Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รัฐไทยอาจมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนตกเรือไทยที่เกาะอัมบนหรือไม่ ?


กรณีศึกษาคนตกเรือที่เกาะอัมบน

: รัฐไทยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนตกเรือทั้งสามคน กล่าวคือ (๑) นายสม (๒) นายอะโละ และ (๓) นายสัมริน หรือไม่ เพราะเหตุใด

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=1...

--------------

ข้อเท็จจริง

--------------

บริษัท สมุทรสาครห้องเย็น จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายไทย โดยมีผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นคนสัญชาติไทย และมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร นอกจากนั้น บริษัทนี้ยังมีบริษัทลูกซึ่งตั้งตามกฎหมายของประเทศมาเลเซีย โดยใช้ชื่อว่า “บริษัท สมุทรสาครห้องเย็น (มาเลเซีย) จำกัด” ในปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทลูกนี้ก็คือ บริษัท สมุทรสาครห้องเย็น จำกัด ดังนั้น สำนักงานแห่งใหญ่ที่แท้จริงของบริษัท สมุทรสาครห้องเย็น (มาเลเซีย) จำกัด จึงตั้งอยู่ในประเทศไทยเช่นกัน ในขณะที่สำนักงานตามตราสารจัดตั้งย่อมตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๐ บริษัทสมุทรสาครห้องเย็น (มาเลเซีย) จำกัด ได้เข้าร่วมทุนกับ บริษัท Deep Sea Fishing จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตามกฎหมายอินโดนีเซีย และมีผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นบุคคลสัญชาติอินโดนีเซีย จึงมีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงจาร์กาตา ประเทศอินโดนีเซีย สัญญาร่วมทุนระหว่างบริษัททั้งสองทำในประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญเพื่อตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นมา ๑ บริษัทตามกฎหมายอินโดนีเซียเพื่อเข้ารับสัมปทานการจับปลาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอินโดนีเซีย บริษัทนี้ถูกจดทะเบียนก่อตั้งใน พ.ศ.๒๕๕๑ โดยให้ชื่อว่า “บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด”

ขอให้ตระหนักว่า ในปัจจุบัน หุ้นร้อยละ ๖๐ ของบริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด เป็นของ บริษัทสมุทรสาคร (มาเลเซีย) จำกัด ส่วนอีกร้อยละ ๔๐ เป็นของบริษัท Deep Sea Fishing จำกัด ดังนั้น สำนักงานแห่งใหญ่จึงตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ประเทศไทย สำนักงานตามตราสารจัดตั้งตั้งอยู่บนเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย

บริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการประมงน้ำลึกในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอินโดนีเซีย และส่งปลาขายต่อที่ตลาดปลาใหญ่หลายแห่งของประเทศไทย บริษัทนี้มีเรือประมงน้ำลึกหลายลำซึ่งบางลำจดทะเบียนเรือตามกฎหมายไทย แต่บางลำจดทะเบียนเรือตามกฎหมายอินโดนีเซีย

ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๓ ผู้จัดการบริษัท Thai – Indonesia Marina จำกัด ได้ว่าจ้างบุคคล ๓ คน มาทำงานในเรือประมงน้ำลึกที่มีชื่อว่า “มารีน่าหนึ่ง” ซึ่งจดทะเบียนเรือตามกฎหมายไทย โดยมีบริษัท สมุทรสาคร จำกัด เป็นเจ้าของเรือ อันได้แก่

(๑) นายสม ซึ่งมีชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวรประเภท ท.ร.๑๔ ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทย เขาจึงมีเลขประจำตัวประชาชนไทย ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๒

(๒) นายอาโละ ซึ่งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราวประเภท ท.ร.๑๓ ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติอาข่า ทั้งที่ประเทศอาข่าก็ไม่มีอยู่จริงบนโลกนี้ อีกทั้งเขาไม่ได้รับการยอมรับในสถานะคนสัญชาติของประเทศใดเลยบนโลก เขามีเลขประจำตัวประชาชนไทย ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๗ ทั้งนี้ เพราะเขาเกิดที่โรงพยาบาลแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ จากบิดาและมารดาที่อพยพหนีภัยความไม่สงบจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๓๐

(๓) นายสัมริน ซึ่งมีชื่อในทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘/๑ ตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติกัมพูชา แต่ยังไม่มีการรับรองสถานะของนายสัมรินในทะเบียนราษฎรของรัฐกัมพูชาแต่อย่างใด เขาเกิดในประเทศกัมพูชาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ จากบิดาและมารดาซึ่งเกิดในประเทศกัมพูชาเช่นกัน แต่เป็นการเกิดนอกโรงพยาบาล เขาไม่เคยได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐกัมพูชา ทั้งที่บิดาและมารดาได้รับการบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐกัมพูชาแล้ว โดยผ่านการพิสูจน์สัญชาติภายใต้ MOU ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาใน พ.ศ.๒๕๕๕ แต่ด้วยนายสัมรินไปทำงานในเรือมารีน่าหนึ่งในน่านน้ำอินโดนีเซีย เขาจึงไม่ได้ไปขึ้นทะเบียนแรงงานพร้อมกับบิดาและมารดาจนครบขั้นตอน จึงไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชาพร้อมกับบิดาและมารดา

ใน พ.ศ.๒๕๕๕ ลูกเรือทั้งสาม ก็คือ (๑) นายสม (๒) นายอาโละ และ (๓) นายสัมรินได้หลบหนีลงจากเรือมารีน่าหนึ่งในขณะที่เรือนี้เข้ามาส่งปลาที่เกาะอัมบน เนื่องจากรู้สึกกดดันที่ต้องอาศัยอยู่และทำงานหนักบนเรือมาตลอดเวลาเกือบ ๓ ปี บุคคลทั้งสามมาดำรงชีวิตบนเกาะอัมบนอย่างยากลำบาก อาศัยนอนข้างถนน และรับจ้างทำงานรายวันไปเรื่อยๆ บางวันก็มีเงินซื้ออาหารประทังชีพ บางวันก็ไม่มี เขาไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ เลย ทั้งนี้ เพราะเอกสารรับรองตัวบุคคลที่มีอยู่นั้นถูกเรียกเก็บไว้กับ “ไต้ก๋งเรือ” ตั้งแต่ในช่วงแรกที่ลงมาทำงานในเรือ

ชาวอัมบนจึงเรียกบุคคลในสถานการณ์นี้ว่า “คนตกเรือ” เพราะพวกเขามาจากเรือประมงน้ำลึกที่เข้ามาจอดที่ท่าเรือเพียงชั่วเวลาสั้น แล้วก็จะออกเดินทางไปทำงานในน่านน้ำลึกต่อไป หรือบางที พวกเขาก็จะถูกเรียกว่า “คนผี” เพราะพวกเขาไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ ว่าชื่ออะไร อายุเท่าไหร่ เป็นใครมาจากไหน

ในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ คุณสมพงษ์ สระแก้ว แห่ง มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labor Rights Promotion Network Foundation) หรือเรียกกันสั้นๆว่า “LPN” ได้พบบุคคลทั้งสาม ในระหว่างที่ไปติดตามหาแรงงานจากประเทศไทยที่ตกเป็นคนตกเรือและคนผีบนเกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ตามคำร้องทุกข์ของบุคคลในสถานการณ์นี้คนหนึ่งที่เขียนจดหมายถึง LPN และคุณสมพงษ์ก็ได้พยายามประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลทั้งสาม

--------

คำถาม

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า รัฐไทยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนตกเรือทั้งสามคน กล่าวคือ (๑) นายสม (๒) นายอาโละ และ (๓) นายสัมริน หรือไม่ เพราะเหตุใด

--------------

แนวคำตอบ

--------------

ประเด็นของเรื่อง เป็นคำถามเพื่อให้กำหนดตัวรัฐเจ้าของตัวบุคคลของมนุษย์/บุคคลธรรมดา ซึ่ง ก็คือ เป็นเรื่องของการพิจารณาสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลตามกฎหมายเอกชน เราจึงต้องมาพิจารณาว่า รัฐอธิปไตยใดที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับบุคคลธรรมดาตามข้อเท็จจริงอันเป็นโจทย์ อันทำให้มีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของบุคคลธรรมดาดังกล่าว

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ข้อเท็จจริงที่ทำให้รัฐอธิปไตยหนึ่งมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล” ของบุคคลธรรมดาคนใด ย่อมเกิดจากสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลธรรมดานั้นใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ความเป็นคนที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐนั้น และ (๒) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐนั้น และ (๓) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐนั้น

เพื่อตอบว่า รัฐไทยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนตกเรือทั้ง ๓ คน จึงต้องมาพิจารณาสัมพันธภาพระหว่างรัฐไทยและบุคคลทั้งสาม ทีละคน ดังต่อไปนี้

--------------------------------------------------------------------------------------

(๑) รัฐไทยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายสมหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

---------------------------------------------------------------------------------------

รัฐไทยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายสมตามข้อเท็จจริง อย่างน้อยใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ

ลักษณะแรก รัฐไทยย่อมมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของนายสม เพราะเขามีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย รัฐไทยจึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของนายสม

ลักษณะที่สอง รัฐไทยย่อมมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของนายสม ทั้งนี้ เพราะเขามีชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายไทย ก็หมายความว่า จึงมีความหมายว่า รัฐไทยรับรองว่า เขามีสิทธิอาศัยถาวรอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมายไทย และกฎหมายนี้ย่อมสันนิษฐานว่า เขาน่าจะมีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนอยู่ในประเทศไทย (มาตรา ๒๙ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔)

------------------------------------------------------------------------------------------

(๒) รัฐไทยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายอาโละหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

------------------------------------------------------------------------------------------

แม้จะยังฟังไม่ได้ว่า รัฐใดเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของนายอาโละ แต่ก็ฟังได้ว่า รัฐไทยย่อมมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาของนายอาโละ ทั้งตามกฎหมายมหาชนและตามกฎหมายเอกชน กล่าวคือ

ในประการแรก รัฐไทยย่อมมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของนายอาโละ ทั้งนี้ เพราะเขามีชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร จึงมีความหมายว่า รัฐไทยรับรองว่า เขามีสิทธิอาศัยชั่วคราวอยู่ในประเทศไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง และกฎหมายนี้ก็สันนิษฐานว่า เขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนอยู่ในประเทศไทยนั่นเอง (มาตรา ๒๙ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔)

ในประการที่สอง รัฐไทยย่อมมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของนายอาโละ ทั้งนี้ เพราะการที่มีข้อเท็จจริงว่า เขาเกิดที่โรงพยาบาลแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ จากบิดาและมารดาที่อพยพหนีภัยความไม่สงบจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๓๐ ย่อมหมายความว่า นายอาโละและครอบครัวน่าจะตั้งบ้านเรือนอยู่ในอำเภอแม่สรวย จึงสันนิษฐานว่า เขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนอยู่ในประเทศไทยอีกด้วย (มาตรา ๓๗ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

------------------------------------------------------------------------------------------

(๓) รัฐไทยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของ นายสัมรินหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

-------------------------------------------------------------------------------------------

เมื่อนายสัมรินตามข้อเท็จจริงได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย (ท.ร.๓๘/๑) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ก็หมายความว่า เขาย่อมมีสถานะเป็นคนที่มีรัฐแต่ไร้สัญชาติ แม้ทะเบียนประวัตินี้จะระบุว่า นายสัมรินแสดงตนเป็น “คนสัญชาติของประเทศกัมพูชา” แต่เมื่อเขายังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศกัมพูชา เขาก็ยังไม่มีสถานะเป็นคนสัญชาติกัมพูชา เขาจึงมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติ จนกว่าจะผ่านการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศกัมพูชา หรือมีรัฐอื่นใดยอมรับรองสถานะคนสัญชาติให้แก่เขา ในสถานการณ์นี้ นายสัมรินจึงยังไม่มีรัฐเจ้าของสัญชาติ

นอกจากนั้น เมื่อนายสัมรินตามข้อเท็จจริงได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร มิใช่ทะเบียนบ้าน จึงหมายความว่า เขายังไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย จึงยังถือไม่ได้ว่า เขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนในประเทศไทย จึงยังสรุปไม่ได้ว่า รัฐไทยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของนายสัมริน

แต่อย่างไรก็ตาม การที่นายสัมรินมีชื่อในทะเบียนประวัติประเภทแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย (ท.ร.๓๘/๑) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ก็หมายความว่า เขาตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย อย่างน้อยเพื่อทำงานในประเทศไทย กรณีจึงฟังได้อย่างน้อยได้ว่า เขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนในประเทศไทย จึงยังสรุปได้ว่า รัฐไทยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของนายสัมริน (มาตรา ๓๗ แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ดังนั้น รัฐไทยก็ย่อมมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของนายสัมรินอยู่ดี เพราะว่า เขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนอยู่ในประเทศไทย

โดยสรุป รัฐไทยจึงเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของคนตกเรือทั้งสาม จึงเป็นเหตุให้รัฐไทยจะต้องเข้าให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่คนทั้งสาม เพื่อให้พวกเขาได้กลับเข้าสู่การใช้ชีวิตของมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี

หมายเลขบันทึก: 595386เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2015 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2015 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท