ห่างหายไปนานกับประสบการณ์ประชุมวิชาการนานาชาติ


หลังจากที่เข้ามาทำงานบริหาร ก็แทบไม่มีเวลาได้ทำงานวิจัยครับ ใช้เวลาอยู่พอสมควรเพื่อปรับตัวและเจียดเวลาเขียนงานและส่งงานเพื่อนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการ คราวนี้เป็นหนแรกที่ได้ไปร่วมงานประชุมวิชาการที่ประเทศญี่ปุ่นครับ เหตุผลที่ไปมีอยู่สองสามประการคือ ประการแรกคือผมมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับงานประชุมวิชาการภายในประเทศ ครั้งหนึ่งมีคนฟังเท่าจำนวนคนพูด คือมี 3 คน ผลัดกันฟังผลัดกันพูด (ฮา!) มีกองเชียร์ที่เป็นเพื่อนอีกคนที่พบกันผ่าน gotoknow เท่านั้น อีกครั้งหนึ่งกำลังจะส่งงานเข้าร่วมแต่เห็นในกำหนดการว่าวันสุดท้ายของการจ่ายค่าลงทะเบียนเข้าร่วมอยู่ก่อนวันประกาศผลงานที่ได้เข้าร่วมงานประชุม (ซึ่งปกติเขาต้องแจ้งผลก่อนวันจ่ายค่าลงทะเบียน) ผมสงสัยเลยสอบถามไปยังผู้จัดว่าสมมติว่าส่งไปแล้วได้รับการปฏิเสธจะคืนค่าลงทะเบียนให้ไหม เขาก็ตอบอ้อมแอ้มว่าไม่คืน ผมก็เลยไม่ส่งเพราะเดาเอาว่าเขาอาจจะรับทุกงานหรือไม่ก็อยากมีกำไรจนเกินงาม เหตุผลอีกข้อที่ผมเลือกไปญี่ปุ่นก็มันไม่ไกลเกินไป ถ้าไปทางยุโรปหรืออเมริกาก็คงเหนื่อยเดินทางกว่านี้เยอะ ทั้งยังอยู่ในช่วงระหว่างเทอม หายไปนานก็คงไม่ดีเท่าไร

สำหรับการเลือกงานประชุมวิชาการในญี่ปุ่น ผมก็เข้าไปดูตามเว็บไซต์ที่จัดทำรายชื่องานประชุมวิชาการ เช่น http://www.conferencealerts.com/ ที่เราสามารถเลือกประเทศและเลือกสาขาวิชาการได้ ในญี่ปุ่นนั้นมีหลายหน่วยงานที่เปิดให้ส่งผลงานนำเสนอในสาขาที่ผมถนัด หลักการง่ายๆ ในการเลือกงานประชุมวิชาการที่ผมใช้คือ (1) ต้องจัดโดยสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งร่วมมือกัน (2) ค่าลงทะเบียนไม่แพงเว่อร์ ไม่เกิน $600 หรือประมาณ 20,000 บาท (3) เว็บไซต์ดูสวยงาม ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าไม่สำคัญนะครับ แต่ผมว่ามันบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพได้

เมื่อได้รายชื่องานประชุมวิชาการแล้ว เราก็ส่งงานเข้าระบบเขาและรอฟังข่าวดี (หรือข่าวร้าย) ได้เลยครับ สำหรับหน่วยงานที่ผมส่งมีชื่อว่า iafor.org เป็นหน่วยงานที่มีสำนักงานอยู่ที่เมืองโกเบ เพื่อเข้าร่วมงานประชุมที่มีชื่อว่า The Asian Conference on Society, Education and Technology หรือ ACSET (http://iafor.org/conferences/acset2015/) ทำเว็บไซต์สวยงาม มีเฟซบุ๊กที่อัพเดทอยู่ตลอดเวลา (https://www.facebook.com/IAFORJAPAN) ดูน่าเชื่อถือดี

หลังจากประกาศผลแล้วก็จัดการขอทุนเดินทางจากมหาวิทยาลัย เตรียมตัวจองเครื่องบินและที่พัก

ทั้งหมดนี้ก็เป็นขั้นตอนคร่าวๆ ก่อนเข้าร่วมประชุมนะครับ ที่จริงอยากมาเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ภายในงานประชุมมากกว่า

งาน ACSET นี้จัดที่ Art Center of Kobe ซึ่งผมก็งงๆ ว่ามันเป็นตึกอะไร คือมีทั้งการแสดงงานศิลปะ มีห้องจัดการประชุมที่ดูคล้ายๆ ห้องเรียน และมีกิจกรรมอื่นๆ มากมายในวันที่มีงานประชุม ที่คนเดินเข้าออกเรื่อยๆ (ที่จริง ตึกหลายแห่งของญี่ปุ่นก็คล้ายกัน คือดูภายนอกแล้วไม่รู้ว่าด้านในมีอะไร ไม่ได้มีป้ายไฟหรือประกาศโฆษณามากมายเหมือนบ้านเรา)

งาน ACSET ครั้งนี้จัดร่วมกับงานประชุมวิชาการอีกหนึ่งงานคือ Asian Conference on Education (ACE2015) ในภาพรวมนั้นเป็นงานประชุมวิชาการระดับกลาง คือมีจำนวนรายชื่อผู้ร่วมงาน 486 คน เข้าร่วมจริงๆ น่าจะประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมดนะครับ เพราะปกติถ้ามีผู้แต่งร่วม 2 หรือ 3 เขาก็ไม่ได้มากันทุกคน

ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมที่ไม่มากแต่มาจากหลากหลายประเทศทั้งในเอเชียและฝั่งตะวันตก บรรยากาศในงานประชุมก็เลยค่อนข้างเป็นกันเอง สามารถคุยทำความรู้จักกันได้ง่าย เนื่องจากผมห่างหายจากงานประชุมวิชาการนานาชาติไปนานเลยทำให้งานครั้งนี้เหมือนเป็นการกลับมาตั้งต้นใหม่ รับประสบการณ์ใหม่ๆ และมีหลายอย่างที่อยากตั้งข้อสังเกต

ประการแรกคือ อาจารย์และนักวิชาการส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะฝั่งเอเชีย) ยังนำเสนองานวิชาการด้วยการ "อ่าน" จากโปรเจคเตอร์ ซึ่งบอกตรงๆ ว่าทุกครั้งที่ผู้บรรยายหันหน้าเข้าหากระดานโปรเจคเตอร์และเริ่มอ่าน ผมอยากวิ่งหนีออกจากห้องเสียเหลือเกิน เพราะอาชีพหลักของพวกเราคือการสอนซึ่งหมายความว่าต้องรู้เนื้อหาดีและสามารถเล่าออกมาเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจได้ ถ้าการมาบรรยายงานวิจัยยังอ่านแบบนี้ ผมนึกไม่ว่าเวลาสอนในห้องจริงๆ เขาจะปฏิบัติอย่างไรกับผู้เรียน และผู้เรียนจะมีประสบการณ์อย่างไรกับผู้สอน (เฮ้อ!)

ต้องยอมรับว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแรกของเรานะครับ ดังนั้นก็ต้องฝึกฝนด้วยวิธีได้ก็แล้วแต่ความชอบความถนัดของตน อีกอย่างคือคนฟังส่วนใหญ่เขาไม่มาจับผิดเรา เขามาฟังเนื้อหาของเราต่างหาก เพราะขนาดอ่านกันอย่างนี้ฝรั่งเขาก็รับได้และให้ความสนใจดี

ประการที่สอง เป็นข้อสังเกตที่ยืนยันทฤษฎีของผมเอง ซึ่งเป็นการต่อยอดจากกรอบแนวคิด Technological Pedagogical Content Knowledge (https://en.wikipedia.org/wiki/Technological_Pedago... ) ที่ว่าผู้สอนควรมีทักษะและความรู้รอบด้านคือ เทคโนโลยี (technology) การสอน (pedagogy) และสาระวิชา (content) สำหรับตัวผมเองอยากขยายคำอธิบายกรอบแนวคิดนี้ว่า ทักษะและความรู้ทั้งสามประการนี้ ไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากันและไม่ได้สัมพันธ์กันอย่างเท่าเทียม พูดให้ชัดเจนคือ ทักษะและความรู้เรื่องเทคโนโลยีสำคัญน้อยกว่าด้านการสอนและสาระวิชามากครับ ถ้าจะให้ไล่เรียงกันผมมองว่าทักษะการสอนนั้นสำคัญเทียบเท่ากับสาระวิชาเลยก็ว่าได้ ถ้ารู้สาระวิชาแต่สอนไม่เป็นก็จบครับ ซึ่งทักษะการสอนนั้นหลายๆ ครั้งเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ผูกติดกับสาระวิชา (เช่น สอนประวัติศาสตร์และสอนคณิตศาสตร์ใช้เทคนิควิธีต่างกันเป็นต้น) ทีนี้ถ้าผู้สอนมีทักษะสองอย่างนี้แล้ว ก็น่าจะบอกได้ว่าเขาหรือเธอเป็นคนที่ตกหลุมรักกับวิชาชีพนี้ จะตกไปลึกเท่าไหร่ก็แล้วแต่คนนะครับ แต่ที่แน่ๆ ถ้ารักชอบแล้วก็ต้องอยากที่จะขวนขวายหาวิธีการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจได้ดี ซึ่งเป็นที่มาของการแสวงหาทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยี เพราะคนประเภทนี้เมื่อมีประสบการณ์การสอนมากขึ้นก็จะเริ่มมองหาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเข้าถึงผู้เรียนได้มากขึ้น ช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่านที่ผมรู้จักขวนขวายเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยผู้เรียน (ในทางตรงกันข้าม อาจารย์ที่ชอบเทคโนโลยีไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเขาหรือเธอจะขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับวิชาที่สอนหรือมองหาเทคนิควิธีการสอนใหม่ๆ ที่เข้าถึงเด็กได้มากขึ้น)

ในงาน ACSET ครั้งนี้ก็เช่นกันครับ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยจากแคนนาดา (Kerri Alderson 16403) ที่สอนนักเรียนพยาบาล (เธอเป็นพยาบาลวิชาชีพด้วย) มาเล่าให้ฟังว่าในวิชาการเขียนเชิงวิชาการของเธอมีปัญหาว่าเธอต้องตรวจคอยคะแนนงานเขียนแบบเดิมๆ ใช้ปากกาแดงตรวจจนเละแต่เด็กไม่ค่อยดู feedback ที่เธอให้ ซึ่งเธอให้ข้อสรุปว่าเด็กส่วนใหญ่รีบๆ ทำงานส่งส่วนมากไม่อยากอ่านคอมเมนท์จากผู้สอน เพราะรู้ว่างานที่ส่งไปไม่ได้เลิศหรูอะไร ยิ่งอ่านคอมเมนท์ก็ยิ่งเสียกำลังใจ เธอเลยไปบ่นให้กับเจ้าหน้าที่ไอที ซึ่งได้ให้คำแนะนำว่าลองใช้วิธีอื่นในการคอมเมนท์เด็กดีไหม เช่นอัดวิดีโอ เธอก็เลยลองใช้ซอฟท์แวร์ screencast ที่ชื่อ Jing (https://www.techsmith.com/jing.html) โดยการเปิดหน้างานของเด็กในจอคอมพิวเตอร์และพูดไปเรื่อยๆ ว่างานตรงไหนควรปรับปรุงอย่างไร วิธีนี้ลดงานของเธอได้มาก คือไม่ต้องตรวจละเอียด เพราะเธอไม่อยากจับผิดเล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้ว การคอมเมนท์ของเธอเป็นแบบภาพรวม และให้กำลังใจเด็ก ซึ่งเธอก็ยอมรับว่างานที่คอมเมนท์ได้ยากคืองานที่แย่ เพราะต้องพยายามหาข้อดีมาพูดเพื่อให้กำลังใจผู้เรียน หลังจากใช้เทคนิคนี้มาสองปีเธอก็เริ่มคล่องขึ้น จากที่เคยต้องต้องอัดวิดีโอหลายเทคตอนนี้เธอใช้วิธีหยุด (pause) และพักดื่มน้ำหรือรวมรวมความคิดก่อนจะพูดต่อ นอกจากนี้ข้อจำกัดของ Jing ก็คือสามารถอัดได้แค่คลิปละ 5 นาที ซึ่งทำให้เธอต้องจำกัดเวลาคอมเมนท์ไว้แค่นั้น ก็เป็นข้อดีที่ทำให้เธอต้องพูดอย่างกระชับและชัดเจน เธอยังเล่าว่าผลตอบรับจากผู้เรียนนั้นดีมาก เด็กหลายคนบ่นว่าทำไมเธอเป็นอาจารย์คนเดียวที่ตรวจงานด้วยวิดีโอ

ประการที่สามที่อยากตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงาน ACSET ครั้งนี้ (ซึ่งเป็นข้อสรุปจากงานด้านการศึกษาในจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่นในบริบทที่ต่างกัน) คือผมรู้สึกว่าภาพรวมด้านการศึกษาในเอเชียยังไม่เปลี่ยนแปลง ที่ไม่เปลี่ยนแปลงในที่นี้หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนสามกลุ่มคือ ผู้สอน ผู้ปกครอง และนักเรียน

กลุ่มแรกคือครู ซึ่งยังมองว่าตัวเองเป็นใหญ่ เป็นศูนย์กลางของห้อง (Hsiao-Chi Juan 19786, Lana Yiu-Lan Khong 16382)ไม่พร้อมที่จะปรับตัวตอบรับความเปลี่ยนแปลงของเด็กยุคใหม่ที่เติบโตมาในโลกที่แตกต่างจากพวกเขา ไม่พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปกครอง

สำหรับกลุ่มที่สองคือผู้ปกครอง ก็ยังคงมีหลายคนที่มองโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว (อาจเพราะมีประสบการณ์ไม่ดีกับโรงเรียนสมัยเด็ก) และมอบหน้าที่ดูแล พัฒนาบุตรหลานให้เป็นของโรงเรียน (Hsiao-Chi Juan 19786, Lana Yiu-Lan Khong 16382)

เรื่องสุดท้ายคือนักเรียน ในขณะที่ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากในโลกยุคปัจจุบัน นักเรียนในหลายประเทศยังมีปัญหาด้านภาษาอยู่เหมือนเดิม โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีการเปิดสอนวิชาด้วยภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นมาก เขาเรียกวิชาเหล่านี้ว่า English Medium Instruction (ตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับ EMI ที่นี่ครับ http://japanemiproject.weebly.com/) แต่ก็ยังมีปัญหาว่าโปรแกรมเหล่านี้ไม่มีมาตรฐานเทียบเคียง และแต่ละสถาบันก็จัดทำกันแบบตัวใครตัวมัน อาจารย์เองก็ไม่ได้มีมาตรฐานอะไรควบคุม อาจารย์ต่างชาติบางท่านวางแผนจะสอนเหมือนที่ประเทศตัวเอง คือให้เด็กอ่านบทความวิชาการยากๆ และมาคุยกันในห้อง ซึ่งนอกจากระดับภาษาที่ยากแล้ว การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นยังเป็นเรื่องที่ใหม่มากในชั้นเรียนของประเทศทางฝั่งตะวันออก (Melanie 20090) ซึ่งทำแบบนี้ก็เท่ากับฆ่าเด็กทั้งเป็น เด็กเอเชียแม้จะมีความพยายามที่ดี แต่ก็ติดปัญหาภาษา ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับเด็กนานาชาติได้

มหาวิทยาลัยหลายแห่งตื่นตัวและมองเห็นว่าการรับนักศึกษาภายในประเทศอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดของหน่วยงาน และกำลังพยายามหาทางเปิดตลาดให้กว้างขึ้น กระแสของ EMI ในญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ชัดเจน ผมสงสัยว่ามหาวิทยาลัยในบ้านเราพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้มากน้อยแค่ไหน

สรุปภาพรวมของงานนี้ ผมพอใจกับเสียงตอบรับของงานตัวเองที่นำเสนอ และได้ฟังงานหลายงานที่น่าสนใจตามที่เล่าให้ฟังในบันทึกนี้ และ iafor.org ก็เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่อยู่ใน list ผมถ้าจะเลือกไปประชุมวิชาการคราวหน้า

อ้างอิง

รายชื่อของนักวิชาการในบันทึกนี้สามารถค้นหารายละเอียดได้จากโปรแกรมของ ACSET ที่นี่ครับ (http://iafor.org/acset2015-programme/)

ปล. ณ วันนี้ ผมทราบดีว่าหน่วยงานนี้ไม่ได้ถูกใส่ไว้ใน Beall’s list <a href="http://scholarlyoa.com/publishers/">http://scholarlyoa.com/publishers/</a>  (เว็บที่คอยรายงานสำนักพิมพ์ วารสาร และหน่วยงานที่น่าสงสัยในคุณภาพ) แต่ก็มีคนพูดถึง iafor.org อยู่เยอะในหน้าร้องทุกข์ (<a href="http://scholarlyoa.com/other-pages/appeals/">http://scholarlyoa.com/other-pages/appeals/</a>) แต่ผมเชื่อใจในรายชื่อหน่วยงานและมหาวิทยาลัยที่เป็นแนวร่วมของ iafor.org ครับ
หมายเลขบันทึก: 597001เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2015 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2015 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท