​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๖ : กลับบ้านไปครั้งนี้.....


สำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่หก คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ เราจัดให้มีกิจกรรมเรื่อง "การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (discharge planning)" ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมง นักเรียนกลุ่มนี้กำลังจะจบการศึกษาและได้ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตในอีกไม่กี่วัน กี่เดือน ส่วนใหญ่จะเคยเขียนคำสั่ง "จำหน่ายผู้ป่วย" นั่นคือการให้คนไข้กลับบ้านได้ มาแล้วทั้งสิ้น ยิ่งตอนปลายๆปีบางคนอาจจะเคยเขียนมาเป็นร้อยๆรายแล้ว หัวข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการมานอน ร.พ.ของคนไข้แต่ละคนก็เป็นภาวะวิกฤติของชีวิต ระหว่างอยู่ ร.พ.ก็ทำโน่นทำนี่มากมาย มี "มืออาชีพ" มาดูแลหลายคน บางครั้งก็เป็นสิบๆคน โรคส่วนหนึ่ง (และนับวันจะมากขึ้นเรื่อยๆ) จะไม่หายขาด กลายเป็นโรคเรื้อรัง หรือมีสภาวะทุพพลภาพกลับไปไม่เหมือนเดิม การดูแลต่างๆที่เคยทำที่ ร.พ. ต้องกลับไปทำต่อที่บ้าน แต่เปลี่ยนทีมจากมืออาชีพ กลายเป็นผู้ดูแลหลักที่บ้านแทน

ตอนเป็นนักศึกษาปีต้นๆ จะรู้สึกดีใจที่ได้จำหน่ายคนไข้ หรือบอกให้คนไข้กลับบ้านได้แล้ว เพราะเป็นสัญญลักษณ์ประการหนึ่งของ "ความสำเร็จ" ในการทำงาน แต่เมื่อทำงานไปนานๆเข้า น้องๆก็จะเริ่มพบว่ามันไม่ได้เป็นไปเช่นนั้นเสมอไป คนไข้บางคนก็จะต้องเผชิญกับ "ความทุกข์" ใหม่ ในสมดุลใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ญาติพี่น้องครอบครัวก็ต้องเผชิญกับสมดุลใหม่ ที่ต้องปรับตัวไปต่างๆนานา

แต่กระนั้น เมื่อไรที่หมอพูดคำว่า "กลับบ้านได้แล้วนะ" จะเกิดนัยยะของ "เรื่องราวใหม่" กับชีวิตคนไข้ด้วยเสมอ

กรณีศึกษา ๑ "ป้าแดง"

ป้าแดงเป็นโรคมะเร็งทางนรีเวช (ก็มีแถวๆปากมดลูก รังไข่ มดลูก ประมาณนั้น) ระยะลุกลามมารับเคมีบำบัดเพื่อบรรเทาอาการ และหวังให้ก้อนในท้องยุบลง ตอนนี้ก็รักษามาได้ปีกว่าแล้ว ป้าแดงมีลูกสามคน คนโต เรียนจบ แต่งงาน ออกเรือนไปแล้ว มีหลานให้ด้วย อยู่ที่ต่างจังหวัด คนรองก็เรียนจบแล้ว ยังไม่แต่งงาน แต่คิดว่ามีแฟนแล้ว เหลือคนสุดท้องกำลังเรียนอยู่
"ป้าแดง วันนี้เป็นไงบ้าง?" หมอทัก
"วันนี้พอทนค่ะคุณหมอ อาเจียนน้อยลงแล้ว" ป้าแดงหมายถึงอาการแพ้หลังได้เคมีบำบัดที่จะทำให้คลื่นไส้อาเจียน
"คิดถึงบ้านรึยัง" หมอถาม
"คิดถึงทุกวัน" ป้าแดงตอบ ยิ้มให้หมอ แล้วถามต่อ "คราวนี้ป้าจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ล่ะหมอ?"
"น่าจะดีนะหมอว่า แพ้ไม่มากเท่าไหร่ อาการดูจะดีขึ้น เราคงต้องค่อยๆนัดป้าแดงมาติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆนะ"
"สักสองสามเดือนจะถึงไหมหมอ?" ป้าถาม คราวนี้คำถามค่อนข้างเจาะจง แสดงว่าป้ามีอะไรอยู่ในใจ
"ได้สิ แต่ทำไมต้องสองสามเดือนด้วยละป้า?"
"อ้อ ไม่มีอะไร อีกสองสามเดือนเจ้าเล็กจะเรียนจบน่ะหมอ"
"เจ้าเล็ก? อ๋อ ลูกชายคนเล็กของป้าใช่ไหม"
"ใช่ค่ะ ป้าอยากเห็นเค้าจบ อยากเห็นเค้ารับปริญญา"

เวลาหมอเตรียม discharge planning มักจะคิดถึงสามเรื่องคือ ๑) การรักษาต่อเนื่อง (continuity of care) เช่น ยากลับบ้าน ทำแผล การดูแลทวารเทียม ๒) การปรับตัวชีวิตใหม่ (lifestyle adjustment) เช่น การออกกำลัง การใช้รถเข็น การใช้ไม้เท้าพยุงเดิน และ ๓) การเสริมกำลังให้แก่ผู้ดูแลหลัก (primary caregiver) เช่นสอนคนทำอาหารเสริม การให้อาหารทางสายยาง แต่ที่เรามักจะไม่ทราบก็คือ ผู้ป่วยก็มี discharge planning ด้วย แต่คนละแบบกับหมอ ของคนไข้จะเป็น "บทใหม่" ในหนังสือท่องเที่ยวเดินทางของชีวิต ที่มีอะไรรอคอยอยู่ ไม่ได้มีแต่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ แต่มีอะไรที่ทำให้ครุ่นคิดรอคอย และประการสำคัญคือ "ความหวัง"

กรณีศึกษา ๒ "ป้าจำรัส"

ป้าจำรัสอายุ ๖๐ ปี รักษากับเรามาสามปีแล้ว เป็นมะเร็งระยะลุกลาม วันแรกที่ได้ไปเจอ นักศึกษาเล่าให้ฟังว่ากำลังวางแผนการรักษาโดยการให้เคมีเพื่อบรรเทาอาการ ปกติจะมีสามีมาเฝ้าทุกวัน แต่วันนี้ไม่เจอ
"สวัสดีครับ คุณจำรัส หมอชื่อหมอสกล เป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่นี่ครับ" ผมแนะนำตัว
"สวัสดีจ้ะคุณหมอ เมื่อวานน้องหมอเค้ามาบอกป้าแล้วจ้ะ" คุณป้าพยุงตัวเองขึ้นมานั่งบนเตียง
ป้าจำรัสรู้แล้วว่าตนเองเป็นมะเร็ง และรักษาไปครั้งแรกเมื่อสามปีก่อน แต่ตอนนี้มะเร็งกลับมาเป็นใหม่ ช่วงนี้ค่อนข้างจะเพลีย มีขาบวมจากหลอดเลือดดำอุดตันทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในมะเร็งนรีเวช เราจึงพูดถึงเรื่องผู้ดูแลหลักที่บ้าน
"ลูกๆอยู่กับป้าไหมครับ?" หมอถาม
"ไม่อยู่จ้ะ เค้าไปอยู่กับพ่อเค้าที่กรุงเทพฯ" ป้าบอก
"อ้าว... แล้วคุณลุงที่ดูคุณป้าอยู่ทุกวันนี่......?"
"อ๋อ ป้าเลิกกับสามีเก่าจ้ะ แยกกันไปสองปีแล้ว ลุงนี่อยู่ข้างๆบ้าน" ป้าตอบ
"เหรอ... แหม พวกน้องๆเค้าคิดว่าเป็นสามีคุณป้า เห็นมาเฝ้าทุกวัน เมื่อวานพยาบาลถามว่าใครจะเป็นคนดูแลป้าที่บ้าน คุณลุงแกก็บอกว่าแกดู"
"เป็นเพื่อนบ้านจ้ะ รู้จักกันมาตั้งแต่ยังเด็กๆ" ป้าตอบ "........รู้จักกันดี" ป้าเสริมขึ้นมา มีอะไรบางอย่างในคำพูดที่ป้าเสริมขึ้นมา ทำให้เราถามต่อ
"แกน่ารักมากเลยนะป้า คงจะสนิทกันมาก"
ป้ายิ้ม "ก็เคยชอบๆกัน"
"หา?... หมายถึงแกเคยชอบป้ามาก่อนเหรอครับ?"
"จ้ะ แกเคยจีบป้าตอนสมัยวัยรุ่นๆ แต่ป้าไม่เอา ป้าไปชอบเด็กกรุงเทพแทน"
"แล้วสามีคนก่อน?"
"พอป้าป่วยได้สักปีนึง ก็เลิกกันจ้ะ" เสียงเศร้าลง "แต่เพื่อนป้าคนนี้ก็ยังอยู่บ้านเดิม พอทราบข่าวเค้าก็เข้ามาหา และช่วยดูแลป้า"
"โอ... เป็นเพื่อนกันมาตั้งสี่สิบห้าสิบปีแล้วสินะป้า" หมอทึ่งมาก "แล้วแกบ้านอยู่ใกล้ๆป้าหรือครับ?"
"สวนติดกันเลย" ป้าตอบ "ครั้งนี้แกก็รอ... รออยู่"
"รออยู่?" หมอตามไม่ทัน
"แกบอกป้าว่า ออกจากโรงพยาบาลครั้งนี้ไป แกจะขอป้าแต่งงาน"
"..................."

ไม่มีใครทราบมาก่อนว่า การจำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้านในแต่ละครั้ง จะมีเรื่องราวอะไรอยู่บ้าง หมอก็จะหมกมุ่นกับยา กับแผล กับพยากรณ์โรค การบริหารจัดการเตียง การรับคนไข้ใหม่ การสรุปชาร์ต สรุปแฟ้มผู้ป่วย แต่บางทีถ้าเราได้อยู่กับเรื่องราว "ชีวิต" ด้วย เราจะเริ่มมองเห็นคุณค่าของงานที่เราทำ ความงดงามของมนุษย์ เด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่งที่เติบโตมากับสาวข้างบ้านที่ตนเองถูกใจ แต่สาวก็ไปรักคนอื่น ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ความรักเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จนกระทั่งรอคอยถึงวันหนึ่ง อีกสี่สิบปีต่อมา ที่จะได้บอกกับเธออีกสักครั้งว่า เขารักเธอแค่ไหน และจะขอดูแลเธอจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวินตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพุธที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๕ นาที
วันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 602710เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2016 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2016 10:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท