เรารักภาษาไทย เราควรใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง


ได้ยินคนอ่านคำว่า ประวัติศาสตร์ ว่า ประ-หวัด-สาด จนแปลกใจว่า ทำไมเดี๋ยวนี้เขาไม่อ่านคำนี้ว่า ประ-หวัด-ติ-สาด กันแล้วหรือ ปรารภกับน้องฟุง หนุ่มน้อยข้างตัวขึ้นมาว่า คำนี้ควรจะอ่านว่าอะไร น่าประทับใจมากในคำตอบ น้องฟุง เด็กไทยที่เกิดเมืองไทย แต่เริ่มพูดและเรียนด้วยภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก พูดภาษาไทยแบบธรรมชาติกับคนในบ้านและคนไทยไม่กี่คน ชีวิตประจำวันคือภาษาอังกฤษมาตลอดหกปี กลับมาเรียนภาษาไทยจริงจังเมื่ออายุแปดขวบ ตอบว่า คำนี้เป็นคำสมาส ต้องอ่านว่า ประ-หวัด-ติ-สาด

ประทับใจในความรักภาษาไทยของลูกมานาน เพราะตัวเองก็เป็นคนที่รักภาษาไทย จริงๆน่าจะเรียกตัวเองได้ว่า รักภาษา เพราะภาษาอังกฤษก็รัก ภาษาญี่ปุ่นก็รัก เมื่อเรารักอะไรเราก็จะอยากให้เกิดสิ่งดีๆกับสิ่งที่เรารัก อยู่เมืองนอกเรียนภาษาอังกฤษใครๆก็คิดว่าได้กำไร ลูกๆทั้งสามหนุ่มคงจะเก่งภาษาอังกฤษ สำหรับแม่อย่างเราเฉยๆมาก เพราะคิดว่าเก่งหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเพ่งเล็งอะไรขอให้ใช้ประโยชน์ได้ตามที่ควรจะเป็นก็พอ แต่สิ่งที่คิดว่าลูกจะเสียไปแน่ๆกับการไปอยู่ต่างประเทศคือ การเรียนรู้ภาษาไทย เมื่อกลับมาเมืองไทยเลยเพ่งเล็งที่จะให้พวกเขารู้ภาษาไทยให้ดีมากกว่า เลือกที่จะให้เรียนโรงเรียนที่สอนตามปกติ และแสดงออกทุกครั้งที่ทำได้ว่าแม่รักภาษาไทย เก่งภาษาไทย

ครั้งแรกที่ได้ประทับใจกับน้องฟุง หนุ่มน้อยที่ภาษาพูดแรกไม่ใช่ภาษาไทยก็คือ การที่เขาคิดเองตั้งแต่อยู่เมืองนอก บอกพี่ชายทั้งสองว่าอยู่ที่บ้านห้ามพูดภาษาอังกฤษ ต้องพูดไทยกัน เพื่อให้เขาได้พูดไทย แม้จะสอนตัวหนังสือไทยให้บ้างแต่ก็ยากเกินไปสำหรับลูก เขาไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้เมื่ออยู่รวมกันเป็นประโยค แล้วเมื่อกลับมาเมืองไทย ควรจะเรียนป.4 ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ป. 1 เรียนรวบยอดสองปีสามชั้นจนเรียนทันเพื่อนได้ สมัยนั้นประทับใจกับความรู้ของลูกเมื่อเล่นทายคำกัน แล้วคำใบ้ของน้องฟุงคือ คำนี้เป็นคำสามานยนาม เราทุกคนที่รอฟังอยู่ถามเหมือนกันเลยว่า คำสามานยนามคืออะไร

มาวันนี้ประทับใจที่ลูกบอกว่า คำนี้เป็นคำสมาส เพราะฉะนั้นต้องอ่านแบบนี้คือ ประ-หวัด-ติ-สาด ลูกรู้จักภาษาไทยในแบบที่ไม่ใช่แค่พูดได้เท่านั้น แม่ชื่นใจจริงๆ

แต่เมื่อเปิดดูในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ก็พบว่า อ่านได้ทั้งสองแบบ โดยไม่มีคำอธิบายใดๆ ตั้งใจไว้ว่า ถ้าต้องอ่านหรือพูดคำนี้เมื่อใดก็จะขออ่านแบบคำสมาสเสมอไป...

เก็บมาฝากเพื่อให้ทุกท่านพิจารณาดูนะคะ

หมายเลขบันทึก: 597715เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2015 18:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2015 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เห็นด้วยกับอาจารย์เป็นอย่างยิ่งค่ะ ดิฉันรู้สึกขัดหูเมื่อได้ยิน และขัดตาเมื่อได้อ่านมาก เช่น พูดว่า "หมาลัย" "วิยาศาสตร์" "วิยาลัย" ภาษาเขียนก็เลิกใช้ สระ ใ และ ไ และใช้ -ั ย แทน และยังมีคำอื่น ๆ อีกมาก

  • สัปดาห์ที่ผ่านมา มีจัดสัมมนา วิทยากรสายภาษาไทย บอกว่า ภาษาต้องเปลี่ยน ใครที่ยังสอนตามแนวพระยาอุปกิตฯ ถือว่าล้าหลังมาก...ทำให้ผมที่ไม่ได้มาสายภาษาไทย ได้ข้อมูลใหม่ ว่า พื้นฐานภาษาแบบนั้น ไม่มีประโยชน์แล้ว
  • ผมไม่ได้มาสายภาษา แต่เคยรักภาษาไทย ทุกวันนี้เห็นว่า ระบบการศึกษา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับที่มาที่ไป/รากฐานภาษา ดูเหมือน สื่อสารได้ก็เป็นพอ ผู้นำเมืองผม ออกเสียง "มหาวิทยาลัย" ว่า มะ-หา-วิด-ทะ-ไล บ้าง หมา-วิด-ทะ-ไล บ้าง และคำอื่นๆ ที่พูดไม่ได้ จึงต้องใช้ภาษาอังกฤษแทน เมื่อรอบตัวไม่ได้ใส่ใจกับฐานภาษาไทย ก็เลยเฉยๆไปด้วย (ไม่อยากขยับภูเขาคนเดียว) เด็ก ป.ตรีทุกวันนี้ แม้แต่ภาษาของตนเอง ก็ยังเขียนแบบไม่มีที่มาของภาษา แต่เขียนด้วยการเลียนเสียง
  • แม้ว่าผมจะไม่ได้มาทางภาษาไทย แต่ก็พยายามเปิดพจนานุกรม (ยกเว้นเร่งรีบที่จะเขียน และไม่ได้ตรวจทานจึงบกพร่องเยอะ) ถ้าสังเกตให้ดี แม้พจนานุกรมเอง ก็เบนเข็มอวยสังคม
  • อยากรักภาษาไทยเหมือนกันครับ แต่คงได้เท่าที่ได้ และคงช่วยได้เท่าที่มี ในชั้นเรียน ผมเสริมเรื่องภาษาไทยอยู่บ่อยมาก
  • เมื่อก่อนผมก็อ่าน ประ-หวัด-ติ-สาด แต่เดี๋ยวนี้ ในบางบริบทของเนื้อความจึงจะอ่านออกเสียงแบบนี้ จะไปปรับอีกทีนะครับ
  • ขอบคุณเนื้อหาที่ทำให้ฉุกคิดครับ

I like this "...คำตอบ น้องฟุง เด็กไทยที่เกิดเมืองไทย แต่เริ่มพูดและเรียนด้วยภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก พูดภาษาไทยแบบธรรมชาติกับคนในบ้านและคนไทยไม่กี่คน ชีวิตประจำวันคือภาษาอังกฤษมาตลอดหกปี กลับมาเรียนภาษาไทยจริงจังเมื่ออายุแปดขวบ ตอบว่า คำนี้เป็นคำสมาส ต้องอ่านว่า ประ-หวัด-ติ-สาด..." This is how we should learn Thai (languages) - with reasons "why".

Learning Thai needs not be just "reciting" or memorizing "words" and usage but also learning the 'roots' and the 'decays' (or derivations). Perhaps Thai language teachers can help here.

คุณ กุหลาบ มัทนา คะ เข้าใจอย่างยิ่งเลยค่ะ เราเลยเหมือนคนโบราณนะคะ แต่ก็ต้องทำให้เป็นตัวอย่างเอาไว้ บอกใครให้ทำไม่ได้เราก็ต้องทำเองนี่แหละนะคะ

คุณครู คุณมะเดื่อ เป็นคนที่พี่โอ๋รู้สึกขอบคุณอยู่เสมอเลยนะคะ คนสำคัญที่จะทำให้เราได้เด็กๆที่รักภาษาไทยก็คือคุณครูแบบคุณครูมะเดื่อนี่แหละค่ะ

คุณ dejavu monmon ขอบคุณเช่นกันค่ะ ที่รับสารที่พี่สื่อได้อย่างตรงใจมาก บางทีการที่เราจะชวนให้ใครทำอะไรนี่ต้องใจเย็นๆอย่างมาก และไม่คาดหวังนะคะ ได้แต่คิดว่า สิ่งที่ดีจริงๆก็คงจะอยู่ไปได้แน่นอน

ตอบคุณ sr ว่า ประทับใจคุณครูที่สอนภาษาไทยให้น้องฟุงมากๆค่ะ ท่านถือเป็นคนที่สำคัญที่สุดในการวางรากฐานภาษาให้ลูก เพราะขนาดเราสอนอยู่เรื่อยๆก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับลูก แต่พอไปเรียนที่โรงเรียนแบบเร่งรัด แต่คุณครูรู้ว่าน้องไม่มีพื้นฐานเลย แต่เป็นเด็กรักการเรียนรู้ ทำให้เขาสนุกที่จะเรียน เขารู้ด้วยความอยากรู้ ทำให้เขาเรียนแบบรู้รากของคำ รู้ที่มาที่ไปของการออกเสียง เขาเป็นตัวแทนโรงเรียนด้วยวิธีสอบคัดเลือกไปแข่งเพชรยอดมงกุฎภาษาไทยด้วยนะคะ รู้สึกจะตอนประถม คุณแม่อย่างเราปลื้มมากๆเลยค่ะ

ตามมาอ่านความเห็นของอาจารย์เพิ่มเติม เยี่ยมมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท