จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๙ : "ลูกเอย แม่พอแล้ว" Part II


ต่อจาก Part I (แนะนำให้อ่าน part I ก่อนอ่านอันนี้) คือได้เขียนแจกแจงไว้ว่า เวลาผู้ป่วยสูงวัย ออดๆแอดๆ อยู่มาวันหนึ่งมาบอกกับญาติ หรือกับหมอว่า "พอแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว" นั้นเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และสามารถกระตุ้นให้เกิดระลอกในใจของคนรอบข้างได้มากพอสมควร ทั้งครอบครัวคนพูด ทั้งกับทีมรักษาพยาบาล เนื่องจากมันมี "นัยยะ" ของการยอมแพ้ ของการเลิกสู้ แถมด้วยนัยยะของการพรากจาก อาลัยอาวรณ์ ความเศร้าเสียใจ ประเด็นสำคัญที่เราต้องรับรู้คือ "กว่าคนจะพูดว่า มีชีวิตมาพอแล้ว" เนี่ย มันไม่ง่าย มันเป็นการตกผลึกชีวิตครั้งสำคัญ จะรับรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งขนาดนี้ต้องมีสติ มีสมาธิ และใช้ปัญญา

คำว่า “พอแล้ว” มีสามบริบทที่เขียนไว้คือ @จิตรับรู้ธรรม @แฝงคำซ่อนเร้น และ @เห็นไม่กระจ่าง แต่ละอย่างมีบริบทจำเพาะ มีเรื่องเล่าจำเพาะ และสามารถผสมผสานในสัดส่วนต่างๆกันของทั้งสามเรื่องก็ยังได้ ดังนั้นการจะ approach เรื่องนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ละเอียดอ่อน อย่างที่ได้แจกแจงไปแล้วในบทความ Part I สำหรับในบทความนี้จะเขียนเรื่องเราพึงจะทำอะไรได้บ้าง ถ้าหากเจอะเจอกรณีนี้ สิ่งที่เขียนได้มาจากประสบการณ์ ไม่ได้ทำงานวิจัยอะไร สามารถอ้างอิงแบบ anecdotal ว่าเคยได้ยินมา เอาเป็นพอเป็นเรื่องเล่าประกอบการพิจารณาเท่านั้น มี “คาถา” อยู่สองสามประการที่พอจะเป็นหลักการคร่าวๆคือ

  • suspension of assumption
  • tune-in with the narrative of patients (and family)
  • integral salutogenesis and create hope and self-help

Suspension of Assumption การห้อยแขวนไม่ด่วนตัดสิน

เป็นเคล็ดวิชาแรกที่สำคัญมาก เพราะเรื่องนี้ก่อให้เกิดระลอกของอารมณ์ของคนในเหตุการณ์ได้มากมาย สำหรับทีมรักษาพยาบาลที่เป็นทีมนักสู้ คำพูดว่า "พอ" ของคนไข้และญาติอาจจะวิ่งไปหมายถึงการยอมแพ้ ซึ่งผิด motto ของนักสู้ สำหรับญาติมิตรสหายคนรักของผู้ป่วยก็จะหมายไปถึงการไม่อยู่ต่อไป การตาย การพรากจาก นำไปสู่ความเศร้าเสียใจ

ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ "มันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างที่กลัวเสมอไป" ก็ได้ ลองนึกถึงคดีในศาล คนกระทำความผิดยังสามารถตัดสินใจที่จะสารภาพผิดก็ได้ หรือตัดสินใจสู้คดีแล้วไปก็ลงเอยที่ "จำนนต่อหลักฐาน" เพราะทุกอย่างมันมัดตัว ใครที่สารภาพก่อน ศาลก็จะมีเมตตาเพราะไม่ได้ดิ้นรนฝึกฝืนข้อเท็จจริง ดื้นรนฝึกฝืนความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ อันจะรังมาแต่ความเดือดร้อนของคนรอบข้าง ฉันใดก็ฉันนั้น บางทีการพูดว่า "พอ" อาจจะไม่ได้มีนัยยะแค่ยอมแพ้ แต่เป็นการสำนึกถึงสัจธรรม ไม่ดิ้นรนโดยเปล่าประโยชน์ เพราะดิ้นไปคนดิ้นก็เหนื่อย ก็เจ็บปวด อาจจะช่วยเยียวยา "คนลุ้น" รอบๆตัวเท่านั้นเอง แต่สุดท้ายก็ต้องจำนนต่อกฏธรรมชาติ

หรือบางรายบอกว่าพอ เพื่อที่จะสื่อสารถึงความทุกข์ทรมานในขณะนั้น ที่คนรอบๆข้างอาจจะมองไม่เห็น เช่นอาการปวด อาการรำคาญ อาการเมื่อย อาการที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ฯลฯ มีอีกมากมายของทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้การเล่าชีวิตในตอนนี้นั้นมันเล่าไม่ไป เล่าไม่ออก เล่าแล้วมีแต่ความทุกข์ที่จะทวีมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุด "พอเถอะ" (ไม่ใช่พอธรรมดาๆ แต่เป็น "พอเถอะ")

https://www.facebook.com/1529321324054656/videos/1...

ใน video clip เรื่อง The Life of Death นี้มีประเด็นเยอะมากที่ควรจะนำมาศึกษา ใคร่ครวญ แต่สิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับบทความนี่ก็คือ ฉากที่ครั้งแรกเจ้าตัวความตายเกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ปกติก็แตะโน่นแตะนี่ตายไปหมด ตามหน้าที่ ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่กับกวางน้อยในเรื่องนี้ ทั้งหมดเกิดจากการ "PAUSE หยุด" พอหยุดปุ๊บก็ "เห็น" สิ่งที่ไม่เคยเห็นมากมาย จนนำไปสู่การเกิด "มิตรภาพ" กับความตายได้ของกวางน้อยในที่สุด

การ "เล่าเรื่อง" ว่าความตายน่ากลัว การรักษาน่ากลัวหรือไม่น่ากลัว นั้นมีที่มาทั้งสิ้น บางทีคนไข้บางรายก็ไม่ได้อยากจะตาย แต่ก็ "พอเถอะ" กับการรักษา แบบเข้าใจถูกบ้าง เข้าใจผิดบ้าง ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นมืออาชีพ เราจะต้องมีสติ และมีสมาธิ มีปัญญาพอที่จะเป็นผู้ช่วย ผู้ประคอง นำพาเอา "เรื่องจริง เรื่องเล่า" ของคนออกมาทำให้ได้ยิน ได้เห็น และได้เข้าใจกัน

Tune-in with the narrative of the patients (and family) การเข้าอกเข้าใจ

หรือการเกิด empathy สามารถมองเห็นเรื่องเล่าและความหมายในมุมมองของคนไข้ได้ หลังจากการห้อยแขวนด่วนตัดสินทำได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว ต้องมี skill หรือทักษะอีกประการคือการ "เล่าไปในทางของคนไข้" ว่าเกิดอะไรขึ้น ในระยะนี้ การฟังที่ลึกซึ้ง การฟังเพื่อการเยียวยา จะสามารถคลี่คลายเรื่องราวที่มาต่างๆจากมุมมองของคนไข้ออกมาได้ ว่าที่พูดว่า "พอ" เมื่อสักครูนี้ มันคือ "พอแล้วเพราะรู้แล้ว" หรือ "พอเถอะทนไม่ไหวแล้ว" หรือ "พอ ฉันคิดว่ามันน่ากลัวมาก" กันแน่ ในช่วงนี้การนำเสนอมุมมองใหม่ๆ นำเสนอพลังงานที่สดใหม่ มีชีวิตชีวา เข้าไปรวมกับเรื่องราวเรื่องเล่าของคนไข้และครอบครัว อาจจะนำมาซึ่งข้อสรุปใหม่ narrative ใหม่ ทางออกใหม่ก็ได้

Integral salutogenesis to create Hope and Self-Help สุขภาวะกำเนิด ความหวัง และการดำรงศักดิ์ศรีในชีวิต

คนเราทุกคนอยากจะมีชีวิตที่อยู่รอด อยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมาย บางทีความเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้เรื่องเล่าของเราขาดวิ่นไป เริ่มกระพร่องกระแพร่ง ในวาระนั้นๆบางคนก็หาทางออกแบบง่ายๆ พื้นๆ ตรงไปตรงมา บางคนก็หนี บางคนก็สู้ ฯลฯ แต่ทางออกที่ดีที่สุด น่าจะเป็นทางออกที่ผ่านการใคร่ครวญ ผ่านการใช้ทรัพยากรและต้นทุนชีวิตทั้งหมดมาพิจารณาว่าจะใช้อย่างไร จึงจะไม่เสียดายที่เราอุตส่าห์สั่งสมเรื่องนี้มาแต่แรกในช่วงชีวิตของเรา

ผู้สูงวัยมากมาย ผ่านมาเยอะ เห็นมาก็มาก และทำความเข้าใจกับชีวิตในแบบของท่านเกินกว่าที่เราจะนึกถึง ในขณะที่เราพร่ำบอกตัวเองว่า "ยังไม่พอๆ" ท่านก็บอกว่า "พอแล้วๆ" แต่บอกจากมุมมองของท่าน เราควรที่จะตั้งคำถามว่ามุมมองของเรากับของท่านนั้น ได้มารวมกันแล้วรึยัง บางทีเราเองอาจจะเป็นคนเปลี่ยนบทสรุป เพราะค้นพบว่า "ชีวิตเบื้องหน้าที่รอคอยท่านอยู่ อาจจะดีกว่าชีวิตในตอนนี้ที่ทุกข์ทรมานเหลือเกิน" แล้ว หรือบางทีท่านก็อาจจะค้นพบว่า "ถ้าลองอันนี้อีกสักหน่อย ปวดน้อยลง แน่นน้อยลง ฉันก็ยังมีชีวิตที่ดีเหลืออยู่อีกพอสมควร" ก็ได้

สุขภาวะกำเนิด หรือต้นทุนแห่งความสุขนั้น เป็นทักษะสำคัญในการเล่าชีวิต เมื่อไรก็ตามที่เราตกผลึกชีวิตไม่แยกแยกเป็นชั้นๆ เป็นส่วนๆ จะเกิดสารประกอบใหม่อันเป็นองค์รวม ถ้าหากเราเชื่อในเรื่องเวียนว่ายตายเกิด ชีวิตก็เหมือนดวงอาทิตย์ ยามรุ่งอรุณเป็นช่วงที่เต็มไปด้วยสีสัน แสงกระทบแสงแรกบนน้ำค้าง ทอแสงแรกบนกลีบดอกไม้ พอสายก็เป็นช่วงที่รุ่งโรจน์ สว่างไสว ชัดเจน มีกิจกรรม มีกายกรรมมากมาย ตกค่ำยามอัสดงมีนัยยะแห่งการผ่อนคลาย พักผ่อน เพราะยังมีพระอาทิตย์ในยามอรุโณทัยดวงใหม่เกิดขึ้นอีก เราไม่เคยคิดจะยึดยื้อไม่ให้พระอาทิตย์ตก เพราะพระอาทิตย์ยามเช้านั้นช่างสวยงาม มีพลังใหม่รอคอยที่ดำเนินมาต่อไป ความตายก็เป็นเพียงความดับชั่วครั้งคราว และเกิดสิ่งใหม่ที่สวยงามรอคอยเวลากำเนิดใหม่ขึ้นเท่านั้น

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ หลังอ่างเก็บน้ำ ม.สงขลานครินทร์
วันพุธที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๙ เวลา ๑๔ นาฬิกา ๕๙ นาที
วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม

PS: ขอให้ credit เรื่อง suspension of assumption และ tune-in and narrative แก่ รศ.พญ.จารุรินทร์ ปิตานุพงศ์ และ ผศ.นพ.อานนท์ วิทยานนท์ ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา communication skill ที่ ม.สงขลานครินทร์ด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 604600เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2016 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2016 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท