​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๒ : การบ่มเพาะ "จริตแพทย์"


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๒ : การบ่มเพาะ "จริตแพทย์"

ในฐานะที่ทำงานเป็นแพทย์และเป็นครูมาระยะหนึ่ง ได้ทบทวนเป้าหมายของงานดูแล้วคิดว่ามีประเด็นท้าทายที่อาจจะมีหนทางกระทำหรือแก้ไขได้หลายวิธี

การเป็นแพทย์นั้นมีปัจจัยแห่งความสำเร็จได้หลายมิติ เริ่มต้นจาก ความรู้ในเรื่องชีววิทยาเป็นอย่างดี ว่าร่างกายมนุษย์นั้นทำงานอย่างไรในภาวะปกติ ปรับตัวอย่างไรในภาวะผิดปกติ และต้องการการซ่อมแซมแก้ไขอย่างไรหากปรับตัวไม่ไหว เฉพาะเรื่องนี้อย่างเดียวก็ใช้วิทยาศาสตร์การแพทย์และเทคโนโลยีมากมาย

แต่ที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้นเป็นเพียง bench work คือ ตั้งหน้าตั้งตาอ่าน คิด ท่อง เขียน บันทึก อึดๆเข้าไป (มากพอสมควร) ก็จะพอเรียนจบมาได้ แต่ยังมีอีกมิติหนึ่งที่สำคัญ อยากจะเรียกว่า "จริตแพทย์"

งานของแพทย์คือการเยียวยา อันมีรากฐานสำคัญที่สุดวางอยู่บน "ความทุกข์/ความสุข" ของมนุษย์ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เชิงเป็นชีววิทยา ฟิสิกส์ หรือเคมีเท่านั้น แต่เป็นศาสตร์อันลึกซึ้ง เกี่ยวพันไปกับมานุษยวิทยา จิตวิทยา ปรัชญา ที่ถ้าหากนำมา "หล่อหลอม" รวมกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ทางชีวะแล้ว จะเกิดแพทย์ที่ถึงพร้อมด้วยศาสตร์แห่งการเยียวยาทั้งกาย วาจาใจ และยังมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคมอีกด้วย

ปัญหาคือ "ไม่มีวิชาจริตแพทย์ในหลักสูตร"

อาจจะมีอ้อมๆ อาทิ จริยศาสตร์ ทักษะการสื่อสาร แต่ไม่มีสาระวิชานี้โดยตรง จึงไม่มีการประเมินจริตแพทย์ในตัวบัณฑิต (หรือว่าที่บัณฑิตแพทย์) เมื่อไม่มีการประเมิน ก็แปลว่า "อาจจะมีหลุด" ที่บัณฑิตแพทย์จบออกมา อาจจะถึงพร้อมด้วยวิชาการความรู้ แต่ "ขาดจริต" ไป

เรามีความหวังว่าในเวลาหกปีที่เรียน แม้จะไม่มีการเรียนการสอนโดยตรงเรื่องจริตแพทย์ แต่มันน่าจะเกิดการ "ซึมซับ" ไปได้บ้าง ซึ่งก็เป็นความจริงส่วนหนึ่ง ที่บัณฑิตที่จบออกมามีทั้งความรู้และความเป็นแพทย์ (จริต) มาได้จริงๆ ทั้นี้ส่วนหนึ่งอยากจะขอบคุณครูแพทย์คือ "คนไข้และญาติ" ที่ผมเชื่อว่าความทุกข์ของท่านเหล่านี้ที่ทำให้หัวใจของนักเรียนแพทย์อ่อนโยนลง รวมทั้งขอบคุณทุกๆคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราก็มีบัณฑิตแพทย์ที่ทรงความรู้ และมีความ aggression ความกักขฬะ ความไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ความไม่มี sensitivity หรือความไวในการรับรู้ความรู้สึก/ความทุกข์/ความสุข ของผู้อื่น ออกมาทำงานในสังคมด้วยเหมือนกัน คนที่ขาดคุณสมบัติเหล่านี้แต่มีความฉลาดในเรื่องอื่นๆ สามารถทำให้เกิดความทุกข์อย่างมากมายกับคนรอบๆข้าง จนบางครั้ง ก็เกิดคำถามในใจว่า เราควรจะทำอะไรในเรื่องนี้ไหม และผมคิดว่าปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะบัณฑิตคณะแพทย์เท่านั้น เพราะคุณสมบัติที่กล่าวมา น่าจะเป็นคุณสมบัติที่พึงปราถนาในทุกๆสาขาอาชีพ แต่สถาบันอุดมศึกษาไม่ได้มีการประเมินในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเพราะมันประเมินยากมาก หรืออาจจะไม่ได้เอาเลยก็ว่าได้

ผมเคยมีนิยามของบัณฑิตเอาไว้ในใจว่ามี
๑) ความรู้ทักษะความสามารถตามสายวิชาที่ตนเองมาเรียน
๒) มีความสง่างามในการแสดงออกทั้งกาย วาจา ใจ
๓) ถึงพร้อมด้วยหน้าที่ ความรับผิดชอบ และจริยธรรม ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

เป็นตุ๊กตาบัณฑิตในใจของผม (ไม่ค่อยเหมือน 5-stars doctor ที่นิยมกัน แต่คิดเอาเองว่าแค่นี้ก็เกินพอ และอาจจะเกินความสามารถแล้ว) เวลาที่ได้สัมผัสกับนักศึกษาและเห็นทั้งสามประการนี้กำลังเจริญงอกงาม ก็ทำให้งานมีคุณค่า มีความหมาย

แต่เวลาที่เห็นทั้งสามประการถดถอย แต่กลไกการประเมินของเรากลับบอกว่าคนๆนี้จะจบการศึกษาออกไปทำงานได้ ก็เกิดความกลัวขึ้นในใจ กลัวว่าคนๆนี้จะมารักษาตัวเรา หรือลูกหลานของเราก็ยังมี

ทำไงดีหนอ

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๒ นาที
วันแรม ๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 599992เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2016 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2016 11:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จริงๆธรรมชาติของคนบางลักษณะก็เปลี่ยนไม่ได้นะคะ เวลาเรียนแค่ห้าหกปี ไม่สามารถเปลี่ยนเด็กที่ถูกเลี้ยงให้เป็นเทวดา ให้มาเป็นคนที่มีจิตใจแบบที่แพทย์ต้องมีได้ น่าจะต้องคัดเลือกให้ดีมาตั้งแต่ต้นทางมากกว่าค่ะ เด็กเก่งๆมากมายที่ไม่เหมาะกับการเรียนแพทย์และไม่มีทางจะเป็นแพทย์ที่ดีได้ ไม่ว่าจะ"บ่ม"ยังไง ยังดีที่หลังๆมานี้รู้สึกว่าจะมีหลุดๆมาไม่มากนักนะคะ

ปัญหาคือเรามีเวลานิดเดียวในการวินิจฉัยจริตที่ว่านี้น่ะครับ แถมยังเป็นเรื่องที่ไม่เสถียรอีกด้วย ก็มีคนกำลังพยายามหาวิธีคัดเลือกอยู่จริงๆ ที่สามารถพยากรณ์บัณฑิตที่พึงปราถนาให้ได้ แต่ผมคิดว่าเราน่าจะทุ่มเทไปกับเวลาอีกหกปีที่มี Contact time กับเด็กมากกว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท