Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กลับมาอ่านบันทึกเดิมเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ "​ลาวอพยพซึ่งอาจไม่ใช่ลาวอพยพ" .. สถานการณ์ที่ยังไม่ขยับแม้ปีนี้ ๒๕๕๙ แล้ว


ลาวอพยพซึ่งอาจไม่ใช่ลาวอพยพ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งปรับปรุงเมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙

-----------------------------------------------------

วันนี้ นั่งรื้อตั้งกระดาษ ไปเจอเรื่องของคนลาวอพยพที่มาร้องเรียนให้ไปช่วยเหลือ

แล้วลาวอพยพคือใคร ? โดยความเข้าใจพื้นฐานของคนทั่วไป ก็จะคิดว่า พวกเขาเป็นคนสัญชาติลาว อพยพมาจากประเทศลาว แล้วเข้ามาทำงานในประเทศไทย

แต่เมื่อเราโผล่หน้าไปทำความรู้จักกับพวกเขาอย่างจริงจัง เราจะพบว่า ความเป็นจริงอาจมีหลายลักษณะ กล่าวคือ

พวกแรกอาจจะเป็นคนสัญชาติลาวจริงๆ ที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐลาว แล้วอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือน และทำงานในประเทศไทย และมีจำนวนมากเลย ที่หลบหนีเข้าเมือง ในยุคนี้ ก็เรียกกันว่า "แรงงานลาว" ก็ได้ ก็มาทำงานนี่นา

พวกที่สองนั้นเป็นคนจากประเทศลาว แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรลาว และก็ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย อาการแบบนี้ เราเรียกว่า "คนไร้รัฐ (Stateless)"

พวกที่สาม ก็มาจากลาว และก็ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรลาวอีกนั่นแหละ แต่ได้รับการบันทึกไว้ในทะเบียนราษฎรไทย ประเภท ทร.๑๓ ก็เลยไม่ไร้รัฐ เพราะประเทศไทยยอมรับเป็น "รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)" มีสถานะเป็น "ราษฎรไทย" แต่ก็ยัง "ไร้สัญชาติ (Nationalityless) อยู่ดี

พวกที่สี่ เป็นคนที่อาศัยตามแนวชายแดนไทยลาวนี่เอง ไม่เคยข้ามไปฝั่งลาว แต่ตอนเกิด พ่อแม่ไปได้ไปแจ้งเกิดให้ที่อำเภอ พอโตมา ก็เดินไปแจ้งเกิดให้ตัวเองย้อนหลัง อำเภอก็ไม่เชื่อ หาว่า เป็นคนลาวอพยพ บางราย มีญาติพี่น้องเต็มอำเภอธาตุพนม แต่เจ้าหน้าที่อำเภอก็ลังเลที่จะเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรให้ กว่าจะพิสูจน์ได้ ก็เหนื่อยทีเดียว

คนสามกลุ่มหลังนี้ร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายมามาก ไปเยี่ยมก็หลายหนแล้ว ช่วยเหลือก็ไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่

นอกจากนั้น เรายังพบอีกว่า คนที่เราเรียกว่า "ลาวอพยพ" นั้น จำนวนไม่น้อยที่เป็น "คนไทลื้อ" อพยพลงมาจากจีน แล้วไปลาว แล้วต่อมาในประเทศไทย

ขอให้ตระหนักว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เห็นชอบจนเสนอเป็นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติไทยแก่คนถือบัตรลาวอพยพ ซึ่งประสบปัญหาความไร้สัญชาติที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทยแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ คงอีกนานทีเดียวที่พวกเขาจะพ้นจากความเป็นคนไร้สัญชาติได้ตามนโยบายนี้

------------

หมายเหตุ

------------

เมื่อกลับมาอ่านบันทึกนี้อีกครั้ง เกือบ ๑๐ ปี ต่อมา การจัดการปัญหาความไร้สัญชาติของคนถือบัตรลาวอพยพก็ขยับช้ามาก แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ มาเพิ่มเติมเพื่อกำหนดวิธีการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนให้แก่คนดังกล่าวอีกหนึ่งนโยบายก็ตาม

หมายเลขบันทึก: 604485เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2016 01:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2016 01:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท