Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษาเพื่อเข้าใจปัญหา+ให้ความเห็นทางกม.เพื่อคุณเบิร์ดที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี แต่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร


กรณีศึกษานายเบิร์ด ไม่มีนามสกุล หรือนายเบิร์ด เชื้อเตี้ย

: การทำความเข้าใจปัญหาและความเห็นทางกฎหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐ แต่อาศัยอยู่จริงในจังหวัดกาญจนบุรีของประเทศไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร[1]

เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ แก้ไขล่าสุดเมื่อวันที่ ๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.gotoknow.org/posts/594440

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=10153605899438834

------------

สารบาญ

-----------

  • ความนำ – เป้าหมายของงานเขียน (หน้า ๒)
  • การสรุปข้อเท็จจริงเพื่อเข้าใจคุณเบิร์ดและบริบทที่กำหนดการดำเนินชีวิตของคุณเบิร์ด (หน้า ๔)
  • ความพยายามที่จะขจัดปัญหาความไร้รัฐของคุณเบิร์ด (หน้า ๗)
  • ความเป็นไปได้ที่จะกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของคุณเบิร์ด (หน้า ๘)
  • ความเป็นไปได้ที่จะกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของคุณเบิร์ด
  • ความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่จะกำหนดสิทธิในชื่อบุคคลตามกฎหมายแพ่งของคุณเบิร์ด (หน้า ๙)
  • หน้าที่ของรัฐไทยในการขจัดปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงให้แก่คุณเบิร์ด (หน้า ๙)
  • หน้าที่ของรัฐไทยในการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรให้แก่คุณเบิร์ด (หน้า ๙)
  • ข้อเสนอแนะต่อ V-B-C Project ในการจัดการคำร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายของคุณเบิร์ด (หน้า ๑๐)
  • ข้อเสนอแนะต่อคุณเบิร์ดในการจัดการสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของคุณเบิร์ด (หน้า ๑๒)

-----------------------------------------

๑. ความนำ – เป้าหมายของงานเขียน

-----------------------------------------

งานเขียนนี้มีเป้าหมายเพื่อ (๑) การสรุปข้อเท็จจริง และ (๒) การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ของมนุษย์/บุคคลธรรมชาติ/บุคคลธรรมดาซึ่งประสบปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย และร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายมาที่ “ห้องทดลองทางสังคม” ของโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดการสิทธิในสุขภาวะของประชากรสาธารณสุขต่างด้าวของประเทศไทย (Research for Development of Model Management of Rights to Well-being for Alien Health Populations of Thailand ซึ่งมีชื่อเรียกย่อๆ จากวิธีการทำงานของโครงการว่า “V-B-C Project”) ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ๓ องค์กร กล่าวคือ (๑) สำนักวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข หรือ “สวรส.” (๒) โครงการสี่หมอชายแดนตาก (พบพระ/แม่ระมาด/ท่าสองยาง/อุ้มผาง) และ (๓) โครงการบางกอกคลินิกเพื่อบุคคลที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภายใต้การดูแลของอาจารย์บงกช นภาอัมพร และ นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์

คุณเบิร์ด ไม่มีชื่อสกุล ดังปรากฏตามภาพถ่ายที่แนบมาเป็นเอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๑ ในหน้า ๑๓ ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ร้องขอความช่วยเหลือมาที่ “ห้องทดลองทางสังคม” ของ V-B-C Project กล่าวคือ https://www.facebook.com/groups/450416831792411/47... ซึ่งสถานการณ์ชีวิตดังที่คุณเบิร์ดเป็นอยู่ก็เกิดขึ้นกับหลายคนที่ร้องขอความช่วยเหลือเข้ามาที่ห้องทดลองทางสังคมของ V-B-C Project ดังนั้น การสร้างตนแบบการจัดการปัญหาเพื่อคุณเบิร์ด ก็จะหมายถึง การสร้างความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาให้แก่บุคคลที่มีข้อเท็จจริงในลักษณะเดียวกับคุณเบิร์ดทั้งหมด

กรณีศึกษาที่จะได้จากการศึกษาคุณเบิร์ด ก็คือ กรณีศึกษาต้นแบบสำหรับคนที่อ้างว่า เกิดในประเทศไทยใน พ.ศ.๒๕๓๒ และอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาโดยตลอด แต่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐไทยโดยสิ้นเชิง ซึ่งหากคุณเบิร์ดมีพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวอ้างได้จริง คุณเบิร์ดก็ย่อมจะได้รับการสำรวจและบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก) ตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับหนังสือที่ มท.๐๓๐๙.๑/ว.๓ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๘ เรื่องการรับแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติ ถึงนายทะเบียนจังหวัด ทุกจังหวัด และนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร เพื่อยืนยันวิธีการจัดทำทะเบียนประวัติของคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยหรือบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งในหัวข้อที่ ๔ ว่าด้วยกรณีคนต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยื่นคำร้องขอให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติตามมาตรา ๓๘ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ให้นายทะเบียนเรียกตรวจพยานเอกสารและสอบสวนพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ ถ้าผลการตรวจสอบเชื่อได้ว่า ผู้ร้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้ (๑) มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่จริงในพื้นที่สำนักทะเบียน เช่น ตั้งบ้านเรือน ประกอบอาชีพ หรือมีครอบครัว เป็นต้น (๒) เป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารการทะเบียนราษฎร ไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก และ (๓) ไม่มีเอกสารราชการที่แสดงว่า เป็นคนสัญชาติอื่น นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น สามารถจัดทำทะเบียนประวัติให้ได้ตามแบบ ท.ร.๓๘ ก และกำหนดให้เลขประจำตัว ๑๓ หลักเป็นบุคคลประเภท ๐ โดยปฏิบัติตามข้อ ๑๐๕ วรรคสอง ของระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๑

ดังนั้น เพื่อทำกรณีศึกษานี้ ผู้ศึกษาจึงต้องสอบปากคำของคุณเบิร์ดว่าเขามีข้อเท็จจริงครบตามที่มาตรา ๓๘ วรรค ๒ และหนังสือสั่งการดังกล่าวกำหนดหรือไม่ ?

การสรุปความดังต่อไปนี้ จึงเป็นการสรุปจากการรับฟังข้อเท็จจริงจากปากคำของคุณเบิร์ดเอง แล้วจึงจะมีข้อวิเคราะห์ทางกฎหมาย เพื่อให้ความเห็นทางกฎหมายและข้อเสนอแนะในการจัดการแก่ V-B-C Project รวมถึงคุณเบิร์ด ผู้เป็นเจ้าของปัญหา

-----------------------------------------

๒. การสรุปข้อเท็จจริงเพื่อเข้าใจคุณเบิร์ดและบริบทที่กำหนดการดำเนินชีวิตของคุณเบิร์ด

-----------------------------------------

๒.๑. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเกิดคุณเบิร์ด

คุณเบิร์ดเล่าว่า เขาเกิดนอกโรงพยาบาลเมื่อราวเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ ณ บ้านห้วยแขย่ง อำเภอทองภาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จากบิดาซึ่งมีชื่อว่า “นายเตี๊ย” และเป็นคนชาติพันธุ์มอญ และมารดาซึ่งมีชื่อว่า “นางดาว” และเป็นคนชาติพันธุ์พม่า

เขาเป็นบุตรคนเดียวของครอบครัว เขาประสบปัญหากำพร้าแม่ตั้งแต่อายุ ๒ เดือน เนื่องจากมารดาทิ้งไปตั้งแต่ยังเยาว์วัย นอกจากนั้น บิดาได้เสียชีวิตในขณะที่คุณเบิร์ดมีอายุราว ๑๐ ปี

เป็นความเจ็บปวดในความรู้สึกอย่างมากสำหรับคุณเบิร์ดในวัยเยาว์ ที่พบศพบิดาของตนเองในระหว่างจะออกเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนในเช้าวันหนึ่งของ พ.ศ.๒๕๔๒ บิดาของคุณเบิร์ดโดนเพื่อนที่ไปเที่ยวกินดื่มเหล้าแทง ๑๖ แผลจนเสียชีวิต เป็นคดีความที่ทำโดยสถานีตำรวจภูธรอำเภอทองผาภูมิ ซึ่งในที่สุด ตำรวจก็จับคนร้ายได้ และคนที่รู้เรื่องนี้มากกว่าคุณเบิร์ดก็น่าจะลุงถวิลคนเดิม

เขาทราบว่า บิดาถือ “บัตรสีส้มที่ทางอำเภอทองผาภูมิออกให้” แต่เขาไม่ทราบว่า ขึ้นต้นด้วยเลขอะไร เขาไม่ได้เก็บเอกสารของบิดาไว้เลยแม้แต่ชิ้นเดียว

เขาไม่เคยได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎร เขาจึงไม่เคยได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก จึงไม่มีบัตรประจำตัวที่ออกโดยรัฐใดๆ เลย

คุณเบิร์ดค่อนข้างมีข้อมูลที่ขาดวิ่นเกี่ยวกับเรื่องราวในช่วง ๑๐ ปีแรกของชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความไม่ชัดเจนนัก เขาจำได้ว่า ในกลุ่มคนที่บิดารู้จักที่อำเภอทองผาภูมิ ก็มี “ลุงถวิล” ซึ่งสนิทกับบิดาและตัวคุณเบิร์ดตอนยังเล็กๆ มาก เขาจำได้ว่า ภริยาของลุงถวิลเคยเลี้ยงดูเขาในช่วงเวลาหนึ่ง เขาเคยไปอาศัยที่บ้านลุงถวิล คุณเบิร์ดเชื่อว่า ลุงถวิลและภริยาน่าจะมีข้อมูลของบิดาและมารดาของคุณเบิร์ดมากกว่าตัวเขา คุณเบิร์ดทราบจากนายบุญช่วย ไม่มีสกุล ว่า ลุงถวิลยังอาศัยอยู่ที่เดิม ดังนั้น หากเขาพบลุงถวิล ท่านผู้นี้ก็จะเป็นพยานคนสำคัญที่สุดเท่าที่คุณเบิร์ดอาจมีได้

๒.๒. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “ชื่อบุคคล” ของคุณเบิร์ด

คุณเบิร์ดเล่าว่า บิดาเรียกเขาว่า “แหลม” ในตอนแรก ส่วนชื่อ “เบิร์ด” ซึ่งปรากฏในทะเบียนนักเรียนที่โรงเรียนบ้านปากปิล๊อค ก็เพราะนายจ้างของบิดาตั้งให้ตอนเข้าเรียน และก็ใช้เรื่อยมาจนปัจจุบัน ดังปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาหนังสือรับรองความเป็นนักเรียนที่ออกโดยผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากปิล๊อคที่แนบมาเป็นเอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๒ ในหน้า ๑๔

ในวันนี้ คุณเบิร์ดอยากใช้ “ชื่อสกุล” หรือ “นามสกุล” ว่า “เชื้อเตี้ย” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงบิดาที่เสียชีวิตไปเมื่อสิบปีก่อน ซึ่งผู้ศึกษาก็ได้อธิบายให้คุณเบิร์ดทราบว่า กฎหมายไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๘ รับรองเสรีภาพของมนุษย์ที่จะมี “ชื่อบุคคล” ตามเจตนาของตนเอง ชื่อบุคคลหมายถึงทั้ง (๑) ชื่อตัว (๒) ชื่อสกุลโดยกำเนิด (๓) ชื่อสกุลตามครอบครัวโดยการสมรส รวมตลอดถึง (๔) ชื่อแฝง และชื่อเล่น สิทธิในชื่อบุคคลจึงเป็นสิทธิตามกฎหมายธรรมชาติ จึงเป็นสิทธิตามกฎหมายเอกชน มิใช่สิทธิตามกฎหมายมหาชน ดังนั้น คุณเบิร์ดจึงมีสิทธิที่จะใช้ชื่อบุคคลว่า “เบิร์ด เชื้อเตี้ย”

๒.๓. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการศึกษาของคุณเบิร์ด

ก่อนบิดาเสียชีวิต เขาเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ -๓ ณ โรงเรียนบ้านปากลำปิล็อค ในอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ดังปรากฏตามหนังสือที่ ศธ ๐๔๐๑๙.๐๔๖/๑๐๙ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งออกโดยนายปฐม แหนกลาง ดังปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาที่แนบมาเป็นเอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๒ ในหน้า ๑๔ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากลำปิล็อกได้ออก เพื่อรับรองว่า คุณเบิร์ด ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๒ จากนายเตี้ย และนางดาว เป็นนักเรียนโรงเรียนบ้านปากลำปิล็อก หมายเลขประจำตัว ๑๐๐ เข้าเรียนเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙ การศึกษาระดับสูงสุดชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ และเป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

หลังจากบิดาเสียชีวิตและต้องย้ายไปอยู่กับญาติที่สังขละบุรี จึงต้องไปเรียนต่อที่โรงเรียนวัดวังก์วิเวกการาม และเรียนที่นั้นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาที่ ๓ จนถึงชั้นประถมศึกษาที่ ๕ แต่เรียนไม่จบชั้นนี้ ก็ออกมาทำงาน

๒.๔. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานที่อาศัยของคุณเบิร์ด

เขาเล่าว่า เขาอาศัยอยู่ที่อำเภอทองผาภูมิกับบิดาตั้งแต่เกิด จนบิดาเสียชีวิตในราว พ.ศ.๒๕๔๒

หลังจากบิดาเสียชีวิตแล้ว เขาย้ายไปอาศัยอยู่กับนายโจซี่ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่ชายของบิดา ซึ่งอาศัยอยู่ที่อำเภอสังขละบุรี ฝั่งมอญ คุณเบิร์ดเล่าว่า นายโจซี่ถือ “บัตรสีชมพู ซึ่งระบุว่า มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วย ๖”

ต่อมาในราว พ.ศ.๒๕๔๕ ในขณะที่ยังเรียนชั้นประถมปีที่ ๕ ภาคการศึกษาที่ ๒ ที่โรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม เขาออกจากบ้านของนายโจซี่ เนื่องจากมีความรู้สึกว่า ไม่ได้รับการไส่ใจหรือดูแลดีเท่าที่ควร อาทิ ต้องหาเงินไปโรงเรียนเอง หาเงินค่าทำกิจกรรมเอง ไม่มีเงินขนาดเงินตัดผม ๑๐ บาทต่อครั้ง

ตั้งแต่ออกจากบ้านนายโจซี่จนถึงปัจจุบัน คุณเบิร์ดมาอาศัยอยู่ที่ตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ดังปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาที่แนบมาเป็นเอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๓ ในหน้า ๑๕

๒.๕. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำงานของคุณเบิร์ด

หลังจากย้ายออกจากบ้านนายโจซี่ที่อำเภอสังขละบุรี เขาก็เลิกเรียนและมาทำงาน

งานแรกของคุณเบิร์ดในราว พ.ศ.๒๕๔๗ ก็คือ งานในปั้มน้ำมัน

งานที่สองในราว พ.ศ.๒๕๕๐ ก็คือ งานส่งน้ำแข็ง

งานที่สามในราว พ.ศ.๒๕๕๗ ก็คือ งานที่ทำในปัจจุบัน เป็นงานขายยาฆ่าศัตรูพืช

ในช่วงสิบปีหลัง คุณเบิร์ดอาศัยอยู่ที่เดิมไม่เคยย้ายไปไหน แม้ในการทำงานจะไม่อาจขอใบอนุญาตทำงาน แต่ด้วยเป็นการจ้างงานโดยคนรู้จักที่เคยเห็นหน้ากันมานาน ก็เลยมีงานทำตลอดมา

คุณเบิร์ดเล่าว่า มีเพื่อนน้อยเพราะเป็นคนทำงานไม่ชอบเที่ยว

งานอดิเรกที่ทำ ก็คือ งานติดตามทีมฟุตบอลเมืองกาญจน์ยูไนเต็ด ซึ่งเป็นทีมประจำจังหวัดกาญจนบุรี มีการเดินทางไปเชียร์ในต่างจังหวัดด้วย

๒.๖. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อตั้งครอบครัวของคุณเบิร์ด

คุณเบิร์ดก่อตั้งครอบครัวแล้วกับคุณศิริขวัญ ยี่สน เมื่อ ๗ ปีก่อน

คุณศิริขวัญ ดังปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาที่แนบมาเป็นเอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๔ ในหน้า ๑๖ เป็นคนประจวบคีรีขันธ์ แต่ตอนนี้ ก็มาอยู่กินฉันสามีภริยากับคุณเบิร์ดที่อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เธอรับรู้ตลอดว่า คุณเบิร์ดไม่ไช่คนถือบัตรประชาชน และยังพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยไม่ได้ แต่เธอก็มิได้รังเกียจ ในปัจจุบัน เธอทำงานเป็นพนักงานขายของในดีพาร์ทเมนท์สโตร์แห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี

๒.๗. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเพื่อนและคนรู้จักของคุณเบิร์ด

คุณเบิร์ดเล่าถึงคนที่รู้สึกและน่าจะเป็นคนที่มาเป็นพยานรับรองการอาศัยอยู่ในประเทศไทยของเขา ซึ่งน่าจะแบ่งออกได้เป็น ๓ ช่วงของชีวิต กล่าวคือ

คนที่รู้จักเขากลุ่มแรก ก็คือ คนที่รู้จักเขาในช่วงที่บิดายังมีชีวิตอยู่ และยังอาศัยอยู่ที่อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่ง ก็คือ (๑) ลุงถวิล และภริยา ซึ่งเป็นเพื่อนของบิดา และ (๒) ครูปุ๊ ซึ่งเคยสอนคุณเบิร์ดในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ที่โรงเรียนบ้านปากลำปิล็อค

คนที่รู้จักเขากลุ่มสาม ก็คือ คนที่รู้จักเขาในช่วงที่เขามาอาศัยอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี คนกลุ่มนี้ย่อมทำหน้าที่พยานบุคคลที่รู้เห็นว่า เขาอาศัยอยู่จริงที่อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนะบุรี ได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็น่าจะมีอยู่ ๓ คน กล่าวคือ (๑) คุณชัยพร ศิริวงษ์ ดังปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาที่แนบมาเป็นเอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๕ ในหน้า ๑๗ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ มีอายุราว ๔๑ ปี รู้จักกันตั้งแต่คุณเบิร์ดย้ายมาอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี ระยะเวลาที่รู้จักกัน ก็น่าจะไม่น้อยกว่า ๑๓ ปี (๒) คุณไพศาล คงจันทร์ ดังปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาที่แนบมาเป็นเอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๖ ในหน้า ๑๘ ซึ่งมีอายุราว ๒๗ ปี เป็นคนที่รู้จักกันมาในรูปแบบเดียวกับคนแรก เป็นเพื่อนและเป็นพี่น้องกลุ่มเดียวกัน (๓) คุณศิริชวัญ ยี่สน ดังปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาที่แนบมาเป็นเอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๔ ในหน้า ๑๖ ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยามา ๗ ปี และ (๔) คุณสมศักดิ์ สนธิวัฒน์ ดังปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาที่แนบมาเป็นเอกสารแนบท้ายหมายเลขที่ ๗ ในหน้า ๑๙ ซึ่งมีสถานะเป็นผู้ใหญ่บ้านเกาะสำโรงของพื้นที่อันเป็นที่ตั้งบ้านที่คุณเบิร์ดอาศัยในปัจจุบัน และรู้จักคุณเบิร์ดตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้

๒.๘. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเป้าหมายในชีวิต/ความฝันของคุณเบิร์ด

คุณเบิร์ดมีเป้าหมายในชีวิต ๓ ประการที่สำคัญ กล่าวคือ

ประการแรก คุณเบิร์ดอยากมีทายาทสืบสกุล เป็นสายเลือดของตัวเอง เป็นความฝันเพื่อครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ

ประการที่สอง คุณเบิร์ดและคุณศิริขวัญ ภริยา ฝันที่จะเรียนต่อให้จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เป็นอย่างน้อย เป็นความฝันร่วมกับภริยา

ประการที่สาม เป็นความฝันส่วนตัวของคุณเบิร์ดที่จะมีบัตรประชาชนที่แสดงสิทธิในสัญชาติไทย

-----------------------------------------

๓. ความพยายามที่จะขจัดปัญหาความไร้รัฐของคุณเบิร์ด

-----------------------------------------

๓.๑. การหารือผู้รักษาการตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ได้หารือปลัดอำเภอที่มีชื่อว่า “สรธร บ่อเกิด” ณ อำเภอเมืองกาญจนบุรีเพื่อขอเพิ่มชื่อในทะเบียนประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนเลข ๐ โดยได้แสดงใบรับรองการเรียนจากโรงเรียนบ้านปากลำปิล็อค ซึ่งเขาได้มาภายหลังเมื่อไปติดต่อกับโรงเรียนพร้อมผู้ใหญ่บ้าน แต่เจ้าหน้าที่ท่านนี้ตอบว่า ไม่สามารถทำบัตรอะไรให้เขาได้เนื่องจากไร้หลักฐานของบิดามารดา หรือของพี่น้องท้องเดียวกัน คุณเบิร์ดเล่าว่า เขาร้องขอทำบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามข้อ ๓ และข้อ ๔ ในหนังสือ มท ที่ ๐๓๐๙.๑/ว.๓ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๘ แต่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็ยังยื่นยันว่า ทำไม่ได้โดยอ้างเหตุผลเดิม กล่าวคือ ต้องมีหลักฐานของบิดาและมารดา

๓.๒. ความตั้งใจของคุณเบิร์ดในการรวบรวมพยานบุคคลเกี่ยวกับตนเอง

เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๘ คุณเบิร์ดบอกผู้ศึกษาว่า “เดือนหน้าจะแวะดูคนเคยรู้จักพ่อ และผู้หญิงที่เคยให้นมผมตอนเด็กๆ ว่ายังอยู่ที่เก่าไหม ถ้ายังอยู่จะนำมาเป้นพยาน ยืนยันสถานที่เกิดครับ มีพี่ชายพ่อยังอยู่ในประเทศไทยครับ แต่ไม่ทราบว่าอยู่ส่วนไหนของไทย พ่อเคยบอกว่าพี่ชายถือบัตรเลข ๖ ปัญหาคืออยู่ไหนนี้ละ” ซึ่งก็หมายความว่า เขาพยายามจะตามหาคนที่เคยรู้เห็นการเกิดของเขาในประเทศไทย

--------------------------------

๔. ความเป็นไปได้ที่จะกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติของคุณเบิร์ด

---------------------------------

ผู้ศึกษาอาจมีข้อวิเคราะห์ในที่สุดว่า เราคงไม่อาจจะกำหนดสิทธิในสัญชาติของคุณเบิร์ดได้ด้วยข้อเท็จจริงที่รับฟังเบื้องต้น

แม้จะคุณเบิร์ดจะให้ปากคำว่า บุพการีอพยพมาจากประเทศเมียนมา แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่อาจใช้ยืนยันจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับประเทศดังกล่าว จึงไม่อาจสรุปได้ว่า บุพการีของคุณเบิร์ดมีสิทธิในสัญชาติเมียนมา และจึงไม่อาจสรุปได้ว่า คุณเบิร์ดมีสิทธิในสัญชาติเมียนมาโดยหลักสืบสายโลหิต

ในส่วนของสิทธิในสัญชาติไทยนั้น แม้จะคุณเบิร์ดจะอ้างว่า เกิดในประเทศไทย แต่พยานหลักฐานที่มีอยู่ก็ยังขาดวิ่นและเบาบางมาก จึงไม่อาจสรุปได้ว่า คุณเบิร์ดจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด

การดำเนินการเพื่อรวบรวมพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของคุณเบิร์ดย่อมจะเป็นไปได้ดีขึ้นหากคุณเบิร์ดได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในสถานะ “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ใน ท.ร.๓๘ ก เสียก่อน อันจะทำให้การขออนุญาตออกนอกพื้นที่อำเภอเมือง กลับไปพบลุงถวิลที่อำเภอทองผาภูมิ และลุงโจซี่ที่อำเภอสังขละบุรีเป็นไปได้

นอกจากนั้น ผู้ศึกษาเสนอให้คุณเบิร์ดทำคำร้องถึงสถานีตำรวจภูธรอำเภอทองผาภูมิเพื่อขอสืบค้นสำเนาคดีเกี่ยวกับการตายของคุณเตี้ยบิดาในราว พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งสำเนาดังกล่าวน่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวของคุณเตี้ยและตัวคุณเบิร์ดเอง ซึ่งเป็นผู้พบศพของคุณเตี้ยและเป็นบุตรชายคนเดียวของผู้ตาย

--------------------------------

๕. ความเป็นไปได้ที่จะกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของคุณเบิร์ด

---------------------------------

ผู้ศึกษาอาจมีข้อวิเคราะห์เป็นที่สุดในประเด็นนี้ว่า คุณเบิร์ดน่าจะเป็นผู้ทรงสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับหนังสือที่ มท.๐๓๐๙.๑/ว.๓ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๘ เรื่องการรับแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติ ถึงนายทะเบียนจังหวัด ทุกจังหวัด และนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ด้วยการพิจารณาพยานหลักฐานที่คุณเบิร์ดมีอยู่แล้ว ก็น่าจะฟังได้ว่า คุณเบิร์ดมีคุณสมบัติต่อไปนี้

ในประการแรก คุณเบิร์ดมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่จริงในพื้นที่ของสำนักทะเบียนในอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวคือ ตั้งบ้านเรือนและประกอบอาชีพอยู่ในอำเภอดังกล่าวของประเทศไทย

ในประการที่สอง คุณเบิร์ดมีข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่า เป็นบุคคลที่ไม่มีเอกสารการทะเบียนราษฎร กล่าวคือ ยังไม่มีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

ในประการที่สามและประการสุดท้าย คุณเบิร์ดไม่มีเอกสารราชการที่แสดงว่า เป็นคนสัญชาติอื่น

ดังนั้น นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น จึงมีหน้าที่จะต้องจัดทำทะเบียนประวัติให้แก่คุณเบิร์ดได้ตามแบบ ท.ร.๓๘ ก และกำหนดให้เลขประจำตัว ๑๓ หลักเป็นบุคคลประเภท ๐ โดยปฏิบัติตามข้อ ๑๐๕ วรรคสอง ของระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๑

--------------------------------

๖. ความเป็นไปได้ทางกฎหมายที่จะกำหนดสิทธิในชื่อบุคคลตามกฎหมายแพ่งของคุณเบิร์ด

---------------------------------

ดังได้กล่าวแล้วว่า แม้คุณเบิร์ดยังประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง เนื่องจากไม่มีการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก คุณเบิร์ดก็ยังมีสิทธิในเสรีภาพที่จะใช้ชื่อบุคคลตามเจตนาของคุณเบิร์ด ทั้งนี้ เสรีภาพดังกล่าวจะมีขอบเขตก็เพียงว่า เป็นการใช้สิทธิที่ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย สิทธิในชื่อบุคคลเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ จึงเป็นสิทธิที่รับรองไว้ในมาตรา ๑๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๖๘ เป็นสิทธิตามกฎหมายเอกชน มิใช่สิทธิตามกฎหมายมหาชน จึงมิต้องร้องขออนุญาตใช้สิทธิจากรัฐเจ้าของตัวบุคคล

ดังนั้น ในขั้นตอนบันทึกชื่อบุคคลของคุณเบิร์ดในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางเบียน (ท.ร.๓๘ ก) นั้น คุณเบิร์ดก็จะต้องแจ้งชื่อสกุล “เบิร์ด เชื้อเตี้ย” ต่อนายทะเบียนได้เลย ทั้งนี้ หากนายทะเบียนดังกล่าวปฏิเสธ คุณเบิร์ดก็อาจอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมการปกครองและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทำหน้าที่รักษาการตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ตลอดจนประมวลกฎหมายแพ้งและพาณิชย์ในส่วนของชื่อบุคคล นอกจากนั้น คุณเบิร์ดอาจร้องขอต่อศาลแพ่งและศาลปกครองให้ยืนยันสิทธิดังกล่าวได้ หากมีการปฏิเสธสิทธิในชั้นของกรมการปกครองและกระทรวงมหาดไทย

--------------------------------

๗. หน้าที่ของรัฐไทยในการขจัดปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงให้แก่คุณเบิร์ด

---------------------------------

นอกจากนั้น ผู้ศึกษายังสรุปต่อไปได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรักษาการตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ตลอดจน อธิบดีกรมการปกครอง/ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี/นายอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ยังมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทยที่จะรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่คุณเบิร์ด ข้อกฎหมายที่สำคัญปรากฏในข้อ ๖ แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และข้อ ๑๖ แห่งกติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งบัญญัติว่า “ทุก ๆ คนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่า ณ ที่ใด. (Everyone has the right to recognition everywhere as a person before the law.)" จะเห็นว่า โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐไทยย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของมนุษย์ทุกคน เราคงต้องสรุปว่า ปัญหาความเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนของคุณเบิร์ดจึงย่อมแสดงถึงความบกพร่องของรัฐไทยในการใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎรทั้งที่เป็นกฎหมายภายในของรัฐ และกฎหมายระหว่างประเทศ การเร่งจัดการปัญหาความไร้รัฐของคุณเบิร์ดจึงเป็นเรื่องที่ต้องรีบจัดการโดยเร็ว เพื่อมิให้ประเทศไทยพ้นจากความบกพร่องตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น

--------------------------------

๘. หน้าที่ของรัฐไทยในการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรให้แก่คุณเบิร์ด

---------------------------------

ผู้ศึกษาจึงมีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การจัดการปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงหรือปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรให้แก่คุณเบิร์ดมิใช่เป็นอำนาจดุลยพินิจของนายอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี หรือผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี หรืออธิบดีกรมการปกครอง หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แต่กลับเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยในทั้งสี่ตำแหน่งดังกล่าวมาที่จะต้องจัดการตามกฎหมายโดยมิชักช้า

--------------------------------

๙. ข้อเสนอแนะต่อ V-B-C Project ในการจัดการคำร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายของคุณเบิร์ด

---------------------------------

จะเห็นว่า กรณีศึกษาของคุณเบิร์ดจะทำให้ V-B-C Project ได้ทำหน้าที่ ๓ ประการที่สำคัญของโครงการ กล่าวคือ

๙.๑. การเชื่อมความเข้าใจในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายผ่านกรณีศึกษาคุณเบิร์ด ที่เสนอสู่การศึกษาวิจัยโดยคุณเบิร์ด เจ้าของปัญหา

เพื่อเชื่อมผู้รักษาการตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คุณเบิร์ดที่ปรสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงเสียก่อน ผู้ศึกษาจึงมีข้อเสนอแนะให้อาจารย์บงกช นภาอัมพร และ นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ ทำหนังสือร้องขอต่อนายอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อจัดให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้แก่คุณเบิร์ด ทั้งนี้ เพราะบุคคลดังกล่าวมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ขณะสำรวจอยู่ในเขตของสำนักทะเบียนอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี การทำทะเบียนดังกล่าวย่อมจะต้องเป็นไปตามแบบ ท.ร. ๓๘ ก ทั้งนี้ ควรทำสำเนาหนังสือดังกล่าวถึง (๑) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (๓) อธิบดีกรมการปกครอง และ (๔) ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี

ขอให้เราตระหนักว่า การมีชื่อในทะเบียนประวัติของคุณเบิร์ดจะทำให้เขาพ้นจากสถานะเป็น “คนไร้รัฐ” กลับมีสถานะเป็น “คนมีรัฐ” อันทำให้มีเอกสารรับรองตัวบุคคล เพื่อมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แม้จะยังไร้สัญชาติอยู่ต่อไป

การจัดการปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติและตามกฎหมายคนเข้าเมืองย่อมจะทำในลำดับต่อไป

๙.๒. การสร้างพื้นที่ระดมสมองระหว่างคณะนักวิจัยและเหล่าผู้รักษาการตามกฎหมายเพื่อจัดการสิทธิให้แก่คุณเบิร์ด ซึ่งถูกเลือกขึ้นมาเป็น “กรณีศึกษาต้นแบบ” เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย

ด้วยปรากฏว่า คุณเบิร์ด เจ้าของปัญหา ได้เคยติดต่อหารือกับปลัดอำเภอของอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีแล้ว และมีความไม่เข้าใจกัน จึงไม่ได้ดำเนินการจัดการปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงของคุณเบิร์ดได้ ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงเสนอให้คณะนักวิจัยทั้งสองติดต่อกับนายอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อทราบถึงสาเหตุของปัญหาดังกล่าว ตลอดจนหารือถึงแนวคิดในการจัดการปัญหาดังกล่าว การหารือดังกล่าวย่อมจะเกิดการระดมสมองระหว่างคณะนักวิจัยและผู้รักษาการตามกฎหมาย อันนำไปสู่ “ต้นแบบของการจัดการปัญหา” สำหรับบุคคลในสถานการณ์เดียวกับคุณเบิร์ด

ในกรณีที่คณะนักวิจัยและนายอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรีไม่อาจบรรลุถึง “ต้นแบบของการจัดการปัญหา” ดังกล่าว ผู้ศึกษาก็เสนอให้คณะนักวิจัยทำเรื่องเป็นลายลักษณ์อักษรหารือ (๑) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (๓) อธิบดีกรมการปกครอง และ (๔) ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี อีกทั้ง (๕) ศาลแพ่งและศาลปกครอง หากกระบวนการหารือยังไม่อาจยุติในชั้นก่อนศาล

๙.๓. การเผยแพร่องค์ความรู้ที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิงในประเทศไทยที่ได้จาก“กรณีศึกษาต้นแบบนายเบิร์ด เชื้อเตี้ย”

เมื่อการหารืออันเกิดจากการระดมสมองระหว่างคณะนักวิจัยและผู้รักษาการตามกฎหมาย นำไปสู่ “ต้นแบบของการจัดการปัญหา” สำหรับบุคคลในสถานการณ์เดียวกับคุณเบิร์ด คณะนักวิจัยก็ควรหารือต่อไปกับอธิบดีกรมการปกครองเพื่อเผยแพร่ “สูตรสำเร็จ” และ “สูตรไม่สำเร็จ” อันเกิดจากประสบการณ์ในการจัดการปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงให้แก่คุณเบิร์ด

--------------------------------

๑๐. ข้อเสนอแนะต่อคุณเบิร์ดในการจัดการสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของคุณเบิร์ด

---------------------------------

ผู้ศึกษาขอเสนอให้คุณเบิร์ดถือหนังสือของ V-B-C Project ถึงนายอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อไปขอพบท่านนายอำเภอดังกล่าว พร้อมคำขอรับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ประกอบกับหนังสือที่ มท.๐๓๐๙.๑/ว.๓ ลงวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๘ เรื่องการรับแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติ ถึงนายทะเบียนจังหวัด ทุกจังหวัด และนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร โดยไม่ชักช้า

นอกจากนั้น เมื่อนายอำเภอดังกล่าวรับคำขอของคุณเบิร์ดแล้ว คุณเบิร์ดก็ควรจะขอใบรับคำขอซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ (๑) ชื่อและลายมือชื่อของผู้รับคำขอ (๒) ตราที่ใช้ในทางราชการของนายอำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี (๓) วันที่ที่รับคำขอ และ (๔) ข้อความระบุว่า รับคำขอของคุณเบิร์ดเพื่อการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ

---------

เชิงอรรถ

----------

[1] รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รับผิดชอบการเรียนการสอนด้านกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน https://www.facebook.com/archanwell

[2] :ซึ่งชื่อย่อของโครงการนี้แสดงถึงปฏิบัติการ ๓ ลักษณะเพื่อจัดการสิทธิของประชากรสาธารณสุขต่างด้าว อันได้แก่

(๑) V- Visit หมายถึงการพบ/การเยี่ยม/การรู้จักเจ้าของปัญหาและผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหาตลอดจน ผู้รักษาการตามกฎหมาย ซึ่งเป็น ผู้เกี่ยวข้องตัวจริงกับปัญหา (Real Secters)

(๒) B - Brainstroming หมายถึงการระดมสมองกับคนในทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและสร้างต้นแบบในการจัดการปัญหา (Solution Management)

(๓) C - Classroom หมายถึงการเผยแพร่ต้นแบบการจัดการปัญหาสู่คนในทุกภาคส่วนของสังคมโดยเฉพาะ เจ้าของปัญหา ผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหา และ ผู้รักษาการตามกฎหมาย เพื่อการจัดสิทธิของประชากรต่างด้าวทั้งแท้และเทียม ให้มีสุขภาวะบนหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity Principle)

[3] โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดการสิทธิในสุขภาวะของประชากรสาธารณสุขต่างด้าวของประเทศไทย:ความเป็นมา/แนวคิดพื้นฐานของโครงการ, โดย อาจารย์บงกชนภาอัมพร, เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=1...

โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดการสิทธิในสุขภาวะของประชากรสาธารณสุขต่างด้าวของประเทศไทย:คณะผู้รับผิดชอบโครงการ,โดย อาจารย์บงกช นภาอัมพร, เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=1...

[4] https://www.facebook.com/bongkot.napaumporn

[5] https://www.facebook.com/rabheebhonsa.subhanchaima...

[6] ซึ่งบัญญัติว่า “ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดรายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด” และระเบียบตามที่ระบุในมาตรา๓๘ วรรค ๒ นี้ ก็คือ ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนพ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งข้อ ๔ บัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นจัดให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ขณะสำรวจอยู่ในเขตของสำนักทะเบียนนั้นๆ ตามแบบ ท.ร. ๓๘ ก และบันทึกข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักทะเบียน”

[7] มาตรา ๑๘ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๖๘ บัญญัติว่า ““สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้นถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามนั้น ต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับอำนาจให้ใช้ได้ก็ดีบุคคลผู้เป็นเจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลนั้นระงับความเสียหายก็ได้ถ้าและเป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้”



คุณเบิร์ดในวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งเป็นวันที่กลับไปโรงเรียนบ้านปากลำปิล็อค ที่เขาเคยเรียนสมัยที่เรียน ป.๑-๓ เขาบอกว่า "เป็นการกลับไปตอบแทน โรงเรียนบ้านปากลำปิล็อค ด้วยสิ่งของที่ได้จากการรับบริจาคจากผู้ใจบุญและเพื่อนมิตรสหายทุกท่านที่มีใจให้ความร่วมมือ รอยยิ้มบ่งบอกถึงความดีใจที่กลับไปเยือนบ้านเกิดอีกครั้ง นี้เป็นเพียงโครงการปี ๑ และจะมีโครงการปี ๒ อีกแน่นอน"

หมายเลขบันทึก: 594440เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2015 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2015 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่ค่อยได้เข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์มากนัก

..

แต่วันนี้มาเยี่ยมและคารวะอาจารย์แหวว... ด้วยความเคารพและระลึกถึงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท