แนวทางการจัดกิจกรรมเรียนรู้ภัยพิบัติศึกษา​ ตอนที่ 4


แนวทางการจัดกิจกรรมเรียนรู้ภัยพิบัติศึกษา ตอนที่ 4

8. การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมเป็นฐาน (Activity-Based Learning) การเรียนรู้ภัยพิบัติผ่านกิจกรรมอาจจัดเป็นระดับชั้นเรียน หรือระดับโรงเรียน เช่น ที่ญี่ปุ่นจัดกิจกรรมเรียนรู้จุดอันตรายในโรงเรียนสำหรับประถมปีที่ 1-2 กิจกรรมทำแผนที่เสี่ยงภัย (Risk Map) สำหรับประถมปีที่ 3-4 ส่วนกิจกรรมระดับโรงเรียน เช่น กิจกรรม DIG (Disaster Imagination Game) เน้นที่การส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้กระบวนการจัดการภัยพิบัติจากการปฏิบัติจริง หรือกิจกรรมฝึกซ้อมแผนอพยพ (Evacuation Drill) กิจกรรมร้องเพลง “O-Ha-Shi-Mo” (Onasai = ห้ามผลัก; Hashinarai = ห้ามวิ่ง ; Shiyaberanai = ห้ามคุยกัน ; Modaranai = ห้ามย้อนกลับไปที่เดิม) เพื่อสร้างจิตสำนึกในการป้องกันตนเองจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาสอน วิธีปฏิบัติตัวขณะทำการอพยพเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว เป็นต้น (สุพร รัตนนาคินทร์, 2550, หน้า 8) ประโยชน์ของการใช้เพลงในการปลูกฝังความตระหนักในการป้องกันภัยนั้น สมิทธ ธรรมสโรช (2553) กล่าวว่าชาวมอร์แกนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะสุรินทร์ และรอดตายจาก สึนามินั้นเนื่องจากบรรพบุรุษบอกเล่าเรื่อง สึนามิกันเป็นทอด ๆ มาถึงรุ่นลูกหลานในปัจจุบัน และสอดแทรกไว้ในเพลงกล่อมเด็ก

9. การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมศิลปะเป็นฐาน (Arts-Based Learning Activities) กิจกรรมศิลปะเหมาะสำหรับใช้ในการเยียวยา ฟื้นฟูสภาพจิตใจของนักเรียน ครอบครัว หรือญาติพี่น้องของนักเรียนที่ประสบภัยพิบัติ ให้มีพลังใจ คลายความเศร้าโศก เช่น ให้นักเรียนวาดภาพภูมิทัศน์ที่สามารถกู้คืน หรือฟื้นฟูได้เมื่อเกิดภัยพิบัติให้นักเรียนสะสมเศษที่เหลือจากพายุเฮอริเคนมาประดิษฐ์เป็นหน้ากากของตัวละคร การวาดรูปและเขียนข้อความให้กำลังใจเพื่อนนักเรียนที่ประสบ ภัยในต่างประเทศ การจัดทำสมุดภาพแห่งความทรงจำ การเขียนเล่าเรื่องส่วนตัว หรือการแข่งขันดนตรี เป็นต้น (Cathy Smilan, 2009)

10. การเรียนรู้โดยใช้เกม (Game-Based Learning) การให้นักเรียนเล่นเกมเกี่ยวกับภัยพิบัติจะทำให้นักเรียนได้ทั้งความสนุก และเกิดการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันในขณะเล่น และหลังเล่นเกม โดยอาจเล่นเป็นกลุ่ม หรือเล่นรวมกันทั้งห้อง ตัวอย่างเช่น เกมแข่งขันอันตราย เป็นเกมที่ทำให้นักเรียนได้เคลื่อนไหวและได้คิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ เชื่อมโยงระหว่างภัยพิบัติชนิดต่าง ๆ เกมลูกบอลมหาภัย เป็นเกมสำหรับสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและความหมายของคำต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ ภัย ภัยพิบัติ ความล่อแหลม/ความเปราะบาง (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies, 2010) นอกจากนี้ยังมีเกมภัยพิบัติสัมพันธ์ เกมบิงโกอันตราย และเกมปฏิกิริยาลูกโซ่ เป็นต้น


11. วิธีสอนโดยใช้การสาธิต (Demonstration) โดยเหมาะสำหรับเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ หรือเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีการเอาชีวิตรอดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจได้ชัดเจนจากการได้เห็น ได้สังเกต เช่น Anderson (1987) ใช้การสอนแบบสาธิตแสดงการระเบิดของภูเขาไฟ Butler (1988) ใช้การสอนแบบสาธิตแสดงการพังทลายของหิมะ และ Lewis (2006) ใช้การสอนแบบสาธิตแสดงการเกิดพายุทอร์นาโด Jamie Johnson, Nancy Parsons, Mike Jackson (2007) ใช้การสอนแบบสาธิตแสดงการวางแผนอพยพ และการปฐมพยาบาล เป็นต้น ภายหลังที่ครูสาธิตควรให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการอภิปรายและสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการสาธิต

ยังไม่หมดแค่นี้นะครับ มีต่อตอนที่ 5

หมายเลขบันทึก: 596002เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท