จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๓๔: การห้อยแขวน ไม่ด่วนตัดสิน (suspension of assumption, non-judgmental attitude)


อาทิตย์นี้ทำ workshop เรื่อง communication skill ใน palliative care การสื่อสารในการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เรื่องการสื่อสารนี่เป็นเรื่องสำคัญ หลักการดีๆ วิธีการดีๆ และความหวังดีมากมาย มาล้มเหลวไม่เป็นท่าในตอน execute หรือตอนสื่อสารนี่ก็เยอะ และการสื่อสารหมายถึงทั้งตอน "ส่งออก" และ "รับเข้า" ด้วย คนมักจะไปให้ความสำคัญกับตอนส่งออก ว่าจะพูดอะไร จะเขียนอะไร เพราะเป็น active process เป็นการกระทำ จับต้องได้ เห็นได้ และวิจารณ์แก้ไขได้ชัดเจน แต่ด้านการ "รับเข้า" ก็สำคัญไม่น้อยกว่ากัน เผลอๆอาจจะมากกว่า และมีความบกพร่องได้ง่าย เพราะจับต้องได้ยากกว่า ไม่ชัดเจน (เพราะมันอยู่ภายใน)

เราสื่ออะไรออกไปนั้น ได้รับอิทธิพลจาก "สิ่งที่เรารับรู้" เยอะมาก ดังนั้นในการฝึกสื่อสาร เราจะพบความประหลาดใจได้เมื่อเราอุตส่าห์ฝึก "แสดงออก" มาตั้งเยอะ แต่ทำไมในเวลาใช้จริงๆถึงล้มเหลว ถึงทำไม่ได้ หรือทำไม่ได้ดีนัก มีทั้งการแสดงออกที่กักขฬะ หยาบคาย มีแต่เรื่องจิตตก มีแต่เรื่องไม่ดี นำไปสู่ความบาดหมาง ทะเลาะกัน ทำลายความสัมพันธ์ จนบางทีเมื่อมามองดูสภาพหลังการสื่อแล้ว แทบจะไม่น่าเชื่อว่าเป็นผลมาจาก "เจตนาดี ความหวังดี"

  • ทำไมหมอหวังดี พยาบาลหวังดี ถึงทำให้คนโกรธ ผิดหวัง และเกลียด
  • ทำไมคนไข้อยากจะถูกดูแล อยากจะหายทุกข์ ถึงทำให้คนมาดูแลท้อแท้ หมดพลัง
  • ทำไมครูอยากให้นักเรียนได้เรียน ได้รู้ ได้มีปัญญา ถึงทำให้นักเรียนหมดความมั่นใจ

เราจะพบว่า "การสื่อสาร" เป็นปัจจัยสาเหตุสำคัญมากทีเดียว ที่ทำให้ "mission" ที่ตั้งใจไว้แต่แรกล้มเหลวลงไม่เป็นท่า ทั้งๆที่ผลักดันด้วย "ความดี" หรือ "ความปราถนาดี" และไม่ใช่เพราะเราไม่ให้ความสำคัญกับการสื่อออกอย่างไร แต่เป็นเพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญว่าคนรับจะรับอย่างไรมากกว่า (เพราะตัวเราเองก็ไม่ได้ระมัดระวังการรับของตัวเราเองด้วย เป็น blindspot เป็นจุดบอด)

การ "ด่วนตัดสิน" นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วมาก มากจนกระทั่งเราอาจจะไม่รู้ตัว และไม่ได้รับรู้ว่าเราได้ทำอะไรลงไป เป็นกระบวนการ download ข้อมูลเก่า การแปลผลเก่าๆ มาให้ความหมายข้อมูลเบื้องหน้าโดยอัตโนมัติ ทั้งๆที่บริบทที่เกิดขึ้นนั้นไม่เหมือนเดิม แต่ด้วยอคติ เราจะมองข้ามความไม่เหมือนเดิมนั้นไปได้อย่างสิ้นเชิง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความมักง่าย ชอบอะไรที่แบ่งขาว/ดำชัดเจน ไม่ชอบอะไรที่กำกวมเป็นสีเทา เราชอบจะอยู่ใน comfort zone แห่งความชัด แม้แต่ความชัดนั้นเป็นสิ่งที่เราจำลองสร้างขึ้นมาเองก็ตาม เหมือนการมองลูกเต๋าลูกหนึ่ง ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน เราก็เห็นได้อย่างมากสุดแค่ ๓ ด้าน ทั้งๆที่ลูกเต๋ามี ๖ ด้าน ด้วยทิฎฐิ หรือมานะของเรา กลับทำให้เรา "รับรู้" ว่าลูกเต๋านั้นมีแค่ ๑๓๕ และไม่ยอมรับรู้ (หรือ "ให้โอกาส") ว่ามันอาจจะมี ๒๔๖ ด้วยก็ได้ ถ้าไปยืนอีกด้านหนึ่ง

  • @ ดังนั้นเอง หมอ/พยาบาล ที่หวังดีกับคนไข้ ก็จะเห็นแต่ "ด้านบวก" ของสิ่งที่เสนอให้แก่คนไข้ แต่มันจะมี "ด้านลบ" ได้ไหมในสิ่งที่เราเสนอ? เป็นไปได้ไหมว่าเรากำลังทำร้ายคนทั้งๆที่เราหวังดี?
  • @ ดังนั้นเองคนไข้ที่กำลังคิดว่าตนเองนั้นกำลังทุกข์ กำลังน่าสงสาร แต่ก็จะเห็นแต่ความทุกข์ของตนเองเป็นสำคัญ ถึงกับลืมไปว่าคนที่เข้ามาดูแลนั้นก็มีความรู้สึก อาจจะทุกข์เพราะความไม่สามารถจะรักษาเรื่องได้ทุกเรื่อง ทุกข์เพราะความไม่ร่วมมือของเราเอง?
  • @ ดังนั้นเองครูที่เคี่ยวเข็ญอยากจะให้นักเรียนก้าวหน้า อาจจะไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังวาดภาพนักเรียนที่ไร้สมรรถภาพ ตีตราว่าเด็กนั้นไม่ฉลาด ไม่รักความก้าวหน้าเท่าที่ควร ทั้งๆที่เด็กกำลังพยายามอย่างเต็มที่อยู่แล้ว?

ในความเป็นจริงก็คือ ถ้าเราไปมุ่งเน้นที่แต่สิ่งที่เราสื่อออก แต่ไม่ได้พยายามจะมีสติ ดูแลสิ่งที่เรา "รับรู้" ไว้เลย หากเราไม่ดูแลการรับรู้ของเรา เราก็จะไม่เคยคิดจะไปดูแลการรับรู้ของคนอื่นได้เลย ผลที่ตามมาก็คือ การด่วนตัดสิน (judgmental attitude) และการขาดทักษะในการห้อยแขวน (lack of suspension skill of suspension) หมกมุ่นครุ่นคิดแต่ว่าเรามองหมดทุกด้านแล้ว เรา "รู้จัก" คนเบื้องหน้าหน้าหมดทุกแง่ทุกมุม ไม่เคยสังหรณ์ใจเลยว่าทำไมคนเราถึงมีแต่มุมมืด ไม่มีอะไรดีในชีวิตเขาเลย

  • @ ทำไมคนไข้ถึงได้ดื้อดึง อกตัญญูเช่นนี้ คนอะไรนี่?
  • @ ทำไมหมอถึงได้ไม่เห็นอกเห็นใจคนไข้เลย หมออะไรนี่?
  • @ ทำไมเด็กถึงได้ไม่อยากเติบโต ไม่อยากฉลาด ไม่อยากมีปัญญาเลย นักเรียนอะไรนี่
    แล้วเราก็ตกหลุมการด่วนตัดสิน การไม่ห้อยแขวนของเราเอง เชื่อว่ามีคนไข้แบบนี้ มีหมอแบบนี้ มีนักเรียนแบบนี้อยู่เต็มไปหมด

นั่นคือ "สังคมทีขาด empathy" ขาดทักษะในการรับรู้ความรู้สึกและความคิดของผู้อื่น เอาอัตตาตนเองเป็นใหญ่ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเห็นจักรวาล

นี่อาจจะกำลังเป็น "ทิศทาง" ของสังคมเราในขณะนี้หรือไม่? ครั้งสุดท้ายที่เราห้อยแขวน ไม่ด่วนตัดสินคนอื่นอย่างมีสติจริงๆนั้นนานแล้วหรือยัง?

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๖ นาฬิกา ๙ นาที
วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 596170เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2015 16:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ตุลาคม 2015 16:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท