Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แนะนำคุณแม่สัญชาติไทยแจ้งการเกิดของบุตรในทะเบียนราษฎรของรัฐฝรั่งเศสในสถานะคนสัญชาติฝรั่งเศสตามบิดา


ตอบคุณขวัญเดือนเรื่องการใช้สิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสของบุตรที่เกิดในประเทศไทย

จากบิดาตามข้อเท็จจริงซึ่งถือสัญชาติฝรั่งเศสและมารดาซึ่งถือสัญชาติไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=1...

-------------------------

ความเป็นมาของเรื่อง

-------------------------

คุณขวัญเดือน อีเมลลผ่าน [email protected] เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ ถึงผู้เขียน โดยตั้งชื่ออีเมลล์ว่า “คือดิฉันมีลูกกับชาวฝรั่งเศส แต่เราไม่ได่แต่งงานกัน อยากทราบว่าจะสัญชาติลูกเป็นต้องใช้เอกสารอะไรบ้างค่ะ” และเนื้อหาของอีเมลล์มีใจความว่า “คือดิฉันมีลูกกับชาวรั่งเศส แต่เราไม่ได่แต่งงานกัน อยากทราบว่าจะสัญชาติลูกเป็นต้องใช้เอกสารอะไรบ้างค่ะ และเท่าที่ทราบมาต้องใช้ใบแจ้งเกิดด้วย แต่ดิฉันได้นำใบแจ้งเกิดลูกด้วย แต่ดิฉันได้นำใบแจ้งเกิดตัวจริงไปแจ้งที่อำเภอแล้ว เหนือนแต่ตัวสำเนา อยากทราบว่าดิฉันใช้ตัวสำเนาเอาไปแปลเอกสารได้ไหมค่ะ หรือต้องใช้แค่ตัวจริงอย่างเดียว ขอบคุณค่ะ

ผู้เขียนอ่านแล้ว ก็คิดว่า เธอถามถึงสิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสที่บุตรควรจะมีตามบิดา แต่เพื่อให้แน่ใจ จึงถามข้อเท็จจริงกลับไปอีกครั้งในเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งคุณขวัญเดือนก็ตอบกลับในวันเดียวกันมาว่า “คือจะขอสัญชาติฝรั่งเศสค่ะ คุณแม่ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างค่ะ. แล้วทางคุณพ่อล่ะค่ะ เด็กเกิดที่เมืองไทยค่ะ ขอบคุณค่ะ

------------------

ประเด็นที่ถาม

------------------

เป็นเรื่องของการแจ้งการเกิดของคนในทะเบียนราษฎรของรัฐฝรั่งเศสในสถานะคนสัญ๙ติฝรั่งเศสตามบิดาตามข้อเท็จจริงซึ่งถือสัญชาติฝรั่งเศส จึงเป็นการขอใช้สิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสตามบิดาตามข้อเท็จจริง ซึ่งผู้ถาม ก็ตระหนักว่า กฎหมายสัญชาติฝรั่งเศสน่าจะรับรองสิทธิ จึงเจาะจงถามเลยว่า เพื่อการนี้จะต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ?

------------------

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

------------------

บุตรน่าจะเกิดในประเทศไทยจากมารดาสัญชาติไทย และบิดาสัญชาติฝรั่งเศส โดยบิดาและมารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย

นอกจากนั้น หนังสือรับรองการเกิด ซึ่งออกโดยโรงพยาบาลที่ทำคลอดบุตร ก็ถูกนำไปใช้แจ้งการเกิดของบุตรในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทยแล้ว จึงไม่มีเอกสารตัวจริงของหนังสือนี้เพื่อไปแจ้งการเกิดของบุตรในทะเบียนราษฎรของรัฐฝรั่งเศส

โดยพิจารณาข้อกฎหมายสัญชาติไทย กฎหมายนี้มิได้ห้ามคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดที่จะห้ามคนในสถานการณ์ถือสัญชาติของรัฐต่างประเทศตามบุพการีซึ่งถือสัญชาติของรัฐต่างประเทศ

ในขณะเดียวกัน โดยข้อกฎหมายสัญชาติฝรั่งเศส กฎหมายนี้ก็มิได้ห้ามคนที่มีสิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสที่จะถือสองสัญชาติ ดังนั้น โดยหลักการ การแจ้งการเกิดของบุตรที่เกิดในประเทศไทยจากมารดาซึ่งถือสัญชาติไทย และจากบิดา ซึ่งถือสัญชาติฝรั่งเศสก็เป็นสิ่งที่ทำได้ ทั้งนี้ กฎหมายฝรั่งเศสยอมรับให้บิดาตามข้อเท็จจริงสืบสิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสไปยังบุตรได้อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสนี้ก็จะต้องเป็นไปตามกฎหมายฝรั่งเศสว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของรัฐฝรั่งเศส โดยหลักการ การแจ้งการเกิดและการอยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐฝรั่งเศสก็น่าจะทำได้ทั้งในประเทศฝรั่งเศสและในสถานกงสุลฝรั่งเศสประจำประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการแจ้งก็ย่อมจะต้องมีการกำหนดอย่างชัดเจนในกฎหมายนี้ ซึ่งพยานหลักฐานที่จะชี้ว่า มีสัมพันธภาพระหว่างบิดาสัญชาติฝรั่งเศสและบุตรย่อมจะต้องถูกนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่รักษาการตามกฎหมายฝรั่งเศสว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ซึ่งอาจจะเป็นพยานเอกสารหรือพยานบุคคลหรือพยานวัตถุ โดยเฉพาะ การใช้ DNA ที่อาจตรวจจากเลือดของบุตรและบิดาเพื่อยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งจะต้องใช้พยานหลักฐานในระดับใดบ้างย่อมเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว และหากเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเรียกร้องพยานหลักฐานเกินสมควร บุพการีของบุตร ซึ่งอาจยังเป็นผู้เยาว์ ก็อาจร้องต่อศาลปกครองฝรั่งเศสเพื่อพิจารณากำหนดพยานหลักฐานที่เหมาะสมในการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสโดยหลักสืบสายโลหิตของบุตรตามข้อเท็จจริงดังกล่าว

------------------

คำแนะนำของผู้เขียน

------------------

ดังนั้น ผู้เขียนจึงแนะนำคุณขวัญเดือนเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ ว่า “ไปหารือสถานกงสุลประจำประเทศไทยดีไหมคะ โดยหลัก ก็ต้องมีเอกสารที่รับรองความสัมพันธระหว่างกัน พยานบุคคล หรืออาจใช้พยานดีเอนเอ ซึ่งการหารือกับกงสุลฝรั่งเศส น่าจะดีที่สุด อ.แหววค่ะ”

คุณขวัญเดือนยังไม่มีข้อหารืออื่นใดมาอีก

หมายเลขบันทึก: 602581เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2016 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2016 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท