Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ถ้าบัตรเลข ๐ หาย หรือหมดอายุ จะต้องทำอย่างไร ?


ตอบคุณกาฬเรื่องการทำบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนใหม่เพราะบัตรหายหรือหมดอายุ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10153828134333834

---------------------------

ความเป็นมาของงานเขียน

---------------------------

เป็นคำถามที่มาถึง อ.แหวว เมื่อหลายเดือนก่อน ในช่วงนั้น อาจจะยุ่ง ก็เลยไม่มีเวลาตอบ ในช่วงปีใหม่ ซึ่งไม่ค่อยมีภารกิจมาก ก็เลยสำรวจอีเมลล์ค้าง อ่านแล้ว ก็เลยตัดสินใจที่จะตอบเพื่อประโยชน์ของคนถามในสถานการณ์เดียวกัน

-------

คำถาม

--------

เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๑๕ น. โดยผ่าน [email protected] คุณกาฬ ตั้งคำถามต่อ อ.แหวว โดยใช้หัวข้ออีเมลล์ว่า “เรื่องการทำบัตรผู้ไม่มีสถานทางทะเบียน” และมีใจความสั้นๆ ว่า “การบัตรผู้ไม่มัสถานะทางทะเบียนไปทำที่ไหนครับ พอดีบัตรคุณแม่เคยแล้ว แต่หายและหมดอายุ เราต้องทำยังไงครับและต้องไปทำช่วงไหนครับ ทางราชการได้กำหนดวันให้ทำไหมครับ”

---------

คำตอบ

--------

แม้บัตรกระดาษหาย แต่สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไม่ได้หายไปตามด้วย ผู้เป็นเจ้าของสิทธิไปร้องขอทำบัตรใหม่ได้ค่ะ

สิทธิในบัตรประจำตัวตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน จะสิ้นสุดลง ก็ต่อเมื่อ (๑) บุคคลดังกล่าวตายลง หรือ (๒) บุคคลดังกล่าวมิได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทยอีกต่อไป เพราะบัตรประเภทนี้เป็นบัตรที่ออกแก่บุคคลที่ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย หรือ (๓) บุคคลดังกล่าวได้รับการพัฒนาสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนไทยที่ดีมากไปกว่าสถานะเดิม

ดังนั้น เมื่อผู้ถือบัตรเลข ๐ ยังไม่ตาย ยังตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย และยังไม่ได้มาซึ่งสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนที่ดีกว่า นายทะเบียนกลาง กล่าวคือ อธิบดีกรมการปกครอง ก็จะต้องใช้อำนาจตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อให้การรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายแก่มนุษย์ที่ยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติ ซึ่งไม่อาจมีรัฐเจ้าของสัญชาติเข้ามารับรองสถานะบุคคล และเมื่อมนุษย์ดังกล่าวตั้งภูมิลำเนาตามข้อเท็จจริงอยู่ในประเทศไทย จึงมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนอยู่ในประเทศไทย กรมการปกครองไทยจึงต้องเข้าทำหน้าที่ของมนุษย์ผู้ไร้สัญชาติหรือเสมือนไร้สัญชาติ เพราะรัฐไทยในสถานะนี้ ย่อมต้องทำหน้าที่รัฐเจ้าของภูมิลำเนา เพื่อรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายแก่มนุษย์ดังกล่าว และป้องกันมิให้มนุษย์ดังกล่าวประสบความไร้รัฐอย่างสิ้นเชิง ตลอดจนเข้าส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของมนุษย์ดังกล่าว

นับแต่ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๑/ค.ศ.๑๙๔๘ หน้าที่ในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของรัฐไทยเป็นไปตามข้อ ๖ แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และนับแต่ พ.ศ.๒๕๔๐/ค.ศ.๑๙๙๗ หน้าที่ดังกล่าวก็ได้รับการยืนยันโดยข้อ ๑๖ แห่ง กติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/ทางพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ อีกด้วย ดังนั้น การปรากฏตัวของคนไร้รัฐโดยสิ้นเชิงในประเทศไทยจึงเป็นความรับผิดชอบที่ปฏิเสธไม่ได้ของกรมการปกครองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย

หมายเลขบันทึก: 598954เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2015 23:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2015 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท