เรื่องเล่าจากหนุ่ม 3 ปริญญา มข. ผู้ส่งต่อ ปณิธานและอุดมการณ์มอดินแดง


แรงบันดาลใจสู่รั้ว มข.

ย้อนหลังไปมื่อ 18 ปีที่ผ่านมา จากนักเรียนมัธยมที่ไม่เคยคิดหรือวางแผนว่าเมื่อเรียนจบแล้วเราจะไปเรียนต่อที่ไหนดี จะทำอะไรต่อดี มีวันนึงที่คุณครูได้พามาทัศนศึกษาที่จังหวัดชัยภูมิแล้วได้ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น สิ่งที่เห็นตอนนั้นคือศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ตอนนั้นคิดว่าที่นี่คือที่ไหน เรียกว่าอะไร ดูยิ่งใหญ่ หลังจากนั้นไม่นานที่โรงเรียนก็มีพี่ๆนักศึกษาจาก มข. มาจัดค่ายแนะแนวที่โรงเรียน จึงทำให้รู้ว่าสถานที่ที่เราเห็นตอนนั้นคือส่วนหนึ่งของ มข.และมีความสำคัญกับบัณฑิต มข.ทุกคน ตั้งแต่เข้าเรียนจนกระทั้งสำเร็จการศึกษา จึงเกิดแรงมุ่งมั่นของตนเองว่าเราจะต้องเข้าเรียนที่นี่ให้ได้ และแล้วก็เหมือนความหวังนั้นจะเป็นจริงเมื่อผลการสอบโควตา มข. ประกาศ มีชื่อเราติด คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาการมัธยมศึกษา (การสอนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์) เอกคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการผลิตครูในสาขาขาดแคลนที่ร่วมกับระหว่างทบวงมหาวิทยาลัยกับกรมสามัญศึกษาในขณะนั้น พูดง่ายๆคือได้ทุนเรียนฟรี

ในยุคนั้นเวลามาสอบสัมถาษณ์หรือรายงานตัว จะต้องไปพักอยู่กับรุ่นพี่ในหอพักของ มข. รุ่นพี่ดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ทั้งติวทั้งเลี้ยงดูไม่เสียเงินค่าข้าวค่าน้ำเลย เราจะรู้กันดีว่าในสมัยนั้นห้องหนึ่งพักกัน 3 คน ถ้ามีน้องมาพักด้วยพี่ก็ต้องเสียสละเตียงให้น้องนอน สิ่งที่ได้รับรู้ตอนนั้นคือเหมือนเราเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัว ที่มีพี่คอยแนะนำ สนับสนุน ช่วยเหลือ ประคับประคองให้เราสามารถที่จะยืนที่จะฝ่าฟันชีวิตในครอบครัวแห่งนี้ และเมื่อเป็นรุ่นพี่ เราก็ทำตามแบบที่พี่สอน นั่นคือความเสียสละ พร้อมทั้งถ่ายทอดและส่งต่อจิตวิญญาณของการเสียสละในแบบชาวเลือดสีอิฐเสมอ

มข.กับการบ่มเพาะปัญญาเพื่อการสร้างประโยชน์สู่สังคม กับชีวิต 3 ปริญญามอดินแดง

ผมเรียนที่ มข. ตั้งแต่ ปริญญาตรีตรี จนกระทั่งจบปริญญาเอก ชีวิต 3 ปริญญา ที่ได้รับการปลูกปัญญาจากบูรพาจารย์ที่นี่ ถ้ากรีดเลือดออกมานี่สงสัยเป็นสีอิฐ DNA มข. ในช่วงชีวิตนักศึกษานอกจากเรียนหนังสือแล้ว เราต้องมีชมรมหรือชุมนุมสังกัด เข้ามาปี 1 ผมก็สำรวจหาชมรมเป็นลำดับแรกเลย โดยมีรุ่นพี่ชักชวนไปออกค่ายกับกลุ่มนักศึกษาที่เรียกว่า ศนน. หรือ ชมรม ปนน. ในปัจจุบัน ณ ขณะนั้นไม่รู้เลยว่าออกค่ายมันคืออะไร ต้องทำอย่างไร เข้าใจว่าคงเหมือนค่ายพักแรม แต่พอได้ร่วมกิจกรรมตั้งแต่เตรียมค่าย ไปเลือกพื้นที่ ประชุมวางแผน เตรียมหาเงินทุน เขียนโครงการ แบ่งหน้าที่กันทำงาน และออกค่ายจัดกิจกรรม จนเมื่อเสร็จก็มีการสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้น บรรยากาศและความรู้สึกตอนนั้นมันทำให้เรารู้ถึงคุณค่าและบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของการเป็นนักศึกษาพลังสะอาดที่ช่วยสร้างสรรค์สังคมอีสาน สุขใจและรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าทุกครั้งที่ได้ออกค่าย เห็นชุมชนและน้องๆนักเรียนมีความสุขได้รับการพัฒนากระตุ้นให้เขาเห็นความหวัง มีความฝันเหมือนกับเราตอนเป็นนักเรียนมัธยม ที่ มข. สมัยนั้นไม่มีคะแนนกิจกรรมแต่พวกเราก็ทำกันจนเป็นวัฒนธรรม ถ้าคิดคะแนนสงสัยจะได้เป็น 1,000 คะแนน เพราะทำมาเกือบทุกอย่างทั้งเป็นพี่เลี้ยงน้องใหม่ ประธานชมรม กรรมการสโมสรนักศึกษา ประธานสภานักศึกษา ฯลฯ

ช่วงเรียน ปริญญาโท และ เอก ได้รับโอกาสที่ดีจากอาจารย์และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้รับทุนพัฒนาอาจารย์ (UDC) ในสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตที่สำคัญที่ได้รับการบ่มเพาะแนวคิด วิถีการทำงาน ผ่านการวิจัยและเอาไปใช้แก้ปัญหาเพื่อพัฒนาสังคมในวงกว้าง ท่านอาจารย์จะสอนเสมอว่าต้องอุทิศตนเองส่วนรวมเพื่อประเทศชาติของเรา เหนื่อยหน่อยแต่ต้องอดทน รองศาสตราจารย์ ดร.สุมาลี ชัยเจริญ จะพูดเสมอๆ อุดมการณ์การเรียนรู้ในระดับบัณฑิตศึกษาที่ได้รับคือการนำหลักวิชาการลงสู่พื้นที่จริง การค้นหาปัญหาและหาแนวทางแก้ไข ได้ฝังตัวในพื้นที่ ได้เห็นบริบทที่เหลื่อมล้ำ และใช้องค์ความรู้ในสาขาวิชาไปแก้ปัญหาและพัฒนา ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ตลอดระยะเวลา 6 ปี ทำงานตั้งแต่เช้าจนตีหนึ่งตีสอง อาจารย์ก็อยู่ด้วยกับพวกเราตลอด ค่านิยมที่ดีงามได้ถูกถ่ายทอดมาสู่ตัวเราเองอย่างไม่รู้ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไรและส่งผลต่อวิถีการทำงานในปัจจุบัน

เจตนารมย์อันดีงาม....... พิธีสืบทอดปณิธาน อุดมการณ์มอดินแดง .......แก่บัณฑิตป้ายแดง มข.

พิธีสืบทอดปณิธาน อุดมการณ์มอดินแดงได้เริ่มจัดขึ้นโดยเจตนารมย์ที่ต้องการสร้างความตระหนักและกระตุ้นเตือนใจให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ระลึกถึงปรัชญาของมหาวิทยาลัยคือ วิทยา จริยาและปัญญา รวมทั้งบุญคุณของบูรพาจารย์ผู้วางรากฐานของมหาวิทยาลัย และที่สำคัญคือการเป็นมหาวิทยาลัยที่พัฒนาภูมิภาคอีสานให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ความความเจริญ ดั่งกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานในพิธีเปิดวันเปิดมหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2510 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีในขณะนั้น จึงได้ริเริ่มให้จัดพิธีนี้ขึ้นในช่วงของการพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งเดิมทีมีการจัดกิจกรรมเพื่อบัณฑิตเรียกว่า “พิธีบัณฑิตมุทิตาสถาบัน” แต่คราวนี้เมื่อได้รับถึงเจตนารมย์จากท่านอาจารย์สุมนต์ในการปรับรูปแบบเพื่อส่งต่ออุดมการณ์ การออกแบบพิธีตลอดจนการผสานเชื่อมอุดมการณ์เพื่อส่งต่อให้บัณฑิตทุกๆรุ่นผ่านการร้อยเรียงเป็นพิธี สืบทอดปณิธาน อุดมการณ์มอดินแดงได้เกิดขึ้น โดยกลุ่มศิษย์เก่าที่เป็นคณะทำงานซึ่งเรียกขานตนเองว่า “คณะละคอนสุดสะแนน” ผู้เขียนบทและวางองก์ต่างๆของพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ สง่างาม การแสดงแสง สี เสียงและบทเพลงอันประทับใจร้อยเรื่องราวให้ตราตรึงติดอยู่ในจิตใจของพี่น้องชาวมอดินแดงทุกคนคือ อ.ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ออกแบบเวทีและกำกับเวที โดย อ.กฤชวรรธน์ โล่ห์วัชรินทร์ และ อ.ศิริศักดิ์ เหล่าจันทร์ขาม วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ผู้อำนวยการและกำกับการแสดง คือ อ.ดร.อนุชา โสมาบุตร คณะศึกษาศาสตร์ ตลอดจนพี่ๆน้องๆทุกคนที่เสียสละช่วยเหลือกัน ผศ.ดร.จารุณี ซามาตย์ก็ช่วยฝึกนักศึกษาประสานเสียง อ.ผจญ พีบุ้ง คณะศิลปกรรมทำหน้าที่ฝึกวงประสานเสียงให้บรรเลงบทเพลงอันไพเราะ อ.บัญชา พระพล และ อ.ภาสกร เตือประโคน เป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้กองกำลังทั้งหมดมีพลังเพราะดูแลเรื่องปากท้องพวกเรา ถึงแม้ว่าพิธีนี้จะใช้เวลาเพียง 45 นาทีเพื่อส่งต่ออุดมการณ์แก่บัณฑิตใหม่ในห้วงพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แต่ทีมงานทุกคนทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันต้องเตรียมงาน ซักซ้อมบทต่างๆล่วงหน้าหลายเดือน และยิ่งใกล้วัน เราซ้อมและเตรียมการจนถึงตีสองตีสาม เพื่อสร้างความประทับใจให้บัณฑิตและผู้เข้าร่วมพิธีได้รับเจตนารมย์ ปณิธาน อุดมการณ์มอดินแดงอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สำหรับตัวเองแล้วจะตื้นตันใจทุกครั้งที่ได้มีส่วนร่วมในพิธีนี้ เห็นบัณฑิตทุกคนได้รับความประทับใจในสถาบันแห่งนี้และพร้อมที่จะก้าวออกไปสร้างสรรค์สังคม ภูมิภาคของเราให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ขจัดความเหลื่อมล้ำ และย้อนกลับมามอบความภาคภูมิใจ ตลอดจนกำลังทรัพย์ กำลังกาย และกำลังสติปัญญา กลับคือสู่สถาบันแห่งนี้ มอดินแดงบ้านเรา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อิศรา ก้านจักร

ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น รุ่นที่ 35 (ศึกษาศาสตร์)


หมายเหตุ : บทความเพื่อบรรจุลงในวารสารศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น "มอดินแดงสัมพันธ์"

ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 เดือนกันยายน-ตุลาคม 2558

คอลัมน์ ศิษย์เก่าเล่าให้ฟัง


หมายเลขบันทึก: 596861เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2015 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ตุลาคม 2015 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท