Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อเจ้าของปัญหามีความรู้+มีความกล้าหาญ การมีส่วนร่วมเพื่อขจัดปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติกับผู้รักษาการตามกฎหมายจึงเริ่มต้นได้


หนังสือเล่าเรื่องของ “การมีส่วนร่วม” ระหว่าง “คนเริ่มต้น” และ “ผู้รักษาการตามกฎหมาย”

ในการจัดการสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

งานเขียนเพื่อถอดบทเรียนจากงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ภายใต้โครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสุขภาวะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยกระบวนการมีส่วนร่วม

สร้างสรรค์โดย อาจารย์ ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล และคณะ

คำนิยมโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10154016383953834

------------------------------------------------------

เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ คุณปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว หนึ่งในสมาชิกของ Stateless Watch Conversation เฟซมาทาบทามให้เขียนคำนิยม (Preface) สำหรับหนังสือซึ่งเป็นรวมเรื่องเล่าภายใต้โครงการ[1]ที่ สสส.สนับสนุนให้อาจารย์ ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล ดูแล ผู้เขียนคำนิยมตระหนักได้ดีว่า ทีมงานนี้ประกอบไปด้วยคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ผูกพันทำงานด้วยกันมายาวนานนับ ๑๐ ปี และเป็นทีมงานซึ่งประกอบด้วยคนทำงานที่มีความหลากหลาย ทั้งจากภาควิชาการและภาคปฏิบัติ ทั้งจากคนในเมือง และคนในต่างจังหวัด ทั้งจากคนที่เป็นเจ้าของปัญหาและคนที่เป็นผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหา

ในครั้งนี้ ก็เหมือนหลายครั้งในการทำงานของแวดวงนี้ “คุณแก้ว” หรือ คุณปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว จะทำหน้าที่แม่บ้านใหญ่เพื่อดูแลงานบริหารทั่วไป โดยเฉพาะงานการเงินและงานบรรณาธิการบริหาร คุณแก้วแจ้งว่า หนังสือที่ตั้งใจจะทำครั้งนี้ เป็น การรวมเรื่องเล่าจาก ๓ พื้นที่การทำงานของชุดโครงการที่รับทุนจาก สสส. กล่าวคือ (๑) พื้นที่มิสซังที่แม่สะเรียง (๒) พื้นที่อุ้มผาง และ (๓) พื้นที่ระนอง

สำหรับครั้งนี้ “คุณต้อง” หรือ คุณสรินยา กิจประยูร งามอุรุเลิศ รับหน้าที่เป็น “บรรณาธิการ” อีกคนที่ทำหน้าที่เรียบร้อยเรื่องเล่าทั้งหมดจากทั้ง ๓ พื้นที่ ซึ่งผู้เขียนคำนิยมมักจะเรียนว่า เป็นงานสอยเสื้อ เป็นงานที่ต้องมีจินตนาการ จะต้องเอาผ้าแต่ละชิ้นที่มีความหลากหลายมาเย็บต่อกันให้เป็นผ้าผืนเดียว

คุณแก้วให้เวลาแก่ผู้เขียนคำนิยมที่จะอ่านต้นฉบับของหนังสือและคิดคำนิยม ๑ เดือน นั่นก็คือ ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ จนถึง ต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาสุขภาพของผู้เขียนคำนิยมในช่วงหนึ่ง ก็ไม่อาจเขียนคำนิยมได้จนจบตามเวลาที่สัญญากัน มาจบเอาจริงๆ ในวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙

ด้วยการที่คุณแก้วตั้งห้องสนทนาผ่านเฟซบุ๊ค พวกเราที่ไม่ค่อยได้คุยกันเป็นเรื่องเป็นราวมานานทีเดียว จึงมีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนมุมมองทั้งในเรื่องของหนังสือนี้และไม่เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ แม้ในเรื่องของการใช้ชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน แต่ก็เป็นโอกาสที่ผู้เขียนคำนิยม จะเขียนคำนิยมนี้โดยการมีส่วนร่วมของคณะทำงานเกือบทั้งหมดที่ลงไม้ลงมือในการทำหนังสือเล่มนี้

สำหรับงานของคนเขียนคำนิยมหนังสือนั้น งานท่าบังคับในเบื้องต้น ก็คือ การอ่านต้นฉบับหนังสือนั้นให้เข้าใจและเห็นความเป็นไปในหัวใจของเจ้าของต้นฉบับ แล้วจึงมาคิดให้ออกว่า จะเขียนคำนิยมหนังสือนี้ในรูปแบบไหน ? อย่างไร ? คำนิยมที่ดีน่าจะบอกในสิ่งที่ผู้เขียนคำนิยมชอบในหนังสือที่อ่าน และน่าจะดีมากขึ้น ก็คือ ผู้เขียนคำนิยมควรจะอธิบายเหตุขัดข้องของหนังสือได้อีกด้วย ข้อดีของหนังสือจึงจะได้ปรากฏชัดเจนต่อผู้อ่านคนต่อไป ในขณะที่ข้อด้อยก็จะได้รับความเข้าใจจากผู้อ่านดังกล่าวอีกด้วย

เพื่อเริ่มต้นการมีส่วนร่วมในการสำรวจประเด็นที่จะเขียนคำนิยม ผู้เขียนคำนิยมจึงตั้งคำถามในห้องสนทนาบนกล่องข้อความของเฟซบุ๊คที่คุณแก้วตั้งขึ้นว่า “หนังสือเล่มนี้เขียนให้ใครอ่าน ? และเพื่อให้คนอ่านได้อะไร ?” ซึ่งอาจารย์ ดร.ดรุณีเข้ามาตอบเองในทั้ง ๒ คำถามว่า

ในคำถามแรก อาจารย์ ดร.ดรุณีตอบว่า “เป้าหมายของหนังสือเป็นการสร้างพื้นที่ถอดบทเรียนการทำงานของคนทำงานกับกลุ่่มเป้าหมาย ๔ กลุ่ม” ผู้เขียนคำนิยมจึงตั้งคำถามต่อไปว่า “อะไรคือบทเรียน ?” ซึ่งอาจารย์ ดร.ดรุณีจึงตอบต่อไปว่า “(๑) ปัญหาที่เจอ ควาพยายามแก้ปัญหา และ (๒) แนวทางที่ลงมือ คนเอาไปใช้ได้ เกิดการเรียนรู้ การทำตาม การเห็นปัญหา การเลี่ยงปัญหา ซึ่งทั้งสองบทเรียนนี้ คนทำงานก็จะได้ทบทวนตัวเอง” ซึ่งอาจารย์ ดร.ดรุณีย้อนถามกลับมาว่า “แนวคิดดังกล่าวมาเป็นแนวคิดพื้นฐานของการถอดบทเรียนมิใช่หรือ

ในคำถามที่สอง อาจารย์ ดร.ดรุณี ตอบว่า “คนที่อยากให้อ่าน เผยแพร่คือ (๑) เจ้าของปัญหา (๒) ผู้ปฏิบัติงาน และ (๓) คนทั่วไป” นอกจากนั้น อาจารย์ ดร.ดรุณียังบอกให้ทราบว่า “เรื่องเล่าต่างๆ เคยถูกเผยแพร่บ้างแล้วทางอินเทอร์เน็ต และเคยเอามาสอนหนังสือแล้วด้วย

ในระหว่างทางของความคิดเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนคำนิยมร้องขอให้คนเล่าเรื่อง คนบริหารโครงการ ตลอดจนเหล่าบรรณาธิการเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ต้นฉบับของหนังสือเล่มนี้ด้วย ข้อดีของเทคโนโลยีสารสนเทศออนไลน์ในปัจจุบันทำให้วงสนทนาของพวกเราเป็นไปได้ ทั้งที่พวกเราไม่มีความว่างตรงกันที่จะวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน นอกจากนั้น ผู้เขียนคำนิยมยังพยายามที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือนี้กับคณะทำงานสร้างสรรค์หนังสือเล่มนี้เท่าที่มีโอกาส โดยเฉพาะกับคุณต้องสรินยา คนสอยเสื้อตัวนี้ เสื้อที่ประกอบด้วยเรื่องเล่าของความพยายามที่จะได้รับการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายทั้งในสถานการณ์ทั่วไปและพิเศษจำนวน ๓๕ เรื่อง ที่อาจารย์ ดร.ดรุณี เล่าว่า เป็นตัวแทนของการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ๖๕ เรื่อง ตลอดโครงการที่ได้รับความช่วยเหลือจาก สสส.

ผู้เขียนคำนิยมตัดสินใจที่จะหยิบยก ๗ ประเด็นที่สะดุดใจในการอ่านหนังสือเล่มนี้มาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านคนต่อไปของหนังสือเล่มนี้ กล่าวคือ

ในประการแรก ผู้เขียนคำนิยมพบว่า ผ่านหนังสือเล่มนี้ งานสำรวจพื้นที่ในครั้งนี้ของทีมงานของอาจารย์ ดร.ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล เข้าไปแตะต้องเรื่องราวของคนรากหญ้าที่มีชีวิตที่อยากลำบากที่สุด กล่าวคือ เป็นคนที่ไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล[2] เหมือนดังที่เคยเป็น กล่าวคือ เป็นคนที่ไร้รัฐที่ยอมรับรองความเป็นคนสัญชาติของรัฐ หรือคนที่ไร้การรับรองสิทธิในภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนในดินแดนของรัฐ ความไร้สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายดังกล่าวย่อมหมายถึงความไร้สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และความไร้สิทธิในสวัสดิการทางเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างคุณภาพแห่งชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ผูกพันรัฐบนโลกนี้ โดยเฉพาะรัฐไทย การปฏิเสธที่จะดูแลมนุษย์ที่มีลมหายใจบนดินแดนของตน เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ เมื่อมนุษย์คนหนึ่ง ดังกรณีนางโฉ่[3] บุคลากรสาธารณสุขแห่งอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่ง “คุณแมว” หรือ คุณจันทราภา นนทวาสี จินดาทอง นักสังคมสงเคราะห์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผาง และผู้จัดการคลินิกกฎหมายโรงพยาบาลอุ้มผาง หยิบยกขึ้นมาเล่าเรื่อง แม้โฉ่จะเกิดในประเทศเมียนมาร์ ใน พ.ศ.๒๕๒๔ และเดินทางตามบุพการีเข้ามาตั้งบ้านที่บ้านเปิ่งเคลิ่ง ตั้งแต่เมื่อเธอมีอายุเพียง ๖ ปี จะเห็นว่า แม้โฉ่จะเกิดนอกประเทศไทยจากบุพการีที่ฟังไม่ได้ว่าเป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทย รัฐไทยก็คงปฏิเสธที่จะดูแลโฉ่และบุคคลที่ประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บนแผ่นดินมิได้ จะเห็นว่า โฉ่ในวัย ๖ – ๑๑ ปี ซึ่งประสบปัญหาความไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคล รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของโฉ่ จึงต้องบันทึกโฉ่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยใน พ.ศ.๒๕๓๔ โดยบันทึกไว้ในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลบนพื้นที่สูงเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งทำให้โฉ่ในอายุราว ๑๑ –๑๒ ปี มีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยในประเทศไทย[4] และเมื่อเธออายุ ๑๙ ปี ใน พ.ศ.๒๕๔๓ เธอก็ได้รับสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทยแต่ยังคงมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองไทยผิดกฎหมาย[5] และเมื่อเธอมีอายุ ๒๙ ปีใน พ.ศ.๒๕๕๓ เธอก็ได้รับสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย[6] อันหมายความว่า เธอจะพ้นจากสถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย และมีความเป็นไปได้ที่จะมีสิทธิร้องขอสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ[7] ความงดงามในความเป็นไปได้ทางกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยสำหรับโฉ่ก็อาจลดลง หากเราอ่านเรื่องเล่าของคุณแมว ทั้งนี้เพราะโฉ่ในอายุ ๓๕ ปีใน พ.ศ.๒๕๕๙ ยังคงมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว เธอยังเข้าไม่ถึงสิทธิในการรับรองสถานะคนเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยดังที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ รับรองให้แก่เธอ ผู้เขียนคำนิยมรู้จักเรื่องราวของโฉ่ในความเป็นจริงอีกด้วย จึงอ่านงานเขียนเพื่อเล่าเรื่องโฉ่ของคุณแมวด้วยความซาบซึ้งมากขึ้น โฉ่ในวันนี้ดูแลบุตรชายตามลำพังด้วยสามีเสียชีวิตแล้ว เรื่องราวของการเข้าไม่ถึงสิทธิอันจำเป็นต่อคุณภาพชีวิตนี้คงถูกมองผ่าน หากคลินิกกฎหมายโรงพยาบาลอุ้มผางมิได้หยิบยกเรื่องเล่านี้มาหารือกับนายอำเภออุ้มผาง ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก อธิบดีกรมการปกครอง ปลัดกระทรวงมหาดไทย จนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่รักษาการตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ดังนั้น ภาพของโฉ่ จึงเป็นภาพแรกที่ผู้เขียนคำนิยมจินตนาการตาม และสรุปความคิดในสมองว่า เพียงมีมติคณะรัฐมนตรีรับรองสิทธิที่จะเป็นคนเข้าเมืองถูกและอาศัยถาวรตลอดมาตราใน พ.ร.บ.สัญชาติรับรองสิทธิที่จะมีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ก็ไม่อาจทำให้การขจัดปัญหาความไร้สถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมือง ตลอดจนปัญหาความไร้สัญชาติของโฉ่สิ้นสุดลง คงต้องมี “การมีส่วนร่วมเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย” ของคนจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่เจ้าของปัญหา คนรอบตัวของเจ้าของปัญหา ตลอดจนผู้รักษาการตามกฎหมายต่างๆ โฉ่จึงจะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเป็นคนที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือต่อมาเป็นคนสัญชาติไทยได้ หรือแม้จะกลับไปพิสูจน์สิทธิในสัญชาติเมียนมาโดยหลักดินแดนโดยการเกิด ผู้เขียนคำนิยมจึงอยากจะเห็นคุณแมวและชาวคลินิกกฎหมายโรงพยาบาลอุ้มผางยังคงเล่าเรื่องของการเดินจูงมือโฉ่เพื่อหารือผู้รักษาการตามกฎหมายในทุกระดับอยู่ต่อไป เพื่อวันหนึ่งในอนาคต โฉ่จะมีสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายในสถานการณ์ทั่วไปที่สมบูรณ์อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

อาจารย์ ดร.ดรุณี อธิบายเพิ่มเติมว่า “บุคคลเป้าหมายของการทำงานมีอยู่แค่ ๔ กลุ่ม กล่าวคือ (๑) ชาติพันธุ์ ติดแผ่นดิน ชาวดอย (๒) คนที่เข้ามานานแล้ว (๓) บุตรของคนดังกล่าว (๔) คนไร้เอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐเจ้าของตัวบุคคล” ซึ่งเป้าหมายในเชิงวิธีวิทยาของงานในบริบทนี้ ก็คือ “ความพยายามที่จะตามดูว่า คน ๔ กลุ่มนี้ประสบปัญหาอะไรบ้าง ? และความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหามีหรือไม่ ? ตลอดจนอุปสรรคที่ขัดขวางความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหาคืออะไรกันแน่ ?”

เมื่ออ่านต้นฉบับของหนังสือฉบับนี้แล้ว ผู้เขียนคำนิยมก็นึกกลับไปถึงงานเขียนเพื่อหนังสือของคุณภาสกร จำลองราช เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งผู้เขียนคำนิยมไม่ได้เขียนคำนิยม แต่เขียนเป็นบทส่งท้าย[8] ให้แก่งานเขียนของคุณภาสกรที่ออกแนวของเรื่องเล่าการถูกละเมิดสิทธิหรือการเข้าไม่ถึงสิทธิของคนรากหญ้าเช่นกัน งานในลักษณะนี้จะสร้างพลังในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้ จัดเป็นงานที่ปรากฏตัวทำหน้าที่ของ “อัยการภาคประชาชน” ได้เลย กระบวนการยุติธรรมตามธรรมชาติมักเกิดขึ้นจากงานในลักษณะนี้ ดังนั้น ความน่านิยมของหนังสือเล่มนี้จึงน่าจะเป็นพลังที่จะเกิดขึ้นของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการจัดการสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่เหล่าคนรากหญ้าที่ยังประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในวันนี้

ในประการที่สอง ผู้เขียนคำนิยมชอบแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมซึ่งปรากฏอยู่ในชื่อของโครงการ กล่าวคือ “โครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสุขภาวะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยกระบวนการมีส่วนร่วม” เมื่ออ่านเรื่องราวที่เล่าในหนังสือเล่มนี้ เราจะพบว่า ในเรื่องไหนที่การมีส่วนร่วมทำงานระหว่าง (๑) เจ้าของปัญหา (๒) ผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหา และ (๓) ผู้รักษาการตามกฎหมาย เรื่องนั้นย่อมจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาสิทธิให้แก่เจ้าของปัญหาไม่มากก็น้อย แต่หากในเรื่องใดที่เจ้าของปัญหายอมลุกขึ้นแสวงหาพยานหลักฐานในข้อกล่าวอ้างสิทธิของตัวอย่างเต็มที่ ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้นเช่นกัน และในเรื่องราวที่ผู้รักษาการตามกฎหมายลงมามีส่วนร่วมในการแสวงหาพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิให้แก่เจ้าของปัญหาอีกด้วยแล้ว เรื่องราวของความสำเร็จในการพัฒนาสิทธิก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง

เรื่องเล่ากลุ่มหนึ่งที่ผู้เขียนคำนิยมอ่านอย่างมีความรู้สึกร่วมมากที่สุด ก็คือ เรื่องเล่าจากคุณเพ้งชาติชายถึงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ระนอง ผู้เขียนคำนิยมรู้จักคุณเพ้งมานับ ๑๐ ปี ในภาพของทนายความที่ช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติมาตลอด ในห้องสนทนาบนเฟซบุ๊ตถึงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนรากหญ้าที่คุณเพ้งหยิบยกมาศึกษาภายใต้โครงการที่ดูแลโดยอาจารย์ ดร.ดรุณี ครั้งนี้ เราได้มีโอกาสรำลึกความหลังถึงเหตุการณ์ในราว พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งเรามีโอกาสได้รู้จักคุณสุรินทร์ รุ่งเรือง ผู้ช่วยนายทะเบียนเทศบาลเมืองระนอง ซึ่งคุณเพ้งเล่าว่า มิตรภาพซึ่งคุณเพ้งมีกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าวส่งผลดีต่อการทำงานในเวลาต่อๆ มาของคุณเพ้งในพื้นที่อย่างมากมาย มิตรภาพดังกล่าวส่งผลให้การทำงานระหว่างคุณเพ้งและท่านเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างอบอุ่น ฉันท์มิตร ราบรื่น และมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างแรกของงานบนถนนแห่งมิตรภาพกับคุณสุรินทร์ที่คุณเพ้งเล่าถึง ก็คือ กรณีการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นายโมบาลัด[9] ซึ่งเกิดในอำเภอระนองเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ จากบุพการีซึ่งเป็นคนที่เกิดในประเทศเมียนมาแต่อพยะเข้ามาเป็นแรงงานไร้ฝีมือในประเทศไทย แต่เขาตกหล่นจากการจดทะเบียนคนเกิดอย่างครบขั้นตอนทั้งตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาและรัฐไทย แม้บุพการีจะพิสูจน์สัญชาติเมียนมาร์ได้สำเร็จในเวลาต่อมา แต่โมบาลัดก็ยังประสบปัญหาความไร้สัญชาติต่อไปด้วยว่า เขาขากพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า เป็นบุตรของบิดาและมารดาสัญชาติเมียนมา ซึ่งเกิดในประเทศไทย ดังนั้น ด้วยการระดมความคิดระหว่างคุณเพ้งและคุณสุรินทร์ ทางออกที่สำคัญของโมบาลัดก็คือ การขอทำหนังสือรับรองการเกิด ประเภท ๒๐/๑ ต่อนายทะเบียนราษฎรที่มีอำนาจหน้าที่ในท้องที่ที่เกิด[10] ความร่วมมือเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและรับรองข้อเท็จจริงนี้จึงเกิดขึ้นระหว่างคนสี่ฝ่าย (๑) โมบาลัด ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา (๒) คุณเพ้ง ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหา (๓) บุคคลที่รู้เห็นการเกิดของโมบาลัดเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งมีไม่มากนัก เพราะเป็นการเกิดในระหว่างที่บิดาและมารดายังมีสถานะเป็นคนผิดกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งมาแอบซ่อนทำงานในตลาดเมืองระนอง และ (๔) คุณสุรินทร์ ซึ่งทำหน้าที่รักษาการตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในระดับท้องถิ่น แม้การทำงานบนการมีส่วนร่วมนี้จะมีอุปสรรคมากมาย และใช้เวลายาวนาน แต่ก็บรรลุถึงเป้าหมายที่รัฐไทยจะรับรองใครคนหนึ่งที่เคยเกิดในประเทศไทยเมื่อกว่า ๑๙ ปีมาแล้ว เพื่อที่เขาจะสามารถกลับสู่ทะเบียนราษฎรของรัฐต้นทาง และได้รับการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติในที่สุด โดยกฎหมายสัญชาติของรัฐต้นทางเอง เรื่องราวที่สวยงามนี้จึงเป็น “ต้นแบบของความสำเร็จบนงานยากมาก” ผู้เขียนคำนิยมเสียดายที่การเล่าเรื่องมิตรภาพนี้ไม่ปรากฏมากนักในหนังสือ ทั้งที่เป็นความโดดเด่นมากของงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายของคุณเพ้ง และเป็นหัวใจของงานนี้มิใช่หรือ ?

อีกตัวอย่างที่คุณเพ้งเล่าถึงงานบนมิตรภาพกับคุณสุรินทร์ ซึ่งทำหน้าที่ผู้รักษาการตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรสำหรับการจดทะเบียนบุคคลในพื้นที่ที่ดูแลโดยเทศบาลระนอง ก็คือ กรณีการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ “ลุงอู๊ด” หรือ นายอู๊ด มากเนียม[11] ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๙ ที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และต่อมา ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๓ จะเห็นว่า ลุงเอู๊ดเกิดก่อนระบบการทะเบียนราาฎรของรัฐไทยที่ปรากฏตัวใน พ.ศ.๒๔๙๙ และลุงอู๊ดก็ถือบัตรประชาชนที่แสดงสิทธิในสัญชาติไทยรุ่นก่อนระบบที่จะมีการปรับฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปัญหาก็คือ เมื่อมีฐานข้อมูลราษฎรของรัฐไทยเป็นอิเล็กทรอนิกส์ ชื่อของลุงอู๊ดได้ตกหล่นไป การสืบค้นข้อเท็จจริงว่า ลุงอู๊ดเป็นราษฎรไทยประเภทคนสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในยุคที่เป็นกระดาษระหว่างคุณเพ้งและคุณสุรินทร์จึงเกิดขึ้น ในเรื่องเล่านี้ คุณเพ้งพูดถึงคุณสุรินทร์มากขึ้น เห็นการมีส่วนร่วมระหว่างคุณเพ้งและคุณสุรินทร์มากขึ้น แต่ในตอนจบของเรื่อง คุณเพ้งไม่ได้เล่าอย่างชัดเจนว่า คุณสุรินทร์ตัดสินใจเสนอให้นายอำเภอเมืองเพิ่มชื่อลุงอู๊ดในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ณ เทศบาลเมืองระนอง อันเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของลุงอู๊ดหรือไม่ อะไรกันแน่ที่ยังเป็นอุปสรรคของการกระทำเช่นนั้น ? แล้วทั้งสองท่านตัดสินใจทำอย่างไรต่อไปในเรื่องนี้

ในท้ายที่สุดจากหลายเรื่องที่ผู้เขียนคำนิยมคุยกับคุณเพ้ง เธอผู้นี้ให้ความเห็นว่า “การมีส่วนร่วมทั้งจาก legal comment ที่ส่งไปยังส่วนกลางและท้องถิ่น หรือเมื่อมีหนังสือจากส่วนกลางลงไปยังพื้นที่ ทำให้เจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งมั่นใจในการทำงานมากขึ้น แม้จะมีเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ทำจนแล้วเสร็จ หรือแจ้งความขัดข้องกับมา” นั่นก็คือ การเชื่อมแนวคิดระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ในภาคราชการเอง ก็เป็นการมีส่วนร่วมที่ควรจะมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้เขียนคำนิยมก็เห็นด้วย ในยุคที่ผู้บริหารราชการส่วนกลางมีความเอาใจใส่ที่จะชี้ขาดเรื่องที่เป็นปัญหา ตลอดจนเอาใจใส่ต่อการปฏิรูปข้อกฎหมายและข้อนโยบายให้ทันต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป การอำนวยความยุติธรรมในเรื่องการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น และไม่ล่าช้ามากนัก สำหรับสังคมของภาคราชการไทย การขยับในส่วนหัวนั้นมีพลังค่อนข้างมาก และเมื่อเกิดการมีส่วนร่วมในภาคราชการตลอดสาย การทำงานก็จะเป็นไปได้อย่างดีที่สุด

สำหรับผู้เขียนคำนิยมแล้ว ด้วยประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่จังหวัดตากและระนองมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเกือบ ๓๐ ปี การมีส่วนร่วมระหว่างภาคประชาชน ภาควิชาการ และภาคราชการ มีความเป็นไปได้ไม่มากก็น้อย แต่สำหรับการทำงานในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งผู้เขียนคำนิยมขาดการศึกษาในช่วงเวลา ๕ ปีหลัง จึงไม่อาจสรุปสถานการณ์ด้านการมีส่วนร่วมในพื้นที่ดังกล่าว แต่เมื่ออ่านเรื่องเล่าถึงนายพงษ์พัฒน์ ไม่มีนามสกุล โดยครูวีระชัยและคุณกิ่งแก้ว ผู้เขียนคำนิยมก็รู้สึกสงสัยว่า สถานการณ์ด้านทัศนคติของผู้รักษาการตามกฎหมายในอำเภอแม่สะเรียงนั้นเป็นเช่นใดกันแน่ ? ครูวีระชัยเล่าว่า พงษ์พัฒน์เกิดเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๔ นอกโรงพยาบาล ณ บ้านห้วยเดื่อ ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านเสาหิน อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีหมอตำแยสัญชาติไทยประจำหมู่บ้านรับเป็นพยานบุคคลให้ เพราะเธอผู้นี้ทำคลอดพงษ์พัฒน์และน้องๆ ด้วยตัวเอง จะเห็นว่า คำพยานบุคคลในลักษณะนี้จัดเป็นพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือเพื่อรับรองการคลอดในประเทศไทยได้ แต่การเริ่มต้นนับหนึ่งสำหรับพงษ์พัฒน์ในระดับการทำหนังสือรับรองการเกิดประเภท ๒๐/๑ โดยนายทะเบียนราษฎรที่มีอำนาจหน้าที่ในระดับอำเภอก็ยังทำไม่ได้อยู่ดี เมื่อปัญหาในเชิงข้อเท็จจริงก็ไม่มี และเมื่อปัญหาในเชิงข้อกฎหมายและข้อนโยบายก็ไม่มี จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า อะไรกันแน่ คืออุปสรรคในการมีส่วนร่วมเพื่อขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่พงษ์พัฒน์ ซึ่งน่าจะเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ในสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนอำเภอไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ในเวลาอันสมควร ทางออกของปัญหาก็คือ การร้องขอให้มีการมีส่วนร่วมระหว่างเจ้าของปัญหาและศาลปกครองนั่นเอง ความล่าช้าในการทำหนังสือรับรองการเกิดในสถานการณ์นี้ไม่น่าจะเกิด ๙๐ วัน และการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรก็ไม่น่าจะเกิด ๑๐๐ วัน หากมีความล่าช้ามากไปกว่านี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐในสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ก็น่าจะมีความผิดตามมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ตลอดจนเรื่องราวนี้ก็จะนำนายอำเภอแม่สะเรียงเข้าสู่ความรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.การอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘[12] ขอให้ตระหนักกันว่า การใช้สิทธิของพงษ์พัฒน์ในการทำหนังสือรับรองการเกิดครั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่นำไปสู่การมีส่วนร่วมที่มาตรา ๒๐/๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ กำหนดให้เกิดขึ้นระหว่างนายอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งทำหน้าที่ผู้รักษาการตามกฎหมาย และพงษ์พัฒน์ เจ้าของปัญหาในลักษณะนี้ ดังนั้น เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.๒๕๕๘ การจัดสิทธิในหนังสือรับรองการเกิดนี้จึงเป็นข้อบังคับเด็ดขาดที่อำเภอแม่สะเรียงจะต้องออกมาอธิบายถึงอุปสรรคที่ทำให้การรับคำร้อง ตลอดจนการสอบปากคำตามคำร้องเกิดขึ้นในเวลาอันสมควรไม่ได้ และอาจจะต้องอธิบายต่อไปถึงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อขจัดปัญหาความไร้สัญชาติของพงษ์พัฒน์ที่ยังไม่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งเป็นวันที่พงษ์พัฒน์เริ่มทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑[13]

ในประการที่สาม ผู้เขียนคำนิยมสัมผัสในอารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่า และ “คน” ที่ปรากฏตัวในแต่ละเรื่องเล่า จะเห็นว่า เรื่องราวของแรงบันดาลใจของคนในเรื่องเล่ากลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่าเรื่องราวของปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เล่าในแต่ละเรื่อง การโต้ตอบของแต่คนในแต่ละเรื่องเล่าเป็นจุดเด่นมากกว่า ผู้เขียนคำนิยมมิได้มองข้ามความสำคัญของปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เล่าขึ้นมา แต่ผู้เขียนคำนิยมเห็น “พลังใจ” ของคนในเรื่องเล่า เป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าหยิบยกมาชวนคิดมากกว่า คุณสรินยา ซึ่งทำหน้าที่บรรณาธิการของหนังสือฉบับนี้ มีความเห็นด้วยกับผู้เขียนคำนิยมว่า จุดเด่นของหนังสือปรากฏที่คนเล่าแต่ละคน ซึ่งเล่าถึงสถานการณ์ที่แตกต่างในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีอยู่ ๓ พื้นที่ ซึ่งคุณสรินยาเห็นว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นประโยชน์มากสำหรับกลุ่มเป้าหมายของหนังสือ ทั้งคนทำงานช่วยเหลือและคนที่เป็นเจ้าของปัญหาที่จะเลือกวิธีการให้เหมาะกับตัวเองและสถานการณ์พื้นที่ตัวเองได้

ผู้เขียนคำนิยมจึงตั้งคำถามขึ้นในห้องสนทนากับคนทำงานหนังสือเล่มนี้ โดยเฉพาะต่อเหล่าผู้เล่าเรื่องในหนังสือว่า (๑) เรื่องเล่าเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่ออะไร ? (๒) ใครที่ผู้เขียนเรื่องเล่าต้องการคุยด้วย ? (๓) ข้อสรุปของทุกเรื่องเล่าคืออะไร ? และ (๔) แล้วตกลงผู้เล่าเรื่องอยากจะตั้งชื่อหนังสือว่าอะไร ? ด้วยความคิดที่ว่า ความในใจของคนในพื้นที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ควรเขียนถึง

ผู้เล่าเรื่องที่ผู้เขียนคำนิยมเรียกร้องมากที่สุดที่จะคุยด้วย ก็คือ “คุณเพ้ง” หรือ คุณชาติชาย อมรเลิศวัฒนา ซึ่งทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนที่มีปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย และเข้าร่วมในโครงการของอาจารย์ ดร.ดรุณี ในครั้งนี้ จึงเป็นหนึ่งในผู้เล่าเรื่อง ในการอ่านแต่ละเรื่องเล่าของคุณเพ้ง ผู้เขียนคำนิยมมีความสนใจที่จะหารือกับคุณเพ้งมากที่สุด เพราะคุณเพ้งเขียนหลายเรื่อง จึงเห็นมุมความคิดรอบด้านและชัดเจน ผู้เขียนคำนิยมจึงอยากรับฟังการถอดบทเรียนของคุณเพ้งในภาพรวมของงานเรื่องเล่านี้ด้วย คุณเพ้งชาติชายตอบผู้เขียนคำนิยมว่า “งานที่ทำและเขียนลงไปนั้น ผมปรารถนาให้เป็นแบบอย่าง ตัวแทนในการแก้ไขปัญหาที่คนอื่นจะพบเจอในสถานการณ์เดียวกันในพื้นที่อื่น”

เป็นที่น่าเสียใจที่ผู้เขียนคำนิยมไม่มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับ “ครูวีรชัย” หรือ คุณวีระชัย รักธรรมเนียม ซึ่งทำงานในแผนกกลุ่มชาติพันธุ์ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคมแผนกกลุ่มชาติพันธุ์ สังฆมณฑลเชียงใหม่ และเป็นผู้เล่าเรื่องอีกคนหนึ่ง แต่ปัญหาคือครูอยู่ในหมู่บ้านซึ่งการติดต่อทางอินเทอร์เน็ตทำไม่ได้อย่างสะดวกนัก ซึ่งก็เป็นธรรมดาของความยังไม่เจริญทางเทคโนโลยีสารสนเทศมากนักในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ในประการที่สี่ ผู้เขียนคำนิยมพบว่า เรื่องราวการเข้าไม่ถึงสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของแต่ละเรื่องเล่าก็เป็นเรื่องเก่าๆ ที่มีข้อกฎหมายและข้อนโยบายที่ค่อนข้างชัดเจน เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังเกิดมีปัญหาสิทธิมนุษยชนแก่คนรากหญ้าที่เป็นกรณีศึกษาอยู่อีก ผู้เขียนคำนิยมสังเกตเห็นว่า ปัญหาที่แต่ละเจ้าของปัญหาต้องเผชิญมี ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาเหตุของปัญหาไม่มีพยานหลักฐานที่ผู้รักษาการตามกฎหมายยอมรับ และ (๒) ผู้รักษาการตามกฎหมายไม่ยอมรับปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัติตามอย่างล่าช้า หรือเรียกร้องสร้างภาระให้แก่เจ้าของปัญหามากกว่าที่กฎหมายและนโยบายกำหนด ดังนั้น ผู้เขียนคำนิยมถามถึงการตอบโต้ต่อปัญหาทั้งสองต่อผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจารย์ ดร.ดรุณีก็เล่าให้ทราบว่า มีการทำหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อหารือหรือโต้แย้งการกระทำหรือการไม่กระทำของผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งความเห็นทางกฎหมายนี้จะเป็นงานที่จะรวบรวมและเผยแพร่ออกมาในหนังสืออีกเล่มหนึ่ง งานในส่วนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของตัวอาจารย์ ดร.ดรุณีเอง และ “คุณชมพู่” หรือ คุณกรกนก วัฒนภูมิ

นอกจากนั้น ขอบเขตทางเวลาของการทำงานภายใต้โครงการที่สนับสนุนโดย สสส. นี้มีอยู่แค่ ๘ – ๙ เดือน ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงฉายภาพได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งของเรื่องราว ซึ่งในหลายเรื่อง อาจจะปรากฏความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาก่อนการสิ้นสุดของโครงการ แต่ในหลายเรื่องราว ก็ยังมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาต่อไปในพื้นที่ และด้วยว่า ผู้เล่าเรื่องในพื้นที่ศึกษาทั้งหมด ก็เป็นคนในพื้นที่ เรื่องราวของความพยายามแก้ไขปัญหาจึงดำเนินต่อไป แม้หนังสือเล่มนี้จะปิดเล่มลงแล้วก็ตาม

ในประการที่ห้า ผู้เขียนคำนิยมพบว่า เนื้อหาของเรื่องราวในหนังสือดูกระจัดกระจายมาก และหลายเรื่องยังไม่มีตอนจบ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะสรุปได้ในเรื่องราวที่ยังไม่มีบทสรุป ก็คือ คนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ศึกษามีปัญหาสิทธิมนุษยชนในหลายเรื่อง และยังประสบทุกขภาวะอย่างไม่เห็นจุดสิ้นสุด ซึ่งคุณต้องสรินยา ซึ่งทำหน้าที่บรรณาธิการ ยังชี้ให้เห็นสาเหตุที่ทำให้เนื้อหาของหนังสือดูหลากหลายและกระจัดกระจายว่า “เคสปัญหาเดียวกัน แต่สถานะคนทำงานต่างกัน (ข้าราชการ/ทนายความ/NGO) ส่งผลถึงความยากง่ายของเคสต่างกันเห็นๆ แม้จะ กม.เดียวกันแท้ๆ อันนี้น่าจะช่วยให้กำลังใจและแนวทางสำหรับคนอ่านที่เป็นคนธรรมดาๆ ไม่มีตัวช่วยได้เยอะเลยค่ะ แต่แน่นอนมันอาจไม่สมบูรณ์นัก และทำให้ดูเหมือนกระจัดกระจาย ส่วนหนึ่งอาจเพราะโครงการให้อิสระกับผู้เขียนในแต่ละพื้นที่ในการเลือกบางเคสที่ให้ความช่วยเหลือมาบันทึกเป็นเรื่องเล่านี้ รวมทั้งเรื่องเวลาของโครงการที่นอกจากยังไม่สามารถบันทึกเคสให้เสร็จสิ้นกระบวนการช่วยเหลือแล้ว ยังไม่พอให้คนเล่าเรื่องสามารถบันทึกเคสตามที่วางแผนไว้ได้ทันทั้งหมดเพราะทั้ง ๓ พื้นที่ต้องไปทุ่มเวลาที่เหลือช่วงท้ายๆ กับการติดตามช่วยเหลือเคส ซึ่งโครงการให้ความสำคัญมากกว่า มันเลยดูเหมือนขาดหายหรือกระจัดกระจาย

ผู้เขียนคำนิยมจึงขอให้เหล่าผู้อ่านตระหนักว่า ในเรื่องเล่าที่ยังไม่จบเหล่านี้ ก็อาจจะจบลงได้อย่างแสนสุข หากเหล่าผู้อ่านลุกขึ้นมาช่วยกันเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมให้แก่เจ้าของปัญหาตามเรื่องเล่าที่ยังประสบปัญหาความไร้สิทธิอันจำเป็นสำหรับชีวิตที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในประการที่หก ผู้เขียนคำนิยมสังเกตเห็นการใช้ถ้อยคำทางกฎหมายหลายคำ มิได้ใช้อย่างที่เป็นไปในทางปฏิบัติของปกติประเพณีที่ใช้กันในวงการนิติศาสตร์ไทย หรือระหว่างประเทศ แต่ก็เป็นคำที่ก็น่าจะสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้ผู้อ่านได้ระดับหนึ่ง อาทิ คำว่า "สิทธิในการมีสถานะบุคคลตามกฎหมาย" นั้น ถ้าตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก สิทธิที่ว่านี้ น่าจะถูกเรียกว่า right to recognition of legal personality ภาษาไทยจึงน่าจะเป็น "สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย" นอกจากนั้น งานครั้งนี้พยายามที่จะสร้างความรับรู้ต่อสังคมไทยในสิทธิในการพัฒนา (Right to Development) และสิทธิในการมีส่วนร่วม (Right to Development) ในการพิสูจน์สิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายอีกด้วย ความกล้าหาญที่จะทำงานเชิงลึกนี้เป็นสิ่งที่ดี จึงมีความจำเป็นที่จะสื่อสารความรู้กฎหมายว่าด้วยการจัดการสิทธิออกไปอีกด้วย ในส่วนนี้ ผู้เขียนคำนิยมก็ตระหนักดีว่า หนังสือเล่มนี้มิได้มุ่งที่จะทำหน้าที่ตำรากฎหมายและนโยบายว่าด้วยการรับรองสิทธิและสถานะบุคคลตามกฎหมายของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ แต่ผู้เขียนคำนิยมก็มีความเห็นว่า การส่งผ่านความรู้ทางกฎหมายและนโยบายก็เกิดขึ้นได้ในการอ่านหนังสือเล่มนี้ ดังนั้น การส่งผ่านถ้อยคำที่ถูกต้อง และสร้างความเข้าใจแก่ผู้อ่าน ก็น่าจะเป็นสิ่งที่บรรณาธิการไม่ควรละเลยมิใช่หรือ

ในประการที่เจ็ดและเป็นประการสุดท้าย ผู้เขียนคำนิยมสัมผัสอะไรบางอย่างในงานหนังสือครั้งนี้แต่ไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกออกมาได้ มิใช่ครั้งแรกที่ผู้เขียนคำนิยมรับเขียนคำนิยมเพื่อหนังสือของทีมงานของอาจารย์ ดร.ดรุณี แต่ในครั้งนี้ ผู้เขียนคำนิยมยังไม่ค่อยพอใจในงานเขียนคำนิยมครั้งนี้เท่าใดนัก ยังไม่อยากจบงานเขียนคำนิยมครั้งนี้เลย อีกหลายสิ่งที่ยังเข้าใจได้ไม่หมด และคิดว่า คนทำงานเองก็มีความลึกซึ่งในหัวใจที่บอกกล่าวออกมาไม่ได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม คุณแก้ว บรรณาธิการบริหาร ก็ส่งสัญญานของเวลาที่หมดลง ด้วยหนังสือจะต้องขึ้นแท่นพิมพ์แล้ว ยังมีสิ่งที่รู้สึกลึกๆ ด้วยการแลกเปลี่ยนกับ “คุณตี๋” หรือ คุณชุติ งามอุรุเลิศ ซึ่งทำหน้าที่ผู้ประเมินผลชุดโครงการใหญ่ ซึ่ง อาจารย์ ดร.ดรุณี ดูแล ในครั้งนี้ ผู้เขียนคำนิยมจึงตระหนักในอุปสรรคหลายอย่างที่ทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างยากลำบาก อุปสรรคเกิดขึ้นในทุกทิศทาง แม้จากบรรยากาศของประเทศไทยที่เปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยเต็มใบ สู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ยังมีปัญหาทัศนคติในการจัดการปัญหาอีกด้วย ซึ่งอุปสรรคจาก ๒ ธรรมชาติของเรื่องนี้ อาจมิใช่เรื่องที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรได้ง่ายๆ จริงอยู่ ความงดงามของงานครั้งนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องของการถอดบทเรียนในการขับเคลื่อนงานบนอุปสรรค ผู้เขียนคำนิยมเชื่อว่า ผู้อ่านคนต่อไปคงจะตระหนักในการอ่านเรื่องเล่าทั้งหมดทั้งที่เป็นตัวอักษร และเป็นความเข้าใจได้ระหว่างตัวอักษร ในความเป็นจริง สำหรับเจ้าของปัญหาและคนทำงานจริงบนพื้นที่ด้วยตัวเอง พวกเขาตระหนักได้ดีว่า อะไรคืออุปสรรคของงานในพื้นที่ ? และอะไรคือพลังที่ทำให้ยังขับเคลื่อนในอุปสรรคได้ต่อไป ?

โดยสรุป การที่ “คุณแจง” หรือ คุณฐิตินบ โกมลนิมิ ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ให้ว่า "คนเริ่มต้น" หรือ “‘คน’ เริ่มต้น” ก็น่าจะถูกต้อง แต่อาจจะต้องกล่าวอธิบายต่อไปให้ชัดเจนว่า ในการจัดการสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Recognition of Legal Personality) ทั้งในสถานการณ์ทั่วไปและพิเศษนั้น เรื่องของ “การมีส่วนร่วม” ระหว่าง “คนเริ่มต้น” และ “ผู้รักษาการตามกฎหมาย” เป็นสิ่งที่จำเป็น ถ้าเจ้าของปัญหาไม่ลุกขึ้นสู้ การเปิดพื้นที่เพื่อพัฒนาสิทธิตามกฎหมายกับผู้รักษาการตามกฎหมาย ก็คงเริ่มต้นไม่ได้ เมื่อการเปิดพื้นที่พิสูจน์สิทธิระหว่างเจ้าของปัญหาและผู้รักษาการตามกฎหมายทำได้แล้ว เราก็คงต้องตระนักต่อไปว่า ความสำเร็จของการต่อสู้ของเจ้าของปัญหาขึ้นอยู่กับโอกาสที่พวกเขาจะได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิตามธรรมชาติที่พวกเขากล่าวอ้าง การรับรองสิทธิในการพัฒนา (Right to Development) และการรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วม (Right to participation) จึงเป็นโอกาสที่เจ้าของปัญหาจะได้รับความยุติธรรม เมื่อพื้นที่พัฒนาสิทธิอย่างมีส่วนร่วมไม่เกิด เหล่าเจ้าของปัญหาก็จะเข้าไม่ถึงสิทธิในความยุติธรรม (Right to Justice)

ในวันนี้ที่กฎหมายไทยในปัจจุบันรับรองทั้งสองสิทธิในบริบทของการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายแล้วอย่างเข้มขัน ความไม่สำเร็จจึงมีสาเหตุเพียงเพราะเจ้าของปัญหา ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิไม่มีความรู้ในการจัดการสิทธิและไม่มีความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นใช้สิทธินั่นเอง ดังนั้น ภารกิจของผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหาจึงได้แก่การสร้างศักยภาพทั้งสองนี้ให้แก่เจ้าของปัญหา ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็น่าจะมีภารกิจทั้งสองประการนี้ใช่หรือไม่ ? ผู้เขียนคำนิยมจึงขอแสดงความนิยมต่อคนที่มีส่วนร่วมในการทำหนังสือเล่มนี้ทุกคน ขอบคุณค่ะ

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ผู้อ่านคนแรก

๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙


[1] โครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสุขภาวะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยกระบวนการมีส่วนร่วม ภายใต้ชุดโครงการพัฒนาและขับเคลื่อนองค์ความรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาวะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ

[2] โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ย่อมหมายถึง (๑) รัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคล (๒) รัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของบุคคล และ (๓) รัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของบุคคล

[3] จันทราภา จินดาทอง, เรื่องเล่าของโฉ่ : หญิงผู้เป็นมารดาของบุตรสัญชาติไทย, งานเขียนเพื่อถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลของบุคคลบนพื้นที่สูงที่เกิดนอกประเทศไทย, งานเขียนจากงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย กรณีศึกษาที่ ๑๗ ของพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก (กรณีศึกษาที่ ๕๗ ของโครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสุขภาวะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยกระบวนการมีส่วนร่วม), เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๘

[4] เป็นไปตามมาตรา ๕๔ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

[5] เป็นไปตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

[6] เป็นไปตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

[7] เป็นไปตามมาตรา ๑๐ – ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

[8] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ท่ามกลางน้ำตานองหน้าของปวงประชาผู้ยากไร้.....ช่างน่าอายที่จะนิ่งเฉย, บทความเพื่อบันทึกความคิดหลังจากอ่านงานเขียนจำนวนหนึ่งของภาสกร จำลอง ...สื่อเพื่อสิทธิมนุษยชน, เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๓, เผยแพร่เป็นบทความปิดเล่มของ Pocket Book ชื่อ “คนชายข่าวคนชายขอบ”, ซึ่งรวบรวมบทความ ๒๐ เรื่อง,จัดพิมพ์โดยโครงการสื่อสารสุขขภาวะของคนชายขอบฯ, พิมพ์รวมเล่มครั้งที่ ๑ เมิ่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๓,ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), พิมพ์โดบโรงพิมพ์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์

http://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=456918208833

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=530&d_id=529

[9] ชาติชาย อมรเลิศวัฒนา, โมบาลัด ... บุตรแรงงานสัญชาติพม่าที่ต้องการมีหนังสือรับรองการเกิด ท.ร.๒๐/๑, งานเขียนเพื่อถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาสิทธิในการขอแจ้งเกิดเกินกำหนดเพื่อพิสูจน์สัญชาติของลูกแรงงานต่างด้าว, งานเขียนจากงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย กรณีศึกษาที่ ๑๑ ของพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดระนอง (กรณีศึกษาที่ ๒๗ ของโครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสุขภาวะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยกระบวนการมีส่วนร่วม), เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘

[10] เป็นไปภายใต้มาตรา ๒๐/๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

[11] ชาติชาย อมรเลิศวัฒนา, ลุงอู๊ด มากเนียม ... คนไทยหายไปจากทะเบียนราษฎร, งานเขียนเพื่อถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาสิทธิในการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนราษฎร, จากงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย กรณีศึกษาที่ ๒๑ ของพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดระนอง (กรณีศึกษาที่ ๔๙ ของโครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพิสูจน์และพัฒนาสิทธิในสุขภาวะของผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยกระบวนการมีส่วนร่วม), เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๘

[12] โปรดดู ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๔ ก ลงวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘

[13] ทั้งนี้ เพราะ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ดังนั้น จึงเริ่มมีผลในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ อันมีผลให้อำเภอแม่สะเรียงมีหน้าที่ที่จะต้องใช้มาตราดังกล่าวนี้ขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่บุคคลเป้าหมายของมาตรานี้ ซึ่งพงษ์พัฒน์ก็เป็นหนึ่งในบุคคลเป้าหมายของมาตรา ๒๓ หากข้อเท็จจริงที่เขากล่าวอ้างเป็นจริง และหากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องจริง เขาก็คือ “คนต่างด้าวเทียม” ของประเทศไทย อำเภอแม่สะเรียงจึงมีหน้าที่เข้ารับรองข้อเท็จจริงของเขา หลังจากการตรวจสอบตามขั้นตอนตามกฎหมายวิธีพิจารณาความปกครองทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งในเรื่องนี้มีหนังสือสั่งการของทั้งกระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครองอย่างชั้นเจน



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท