Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บุตรของแรงงานต่างด้าวใน ท.ร.๓๘/๑ ซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับประเทศไทย !!


กรณีศึกษานายวีระ ชุบทอง : การกำหนดจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงระหว่างรัฐไทยและมนุษย์ที่เกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จากบุพการีซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่อพยพมาจากต่างประเทศ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ปรับปรุงเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๙

---------------

ข้อเท็จจริง[1]

---------------

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ อาจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำนายวีระ ไม่มีนามสกุล นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ของคณะดังกล่าวมาขอคำปรึกษากฎหมายจากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนายวีระอธิบายปัญหาของตนเองดังต่อไปนี้

“พ่อผมเป็นคนไทยใหญ่ครับ ส่วนแม่ผมเป็นคนมอญ ทั้งคู่เกิดในประเทศพม่า โดยพ่อเกิดในรัฐฉาน แม่เองก็เกิดในรัฐมอญ ทั้งคู่เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ ตัวผมเองเกิดในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยเกิดที่บ้านกับหมอตำแย ไม่ได้ไปโรงพยาบาล และไม่ได้แจ้งเกิดด้วย มีเพียงฉีดวัคซีนที่อนามัยหลังจากเกิดเท่านั้น

พ่อกับแม่เข้ามาประเทศไทยแบบไม่ถาวรตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ หรืออาจก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ตั้งแต่เข้ามาพ่อก็อาศัยอยู่ในตัวอำเภอแม่สอดเลย ไม่ได้เดินทางออกนอกเขต หลายปีต่อมาก็ย้ายมาอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอดถึงทุกวันนี้และตอนนี้พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ถือบัตรอะไรที่ทางราชการออกให้ครับ เพราะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ เคยทำ ทร.๓๘/๑ ทั้งคู่ คิดว่าทำแล้วสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ จากที่ทำ ทร.๓๘/๑ แล้ว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวนะครับ เพราะพ่อเป็นช่างทองรับทำอิสระไม่มีนายจ้าง

ปัจจุบันนี้ ทั้งพ่อและแม่ถือบัตรที่ทางหมู่บ้านออกให้เพื่อแสดงว่าเป็นผู้อาศัยในหมู่บ้าน และที่ไม่สามารถทำบัตรสิบปีได้ ผู้ใหญ่บ้านเคยบอกว่าใครที่เคยทำ ทร.๓๘/๑ จะไม่สามารถทำบัตรดังกล่าวได้ เพราะไม่เข้าข่ายที่จะทำ เลยไม่ได้ทำบัตรสิบปี (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน)

ส่วนตัวผมเอง ทุกวันนี้ ถือบัตรสิบปี (บัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน) ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ก่อนหน้านี้ ก็ไม่เคยได้ทำอะไรครับ ปัญหาของผมคือผมไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไร เนื่องจากพ่อและแม่ ก่อนหน้านี้ไม่เคยติดต่อทางราชการ อาศัยอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆในหมู่บ้านเท่านั้น แต่คนในหมู่บ้านก็รู้จักกันดีนะครับ”

โดยการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดยอาจารย์ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำคลินิกโรงพยาบาลแม่ระมาด และนักศึกษาปริญญาเอก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรับผิดชอบงานให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวชุบทอง พบว่า

(๑) นายวีระได้รับการบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ก.) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙

(๒) นายวีระถือบัตรประจำตัวที่ชื่อว่า “บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ที่ออกโดยอธิบดีกรมการปกครองซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ โดยบัตรนี้ระบุว่า นายวีระมีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๐ และบัตรดังกล่าวไม่ได้ระบุนามสกุลของนายวีระ และระบุว่า นายวีระเกิดเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ และอาศัยอยู่ ณ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก บัตรนี้มีผลตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงวันที่ ๓๐ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๖๑

(๓) สำนักทะเบียนและวัดผล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกบัตรประจำตัวนักศึกษาธรรมศาสตร์ให้แก่นายวีระ แต่กลับระบุว่า นายวีระมีนามสกุลว่า “ไทยใหญ่” ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๔ จนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘

(๔) นายวีระใช้นามสกุลว่า “ชุบทอง” ในการแนะนำตัวต่อสาธารณชน ซึ่งนามสกุลดังกล่าวไม่ปรากฏทั้งในบัตรที่ออกโดยอธิบดีกรมการปกครอง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(๕) นางสาวอารีย์ ชุบทอง ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมบิดาและมารดาเดียวกับนายวีระ กลับได้รับการรับรองชื่อสกุล “ชุปทอง” ในการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๙

ด้วยเหตุดังกล่าว อาจารย์นคร ซึ่งทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา แสดงความกังวลใจว่า ปัญหาความไร้สัญชาติของนายวีระจะเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพวิศวกรในอนาคต และปัญหาความไร้นามสกุลในบัตรที่ออกตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรจะสร้างปมด้อยในชีวิตมากขึ้นแก่นายวีระ อาจารย์นครจึงขอคำปรึกษาทางกฎหมาย และขอความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เป็นไปได้จากโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร จึงได้เข้าหารือเพื่อทบทวนข้อกฎหมายและข้อนโยบายเกี่ยวกับการรับรองสิทธิในชื่อสกุลให้แก่นายวีระ ไม่มีนามสกุล ในทะเบียนราษฎรกับ (๑) ท่านดลเดช พัฒนรัฐ รองอธิบดีกรมการปกครองฝ่ายบริหารงานส่วนภูมิภาค และ (๒) ท่านอาจารย์วีนัส สีสุข ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร ณ ห้องประชุมกรมการปกครอง อันนำไปสู่การรับรองสิทธิในชื่อสกุล “ชุบทอง” ให้แก่นายวีระ ทั้งนี้ เป็นไปตามหนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท.๐๓๐๙.๑/๑๑๓๖ ลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ถึงนายวีระ ไม่มีนามสกุล หรือนายวีระ ชุบทอง ซึ่งการบันทึกชื่อสกุล “ชุบทอง” ให้แก่นายวีระ ตลอดจนคนในครอบครัวทั้งหมด กล่าวคือ บิดา มารดา และน้องสาว ได้ทำในวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ อันทำให้บุคคลทั้งสี่จึงมีเอกสารแสดงตนที่ออกโดยรัฐไทยว่า มีชื่อสกุลว่า “ชุบทอง” เพื่อการแสดงตน

ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการสิทธิในสัญชาติไทยของนายวีระนั้น นายธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่สอดได้ตรวจสอบเอกสารการศึกษาทั้งหมดของนายวีระแล้ว พบว่า เอกสารดังกล่าวระบุวันเกิดของนายวีระไม่ตรงกันเลย จึงได้เรียกพยานบุคคลที่รู้เห็นการเกิดของนายวีระมาสอบปากคำใหม่ อันทำให้นายจำรัส กันทะวงศ์ นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลท่าสายลวด ได้ทำหนังสือรับรองการเกิดลงวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อรับรองว่า นายวีระ ชุบทองเกิดในวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔ ณ บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จากนายหน่ายโอ่ง และนางวาวา ชุบทอง

เมื่อฟังว่า นายวีระ ชุบทองเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ อาจารย์ศิวนุช สร้อยทองจึงได้จัดการให้นายวีระยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘ นายธนยศ ปานขาว นายอำเภอแม่สอดได้ลงนามอนุมัติลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน (ท.ร๑๔) ให้แก่นายวีระ ชุบทอง ด้วยว่า นายอำเภอดังกล่าวพิจารณาแล้วว่า เขามีข้อเท็จจริงครบตามที่กำหนดในมาตรา ๒๓ ข้างต้น ทั้งนี้ ดังปรากฏตามหนังสืออำเภอแม่สอดที่ ตก ๐๓๑๘.๒/๕๗๐๒ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๘

แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน กระบวนการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรยังไม่แล้วเสร็จ เทศบาลตำบลท่าสายลวดจึงยังไม่อาจเพิ่มชื่อของนายวีระในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในสถานะคนสัญชาติไทย อันทำให้เทศบาลดังกล่าวก็ยังไม่อาจออกบัตรประชาชนให้แก่นายวีระ

ในปัจจุบัน นายวีระเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว และยังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสาขาเดียวกันในคณะเดียวกัน โดยทุนการศึกษาจากคณะดังกล่าว

--------

คำถาม[2]

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า นายวีระ ชุบทองมีข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศใดบ้าง ? เพราะเหตุใด ?

--------------

แนวคำตอบ

--------------

ประเด็นตามคำถามเป็นเรื่องของการกำหนดจุดเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐอธิปไตยและเอกชน ซึ่งรัฐอธิปไตยย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวกับเอกชนที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐนั้น จุดเกาะเกี่ยวที่ปรากฏในสัมพันธภาพระหว่างรัฐและเอกชนนั้นมีอยู่ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) จุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิด และ (๒) จุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิด

ในขณะที่เกิด เอกชนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใน ๓ ลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ (๑) รัฐเจ้าของถิ่นที่เกิด (๒) รัฐเจ้าของสัญชาติของบิดา และ (๓) รัฐเจ้าของสัญชาติของมารดา

ต่อมา ภายหลังการเกิด เอกชนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐใน ๒ สถานะ กล่าวคือ (๑) รัฐเจ้าของสัญชาติของคู่สมรส และ (๒) รัฐซึ่งมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับเอกชนโดยข้อเท็จจริง กล่าวคือ (๑) มีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐเป็นระยะเวลานานพอที่จะมีความกลมกลืนกับสังคมของรัฐนั้นได้ (๒) มีครอบครัวเป็นบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐนั้นได้ (๓) ทำคุณประโยชน์ให้กับรัฐนั้น และ (๔) อาศัยอยู่ในดินแดนที่รัฐได้มาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตแห่งรัฐ

จึงสรุปได้ว่า นายวีระมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับ ๒ รัฐ กล่าวคือ

๑. นายวีระมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด

ในประการแรก นายวีระมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด ทั้งนี้ เพราะเขาเกิดในประเทศไทย จะเห็นว่า หลักกฎหมายระหว่างประเทศ จุดเกาะเกี่ยวดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดและเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับรัฐไทย อันทำให้นายวีระอาจ “มี” สิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน

แต่อย่างไรก็ตาม โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอำนาจอธิปไตยนั้น รัฐก็อาจจะบัญญัติกฎหมายภายในเพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติโดยหลักดินแดนของมนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับตนอย่างมีเงื่อนไข หรือกำหนดวิธีการอย่างไรก็ได้ ทั้งนี้ เว้นแต่รัฐนั้นจะผูกพันตนตามพันธกรณีระหว่างประเทศเป็นอย่างอื่น

เมื่อกลับมาพิจารณาถึงสัมพันธภาพระหว่างรัฐไทยและนายวีระ เราพบว่า รัฐไทยรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนโดยผลของ “มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ เก่า[3]” ตั้งแต่เขาเกิดจนถึงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันที่ถูกแทนที่โดย มาตรา ๒๓[4] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

จะสังเกตว่า ในช่วงเวลาตั้งแต่เขาเกิดจนถึงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ข้อเท็จจริงที่ว่า “เขาเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕” นั้น ก่อตั้งสิทธิใน “สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดแบบมีเงื่อนไข” เท่านั้น แต่ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ข้อเท็จจริงอันเดิมนี้กลับก่อตั้ง “สัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย”

โดยสรุป จึงวิเคราะห์สัมพันธภาพจุดเกาะเกี่ยวระหว่างนายวีระและรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นถิ่นที่เกิดของนายวีระออกได้เป็น ๒ ลักษณะตามช่วงเวลาแห่งชีวิต ดังนี้

ลักษณะแรกในช่วงเวลาแรกของชีวิต ก็คือ ตั้งแต่เกิดจนถึงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งนายวีระมีอายุประมาณ ๑๗ ปี ข้อเท็จจริงที่ว่า “เขาเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕” นั้น ไม่มีผลทำให้เขามีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย เขาจะมีความสามารถที่จะใช้สิทธิในสัญชาติไทยก็ต่อเมื่อมี (๑) มติคณะรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์การรับรองสิทธิในสัญชาติไทยเสียก่อน และ (๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้มีการรับรองสิทธินั้นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ เก่า

ลักษณะที่สองในช่วงเวลาที่สองของชีวิต ก็คือ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ จนปัจจุบัน ซึ่งนายวีระมีอายุประมาณ ๒๔ ปี ข้อเท็จจริงที่ว่า “เขาเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕” นั้น มีผลทำให้เขามีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย เขาจึงมีความสามารถที่จะใช้สิทธิในสัญชาติไทยนี้ได้โดยพลัน กล่าวคือ โดยไม่เงื่อนไขที่จะต้องรอมติคณะรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์การรับรองสิทธิในสัญชาติไทยเสียก่อน และการอนุญาตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้มีการรับรองสิทธินั้นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ ทั้งเก่าและใหม่ไม่อาจมีผลจำกัดสิทธิในสัญชาติไทยนี้ของนายวีระอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม เขาเพิ่งแสดงเจตนาใช้สิทธิในสัญชาติไทยในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๘ และการรับรองสิทธิเพิ่งเริ่มต้นทำในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๘ โดยนายอำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นกระบวนการตามมาตรา ๒๓ วรรคสอง[5] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ และเราคาดว่า กระบวนการรับรองสิทธิของเขาตาม (๑) มาตรา ๓๖[6] แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ และ (๒) มาตรา ๕ ววรคแรก[7] แห่ง พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ศ.๒๕๒๖ จะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ หรือเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๙ อันหมายความว่า การขจัดปัญหาความไร้สัญชาติของนายวีระจะแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ ความเป็นคนมีรัฐมีสัญชาติจะเกิดแก่นายวีระอย่างสมบูรณ์

๒. นายวีระมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดอย่างแท้จริงกับประเทศเมียนมาโดยหลักบุคคล

ในประการที่สอง นายวีระมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศเมียนมาโดยหลักบุคคล ประเภทหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดา ซึ่งเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิด ระหว่างรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุพการีของนายวีระ และประเทศเมียนมา

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน (Territorial Sovereignty) ประเทศเมียนมาก็มีอำนาจที่จะรับรองสิทธิในสัญชาติเมียนมาแก่มนุษย์ที่เกิดบนดินแดนของตนเช่นกัน ซึ่งเราก็ตระหนักว่า ประเทศดังกล่าวก็มีทางปฏิบัติที่รับรองสิทธิในสัญชาติเมียนมาแก่คนในกลุ่มชาติพันธุ์มอญและไทยใหญ่ที่เกิดในประเทศเมียนมา เช่นกัน รวมทั้ง เรายังตระหนักว่า ประเทศเมียนมายังมีทางปฏิบัติที่จะรับรองสิทธิในสัญชาติเมียนมาแก่คนในกลุ่มชาติพันธ์ที่เกิดในเมียนมา แต่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทยแล้วเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่จะทางราชการของประเทศเมียนมาจะรับรองสิทธิในสัญชาติเมียนมาแก่พ่อหน่ายโอ่งและแม่วาวาของนายวีระ

เราพบอีกว่า บุตรสาวสองคนของพ่อหน่ายโอ่งและแม่วาวาก็ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเมียนมาแล้ว ซึ่งก็หมายความว่า ทางราชการเมียนมาก็เริ่มรับรองสิทธิของคนในครอบครัวชุบทองที่เกิดในประเทศเมียนมาแล้ว ในวันนี้ พ่อหน่ายโอ่งและแม่วาวาก็เริ่มคลายความหวาดกลัวที่จะกลับไปพิสูจน์สัญชาติเมียนมา เราเข้าใจในความกังวลใจของชนกลุ่มน้อยในเมียนมาในสถานการณ์ของบุพการีของนายวีระได้ดี พวกเขาเผชิญกับความยากลำบากในลักษระที่เสี่ยงภัยต่อชีวิตในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาและกองกำลังชนกลุ่มน้อย แต่ในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในวันที่ท่านฮ่องซานซูจีประสบชัยชนะในการเลือกตั้งใน พ.ศ.๒๕๕๘ นี้ เราก็สังเกตเห็นความไว้วางใจทางราชการเมียนมามากขึ้นในคนในสถานการณ์นี้ เราคิดว่า มีความเป็นไปได้ที่เราจะพยายามใช้กฎหมายสัญชาติเมียนมาในการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่พ่อหน่ายโอ่งและแม่วาวาได้ ซึ่งดูเหมือนสมาชิกของครอบครัวชุบทองก็เห็นชอบในทิศทางนี้

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาจุดเกาะเกี่ยวระหว่างนายวีระและรัฐเมียนมาแล้ว ตัวของนายวีระเองก็ไม่ได้ปฏิเสธจุดเกาะเกี่ยวโดยหลักบุคคลโดยการเกิดกับรัฐเมียนมาที่เกิดขึ้นผ่านบุพการีทั้งสอง ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติของเรื่อง และในอนาคต หากบุพการีผ่านการพิสูจน์สัญชาติเมียนมา ก็อาจเป็นโอกาสที่เขาจะร้องขอพิสูจน์สัญชาติเมียนมาโดยหลักสืบสายโลหิตก็เป็นได้ แต่ก็มีเหตุปัจจัยอย่างน้อย ๒ ประการให้ต้องพิจารณา กล่าวคือ

ในประการแรก แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า นายวีระจึงมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับ ๒ รัฐ ซึ่งทั้งสองจุดเกาะเกี่ยวอาจนำไปสู่สิทธิที่จะใช้สัญชาติของทั้งสองรัฐ ก็ตาม แต่ความจริงในปัจจุบันก็คือ แม้กฎหมายไทยจะไม่ห้ามคนถือสองสัญชาติ แต่กฎหมายเมียนมาห้าม และกำหนดโทษอาญาอีกด้วย ดังนั้น การเข้าใช้สิทธิในสัญชาติเมียนมาของนายวีระจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อนายวีระสละสิทธิในสัญชาติไทยแล้วเท่านั้น

ในประการที่สอง ด้วยข้อเท็จจริงที่เขาเกิดในประเทศไทย และเติบโตในประเทศไทย ไม่เคยอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา ไม่เข้าใจภาษาเมียนมา และไม่เข้าใจวิธีคิดแบบเมียนมา จึงสรุปได้ว่า จุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับประเทศเมียนมา จึงเป็นเพียงจุดเกาะเกี่ยวทางกฎหมาย มิใช่จุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงทางข้อเท็จจริง การเข้าถือสิทธิในสัญชาติเมียนมาจึงไม่อาจนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแต่อย่างใด การใช้สิทธิในสัญชาติสัญชาติเมียนมา จึงมิใช่การเข้าสู่สัญชาติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด (Effective Nationality) สถานการณ์นี้ก็อาจจะเป็นกรณีของพ่อหน่ายโอ่งและแม่วาวาเช่นกัน

โดยสรุป จุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงของนายวีระทั้งในทางกฎหมายและในทางข้อเท็จจริง ก็น่าจะได้แก่ จุดเกาะเกี่ยวที่นายวีระมีกับประเทศไทยนั่นเอง ดังนั้น ท่าทีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติของประเทศไทยผ่านมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติให้แก่คนในสถานการณ์ดังนายวีระ จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งต่อมนุษย์และรัฐไทยเอง .... ความมั่นคงของมนุษย์และรัฐไทยย่อมเป็นเรื่องเดียวกัน

--------------------------------------------------------------

[1] ข้อเท็จจริงนี้เรียบเรียงโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร โดยนำข้อมูลมาจากการทำงานโครงการบางกอกคลินิก ภายใต้โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับข้อมูลและขอคำปรึกษาทางด้านกฎหมายกรณีของนายวีระ ไม่มีนามสกุล นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากอาจารย์นคร ภู่วโรดม อาจารย์ประจำคณะดังกล่าว ซึ่งทำหน้าที่อาจารย์ที่ปรึกษา ตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๗ และการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมโดย (๑) อาจารย์ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายประจำคลินิกโรงพยาบาลแม่ระมาด และนักศึกษาปริญญาเอกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (๑) อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรัตน์ นักกฎหมายประจำบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาบัณทิตด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ (๓) อาจารย์ปภาวดี สลักเพชร นักกฎหมายประจำบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจน นายธีระนันท์ ชัยมานันท์ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนอำเภอแม่สอด

[2] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ในการสอบความรู้ชั้นปริญญาตรี ภาคปกติคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต การสอบภาคที่ ๑ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ วิชาบังคับ ชั้นปีที่ ๔ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘

[3] มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด”

[4] ซึ่งบัญญัติว่า

“บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๑ และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๒ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย ให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน”

[5] ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน”

[6] ซึ่งบัญญัติว่า

“ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านไว้ทุกบ้าน สำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

การจัดทำทะเบียนบ้านให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด”

[7] ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีอายุตั้งแต่เจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้”

หมายเลขบันทึก: 599640เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2016 21:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2016 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this anricle and 'legal analysis' therein. It definitely shows issues of 'state' and 'real people'.

Best wishes to นายวีระ ชุบทอง.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท