ครั่งเป็นแมลงเศรษฐกิจที่ทำรายได้แก่เกษตรกรในจังหวัดลำปาง


ครั่ง ทำรายได้แก่จังหวัดลำปางในปีหนึ่งๆไม่น้อยกว่า 300-500 ล้านบาทเศษ ความจริงครั่ง เป็นยางชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารขับถ่ายออกจากตัวแมลงครั่ง ที่ใช้ปากซึ่งมีลักษณะเป็นปากดูดเจาะเข้าไปในกิ่งของต้นไม้เพื่อดูดน้ำเลี้ยงมาเป็นอาหาร





ลองมาทำความรู้จักแมลงเศรษฐกิจชนิดหนึ่งคือ ครั่ง ที่ทำรายได้แก่จังหวัดลำปางในปีหนึ่งๆไม่น้อยกว่า 300-500 ล้านบาทเศษ ความจริงครั่ง เป็นยางชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสารขับถ่ายออกจากตัวแมลงครั่ง ที่ใช้ปากซึ่งมีลักษณะเป็นปากดูดเจาะเข้าไปในกิ่งของต้นไม้เพื่อดูดน้ำเลี้ยงมาเป็นอาหารแล้วขับถ่ายครั่งออกมาจากภายในตัวครั่งตลอดเวลาเพื่อห่อหุ้มตัวเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากสิ่งภายนอก มีลักษณะนิ่มเหนียวมีสีเหลืองทอง เมื่อถูกอากาศนานเข้าจะแข็งและมีสีน้ำตาล ซึ่งครั่งที่เก็บจากต้นไม้เรียกว่า ครั่งดิบ มีส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ เรซิน ขี้ผึ้ง สี ซาก ตัวครั่งและสารอื่นๆ ส่วนที่ใช้เป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมคือ สีครั่ง และเนื้อครั่ง

ปัจจุบันนี้จังหวัดลำปางเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีเกษตรกรที่มีการเลี้ยงครั่ง ไม่น้อยกว่า 6,733 ราย โดยทั่วไปเกษตรกรจะเลี้ยงครั่งบนต้นจามจุรี หรือต้นฉำฉา มีพื้นที่ปลูกกระจายอยู่ทุกอำเภอ สำหรับโรงงานที่รับซื้อผลผลิตครั่งในจังหวัดลำปางมีจำนวน 5 โรงงาน แต่ที่สำคัญที่สุดการเลี้ยงครั่งสามารถเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไม่น้อยในแต่ละปี ถึงแม้ราคาครั่งจะไม่ค่อยแน่นอน แต่หากเกษตรกรมีการเลี้ยงครั่งอย่างสม่ำเสมอมีผลผลิตครั่งทุกปี เกษตรกรจะมีรายได้ที่ยังคุ้มค่ากับเวลาและแรงงานที่ใช้ในการเลี้ยงครั่ง ประโยชน์จากครั่ง ปกติมีการใช้ประโยชน์จากครั่งมีการนำมาใช้ในครอบครัว และทางอุตสาหกรรม ได้มีการทำมานานแล้วในอดีตได้แก่ผลิตภัณฑ์เชลแลค อุตสาหกรรมยาและอาหาร อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมหมึกพิมพ์ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า อุตสาหกรรมยาง


แมลงครั่งนี้เป็นเพลี้ยชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นแมลงเบียนของต้นไม้จึงนับว่าเป็นศัตรูของไม้ที่อาศัย แมลงครั่งจะใช้ปากซึ่งเป็นงวงดูดน้ำเลี้ยงจากต้นไม้ เพื่อใช้เลี้ยงชีวิตและระบายยางครั่ง ที่มีลักษณะเหนียวสีเหลืองทอง ออกมาเป็นเกราะหุ้มตัวเพื่อป้องกันอันตรายจาศัตรูต่างๆ ยางนี้เมื่อถูกอากาศจะแข็งตัว เรียกว่าครั่ง การเจริญเติบโตของแมลงครั่ง จะเจริญเติบโตจากไข่เป็นตัวอ่อน ดักแด้ และตัวแก่ ตามลำดับ การเลี้ยงครั่งเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงนั้น แมลงครั่งจะเกาะทำรังมากซึ่งทำให้สามารถกะเทาะครั่งดิบได้มาก และมีคุณภาพจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ชนิดของต้นไม้ อายุของต้นไม้ และอายุของกิ่งไม้ จำนวนครั่งที่ปล่อย พันธุ์ครั่ง ฤดูที่เลี้ยงครั่ง ศัตรูของครั่ง ตลอดจนประสบการณ์ของผู้เลี้ยง


โดยทั่วไปแล้ว เกษตรกรรุ่นปู่ย่าตายาย จะทำการปลูกต้นฉำฉา ไว้ตามหัวไร่ปลายนา และสวนหลังบ้าน เพื่อทำการเลี้ยงครั่ง เสริมรายได้เพิ่มจากอาชีพหลักที่ทำไร่ทำนา บางปีการทำการเกษตรหลัก ประสบปัญหาด้านราคาตกต่ำ และประสบภัยธรรมชาติ เกษตรกรก็จะมีรายได้จากการเลี้ยงครั่ง เพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายในครอบครัวอีกทางหนึ่ง แต่สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ อาชีพการเลี้ยงครั่งบนต้นฉำฉาของเกษตรกร ก็มีผลกระทบเช่นกัน เพราะเกษตรกรบางราย มองไม่เห็นคุณค่าของต้นฉำฉาที่ปู่ย่าตายายได้ปลูกไว้โดยเฉพาะต้นใหญ่ๆที่มีอายุไม่น้อยกว่า 30-50 ปีเศษ จะถูกพ่อค้ามารับซื้อเพื่อนำไปแกะสลักเป็นชุดรับแขกและตกแต่งบ้านเรือน และเกษตรกรบางรายก็จำหน่ายต้นฉำฉา เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานเครื่องปั้นดินเผาต่างๆ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นผลกระทบต่อการเลี้ยงครั่งในจังหวัดลำปางได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันปัญหาของเกษตรกรที่เลี้ยงครั่ง พบอยู่บ่อยๆก็คือ การตายของตัวครั่งในสภาพอากาศร้อนจัด การแก้ไขปัญหานี้โดย จังหวัดลำปาง สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง และศูนย์ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาทดลองเลี้ยงครั่งบนต้นถั่วมะแฮะเพื่ออนุบาลพันธุ์ครั่งในชุมชนเขตอำเภอสบปราบจังหวัดลำปาง นับว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจและมีเป้าหมายที่จะขยายแปลงอนุบาลพันธุ์ครั่งบนต้นมะแฮะไปยังชุมชนที่สนใจจะทำการศึกษาทดลองร่วมกับนักส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่โดยเรียนรู้แบบกลุ่มต่อไป


เขียวมรกต

๘ เมย.๕๙


หมายเลขบันทึก: 604690เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2016 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2016 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับหัวหน้า...

-ตามมาเพิ่มเติมข้อมูลการเลี้ยงครั่งของชาวอำเภอเถิน ครับ

-ตัวผมเองสมัยยังเป็นละอ่อน มีอาชีพเสริมคือไปเก็บครั่งที่หล่นจากต้นฉำฉาครับ

-คนรุ่นเก่า ๆ เล่าให้ฟังว่าคนทีเลี้ยงครั่งมักจะมีสวนฉำฉาอยู่ 3 แห่ง คือจะทะยอยปล่อยครั่งไปปีละสวน เพื่อรอให้ต้นฉำฉาทีี่ตัดกิ่งเก็บครั่งแตกกิ่งก้านสาขาน่ะครับ..

-มาตอนนี้การเลี้ยงครั่งแถวอำเภอเถินเริ่มน้อยลง เนื่องจากต้นฉำฉาถูกตัดขายไปทำเฟอร์นิเจอร์เมื่อยามราคาของครั่งต่ำลงครับ

-มาตอนนี้เห็นว่าราคาครั่งสูงขึ้นมาก น่าเสียดายอาชีพเสริมนี้นะครับ...

-พี่สาวของผมนำครั่งมาเลี้ยงที่จังหวัดพิจิตรเมื่อหลายปีก่อน เนื่องจากมีต้นฉำฉาตามสวนรกร้างซึ่งมีมากในแถบภาคเหนือตอนล่าง..แต่ตอนนี้เลิกเลี้ยงแล้วครับ..

-เคยเก็บเรื่องราวของ"คนบ้าครั่ง"มาบันทึกเอาไว้เมื่อ 7 ปีก่อน

-ตามนี้ครับ...https://www.gotoknow.org/posts/228208

-หัวหน้าสบายดีนะครับ??

-เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่อง"ครั่ง"ผ่านบันทึกนี้ครับ..

-ด้วยความระลึกถึงครับ

-ขอบคุณครับ..

ขอบคุณครับอ.เพชรน้ำหนึ่งครับ ดีใจ๋สุดๆเลยนะ ที่กรุณานำประสบการณ์ดีๆมาแบ่งปันกัน

ขณะนี้ทางจังหวัดลำปาง ได้ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงครั่ง เพราะว่าทำรายได้เข้าจังหวักปีละหลายร้อยล้านบาท และเหมาะกับบริบทการเกษตรของเกษตรกรชาวจังหวัดลำปางครับ ตอนนี้กลุ่มอารักพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง จัดทำโครงการศึกษาทดลอง เอาครั่งมาเลี้ยงบนต้นถั่วมะแฮะ ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในปีนี้ทางจังหวัด ได้มีแนวทางขยายแปลงปลูกถั่วมะแฮะเพื่ออนุบาลพันธุ์ครั่ง ไว้ขยายให้เกษตรกรต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท