​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๗ : เรียนหมอเพื่อมี "ข่าวดี"


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๗ : เรียนหมอเพื่อมี "ข่าวดี"

การเรียนแพทย์จะต้องเรียนวิชาจริยธรรม (Ethics) ด้วย ซึ่งมีหลายหัวข้อ อาทิ เรื่องสิทธิส่วนบุคคล (autonomy) เรื่องประโยชน์ (beneficence) เรื่องการไม่ทำร้ายผู้อื่น (non-maleficence) เรื่องความยุติธรรม (justice) เป็นหัวข้อกว้างๆทางจริยศาสตร์ และเมื่อทำให้จำเพาะมากขึ้นทางการแพทย์ เป็น "จริยเวชศาสตร์" ก็จะแตกแยกย่อยลงไปอีก เช่น ความสูญเปล่าทางการแพทย์ (medical futility) หลักแห่งความจริง (principle of veracity) การรักษาความลับผู้ป่วย (principle of confidentiality) เป็นต้น หัวข้อหนึ่งที่จัดว่าค่อนข้างท้าทายคือ "การบอกข่าวร้าย (Breaking the bad news)"

ที่ว่า "ท้าทาย" คือมันมีนัยยะของความยากในการทำเรื่องนี้อยู่ ใครๆก็ไม่ชอบข่าวร้าย ใครๆก็รู้สึกไม่ดีเมื่อได้รับข่าวร้าย ดังนั้นใครๆก็ไม่อยากจะเป็นผู้บอกข่าวร้าย ดังนั้นคนที่มี "อาชีพ หรือหน้าที่" ในการแจ้งข่าวร้ายก็จะต้องทำเรื่องที่ใครๆก็ไม่อยากทำ อาชีพเหล่านี้ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ เป็นต้น

เราทำอะไรกับตัว "ข่าวร้าย" ไม่ได้มากนัก สาเหตุประการหนึ่งเพราะมันเป็นเรื่องไม่ดี (จึงเป็นข่าวร้าย) แต่องค์ประกอบของการแจ้งข่าวร้ายนั้นมีสี่ประการ คือ ๑) ข่าวร้าย ๒) ผู้แจ้ง ๓) ผู้รับ และ ๔) บริบทของการแจ้งข่าวร้ายนั้นๆ ในสามประการหลังที่เราจะพบว่ามีปัจจัยหลายประการที่เราพอจะทำได้ ถ้าเรามองเป็นเรื่องของการ "เยียวยา (healing)" เพราะสัมฤทธิผลที่ดีที่สุดของการเยียวยาเกือบทุกชนิด คือ การเยียวยาแต่เนิ่นๆ ทำตั้งแต่ตอนยังไม่เป็นเยอะ ไม่เป็นมาก

"ข่าวร้าย" ที่เข้ามาในชีวิต ทำให้ "การเล่าของชีวิต" ของเรานั้นสะดุด กำลังเล่าเพลินๆว่าชีวิตเรานั้น ฉันมี ฉันเป็น ฉันสามารถ (I am, I have, I can) อยู่ดีๆ พอมีข่าวร้ายโยนตูมลงมา ว่า "เธอป่วย เธอเป็นมะเร็ง เธอเป็นอัมพาต เธอกำลังจะพิการ เธอกำลังต้องพึ่งพาคนอื่นไปตลอดชีวิต เธอจะไม่เหมือนเดิม เธอจะผมร่วง เธอจะทรุดโทรม..... ฯลฯ" ชีวิตเราก็เปลี่ยนเป็น "ฉันไม่มี ฉันไม่เป็น ฉันไม่สามารถ" อะไรอีกต่อไป ในส่วนของวิชาชีพแพทย์ที่ต้องทำเรื่องนี้เป็นประจำ สิ่งที่เราต้องทำก็คือนอกเหนือจากการนำข่าวร้ายมาบอก เราควรจะมีข่าวดีมาด้วย

สิ่งที่แพทย์เล่าเรียนมาทั้งหมด ทั้งในโรงเรียนแพทย์ หรือหลังจากจบออกมาแล้วก็ไม่ได้หยุดเรียน ก็คือ การเยียวยาผู้คน เวลาคนเราบาดเจ็บ ไม่ว่าจะทางกาย ทางใจ ทางจิตวิญญาณ เราต้องการการเยียวยา ต้องการคนประคอง ต้องการเบาะรองรับเวลาเราล้มลง เมื่อข่าวร้ายนั้นๆกำลังจะ "ทำร้าย" การเล่าชีวิตของเราให้ซวนเซ อะไรก็ตามที่จะช่วยให้เราไม่เซจนล้ม ก็คือ "การประคอง" คือ ข่าวที่ว่าร้ายนั้น ยังมีหนทางรักษา มีหนทางออกอยู่ แม้อาจจะไม่ถึงกับดีทั้งหมด แต่ก็ "ยังดี"

นักเรียนแพทย์จึงควรสำนึกว่าวิชาที่เราเรียน ไม่ได้เรียนเพื่อให้เข้าใจในสรีระวิทยา พยาธิวิทยา หรือทำให้เราเก่งกาจอลังการเท่านั้น แต่ทุกอย่างที่เราเรียน เราต้องหาทางทำให้สิ่งนั้นกลายเป็น "ข่าวดี" สำหรับคนไข้และครอบครัวของเขาให้ได้ การทำศาสตร์และองค์ความรู้และทักษะทั้งหมดทางวิชาชีพให้กลายเป็น "ข่าวดี" คือการ transform knowledge ให้กลายเป็น wisdom จาก "ความรู้ ให้กลายเป็นปัญญา" นั่นเอง

จนเมื่อเราแจ้งข่าวร้าย บางทีเราอาจจะสามารถบอกต่อไปว่า
"แต่เรามีวิธีรักษาให้หายขาด"
"แต่เรามีหนทางเยียวยารักษาให้หาย"
"แต่เรามีวิธีรักษาประคับประคองให้ชีวิตคุณไปต่อได้"
"แต่เรามีวิธีที่ทำให้คุณยังคงควบคุมชีวิต และใช้ชีวิตคุณต่อไปได้"
"แต่เราสามารถช่วยให้คนรอบข้าง ผู้ดูแลของคุณ ช่วยคุณได้โดยไม่ลำบาก"
"แต่เราสามารถช่วยติดต่อชุมชนของคุณให้มาช่วยดูแลคุณได้"
"แต่เราสามารถการันตีคุณได้ว่าคุณจะไม่เจ็บปวด ทรมาน"
"แต่เราจะฟังคุณ และเคารพในการตัดสินใจของคุณและครอบครัว"
"แต่ตั้งแต่นี้ต่อไป เราจะร่วมกันคิดหาหนทางที่ดีที่สุดด้วยกัน"
จนถึงขั้นสุดท้าย
"ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะอยู่เคียงข้างคุณ และช่วยทุกอย่างที่เราทำได้" นั่นคือ ตัวของเราเองกลายเป็น "ข่าวดี" ชิ้นสุดท้ายที่วิชาชีพเราจะมอบให้ นั่นคือ "ความเป็นมนุษย์"

มาใช้ชีวิตของเราให้เป็น "ข่าวดี" ของผู้อื่นกันเถอะ

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันศุกร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๙ เวลา ๙ นาฬิกา ๕๗ นาที
วันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 602872เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2016 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2016 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท