาเป็นสังคม "ชายแดน" พวกเขาเชื่อในเรื่องการสร้างกิจการใหม่และสร้างความมั่งคั่ง นี่ทำให้สหรัฐเป็นสังคมที่มีพลวัตในการสร้างนวัตกรรม แล้วสร้างบริษัทเกิดใหม่เพื่อหาทางทำมาค้าขายกับนวัตกรรมที่ค้นพบใหม่นั้นให้ได้ และนั่นก็คือการสร้างความมั่งคั่งใหม่ ๆ ขึ้นมา สังคมอเมริกันจึงเป็นสังคมที่มีความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุก ๆ ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในอเมริกา จะมีคนมากกว่าจำนวนมากที่ต้องพยายามแล้วก็ล้มเหลว คนน้อยลงไปอีกที่ล้มเหลวแล้วยังพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งประสบความสำเร็จ แล้วน้อยยิ่งกว่าน้อยที่เมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็ยังจะสร้างและเริ่มกิจการใหม่ ๆ ให้เติบโตเพิ่มต่อไปอีก นี่เป็นจิตวิญญาณที่สร้างเศรษฐกิจที่เปี่ยมพลวัต

วัฒนธรรมของอเมริกันนั้นหรือ ก็คือเริ่มจากศูนย์แล้วเอาชนะคุณ!

ดังนั้นนี่จึงเป็นสิ่งที่ลีให้ความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะต้องฟื้นตัวกลับมาอย่างแน่นอน เมื่ออเมริกันพ่ายให้กับญี่ปุ่นและเยอรมันในการผลิต พวกเขากลับมาด้วย อินเทอร์เน็ต ไมโครซอฟต์ บิลล์ เกตส์ และเดลล์ มีกรอบความคิดแบบไหนที่ทำให้คุณทำได้แบบนี้บ้าง? นี่แหละที่เป็นเส้นทางในประวัติศาสตร์ของพวกเขา พวกเขาเดินทางไปในทวีปที่รกร้างว่างเปล่า แล้วฆ่าพวกอินเดียนแดง ยึดเอาทุ่งไร่ท้องนาและฝูงกระทิง จากนั้นก็พวกเขาก็ตกลงกันเองว่า ใครจะสร้างเมืองที่นั่นที่นี่ แล้วก็ให้ใครสักคนเป็นนายอำเภอ ใครอีกคนเป็นผู้พิพากษา อีกคนเป็นตำรวจ ส่วนอีกคนเป็นทนายความ แล้วก็เริ่มลงมือกันเลย วัฒนธรรมแบบนี้แหละยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน มันเป็นความเชื่อว่าเราสามารถทำให้มันเกิดขึ้นได้

ถ้ามองในเชิงสถิติ เป็นกราฟแบบระฆังคว่ำ อเมริกันเมื่อเปรียบเทียบกับยุโรปหรือญี่ปุ่น พวกเขามีพวกสุดปลายทั้งสองขั้วมากกว่า นั่นหมายถึงว่ามีโอกาสในการเกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมยิ่งกว่าด้วย ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะสัคมอเมริกันให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกสูงสุด และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้สังคมอเมริกันมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ล้ำหน้า พร้อมทั้งมีประสิทธิภาพจนถึงขีดสุดและสูงกว่าใครเพื่อน

อเมริกาเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่แค่จากอำนาจและความมั่งคั่ง แต่เป็นเพราะพวกเขาขับเคลื่อนประเทศชาติไปตามอุดมคติอันสูงส่ง เราไม่สามารถอธิบายได้เลยว่าทำไมอเมริกาใช้พลังของตนผ่านสงครามโลกทั้งสองครั้ง และสงครามเย็น พวกเขายังคงแบ่งปันความมั่งคั่งของตน เพื่อสร้างโลกที่มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง อาจจะพูดได้ว่าอเมริกาใช้กำปั้นน้อยกว่ามหาอำนาจในอดีตที่เคยมีมา ตราบใดที่เศรษฐกิจอเมริกายังคงเป็นตัวนำในโลก ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ตราบนั้น ไม่ว่าจะเป็นยุโรป ญี่ปุ่น หรือ จีน ก็ไม่สามารถจะแทนที่ตำแหน่งที่โดดเด่นเหนือประเทศอื่นได้ในปัจจุบัน.



คำถาม: จุดอ่อนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาคืออะไร

ลีตอบ: เมื่อคุณมีประชาธิปไตยที่ใช้เสียงส่วนใหญ่ เพื่อจะชนะการเลือกตั้งคุณจะต้องให้มากขึ้นและมากขึ้น เพื่อเอาชนะคู่แข่งในการเลือกตั้งครั้งถัดไป คุณสัญญาว่าจะให้มากขึ้น ดังนั้นมันจึงเป็นกระบวนการประมูลแบบไม่มีวันจบวันสิ้น -- แล้วต้นทุนของมันก็คือหนี้ที่คนรุ่นต่อไปต้องจ่าย

ถ้าประธานาธิบดีใช้ยาแรงกับประชาชน เขาจะไม่ได้รับเลือกตั้งอีก ดังนั้นจึงมักจะยืดเวลาที่จะดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นที่ถูกใจประชาชนเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง ดังนั้นปัญหาอย่าง การขาดดุลงบประมาณ หนี้ อัตราการว่างงานสูง จะถูกส่งไปยังรัฐบาลหนึ่ง ไปยังรัฐบาลอีกชุดถัดไป อเมริกาควรจะมีผู้นำที่รู้ว่าควรจะทำสิ่งที่ดีให้กับอเมริกาแม้ว่าเขารู้ว่าจะแพ้การเลือกตั้ง ระบบการปกครองที่ใช้ที่ไม่อนุญาตให้พวกเขาทำการแก้ปัญหาไปเงียบ ๆ พร้อมทั้งค้นหาสาเหตุไป ก็ไม่สามารถทำงานได้

ในช่วงหลังสงครามเวียดนามมา ประชาชนอเมริกันไม่ค่อยสนใจฟังการถกเถียงนโยบายที่มีเนื้อหาสาระจริงจัง ดังนั้นทั้งรีพับรีกันและเดโมแครตต่างก็ไม่รู้สึกรีบร้อนที่จะต้องตัดการใช้จ่ายที่ทำให้เกิดการขาดดุล (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสวัสดิการสังคม) เพื่อเพิ่มการออมและการลงทุน และที่สำคัญคือการปรับปรุงระบบโรงเรียนของอเมริกาเพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้

ระบบประธานาธิบดีผลิตรัฐบาลที่ย่ำแย่กว่าระบบรัฐสภา เพราะในระบบประธานาธิบดี การปรากฎตัวต่อโทรทัศน์มีผลตัดสินแพ้ชนะ ส่วนระบบรัฐสภา ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะได้ดำรงตำแหน่ง พวกเขาต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรี และในอังกฤษคนจะดูคุณตลอดช่วงเวลาทำงาน เพื่อจะสรุปได้ว่าคุณเป็นคนอย่างไร มีความลึกซึ้งพอไหม จริงใจในคำพูดคำจามากเพียงไ

ระบบประธานาธิบดีอาจทำให้คนไม่ได้เรื่องมาดำรงตำแหน่งก็ได้ เรื่องนี้อยู่ที่พวก spin doctor (มืออาชีพที่คอยสร้างภาพให้นักการเมือง) พวกนี้มีรายได้สูง กระบวนการเลือกตั้งแบบนี้ คนอย่าง เชอร์ชิล รูสเวลท์ หรือ เดอ โกลล์ คงยากที่จะขึ้นมาได้

ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์การเมืองอเมริกันพูด ลีไม่เชื่อว่าระบบประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียวจะนำไปสู่การพัฒนาโดยอัตโนมัติ ลีเชื่อว่าประเทศควรพัฒนาวินัยมากกว่าประชาธิปไตย จะวัดคุณค่าของระบบการเมืองก็ควรดูที่ว่าระบบนั้นช่วยให้สัคมได้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ดีขึ้นหรือไม่ รวมทั้งทำให้เกิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่สอดคล้องกับเสรีภาพของบุคคลอื่นในสังคมด้วย

ประเทศฟิลิปปินส์มีรัฐธรรมนูญแบบอเมริกัน ซึ่งเป็นระบบที่ยากต่อการดำเนินการที่สุดระบบหนึ่งในโลก เพราะมีการแยกอำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อย่างสิ้นเชิง แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาและมีความปั่นป่วนต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็ง และซื่อสัตย์ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลี อาจล้มเหลวถ้าใช้รัฐธรรมนูญแบบฟิลิปปินส์ เพราะจะเผชิญปัญหาการติดขัด (gridlock) ในทุกช่วงเวลา

ยุคสังคมยิ่งใหญ่กับสงครามเวียตนาม (The Great Society and the Vietnam War) ระบบของสหรัฐไม่สามารถทำงานอะไรได้เลย

การเมืองแบบอเมริกันหรืออังกฤษชอบภาพลักษณ์แบบครอบครัว คนอาจจะชอบเวลาสื่อเล่นข่าว มิเชล โอบามา ลูก ๆ ของพวกเขา และสุนัขของพวกเขา แต่นั่นทำให้ตัดสินใจได้หรือว่าโอบามาเป็นประธานาธิบดีที่ดี แล้วตั้งใจกับการปรับปรุงเศรษฐกิจให้ดีขึ้น?



คำถาม: จุดอ่อนทางวัฒนธรรมของอเมริกาคืออะไร

ลีตอบ: มีปรากฎการณ์ที่ยอมรับไม่ได้อย่าง ปืน ยาเสพติด อาชญากรรมรุนแรง คนเร่ร่อน พฤติกรรมที่ไม่สามารถยอมรับได้ในสังคม และการที่สังคมแตกแยก สิ่งเหล่านี้คุกคามระเบียบในสังคม การขยายพฤติกรรมที่ปัจเจกพอใจแต่ไม่ทราบว่าเป็นที่ยอมรับได้ของสังคมหรือไม่ ต้องแลกกับความสงบเรียบร้อยของสังคม

เอเชียต่างจากอเมริกันที่ว่าการยกให้ความเป็นปัจเจกอยู่สูงสุดทำให้ความกลมกลืนความสังคมเป็นไปได้ยาก ถ้าอยากให้เด็กผู้หญิงและหญิงชราเดินบนถนนได้ตอนกลางคืน โดยไม่เป็นเหยื่อของพวกค้ายา ก็ไม่ควรใช้โมเดลของอเมริกัน คนส่วนบนสัก 3-5% ของสังคมอาจจะรับมือกับสังคมเสรีสุดขั้ว การดวลกันทางความคิด แบบนี้ได้ แต่ถ้าเอาไปใช้กับมวลชนทั้งหมด สิ่งที่ได้ก็จะเป็นความอลหม่าน ทุกวันนี้รูปภาพที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เรื่องทางเพศแบบดิบเถื่อน จะทำให้ชุมชนเสื่อมทราม

สื่ออเมริกาชอบโจมตีสิงคโปร์ว่าเป็นประเทศเผด็จการ มีกฎมากเกินไป เข้มงวดไป เป็นสังคมกำจัดเชื้อ นี่เป็นเพราะสิงคโปร์ไม่ใช้ความคิดแบบตะวันตกในการปกครอง ความคิดการปกครองของตะวันตกเป็นเพียงทฤษฎีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ไม่สามารถพิสูจน์ในเอเชียตะวันออก แม้แต่ในฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ประเทศไทย หรือเกาหลี ก็ตามที

พหุวัฒนธรรมจะทำลายอเมริกา คนเม็กซิกันจากทางอเมริกาตอนใต้และตอนกลางจะเข้ามาในอเมริกาแล้วเผยแพร่วัฒนธรรมขอตนไปทั่วประเทศ คนพวกนี้แพร่พันธ์เร็วกว่าพวก WASPs (White Anglo-Saxon Protestants : หมายถึงคนขาวแองโกลแซกซอนที่นับถือโปรแตสแตนท์) แล้วเมื่อถึงเวลา WASPs จะถูกเม็กซิกันเปลี่ยน หรือเม็กซิกันจะเปลี่ยน WASPs? จริง ๆ ทั้งคู่ก็ถูกเปลี่ยนแต่ที่น่าเศร้าคือวัฒนธรรมอเมริกันจะถูกเปลี่ยนแปลง อีก 100 - 150 ปีข้างหน้าพวกฮิสปานิคจะมีราว 30 - 40% คำถามคือจะกลืนพวกฮิสแปนิคเข้ามาหรือพวกเขาจะทำให้อเมริกากลายเป็นนละตินอเมริกา?



คำถาม: ระบบการเมืองต้องการคนดีไหม?

ลีตอบ: สำหรับสิงคโปร์หลักการที่ต้องคงไว้คือ ต้องมีคนที่มีคุณภาพสูงเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ไม่อย่างนั้นสิงคโปร์ก็จะสูญสลายไป คนที่ยอมสละชีวิตส่วนตัว มีความซื่อสัตย์ ยอมเสี่ยงกับกระบวนการเลือกตั้ง เราจ่ายให้คนพวกนี้ด้วยราคาถูก ๆ ไม่ได้หรอก

ในระบบการเมืองตลอดการสังเกตของลีมาตลอด 40 ปี เขาพบว่าระบบการเมืองที่แย่ แต่ถ้ามีคนดีเข้าไปยู่ก็สามารถทำให้มีการก้าวไปข้างหน้าอย่างสำคัญได้ แต่ถ้าระบบที่เป็นไปตามอุดมคติ อย่างในอังกฤษและฝรั่งเศส ที่เขียนรัฐธรรมนูญเกือบ 80 ฉบับแล้วใช้กับประเทศใต้อาณานิคมต่าง ๆ กัน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ ระบบสถาบัน หรือการคานอำนาจ ปัญหาอยู่ที่ไม่มีผู้นำที่ทำงานกับระบบสถาบันเหล่านั้น และประชาชนไม่มีความเชื่อถือในระบบสถาบัน ผู้นำที่ล้มเหลวจะทำให้ประเทศชาติเสียหาย ระบบจะปั่นป่วนกับการจราจล รัฐประหาร และการปฏิวัติ



คำถาม: สหรัฐจะกลายเป็นยุโรปไหม

ลีตอบ: ถ้าตามทิศทางอุดมคติของยุโรปก็อาจเป็นไปได้ คนที่มีปัญหาควรได้รับการช่วยเหลือ แต่การช่วยคนพวกนี้จะต้องไม่ไปทำลายระบบการสร้างแรงจูงใจ

ถ้าสหรัฐเดินตามยุโรปที่มีระบบประกันสังคมที่ครอบคลุม เงินช่วยคนตกงาน และระบบประกันสุขภาพ นั่นจะทำให้พวกเขาต้องใช้เงิน 1.2 ล้านล้านเหรียญในสิบปี แล้วพวกเขาจะหาเงินมาจากไหน ถ้าสหรัฐไปทิศทางนั้น ระบบเศรษฐกิจของสหรัฐจะชะลอตัวลง



คำถาม: สหรัฐจะรักษาตำแหน่งจ่าฝูงของโลกได้อย่างไร

ลีตอบ: ศตวรรษที่ 21 จะอยู่เป็นการแข่งอำนาจในเอเชียแปซิฟิค เพราะการเติบโตจะอยู่ที่นี่ ถ้าสหรัฐไม่ลงมาเล่นที่นี่ พวกเขาจะเสียตำแหน่งผู้นำของโลก

ถ้าสหรัฐจะมาเล่นที่เอเชียแปซิฟิค พวกเขาจะต้องแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นเงินจะไม่เพียงพอในการใช้จ่าย และเมื่อนั่น นายธนาคาร เฮดจ์ฟันด์ และนักลงทุนทุกคน จะสรุปว่าอเมริกาแก้ปัญหาการขาดดุลไม่ได้ แล้วเาก็จะย้ายสินทรัพย์ออกจากสหรัฐ แล้วนั่นก็จะสร้างปัญหาที่แท้จริงให้เกิดขึ้น

ลีเป็นห่วงหนี้ของสหรัฐมากที่สุด และปัญหาหนี้จะเป็นปัญหาหลักที่ทำให้อเมริกันสูญเสียสถานะการเป็นผู้นำของโลก

สหรัฐจะต้องไม่ให้ภาระใน ตะวันออกกลาง อิรัก อิหร่าน อิสราเอล และน้ำมัน แล้วละเลยเรื่องอื่นจนทำให้จีนสามารถเข้าครอบงำผลประโยชน์ของตนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พวกจีนไม่มีความลังเลสงสัยในเป้าหมาย พวกเขามองหาแหล่งพลังงานไปทั่ว และสร้างมิตรทุกแห่ง รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้




ลีกวนยูมองความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ



นี่เป็นตอนสุดท้ายในซีรี่ส์ จีน vs สหรัฐ เป็นบทสรุปซึ่งเราได้ถอดเกร็ดความคิดของรัฐบุรุษสิงคโปร์ผู้นี้ต่อความเป็นไปของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ของมหาอำนาจทั้งสองประเทศในอนาคต จากหนังสือ Lee Kuan Yew: The Grand Master's Insights on China, the United States, and the World หนังสือเล่มนี้มีวางขายที่ร้านหนังสือ Asiabooks และ Amazon.com นอกจากเนื้อหาที่สรุปมาลงแล้ว ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจอีกมาก


คำถาม: การเผชิญหน้าของจีนและสหรัฐจะเป็นอย่างไร

ลีตอบ: นี่ไม่ใช่สงครามเย็นที่โซเวียตเคยขับเคี่ยวกับสหรัฐเพื่อเป็นหนึ่งในโลก จีนเพียงแต่ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของจีนเอง จีนไม่ได้ให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงโลก

ถึงจะมีความขัดแย้งกันบ้าง แต่ลีเชื่อว่ามันจะไม่บานปลายเพราะจีนต้องการสหรัฐ หมายถึงตลาดสหรัฐ เทคโนโลยีสหรัฐ และส่งนักศึกษาของตนไปเรียนหนังสือในสหรัฐ หากความขัดแย้งระหว่างสองประเทศมีสูงขึ้น จีนจะถูกตัดขาดจากการถ่ายเทข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยี ดังนั้นระดับความขัดแย้งจะดำเนินไปภายใต้กรอบที่จะยังทำให้จีนสามารถดึงดูดผลประโยชน์จากสหรัฐได้อยู่

จีนไม่ได้มีปัญหาเรื่องความแตกต่างทางอุดมการณ์กับสหรัฐ เหมือนโซเวียตในสงครามเย็นที่ประนีประนอมกันไม่ได้ ตรงข้ามจีนยินดีรับเศรษฐกิจแบบตลาดมาใช้ ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ จึงดำเนินไปทั้งแบบ ร่วมมือ และแข่งขันอยู่ในที การแข่งขันเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะไม่เกิดความขัดแย้งขึ้น สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือต่อให้สองประเทศไม่ร่วมมือกัน แต่ทั้งสองประเทศก็ยังอยู่ในเอเชียแปซิฟิคแล้วทำให้ทุกประเทศในภูมิภาคนี้เติบโตไปด้วยกัน

ความขัดแย้งทางทหารเกิดขึ้นยาก เพราะกำลังทหารของสหรัฐเหนือกว่าจีนมาก แต่จีนจะยังคงปรับกองทัพให้ทันสัยเป้าหมายไม่ใช่เพื่อท้าทายอเมริกาในขณะนี้ แต่, หากจำเป็น, เพื่อต้องการปิดล้อมและกดดันไต้หวัน ไม่ก็ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันเกิดความปั่นป่วน ในขณะที่จีนจะไม่ยอมให้ศาลโลกเข้ามาตัดสินเขตแดนในทะเลจีนใต้ ดังนั้นการคงกำลังทหารของสหรัฐในอเอเชียแปซิฟิคจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้กฎหมายระหว่างประเทศทางทะเลยังมีความศักดิ์สิทธิ์อยู่


คำถาม: สหรัฐควรตอบสนองการทะยานขึ้นของจีนอย่างไร

ลีตอบ: การคงกำลังทางทหารและเศรษฐกิจของสหรัฐทั้งในยุโรปและเอเชียแปซิฟิคิเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสมดุลทางอำนาจเพื่อทำให้เกิดสันติภาพและความมั่นคง แต่หากเศรษฐกิจสหรัฐมีพลวัตน้อยลงไป มีหนี้เพิ่มขึ้น ขีดความสามารถดังกล่าวของสหรัฐจะลดลง ระยะยาวอาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาได้ ต่อให้สหรัฐสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ผลิตภาพอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สามารถส่งออกเพิ่มขึ้น แต่สหรัฐก็อาจแบกรับภาระการรักษาความมั่นคงในโลกไว้ไม่ไหว ปัญหาที่น่ากังวลที่สุดคือ เศรษฐกิจสหรัฐจะไม่ฟื้นตัวเร็วพอ มีการกีดกันทางการค้า ญี่ปุ่นเสื่อมถอยลง เพราะอเมริกาจะกลับไปในนโยบายการปกป้องทางการค้า กรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจจะเลวร้ายลง ทำให้ความมั่นคงผูกพันที่มีร่วมกันอ่อนแอและปริแตกออก นี่จะเป็นพัฒนาการที่น่าสะพรึงกลัวและเต็มไปด้วยความอันตราย เมื่อเสถียรภาพของอเมริกาเสื่อมถอย จะมีผลกระทบกับเสถียรภาพของโลก และเราจะอยู่ในสถานการณ์ที่ต่างออกไปจากปัจจุบัน

ญี่ปุ่นกับอินเดียอาจพอถ่วงดุลจีนได้ ไม่ใช่ตอนนี้ แต่เป็นอีก 20 - 30 ปีข้างหน้า ดังนั้นในระยะนี้เราต้องการสหรัฐทำหน้าที่ในการสร้างความสมดุล ถ้าสหรัฐแก้ปัญหาเศรษฐกิจตนเองได้ อนาคตของเอเชียแปซิฟิคจะเป็นไปอย่างยอดเยี่ยม แต่มันจะกลายเป็นปัญหาถ้าเศรษฐกิจสหรัฐไม่ฟื้นตัว และไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระยะเวลาสิบปีข้างหน้า

สหรัฐจะต้องรักษาความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นเอาไว้ แต่สหรัฐจะต้องรักษาความสัมพันธ์กับจีนด้วย มันจะเป็นความสัมพันธ์สามเส้า เพราะลำพังพันธมิตรสหรัฐกับญี่ปุ่นอาจไม่เพียงพอในการต่อกรกับจีน

สหรัฐจะต้องช่วยสร้างผลิตภาพมวลรวมประชาชาติของแต่ละประเทศในเอเชีย ให้ก้าวหน้าเหนือกว่าประเทศในอเมริกาเหนือ ไปจนกว่า ญี่ปุ่น จีน เกาหลี และ รัสเซีย จะสร้างสมดุลใหม่ขึ้นมา แต่ในขณะนี้ยังไม่มีสมดุลอำนาจใดเหมาะเท่ากับสมดุลอำนาจที่นำโดยสหรัฐ

ประสบการณ์ของประธานาธิบดีนิกสัน เป็นตัวอย่างนักยุทธศาสตร์ที่เน้นผลสัมฤทธิ์ เขาจะเข้าไปสังสรรค์ไม่ใช่ปิดล้อมจีน แต่หากจีนไม่เล่นตามกติกาเป็นพลเมืองที่ดีของโลก เขาจะถอยกลับไปวางแผนสอง ในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศที่จะถูกเลือกให้ร่วมกระดานหมากรุกเคียงข้างอเมริกา ก็คือ ญี่ปุ่น เกาหลี อาเซียน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย


คำถาม: นโยบายของสหรัฐที่ควรจะเป็นต่อจีนที่กำลังทะยานขึ้น

ลีตอบ: อเมริกาเชื่อว่าแนวคิดของตนเป็นสากล --แนวคิดที่ว่าความเป็นปัจเจก เสรีภาพ และสิทธิในการแสดงความเห็น มีความสำคัญสูงสุด ในความเป็นจริงสังคมอเมริกันไม่ได้ประสบความสำเร็จเพราะหลักการเหล่านี้ หากแต่เป็นเพราะโชควาสนาในทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างหาก ผนวกด้วยการมีทรัพยากรล้นเหลือ พลังจากผู้อพยพ และการหลั่งไหลของเงินทุนและเทคโนโลยีจากยุโรปเป็นจำนวนมหาศาล ที่สำคัญคือพื้นที่อันกว้างขวางของมหาสมุทรสองฝั่ง กั้นอเมริกาจากความขัดแย้งทั้งปวง

สหรัฐไม่สามารถหยุดยั้งการทะยานขึ้นของจีน แต่จำต้องเลือกอยู่กับจีนที่เติบโตขึ้น การเติบโตขึ้นของจีนในอีก 30 - 40 ปีข้างหน้า ไม่ใช่แค่ประเทศผู้เล่นที่เป็นใหญ่อีกประเทศ แต่จะเป็นประเทศผู้เล่นที่ใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์โลก

สภาคองเกรสขัดขวางข้อตกลง FTA ฉบับใหม่ ๆ พวกเขาต้องตระหนักถึงเวลาที่มีคุณค่าที่ได้เสียไป และไม่สายที่จะเริ่มต้นใหม่ และต้องตระหนักว่าสิ่งที่เสียไปนั้นใหญ่โตแค่ไหน ทุกปีจีนจะดึงดูดการลงทนและการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน มากกว่าที่สหรัฐได้ทำ ถ้าไม่มี FTA เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอาเซียน จะถูกผนวกเข้ากับเศรษฐกิจของจีน -- ซึ่งนั่นเป็นผลลัพธ์ที่ควรหลีกเลี่ยง


คำถาม: สหรัฐควรเลี่ยงนโยบายเช่นไรต่อจีน

ลีตอบ: อย่าปฏิบัติกับจีนเหมือนศัตรูแต่แรก ไม่เช่นนั้นจีนจะพัฒนายุทธศาสตร์ต่อต้านกลับ เพื่อทำลายการคงอยู่ของสหรัฐในเอเชียแปซิฟิค ความจริงมันก็มีการถกเถียงถึงยุทธศาสตร์เช่นนี้อยู่แล้ว มันเลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะมีการงัดข้อระหว่างทั้งคู่ในเอเชียแปซิฟิค แต่มันไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความขัดแย้ง

นโยบายที่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน และข่มขู่ให้จีนสูญเสียสถานะประเทศที่รับผลประโยชน์ รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ที่คองเกรสและรัฐบาลจะมีขึ้น หากมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการถ่ายโอนเทคโนโลยีขีปนาวุธของจีนให้ประเทศอื่น... เป็นการไม่เคารพต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรม ค่านิยม ประวัติศาสตร์ และไม่สำคัญเท่ายุทธศาสตร์การสร้างความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน เพื่อวาระภายในของอเมริกาเอง ถ้าหากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอาจทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันได้

ถ้าสหรัฐเน้นนโยบายในเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อจีน เช่น กรณีเทียนอันเหมิน การไล่ล่าผู้ลี้ภัย ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สถานะการเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์ การแยกตัวของทิเบตและกรณีทาไลลามะ รวมถึงการที่ไต้หวันต้องการเป็นสมาชิกอิสระในสหประชาชาติ ประเด็นที่ท้าทายอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพของจีนจะกระตุ้นให้จีนเกิดความรู้สึกเป็นปรปักษ์ ***นโยบายเหล่านี้ควรถูกใช้เฉพาะเมื่อ สหรัฐได้ตัดสินใจเด็ดขาดที่จะปิดล้อมจีน และทำให้เศรษฐกิจที่เติบโตของจีนชะลอตัวหรือกระทั่งยุติการเติบโต***


คำถาม: นโยบายของจีนจะมีผลต่อเส้นทางและการเติบโตของจีนเป็นมหาอำนาจหรือไม่

ลีตอบ: แน่นอน ถ้าอเมริกาทำให้จีนเสื่อมเสีย จีนจะทำตัวเป็นศัตรู ถ้าอเมริกาให้เกียรติจีน จีนก็จะยอมร่วมมือด้วย ดังนั้นอเมริกาควรพูดดี ๆ กับจีน รับรองจีนในฐานะมหาอำนาจ ชื่นชมกับการหวนคืนสู่สถานะเดิมดังที่มีในอดีต นี่ควรเป็นวิธีที่จะร่วมมือกันได้

สหรัฐมีเพียงสองทางเลือกต่อจีน คือร่วมมือ หรือโดดเดี่ยวจีน สหรัฐไม่สามารถทำไปพร้อมกันทั้งสองทางเลือกได้ สหรัฐไม่ควรจะบอกว่าร่วมมือกับจีนในประเด็นหนึ่ง แล้วไปโดดเดี่ยวจีนในอีกประเด็นหนึ่ง ไม่ควรมีการผสมผสานสัญญาณสองแบบด้วยกัน

อิทธิพลของสหรัฐในระยะยาวต่อจีนคือ การที่มีนักศึกษาจีนจำนวนมากในสหรัฐทุกปี พวกนี้ต่อไปจะกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์บ้าง ปัญญาชนบ้าง แล้วคนพวกนี้แหละจะกลายเป็นตัวแทนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในจีน



คำถาม: จีนควรปรับตัวอย่างไรกับสหรัฐ เพื่อสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนต่อกัน

ลีตอบ: ตั้งแต่ปี 1945 - 1991 จีนผ่านสงครามหลายครั้งที่เกือบจะทำลายประเทศนี้ลง คนรุ่นนี้ผ่านนรกอย่างการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (the Great Leap Forward) ที่สร้างทั้งความ อดอยาก หิวโหย เกือบปะทะกับพวกรัสเซีย ส่วนการปฏิวัติวัฒนธรรมเล่าก็บ้าคลั่งอย่างถึงที่สุด ลีไม่สงสัยเลยว่าคนรุ่นนี้ต้องการการเติบโตขึ้นอย่างสันติ แต่คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ไม่เคยมีประสบการณ์พวกนี้ คนพวกนี้คิดว่าจีนเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว และไม่ผิดอะไรที่จะสำแดงกำลังแล้วล่ะก็ เราจะมีจีนที่ต่างออกไป คนรุ่นหลานไม่เคยฟังคนรุ่นปู่

ปัญหาอีกอย่างยิ่งหนักกว่านี้ คือถ้าเริ่มมีความคิดที่ว่า โลกไม่ยุติธรรมต่อเรา โลกเอาเปรียบเรา พวกจักรวรรดินิยมทำลายเรา ปล้นปักกิ่ง ทำทุกสิ่งทุกอย่างได้กับเรา อันนี้จะเป็นปัญหา จีนไม่ควรกลับไปหาความคิดเก่า ๆ แบบนี้ จีนเป็นเพียงมหาอำนาจหนึ่ง ร่วมกับอีกหลายมหาอำนาจ มหาอำนาจพวกนั้นอาจมี นวัตกรรมที่ดีกว่า สามารถประดิษฐ์สิ่งใหม่ได้ดีกว่า และมีความสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่า พวกอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น ควรจะหาทางทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีความรู้สึกเป็นศัตรู แต่เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งแทน


หมายเลขบันทึก: 593603เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท