คนไร้สัญชาติกับการเดินทางไปต่างประเทศ: ฝันหรือความจริง???


บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 เพื่อทำความเข้าใจเรื่องสิทธิการเดินทางไปต่างประเทศของคนไร้สัญชาติในประเทศไทย และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในหนังสือที่มีชื่อเรื่องว่า "Anthropology of Passport" ซึ่งมี รศ.ดร.เฉิน เทียนซี (Assoc.Prof. Chen Tien-shi) หรือ ลาร่า (Lara) เป็นบรรณาธิการ และมี รศ.ดร.อิชี่ คาโยโกะ (Assoc.Prof. Ishii Kayoko) หรือ ซาริ (Sari) เป็นผู้เขียนร่วม (Co-writer) ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย หนังสือเล่มนี้จะถูกตีพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2559

นายยอด ปอง เมื่อครั้งได้เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าวครั้งแรก


ในประเทศไทยยังมีความเข้าใจผิดอยู่เสมอว่า “คนไร้สัญชาติไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้”ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่เคยปรากฏกฎหมายหรือนโยบายของไทยใดเลยที่ละเมิดสิทธิในเสรีภาพในการเดินทางดังกล่าวของคนไร้สัญชาติหากแต่คนไร้สัญชาติซึ่งมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทยก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายคนเข้าเมืองซึ่งเป็นหลักการสากลในเรื่องนี้ว่า “เพื่อมิให้สิทธิอาศัยในประเทศไทยสิ้นสุดไป คนต่างด้าวจะต้องขออนุญาตเพื่อออกนอกประเทศและขอกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง[1]


และเพื่อให้การใช้สิทธิในการเดินทางดังกล่าวเป็นไปได้จริงคนไร้สัญชาติจะต้องมี “เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว (Travel Document for Aliens)” ซึ่งออกโดย กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ที่คนไร้สัญชาติอาศัยอยู่ในปัจจุบัน เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าวไม่ต่างอะไรกับหนังสือเดินทางของคนสัญชาติไทย (Passport) ซึ่งเป็นเอกสารที่ใช้ในทางระหว่างประเทศในการแสดงว่าพวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในทางกฎหมายแล้วว่ามีตัวตน ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศต่างๆที่คนไร้สัญชาติต้องการเดินทางไปนั้นยอมรับและอนุญาตให้พวกเขาเดินทางเข้าประเทศ


หากย้อนดูในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเราจะพบว่ารัฐไทยอนุญาตให้คนไร้สัญชาติเดินทางออกนอกประเทศและอนุญาตให้พวกเขาเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน


ไมว่าจะเป็นเรื่องการเดินทางเพื่อเป็นตัวแทนในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการแข่งขันต่างๆ อาทิ อาจารย์อายุ นามเทพ เป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันการร้องเพลงประสานเสียงระดับโลก (World Choir) ณ ประเทศออสเตรีย เมื่อปี พ.ศ.2551 น้องหม่อง ทองดี เป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันพับเครื่องบินกระดาษ (Origami Airplane Competition) ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2552 และสองพี่น้องตระกูลริมพู (น้องสมบูรณ์ และ น้องกิติยา ริมพู) เป็นตัวแทนประเทศไทยในการประกวดวงโยธวาทิต ณ ประเทศฮ่องกง เมื่อปี พ.ศ.2554


นอกจากนี้ หากคนไร้สัญชาติในประเทศไทยต้องการที่จะเดินทางเพื่อการศึกษาดูงานในต่างประเทศก็ยังสามารถทำได้ด้วย อาทิ การเดินทางเพื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาของ นางสาวศรีนวล เสาร์คำนวล ณ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2551 การเดินทางเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมของ นายยอด ปอง ณ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี พ.ศ.2557 และล่าสุดการเดินทางเพื่อศึกษาในภาคสนาม (Field trip) ภายใต้โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของ นางสาวดวงตา หม่องภา ที่กำลังจะเกิดขึ้นในดือนตุลาคมนี้ (พ.ศ.2558) ณ ประเทศเวียดนาม


อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญมากกว่าที่ทำให้การจัดการสิทธิในการเดินทางไปต่างประเทศของคนไร้สัญชาติในประเทศไทยไม่สามารถเป็นไปได้จริง คือ องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนในการใช้สิทธิในการเดินทาง รวมไปถึงสิทธิในการมีเอกสารพิสูจน์ตนที่ใช้ในทางระหว่างประเทศของคนต่างด้าวในประเทศไทย (เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว หรือ Travel Document for Aliens) ยังไม่ถูกเผยแพร่ไปยังเจ้าของปัญหาและผู้รักษาการตามกฎหมายบางส่วน


[1] โปรดดูมาตรา 39 แห่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

หมายเลขบันทึก: 594895เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2015 00:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2015 00:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากสอบถามว่า 

สิทธิในการเดินทางออกนอกประเทศของคนไร้สัญชาติ ที่มีที่อยู่แน่นอนในประเทศไทย สามารถทำได้แม้เป็นเพียงการเดินทางเพื่อท่องเที่ยว ใช่มั้ยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท