นโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class, More Knowledge) (1-30)



บทความทางวิชาการนี้ ผู้เขียนเขียนในฐานะนักวิชาการเพื่อเผยแพร่ในวารสารการศึกษาไทย ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๕๘) เห็นว่าเป็นประเด็นทางการศึกษาที่่่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้ จึงนำมาลงไว้ให้อ่านใน GotoKnow ค่ะ

.................................................................................................

"ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class, More Knowledge)"

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕ หมวด ๑ บททั่วไป ความมุ่งหมายและหลักการ ในมาตรา ๖ กล่าวไว้ว่า การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

ข้อความข้างต้นแสดงถึงวัตถุประสงค์อันแน่ชัดในการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในทุกมิติ และที่สำคัญคือสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างกลมกลืนมีความสุข แต่ความจริงที่ประจักษ์ชัดในระบบการศึกษาของชาติกลับไม่เป็นเช่นนั้น มีข้อเสนอแนะจากหลายเวทีการประชุมว่า ครูไม่ควรแต่สอนเนื้อหา/ข้อมูล (Content) แต่ควรสอนวิธีการเข้าสู่เนื้อหาสาระ (Methodology to access knowledge) ด้วยเหตุที่เนื้อหา/ข้อมูลในปัจจุบันมีมากมหาศาลและมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา หากครูยังคงสอนแต่เนื้อหาสาระ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากหนังสือ ตำราต่างๆ นักเรียนก็จะได้แต่ความรู้เก่าๆ ที่เพียงแค่กะพริบตาก็กลายเป็นข้อมูลที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว ประกอบกับตารางเรียนที่เต็มเหยียดเช้าจรดเย็น เลิกเรียนจากโรงเรียนต้องรีบไปต่อที่โรงเรียนกวดวิชาเพื่อ “ติวเข้ม”รายวิชาต่อจนค่ำมืด กินอาหารแบบด่วนๆ ขอไปที วันหยุดเสาร์อาทิตย์ต้องไปโรงเรียนกวดวิชาติวเข้มเรื่องการเดาและเก็งข้อสอบ (มีโรงเรียนกวดวิชาที่ติววิธีเดาและเก็งข้อสอบอยู่จริง) ไม่มีเวลากับการออกกำลังกาย สันทนาการ สุนทรียะต่างๆ เด็กนักเรียนของเรากลายเป็น “หุ่นยนตร์ความรู้” สอบเข้าเรียนต่อได้ คะแนนดี เรียนจบ แต่ “EQ ต่ำ” เป็นมนุษย์ “Gen Y” ที่มีโลกส่วนตัวสูง มีบุคลิกภาพที่แปลกแยกจากสังคม รู้ทุกเรื่องแต่คิดเองไม่เป็น ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ฯลฯ

หรือนี่คือ “โจทย์” ที่กระทรวงศึกษาธิการต้องตอบ?

“โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class, More Knowledge)”เป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ปรับลดชั่วโมงเรียนของบางวิชาให้น้อยลง เพื่อให้เด็กนักเรียนผ่อนคลายมากขึ้น ไม่เครียดกับการเรียน (ในห้องเรียน) จนเกินไป ได้มีเวลาว่างเรียนรู้ตามวัย ไม่ใช่ท่องจำตำราอย่างเดียว โดยอาจให้เลิกเรียนในชั้นประมาณ ๑๔.๐๐น.

ผู้เขียนคิดว่าโครงการนี้นับเป็น “ความพยายาม” ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการแก้ไขปัญหาการศึกษาที่นับวันจะสร้างปัญหาให้กับสังคมไทยมากขึ้นทุกที

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่ได้รับมอบหมายโดยตรง ได้จัดทำโครงการนำร่องโรงเรียนในสังกัด ขณะนี้มีโรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน ๒,๙๔๘ โรงเรียน (ข้อมูล ณ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๘) มีแนวทางดำเนินการใน ๔ ประเด็น ได้แก่ ๑) การปรับปรุงเนื้อหาของแต่ละวิชา ๒) การเตรียมความพร้อมของครูและสถานศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่องฯ ๓) รูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ และ ๔) การประเมินผล โดยยึดหลักไม่ส่งผลกระทบกับหลักสูตร เนื้อหา การเรียนการสอน ดัชนีที่ใช้ในการประเมินต่างๆ มีการจัดโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ในระดับประถมศึกษา ลดเวลาเรียนในชั้นเรียนลง มีการเตรียมความพร้อมของครูและสถานศึกษาที่จะเข้าร่วม รูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ เน้นกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาใน ๓ ด้าน Head หรือกิจกรรมสร้างเสริมสมรรถนะการเรียนรู้ ด้าน Heart หรือกิจกรรมสร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม และ ด้าน Hand หรือกิจกรรมสร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพและทักษะชีวิต มีการประเมินผลการดำเนินการเป็นระยะๆ และศึกษาแนวทางการดำเนินการจากโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จเพื่อขยายผลการดำเนินการไปยังโรงเรียนอื่นๆ

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายการศึกษา ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุบรรณ ให้พัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอนของครู และระบบการประเมินการสอนของครูให้เหมาะสมเพื่อนักเรียนจะมีการเรียนรู้ที่มีคุณภาพประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รูปธรรมหนึ่งที่สามารถตอบสนองนโยบายดังกล่าว คือ “ครูภูมิปัญญาไทย” ซึ่งเกิดจาก “นโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา” ที่ได้รับความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ นโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษา มีสาระสำคัญประกอบด้วย ๔ แผนงานหลัก ได้แก่ ๑) นำภูมิปัญญาเข้าสู่การศึกษาของชาติโดยเลือกสรรสาระและกระบวนการ เรียนรู้เข้าสู่ระบบการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ๒) ยกย่องและเชิดชูเกียรติ “ครูภูมิปัญญา” และสนับสนุนให้มีบทบาทเสริมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกระบบ รวมทั้งให้แบบอย่างและชี้นำด้านวิถีคิด วิถีการเรียนรู้และการดำเนินชีวิตที่ ได้ผ่านการทดสอบมามาก ๓) สนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านภูมิปัญญาเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาที่หลากหลายให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และ ๔) ประมวลคลังข้อมูลเกี่ยวกับสารัตถะองค์กรและเครือข่ายภูมิปัญญาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แผนงานหลักดังกล่าวได้มีการขับเคลื่อนและดำเนินการแล้ว โดยเฉพาะแผนงานที่ ๒ ยกย่องและเชิดชูเกียรติ“ครูภูมิปัญญา” และสนับสนุนให้มีบทบาทเสริมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาในการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกระบบ ที่ผ่านมาได้มีการสรรหาและยกย่อง “ครูภูมิปัญญาไทย” จำนวน ๗ รุ่น ๔๓๗ คนจากทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า “ครูภูมิปัญญาไทย” ซึ่งเป็นบุคคลที่พึ่งตนเองได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน และยังได้ถ่ายทอดขยายองค์ความรู้ที่ผ่านการลองผิดลองถูก ผ่านการเคี่ยวกรำชีวิต เรียนรู้ด้วยตนเอง ให้แก่ผู้อื่นและสังคมโดยรวม ตลอดจนขยายเครือข่ายออกไปในชื่อต่างๆ เช่น ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์เดินดิน ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย ฯลฯ โดยรวมแล้วถือว่านโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาไทยในการจัดการศึกษาได้ทำหน้าที่ขยายแนวคิด จุดประกาย และส่งต่อแนวคิดไปยังสังคมโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

ครูประยงค์ รณรงค์ ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๑ ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ซึ่งได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชน ในปี ๒๕๔๗ ได้กล่าวถึงนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของกระทรวงศึกษาธิการว่า

“...ก็เห็นด้วยกับนโยบายนี้...เพราะความรู้กับปัญญาเป็นคนละเรื่องกัน ปัญญาเกิดจากความคิด ต้องออกมาอยู่นอกห้องเรียน ให้เห็นโลกกว้างๆ ความคิดดีๆ จึงจะเกิดและได้กล่าวทิ้งท้ายไว้เกี่ยวกับการศึกษาว่า “ลดเวลาเรียนไม่เป็นไร ดีแล้ว แต่อย่าลดเวลาศึกษาหาความรู้ จะได้เกิดปัญญา” (สัมภาษณ์, ๖ ตค.๕๘)

โจทย์ใหญ่ขณะนี้คือจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน? ด้วยวิธีการไหน? เมื่อไร? คำตอบหนึ่งจากครูภูมิปัญญาไทย ครูประยงค์ รณรงค์ (สัมภาษณ์, ๖ ตค.๕๘) กล่าวไว้ว่า “ความรู้เกิดในห้องเรียน ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติ” นั่นคือความรู้นั้นสร้างในห้องเรียนโดยครู แต่ปัญญาที่เกิดจากการไตร่ตรองพิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งละเอียดรอบคอบต้องเกิดจากการลงมือปฏิบัติจริงของตัวนักเรียนเอง

แนวคิด ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” จึงน่าจะเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แห่งการศึกษาไทย ถ้ามีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ผู้เขียนลองประมวลดูได้แนวทางดังนี้

๑. จัดให้มีกิจกรรมช่วยเสริมความรู้และทักษะนักเรียน ตามความพร้อมและความชอบของเด็กแต่ละคน หลังเวลา ๑๔.๐๐ น. อาจจัดเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม ใช้ประโยชน์จากครูภูมิปัญญาไทย ปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้รู้ชาวบ้าน ซึ่งถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ของตนเองอยู่แล้วในแต่ละท้องถิ่น

๒. ทดลองดำเนินการ “โครงการนำร่อง” ไม่ทำแบบ “ปูพรม”ทำทั้งประเทศ โดยไม่มีการเตรียมความพร้อม ควรศึกษาข้อดีข้อเสียปัญหาอุปสรรคต่างๆ ก่อน ระวังไม่ให้เหมือนโครงการระดับยักษ์ที่ผ่านมาที่เสียทั้งเวลาและงบประมาณชาติ เมื่อได้โรงเรียนนำร่อง/โรงเรียนต้นแบบแล้ว จัดสรุปข้อดีข้อเสียและบทเรียนจาก “โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” จากนั้นจึงเผยแพร่และทำเพิ่มไปตามบริบทความพร้อมของแต่ละโรงเรียน

๓. ใช้ทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) สังคมผู้สูงอายุ คือ สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ ๑๐ ของประชากรทั้งประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ ๖๕ ปีมากกว่าร้อยละ ๗ ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. ๒๐๒๔-๒๐๒๕ ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว แน่นอนว่ารัฐต้องเตรียมพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐศาสตร์ สาธารณสุข จิตวิทยา โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ฯลฯ นอกจากนี้การช่วยเหลือชี้แนะ ถ่ายทอดองค์ความรู้ของตนให้เด็กรุ่นใหม่ จะช่วยให้ผู้สูงอายุไม่เหงาและโดดเดี่ยว ทั้งยังเป็นการส่งต่อและสืบทอดมรดกทางสังคมวัฒนธรรมได้อย่างแยบคายด้วย

๔. เลิกวิธีการ “ตัดตีนให้พอดีเกือก” แต่หันมา “ตัดเกือกให้พอดีตีน” ตามวาทะของครูสุรินทร์ กิจนิตย์ชีว์ ปราชญ์แห่งสาคลี พระนครศรีอยุธยา การจัดแคมเปญ โครงการต่างๆ ลงสู่โรงเรียนนั้น ควรมีการศึกษาและเตรียมความพร้อม คำนึงถึงความต้องการ/ความจำเป็นที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงเรียน บางโรงเรียนในบางพื้นที่อาจเลิกเรียนเวลา ๑๔.๐๐ น.ได้ แต่บางโรงเรียนบางพื้นที่อาจสะดวกที่เวลา ๑๖.๐๐ น. ก็เป็นได้ จึงควรยืดหยุ่นตามสถานการณ์ รวมทั้งการจัดกิจกรรมเสริมหลังเลิกเรียนก็ควรประเมินและเป็นไปตามบริบททางสังคมวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ด้วย จึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์ตามประโยคที่ว่า “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” อย่างแท้จริง

ล่าสุด รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังได้เสนอให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเสริมด้านต่างๆ เช่น ด้านพลังงาน ด้านโทรคมนาคม ด้านการเกษตร ด้านทรัพยากร ธรรมชาติ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการสื่อสาร ด้านการบิน เป็นต้น โดยให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ภาคเอกชนที่ร่วมจัดกิจกรรมกับโรงเรียนเพื่อจูงใจภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย

การจัดการศึกษาให้แก่เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานใดโดยเฉพาะ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์ นักวิชาการ ผู้บริหารระดับสูง เราได้เห็นตัวอย่างจากชาติที่มีความเจริญในทุกๆ ด้านอย่างมั่นคงยั่งยืน อาทิ เยอรมัน นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ ล้วนให้ความสำคัญและจริงจังกับเรื่อง “การศึกษา” ไม่เพียงแต่ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลลงไป แต่ต้องมีความจริงจังกับการสร้างสรรค์ระบบการจัดการที่ดี มีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และที่สำคัญคือต้องมีระบบธรรมาภิบาลในวงการศึกษา.


รายการอ้างอิง

คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. ๒๕๔๕. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และ
ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๔๕ (ฉบับที่ ๒).
กรุงเทพมหานคร

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.๒๕๕๑.คู่มือการสรรหาและคัดเลือกครูภูมิปัญญาไทย.กรุงเทพมหานคร :
บริษัท ๒๑ เซ็นจูรี่ จำกัด.

ประยงค์ รณรงค์. ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๑. สัมภาษณ์, ๖ ตุลาคม ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 596555เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 09:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2015 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

“โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class, More Knowledge) ดิฉันคิดว่าชื่อโครงการที่เป็นภาษาไทยก็ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ภาษาอังกฤษในวงเล็บไม่ทราบว่าต้องการให้มีความหมายตรงกับภาษาไทย (ซึ่งไม่ตรงแน่) หรือเป็นชื่อของอีกโครงการหนึ่งที่แตกต่าง การใส่วงเล็บภาษาอังกฤษไม่มีความจำเป็นใด ๆ หรือต้องการจะสื่อว่า โครงการลดเวลาเรียนนี้ไม่ได้คิดเองนะมาจากต่างประเทศ

ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นของคุณ GD ค่่ะ

ชื่อ “โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class, More Knowledge) เป็นชื่อโครงการที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งไว้ ซึ่งเห็นด้วย ดังที่ท่านให้ข้อสังเกตไว้ว่า ไม่ตรงกับภาษาไทย
ส่วนตัวคิดเองว่าจ้าของโครงการต้องการแสดง "นัย" แฝงไว้ เพื่อเลี่ยงคำว่า น้อย/มาก นะคะ อีกประการหนึ่งก็คงจะเลี่ยงไม่ให้เลียนแบบ "Teach less Learn more" ไปหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจค่ะ

ขอบคุณค่ะ


* ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อปฏิรูปการศึกษาไปสู่นักเรียนและเยาวชน ให้ถึงพร้อมด้วยความรู้ การรู้จักคิดวิเคราะห์ การมีส่วนร่วมที่ก่อให้เกิดพหุปัญญา นำพาความเป็นพลเมืองดีมีความสามารถของประเทศต่อไป...

* ฝากบันทึกสองเรื่องไว้ที่นี่ด้วยค่ะ..กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา(๑)และ(๒)

1.https://www.gotoknow.org/posts/578854

2.https://www.gotoknow.org/posts/578898

ชอบใจบทความครับ

บางอย่างไม่ต้องสั่งให้คุณครูคิดเองบ้างก็ได้ครับ

ให้ครูอยู่กับชั้นเรียนมากๆเลิกระบบการประเมิน การอบรมที่แย่ๆ

คงดีกว่านี้ครับ

ความรู้เกิดในห้องเรียน ปัญญาเกิดจากการปฏิบัติ

ผมสะดุด ความคิดครูประยงค์ รณรงค์ ครับ

และเคยเดินรอยความคิดของท่านจาก บันทึกนี้

https://www.gotoknow.org/posts/310579

สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทำให้เราได้เรียนรู้ ตามเหตุและปัจจัยนั้น ๆ เสมอนะครับ

เมื่อได้เรียนรู้แล้ว...ก็มานั่งยิ้มกับสิ่งที่ได้ทำ ในวันวาน

..

ขอบคุณบันทึกคุณภาพนี้นะครับ

:) :)

ถ้าเป็นวงการธรรมะ .... น่าจะเข้าที พี่Green

ลดเวลาเรียน (จากตำรา หนังสือ) เพิ่มเวลารู้ (ให้รู้ในปัจจุบัน เพิ่มขึ้ม จากผู้รู้ ในใจ) ........

สวัสดีค่ะพี่ใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ

ขอบพระคุณที่พี่กรุณาแวะมาทักทายและยังแนะนำสิ่งดีๆ ด้วย

จะรีบตามไปอ่านค่ะ :)

สวัสดีค่ะอ.ขจิต ฝอยทอง

เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ ให้ครูอยู่กับเด็กมากๆ ลดการประเมินแย่ๆ ความจริง...น่าจะมีการทบทวนการทำงานของหน่วยงาน "ประเมินแห่งชาติ" ประดามีในปัจจุบัน

ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดให้มี หน่วยงาน "รับรองมาตรฐาน" ไม่ใช่ "ประเมิน" สถานศึกษา หากใช้ภาษาอังกฤษ ก็คือ ให้ Accreditation ไม่ใช่ Evaluation

หน่วยงานฯที่รับผิดชอบหน้าที่นี้ ต้องรับรองมาตรฐานที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนตามบริบทของสถานศึกษานั้น แล้วติดตามประเมินเพื่อรับรอง... ไม่ใช่ทำอย่างปัจจุบันที่เอา ไม้บรรทัด ของตัวเองตั้งเองคิดเองไปวัดคนอื่นแบบที่ทำอยู่ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ แสงแห่งความดี...

ยินดีที่สุดค่ะที่แวะมาอ่านและทักทายกันเสมอ

อ่านข้อความแล้วก็อมยิ้มมมมม....


"...สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ทำให้เราได้เรียนรู้ ตามเหตุและปัจจัยนั้น ๆ เสมอนะครับ

เมื่อได้เรียนรู้แล้ว...ก็มานั่งยิ้มกับสิ่งที่ได้ทำ ในวันวาน..."


เป็นข้อความที่มีอารมณ์อิ่มเอมและมีความสุขจริงๆ ด้วยค่ะ ขออนุญาต "นั่งยิ้ม" ด้วยคนนะคะ :)

ใช่แล้วค่ะ ท่าน วิชญธรรม

ลดเวลาหมกมุ่นกับโลกธรรม... ก็จะเหลือเวลา "รู้เนื้อรู้ตัว" อยู่กับปัจจุบัน อันเป็นขณะอันประเสริฐที่สุด :)

เอาการปฏิบัติมาฝาก

ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

ดีกว่ากิจกรรมที่บางหน่วยงานวางไว้ครับ

https://www.gotoknow.org/posts/597207

https://www.gotoknow.org/posts/597283

นับเป็นบทความทางวิชาการ ที่อ่านเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นครับ จากมุมมองของครูโรงเรียนเล็กๆ ในระดับรากหญ้า(บ้านนอก) ที่ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับชื่อภาษาไทย..ลดทำไม ..ขณะที่ยังไม่ได้เพิ่ม..เด็กก็อ่านหนังสือไม่ออกอยู่แล้ว(ฮา) ทำไมไม่ปล่อยให้โรงเรียนเข้าพัฒนาไปตามศักยภาพและบริบทที่แตกต่างกัน ทำไมต้องทำเหมือนกันหมด..โรงเรียนใหญ่..เขาจะสู่ความเป็นเลิศก็ช่างเขา..โรงเรียนเล็กเขามี DLTV อยู่แล้ว หลังบ่ายสอง..ครูโรงเรียนเล็ก ๑ คนสอน ๒ ห้อง ไม่ต้องบอก..เขาก็ต้องพักและซ่อมเสริมเติมเต็ม..ชุมชนเล็กๆ..ก็หาครูภูมิปีญญายากเหลือเกิน ครูเองก็ไม่สันทัดทุกเรื่อง ถ้าเพิ่มเวลารู้ ผิดลู่ผิดเหลี่ยม สอบ NT และ oNET เจ๊งอีก...เพราะถ้าเรียนน้อย ข้อสอบ(วิเคราะห์)จะยิ่งยาก ครูุกังวลตรงนี้ ทำไมไม่ประกาศยกเลิก ONET แล้วให้เขตประเมินซะ ผมเชื่อว่า ปีนี้นำร่อง ปีหน้าปูพรมแน่นอน...คิดเร็วทำเร็ว ภายใน ๒ ปี คิดหลายเรื่องไม่สำเร็จสักเรื่อง เช่น อาเซียน ประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง ค่านิยม การอ่าน ป.๑ BBL..วันนี้สั่งให้ลด (ฮา) ครับ..ผมรับทราบนโยบาย แต่ไม่เคยให้ความสำคัญเลย เพราะผมมีโมเดลบริหารของผมเอง ที่รู้ว่าแค่ไหน ถึงจะเพียงพอ..โดยเฉพาะ ใช้การอ่านการเขียนเป็นเครื่องมือ..และจัดการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความสุขของนักเรียน ความพอใจของลูกค้า(ผู้ปกครอง) มีช่วงเวลาพัก สำหรับนันทนาการ เพลงพื้นบ้าน มวยไทย ดนตรี และเกษตรพอเพียง เป็นห่วงแต่โรงเรียนเล็กๆ ที่ขาดบุคลากร..และชอบทำงานตามสั่ง..ไม่ได้วิเคราะห์นโยบาย จะกลายเป็นการศึกษาแบบวางยา..เด็กมีปัญหา จะไปกองรวมอยู่ที่มัธยม..เชื่อว่า การศึกษาที่แท้จริง จะยืดหยุ่นและเรียนรู้ในตัวเองอยู่แล้ว ...คือ ..ไม่ต้องสั่งให้ลดหรอก ในเวลาปกติ ครูก็ไม่มีจะสอน ครูไม่เพียงพอ ครูเล่นเฟส เด็กก้มหน้า กันทั้งโรงเรียนอยู่แล้ว...ขอบคุณนะครับและขออภัยที่พูดตรงๆ เพราะผมอยู่กับปัญหา มานานนับ ๑๐ ปี..ไม่มีความเชื่อมั่นในนโยบายเลยแม้แต่น้อย..

สวัสดีค่ะท่าน ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

ขอบพระคุณสำหรับข้อมูลจริงในโรงเรียนค่ะ

"...คือ ..ไม่ต้องสั่งให้ลดหรอก ในเวลาปกติ ครูก็ไม่มีจะสอน ครูไม่เพียงพอ ครูเล่นเฟส เด็กก้มหน้า กันทั้งโรงเรียนอยู่แล้ว..."

หากมีโอกาสจะได้นำเรียน ท่านดร.กมล รอดคล้าย เจ้าของโครงการ ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท