จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๘ : "ลูกเอย แม่พอแล้ว" Part I


ในความรู้สึกลึกๆของคนที่มาเรียนแพทย์ แล้วก็ได้เป็นแพทย์ ทำงานใช้ชีวิตแบบแพทย์ส่วนหนึ่งก็เพราะงานของเรานั้น "ช่วยคน" คนที่กำลังทุกข์ ส่วนใหญ่ก็เริ่มจากทางกาย แต่ทุกข์นั้นก็จะค่อยๆลุกลามไปทางใจ ทางครอบครัวและสังคม บางคนก็ถึงกับไปกัดกร่อนจิตวิญญาณ ในงานแบบนี้ทำให้เกิดการบ่มเพาะเจตจำนงค์ของความเป็น "นักสู้ (fighter)" เกิดขึ้นมาด้วย เพราะบางเรื่องมันต้อง "ดัน" ด้วยทั้งกำลังกายและกำลังใจ ทำให้เราไม่ "ยอมแพ้" ง่ายๆ คนไข้และญาติๆโดยทั่วๆไปก็จะดีใจ วางใจ อุ่นใจ ที่เห็นหมอมีกำลังใจดี เพราะมักจะหมายถึง "ข่าวดี" ว่ายังมีความหวังอยู่

แต่ความเป็นจริงอีกประการหนึ่งคือ "คนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย"

ความจริงอันนี้อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกย้อนแย้งกับการจะมีความหวัง เพราะความหวังโดยทั่วๆไปในสิ่งมีชีวิตก็คือการอยู่รอด ก่อนจะมีความหวังเรื่องอื่นๆ ต้องรอดก่อน แล้วค่อยคิดเรื่องหิว เรื่องอยาก เรื่อง ฯลฯ ทั้งๆที่ความตายเป็นความจริงแท้แน่นอน แต่เราก็ไม่อยากจะเผชิญกับมันเพราะว่ามัน "ดับ" อะไรหลายๆอย่างที่เรามักจะต่อยอดให้กับชีวิตของเราได้ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่

ในฐานะที่ทำงานกับผู้ป่วยในระยะสุดท้ายและครอบครัวของท่านเหล่านี้มานานพอสมควร ก็อยากจะแชร์อะไรบางอย่างที่ได้เรียนรู้มาควบคู่กับการทำงาน เผื่อจะผ่อนหนักเป็นเบา เผื่อจะสานต่อความหวังและให้ความหมายอะไรเพิ่มเติมกับการมีและการใช้ชีวิต เมื่อเราเจอกับคนไข้ที่เอ่ยคำนี้ออกมา "ลูกเอย แม่พอแล้วนะ"

"ลูกเอย แม่พอแล้วนะ"

เมื่อไรก็ตามที่ได้ยินประโยคนี้ คนเราจะใจตก จิตตกแว่บลงเกือบจะในทันที รวมทั้งหมอด้วย เพราะมันเกิด sense ของการยอมแพ้ในประโยคนี้ สำหรับคนที่การ "ชนะ" มีความหมายมากเท่าไร การแพ้ย่อมต้องกระทบรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ส่วนสำหรับญาติพี่น้องแม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับการแพ้/ชนะ แต่ก็จะเกี่ยวกับการพรากจาก การสูญเสีย ที่แฝงอยู่ในประโยคนี้ แต่จริงๆแล้วยังมีบริบทอีกบางเรื่องที่ชวนให้เรามีพื้นที่คิด พูด และทำอะไรบางอย่างได้บ้าง ลองจำแนกแยกแยะเป็นสามเรื่อง ดังต่อไปนี้

  • จิตรับรู้ธรรม
  • แฝงคำซ่อนเร้น
  • เห็นไม่กระจ่าง

จิตรับรู้ธรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนสูงวัย ผ่านโลกมามาก จนกระทั่งเมื่อพูดว่า "พอ" ก็หมายความว่า "พอ" จริงๆ คนทั่วๆไปอาจจะเกิดความสงสัยว่ามีจริงเหรอ ที่ว่า "มีชีวิตพอแล้ว" น่าจะเป็นคำพูดโลกสวย หรือภาษาวรรณกรรมอะไรมากกว่ามั้ง จึงนำไปสู่การ "ไม่เชื่อ" ว่าพอก็คือพอ พยายามจะไปแก้ไข หรือแก้คำพูดนี้ให้เป็นอื่นที่ตรงกับความเชื่อของตนที่ว่า "ขอให้มีชีวิตต่อไปเรื่อยๆ" ให้ได้

ความเชื่อที่ว่าก็มีเหตุผล แต่ลองพิจารณาดูในบางบริบท คนบางคน "ใช้ชีวิต" อย่างมีอิสระ มีกำลัง สามารถเล่าเรื่องฉันมี ฉันเป็น ฉันสามารถได้เป็นอย่างดีมาตลอดทั้งชีวิต แต่เมื่ออายุอานามมากขึ้น เข้าสู่ความเสื่อมตามกฏธรรมชาติ ฉันก็เริ่มมีน้อยลง เป็นน้อยลง และสามารถน้อยลง จากเดิมที่เคยเป็นอิสระ เป็นนายของชีวิตตนเอง จะทำอะไรก็ทำ เป็นผู้ให้ เป็นผู้ชี้ทาง ก็ค่อยๆเปลี่ยนเป็นขาดความอิสระ ต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้น จะทำอะไรก็ทำไม่ได้ ทำไม่ไหว เป็นผู้ตาม และกลายเป็นผู้รับ ผู้พึ่งพา จนในที่สุดเริ่มมองว่าชีวิตตอนนี้อาจจะเป็น "ภาระ"ต่อคนที่เราเคยเลี้ยงดู ต่อคนที่เรารัก ไม่อยากให้เขาต้องมาแบกรับภาระเพราะเราอีกต่อไป การ "เล่าชีวิต" เปลี่ยนไปเรื่อยๆจนเป็นเรื่องที่ไม่อยากจะเล่าต่อแล้ว ทำใจได้ว่านี่แหละ เราเดินทางมาจนหมดสิ่งที่เราอยากทำ (และสามารถทำได้) แล้ว ที่เหลือจะกลายเป็นเรื่องฝันที่ฟุ่มเฟือย ไม่เป็นความจริง สิ่งที่เป็นห่วงก็หมดห่วงไปหมดแล้ว สิ่งที่อยากทำก็ได้ทำไปหมดแล้ว จะอยู่ต่อไปให้เป็นเรื่องเล่าที่ลำบากของคนอื่นทำไม

การที่คนเราหมดความกลัวต่อความตายได้นั้นมีจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ "เห็นธรรม" การตายเป็นเพียงแค่ pause เพื่อที่จะดำเนินต่อไปจากอะไรที่เราได้ประกอบกรรมเอาไว้ ยิ่งประกอบกรรมดี ยิ่งไม่น่ากลัว มีแต่เรื่องดีๆที่จะเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการอาศัยอยู่ในร่างที่กำลังหมดอายุขัยนี้ลงไป

แบบนี้ "พอก็คือพอ"

แฝงคำซ่อนเร้น

แบบนี้จะเป็นอีกบริบทหนึ่งว่า "พอแล้วหมายถึง เหลือจะทนต่อไปแล้ว" การมีชีวิต ณ ขณะนี้ ไม่ใช่ใช้ชีวิตอีกต่อไป แต่เป็น "ทนใช้ชีวิตไปวันๆ" ในผู้ป่วยที่มีพยาธิ ที่มีความทุกข์ทรมานจากโรค จากสภาวะ หรือแม้แต่ทนกับการรักษารูปแบบต่างๆมากมายทางการแพทย์ คำว่า "พอ"ในที่นี้ก็คือ "พอเถิด อย่าทำอะไรต่อไปอีกเลย เพราะมันไร้ประโยชน์ มันเจ็บ มันปวด มันทรมาน"

กรณีนี้ต้องแยกแยะจากกรณีแรกให้ได้ และแยกให้ดี เพราะถ้าเกิดจากกิจกรรมที่เราจัดการรักษาได้ พอเรารักษาหายไป ชีวิตก็จะทนทานได้ง่ายขึ้น เริ่มมองเห็นหรือเริ่มมีชีวิตที่มีความหมายต่อไปได้ ความทุกข์ที่ทำให้ "ทนไม่ไหว" อาจจะเกิดจากทั้งโรคที่เป็น หรือเกิดจาก "การรักษา" ที่ได้รับอยู่ก็ได้ ดังหลักการทาง palliative care ที่ว่า "Don't just add days to their lives, we must add life to their days" อย่าไปมองเป้าหมายการรักษาว่ามีแค่เพิ่มจำนวนวันที่จะอยู่ให้ยาวนานขึ้นเท่านั้น แต่เราอาจจะมองเรื่องการทำวันที่มีอยู่เป็นชีวิตที่มีความหมาย เป็นชีวิตที่มีชีวาด้วย

แบบนี้ "พอก็คือทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว"

เห็นไม่กระจ่าง

คำว่า "พอ" สำหรับแต่ละคนเป็นการตกผลึกของความหมายที่เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ละคนเล่าไม่เหมือนกัน เล่าแบบนึงก็ทนได้ เล่าอีกแบบก็ทนไม่ไหว เล่าอีกแบบก็มีความสุขมีความหวัง เล่าอีกแบบก็ท้อแท้รันทด การเล่าเรื่องแปรเปลี่ยนไม่เพียงแค่ระหว่างคนไม่เหมือนกัน แต่มีการแปรเปลี่ยนแม้แต่ภายในคนๆเดียวกัน เล่าคนละแบบก็ส่งผลต่อความทุกข์ ความสุขไม่เหมือนกัน

ซึ่งบางที คนเราก็เล่าผิด เล่าถูก จากประสบการณ์เก่าที่มีนำมาใช้กับปัจจุบัน ซึ่งมีใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น บางคนพอได้ยินหมอบอกว่าจะ "เจาะคอ" เท่านั้น ก็จิตตก หมดหวัง เพราะเคยรับรู้มาว่าคนไข้คนไหนเจาะคอทีไร หมอกำลังจะให้กลับบ้านแล้ว และอีกไม่นานก็จะเสียชีวิต ถ้าเล่าแบบนี้ใครจะอยากเจาะคอ ใครจะยอมให้เจาะ ทั้งๆที่มีตั้งหลายบริบทที่หัตถการเหล่านี้ที่คนไม่อยากได้ เป็นหัตถการเฉพาะกิจ เฉพาะกาลเท่านั้น พอหมดบริบทไป ก็กลับไปสู่สภาพเดิมๆได้

แบบนี้ "พอก็คือ เข้าใจผิดจนเล่าชีวิตต่อไปไม่ไหว"

ในสามแบบ ถ้าเจอแบบแรก นั่นคือเรากำลังเจอคนที่บรรลุธรรม ควรที่จะอนุโมทนาและร่ำเรียนสิ่งที่เกิดขึ้นมาทำได้อย่างไร เป็นมาอย่างไร เราเองจะทำได้หรือไม่ หรือนำไปเล่าไปบอกเผยแพร่ธรรมนี้อย่างไรดี ถ้าเจอแบบที่สองต้องฝึกการ "อ่านความหมาย" หรือ read between the lines ว่ามีอะไรที่ "ทนไม่ได้" แฝงเร้นอยู่ในขณะนั้นๆหรือไม่ จัดการกับมันเต็มที่แล้วหรือยัง ปรึกษาผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือแล้วหรือยัง ถ้าเจอแบบที่สามจะง่ายสุด ก็แค่อรรถาอธิบายให้เข้าใจ จะได้เล่าเรื่องให้ถูกต้อง และเล่าต่อๆไปได้

สงสัยต้องมีบทเสริมต่อว่าควรจะทำอย่างไร ตอนนี้เอาแค่แยกแยะก่อนว่ามีอะไรบ้าง

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ หลังอ่างเก็บน้ำ ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพุธที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๓.๕๙ น.
วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 604592เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2016 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2016 14:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จริงด้วยค่ะอาจารย์ มีทั้ง

  • "พอ" ที่หมายถึงเข้าใจในชีวิตและบรรลุเห็นสัจธรรมแห่งชีวิต
  • และ "พอ" ที่ไม่สู้อีกแล้ว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท