Universal Design…การออกแบบที่ใจดี ตอนที่ 1


ถ้าการได้ออกไปนอกบ้าน ได้ไปเปิดหูเปิดตาดูโน่นนี่นั่น จะทำให้คนๆ หนึ่งมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น หรือการที่ร่างกายของคนบางคนที่มีขีดจำกัดบางอย่างซึ่งทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก ก็ดูจะห่างไกลจากคำว่า ไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้แนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือ Universal Design จึงได้รับการยอมรับและกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้วยว่า โลกเรามีประชากรวัยกำลังเติบโตลดน้อยลง จากปัญหาการมีลูกน้อยหรือหลายประเทศประสบปัญหาประชากรไม่แต่งงาน ทำให้ไม่มีลูก และวิทยาการทางการแพทย์ก็ก้าวหน้าขึ้นมาก ทำให้ผู้คนมีสุขภาพที่ดี อายุยืนยาว สังคมโลกในภาพรวมจึงกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

ประเทศที่ตระหนักถึงสังคมผู้สูงอายุและการออกแบบเพื่อคนที่มีข้อจำกัดบางประการมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น ที่มีการออกแบบสภาพแวดล้อมหลายอย่างเพื่อผู้สูงอายุมากขึ้น บริษัท Tripod Design เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบเพื่อคนทั้งมวลที่มีชื่อเสียงบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่น คุณซาโตชิ นาคากาวะ (Satoshi Nakagawa) ได้เล่าให้ฟังถึงแนวคิดของบริษัทว่า “เริ่มต้นจากความคิดที่ว่า อยากทำให้ชีวิตผู้คนมีความสุขด้วยการออกแบบ ทางบริษัทจึงศึกษาวิจัยสำรวจความต้องการของกลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สนองตอบความต้องการของคนกลุ่มนี้และกลุ่มคนทั่วไปได้ โดยไม่ทำให้คนเหล่านี้รู้สึกแปลกแยก”

งานส่วนใหญ่ที่บริษัทฯทำจะเป็นงานออกแบบที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย โดยเฉพาะเรื่องของ Sensor ที่บริษัทมักจะนำมาประกอบเข้ากับผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทคิดค้นขึ้น เช่น แว่นตาที่มีแสงไฟบริเวณกรอบแว่น และสามารถปรับเปลี่ยนสีได้ ใช้เปิดเป็นไฟสำหรับอ่านหนังสือ ควบคุมการใช้ไฟด้วยแอพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกออกแบบภายใต้แนวคิด “ใจดี” ต่อผู้ใช้งาน เพราะรู้ว่า ผู้ใช้งานต้องการอะไร

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปฟังแนวคิดการทำงานของคุณซาโตชิ และได้ร่วม Workshop ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้แนวคิด Universal Design หรือเรียกย่อๆ ว่า UD ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กันยายน 2558 ทำให้ได้ข้อความรู้เกี่ยวกับ UD อย่างลึกซึ้งมากขึ้น จากหลายๆ กรณีศึกษาที่คุณซาโตชิได้หยิบยกมาพูดคุยและเล่าสู่กันฟัง รวมถึงให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีส่วนรับรู้ความรู้สึกการเคลื่อนไหวร่างกายในสภาวะที่เปลี่ยนไป เพื่อจำลองความรู้สึกของผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือมีข้อจำกัดบางอย่างในการเคลื่อนไหว ผู้เขียนจะได้ขอบันทึกไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจในงาน UD เบื้องต้น โดยจะแบ่งบันทึกเป็น 3 ตอน เพื่อไม่ให้เนื้อหายาวเกินไปค่ะ

หมายเลขบันทึก: 595062เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2015 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มีนาคม 2020 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ประเทศญี่ปุ่นมี Universal design ทั่วประเทศ คนญี่ปุ่นที่มีข้อจำกัดจึงสามารถเดินทางไปทุกที่

สถานีรถไฟที่มี แต่ไม่สมบูรณ์ เจ้าหน้าที่จะมีรถเข็นมารอรับพร้อมพนักงานเข็นไปส่งจนถึงที่ เป็นต้นแบบที่ดีมาก

ประเทศไทยไม่มีการนึกถึงเรื่องนี้

โรงพยาบาลที่ "ต้อง" ทำ ก็ไม่ทำ ทำก็ไม่สมบูรณ์ค่ะ

ดิฉันสนับสนุนในเรื่องนี้เป็นจริงในประเทศไทย ไม่ใช่แค่มีแต่ในตำราค่ะ

เห็นด้วยกับคุณ Nui ค่ะ และแนทก็มองว่า บางทีแนวคิดนี้ มันก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องของการออกแบบทางสถาปัตยกรรม หรือ การตกแต่งภายใน แต่มันยังมีเรื่องอีกหลายๆ เรื่องที่เราต้องพัฒนาไปควบคู่กัน วันนั้นคุณซาโตชิ เน้นย้ำมากๆ ว่า ประเทศไทยขาดเรื่องฐานข้อมูลหลายส่วน หรืออาจเป็นเพราะเราไม่ค่อยได้ฝึกการเก็บข้อมูลและนำสถิติข้อมูลนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์กัน หรือเราขาดการแชร์ข้อมูลด้านสถิติที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลสถิติบางอย่างได้ เพื่อดึงข้อมูลนั้นมาต่อยอดคิดทำประโยชน์ ...บางทีเราอาจจะหวงกันอะไรบางอย่างกันมากเกินไปก็ได้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท