BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ที่มาชื่อถนน "นางงาม"


ที่มาชื่อถนน "นางงาม"

วัดยางทอง ตั้งอยู่บ้านเลขที่๑ ถนนนางงาม เมืองสงขลา และในฐานะเป็นสมภารวัดยางทอง จึงได้ยินได้ฟังอยู่เสมอถึงที่มาของชื่อถนนนางงาม แต่ประเด็นความเห็นยังขัดแย้งกันเป็น ๒ มติ ซึ่งสมภารก็ไม่รู้จะเชื่อใคร เพราะเกิดไม่ทัน อีกทั้งยังไม่เคยเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้อย่างแน่นอน ก็มีแต่เรื่องเล่าเท่านั้น...

วันนี้ ก็มีไลน์แชร์เรื่องนี้มาอีก และก็มีผู้แย้งอีกเช่นกัน จึงจะนำมาเล่าบันทึกไว้เพื่อเป็นหลักฐานสำหรับผู้สนใจสืบค้นต่อไป...

มติแรกบอกว่า ที่ได้ชื่อว่าถนน "นางงาม" เพราะนางงามสงขลาคนแรกอยู่ที่ถนนนี้ ดังรายละเอียดที่แชร์มาพร้อมรูปถ่ายยืนยันดังนี้...

"นางสาวสงขลามีการประกวดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2478 เนื่องในงานปีใหม่และงานฉลองรัฐธรรมนูญ มีนางสาวสงขลาคนแรกคือ คุณนงเยาว์ โพธิสาร (นามสกุลเดิม "บุญยะศิวะ") เป็นที่มาของชื่อถนนนางงามตามที่อยู่ของนางสาวสงขลาคนแรก"

..................

ส่วนมติที่สองเป็นความเห็นของคุณโยมหน้าวัด ซึ่งบ้านเกิดก็อยู่ถนนนางงามหน้าวัดยางทองนี้แหละ บอกว่าได้รับการบอกเล่าจากคุณพ่อว่าที่ได้ชื่อถนน "นางงาม" เพราะในอดีตมีเด็กสาวบ่อยางคนหนึ่งได้รับการอุปถัมภ์ไปอยู่บางกอกเป็นสาวชาววัง ภายหลังกลับมาอยู่สงขลา และได้นำเอาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบไทยตามประสาสาวชาววังมาใช้ เป็นที่กล่าวขานเล่าลือกันในยุคนั้น...


อดีตสาวชาววังคนนี้ชื่อว่า คุณยายแดง เป็นพี่สาวหรือน้องสาวของพระธรรมโมลี (เกตุ ติสฺสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดตานีนรสโมสร (ตระกูลของพระธรรมโมลีและคุณยายแดง จัดว่าเป็นคหบดีเก่าแก่ของเมืองสงขลา) บ้านเดิมอยู่ถนนนครในซึ่งถัดไปจากถนนนางงามปัจจุบัน...

ฟังว่า สมัยสาวๆ นั้น คุณยายแดงสวยมาก เมื่อประกอบกับการแต่งกายตามวัน แบบอย่างสาวชาววังในสมัยนั้น เช่น วันอาทิตย์ก็จะแต่งชุดแดงทั้งชุด สวมทับทิมเป็นเครื่องประดับ ถือกระเป๋าก็สีแดง... วันพุธก็แต่งชุดเขียวทั้งชุด สวมมรกตเป็นเครื่องประดับ ถือกระเป๋าสีเขียว... เป็นต้น ก็ทำให้น่าดูน่าชมยิ่งขึ้น ซึ่งในสมัยนั้น เมืองสงขลาเกือบจะไม่มีใครเคยเห็นการแต่งกายทำนองนี้ก็ว่าได้ จึงทำให้ใครๆ ก็รอเวลาที่คุณยายแดงจะออกจากบ้านมาเดินซื้อของที่ถนน "รอดูนางงาม" พวกที่ไม่เคยเห็น เกรงจะตกข่าวก็ต้อง "ไปดูนางงาม" ดังนั้น ถนนนี้จึงได้ชื่อว่าถนนนางงาม เพราะมีคุณยายแดงเป็นสัญลักษณฺ์...

คุณยายแดงนั้นอายุยืนมากประมาณ ๑๐๐ ปี ตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดยางทอง ได้ถึงแก่กรรมก่อนพระธรรมโมลี ประมาณ ๑-๒ ปี (พระธรรมโมลีก่อนมรณภาพ อายุ ๑๐๑ ปี)... แม้ว่าคุณยายแดงจะไม่มีลูก แต่หลานๆ ญาติๆ ของท่านในตัวเมืองสงขลายังมีอยู่ ฉะนั้นผู้สนใจในประเด็นนี้อาจสอบถามจากเครือญาติและคนเก่าแก่ดังเดิมของสงขลาได้...

และมติที่สาม เป็นความเห็นของผู้เขียนเอง (มโนเอาเอง) นางงามสงขลาครั้งแรกปี ๒๔๗๘ ซึ่งตอนนั้น คุณยายแดง น่าจะอายุสามสิบกว่าๆ (พระธรรมโมลี มรณภาพ พ.ศ.๒๕๔๑ ส่วนคุณยายแดงถึงแก่กรรม ประมาณ พ.ศ. ๒๕๓๘-๓๙) ชื่อถนนว่า "นางงาม" อาจมีผู้เรียกกันบ้างแล้วก่อนแต่นั้น โดยมีคุณยายแดงเป็นสัญลักษณ์... และเมื่อถึงปี ๒๔๗๘ ถนนนี้มีผู้ได้ตำแหน่งนางงาม จึงได้เปลี่ยนชื่อถนนมาเป็น "นางงาม" อย่างเป็นทางการ...

ก็ฝากผู้สนใจเรื่องนี้ ค้นหาข้อเท็จจริงกันต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 598088เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2015 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2015 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ต้นตระกูลเป็นคนสงขลาเหมือนกันค่ะพระอาจารย์ ป้ากับแม่บอกว่าที่ชื่อถนนนางงามเพราะมติแรกค่ะ

ปล. อยากพาน้องต้นไม้ไปกราบพระอาจารย์อีกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท