Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

มีความเป็นไปได้ทางกฎหมายหรือไม่ที่จะสร้างความสะดวกในการขอวีซ่าโดยการรับแรงงานสัญชาติลาวเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย ?


ตอบคุณสกลเรื่องความเป็นบุตรบุญธรรมของคนสัญชาติไทยจะทำให้หญิงสัญชาติลาวมีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยหรือไม่ ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

------------------

ความเป็นมา

---------------

คุณสกล อีเมลล์ผ่าน [email protected] มาถึงผู้เขียน โดยตั้งหัวข้อว่า “มีเรื่องขอความช่วยเหลือ ด่วนครับ” และมีใจความว่า “สวัสดีครับ ผมมีเรื่องด่วนที่อาจต้องรีบตัดสินใจ แต่กลัวผิดพลาดครับ คือผมมีอายุประมาณ ๔๐ ปี เป็นคนไทย มีความต้องการรับคนสัญชาติลาว อายุ ๒๑ ปี เป็นลูกบุญธรรม และอยากให้เค้าได้เข้ามาอยู่ในไทยด้วยกัน ไม่ทราบว่าทำได้มั๊ยครับ และถ้าได้ จะมีผลให้น้องคนนี้ได้ visa ที่จะพำนักในประเทศไทยหรือไม่อย่างไรครับ เพราะหากว่าทำแล้ว ก็ไม่ได้ visa พำนักอยู่ดี ก็คงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ครับ ผมก็ยังไม่มีครอบครัว เด็กก็กำพร้า แล้วมาพบกันโดยโชคชะตา ทุกคนในบ้านผม ทั้งพ่อ และ แม่ ก็เอ็นดูเหมือนลูกหลานครับ แต่ลำบากใจเรื่องการพำนักอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทุกวันนี้ก็ทำ visa ทำงานแล้วต่อเรื่อยๆครับ แต่ในบ้านอยู่แบบเป็นลูกหลานครับ ขอความกรุณาด้วยครับ”

เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๘.๒๕ น. ผู้เขียนถามกลับไปว่า “(๑)ผู้ที่จะรับเป็นบุตรบุญธรรมเกิดที่ไหน ? เมื่อไหร่คะ ? (๒) น้องถือเอกสารอะไรบ้างคะ ? และ (๓) วีซ่าเป็นประเภทไหนคะ ?)

ในวันเดียวกัน เวลา ๑๑.๓๙ น. คุณสกลตอบมาว่า “ขอบพระคุณที่อาจารย์ยอมติดต่อผมนะครับ (๑) น้องเกิดที่ลาวครับ เมื่อ ประมาณ ๒๑ ปีที่แล้ว อยู่ที่ลาวจนโต (๒) น้องมีเอกสารการเป็นคนลาวถูกต้องทุกอย่างของประเทศเค้า (๓) หลายปีมานี้ หลังจากพ่อแม่ที่ลาวป่วยตาย ก็มาทำงานที่ไทยตอนอายุ 16 มีใบ work permit และ visa ทำงานที่มีอายุ ๒ ปีmou ต่อได้เรื่อยๆ ครับ”

---------------------

ประเด็นที่ถามมา

---------------------

ผู้เขียนเข้าใจว่า ประเด็นหลักที่คุณสกลอยากถาม ก็คือ การรับเป็นบุตรบุญธรรมจะทำให้ได้วีซ่าที่สะดวกกว่าวีซ่าทำงานหรือไม่ และประเด็นที่ผู้เขียนอยากแลกเปลี่ยนกับคุณสกลก็คือ วีซ่าทำงานซึ่งไม่ยุ่งยากก็มีเช่นกัน และทุกวีซ่าทำงานอาเซียนจะมีความสะดวกมากขึ้นในอนาคต นอกจากนั้น การสร้างครอบครัวบุญธรรมกับคนสัญชาติลาว ก็จะต้องพิจารณากฎหมายลาวว่าด้วยครอบครัวอีกด้วย

-----------------------------------------------------------------------------------

การรับเป็นบุตรบุญธรรมจะทำให้ได้วีซ่าที่สะดวกกว่าวีซ่าทำงานหรือไม่

------------------------------------------------------------------------------------

การรับบุตรบุญธรรมระหว่างคุณสกลและหญิงสัญชาติลาวก็จะทำให้เกิด “ครอบครัวบุญธรรม” ตามกฎหมายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนครอบครัวตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายลาว ซึ่งความเป็นบุตรบุญธรรมนี้จะก่อตั้งสิทธิอาศัยในประเทศไทยในสถานะบุคคลในครอบครัวหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตามมาตรา ๓๔ (๑๕) แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ประกอบกับข้อ ๑๑ (๒) แห่ง กฎกระทรวงฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๒๓) ซึ่งบัญญัติว่า “การให้ความอุปการะแก่หรือรับความอุปการะจากบุคคลสัญชาติไทย หรือบุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร โดยเป็น บิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรซึ่งอยู่ในความอุปการะและเป็นส่วนแห่งครัวเรือนของบุคคลดังกล่าว” โดยพิจารณาจากบทบัญญัตินี้ ก็น่าจะตีความหมายถึง “บุตรบุญธรรม” ได้ แต่ผู้เขียนก็ไม่ทราบว่า ในทางปฏิบัติของรัฐไทยในเรื่องนี้ มีการยอมรับให้ “วีซ่าครอบครัว” แก่บุตรบุญธรรมซึ่งเป็นคนต่างด้าวด้วยหรือไม่ การลองไปตรวจสอบทางปฏิบัตินี้ในอินเทอร์เน็ต ก็พบว่า บุตรบุญธรรมนั้นจะต้องมีอายุไม่เกิน ๒๐ ปีบริบูรณ์[1] แต่อย่างไรก็ตาม การหารือกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเพื่อแสดงเหตุผลก็อาจจะเป็นสิ่งที่ควรทำ หรือแม้สำนักงานดังกล่าวจะปฏิเสธที่จะให้วีซ่า การฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณารับรองสิทธิของบุตรบุญธรรมต่างด้าว ก็อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่สร้างการทบทวนความคิดนี้ในสังคมไทย

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรจะต้องตระหนัก ก็คือ ทั้งผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมก็ควรจะต้องตระหนักในสัมพันธภาพว่า มีความชัดเจนของสัมพันธภาพครอบครัวเกิดขึ้นแล้วจริง การตัดสินใจอย่างไม่รอบด้านก็อาจก่อปัญหาในอนาคต

---------------------------------------

วีซ่าทำงานอาจไม่ยุ่งยากเสมอไป

---------------------------------------

ผู้เขียนอยากแลกเปลี่ยนว่า การขอวีซ่าทำงาน ตลอดจนการดำเนินการเพื่อขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือในช่วงเวลาที่ผ่านมาอาจจะยุ่งยากมาก เพราะประเทศไทยไม่มีประสบการณ์ในการจัดการตลาดแรงงานในลักษณะนี้ ประกอบกับอคติที่มีในภาคราชการไทยต่อคนยากจนจากประเทศเพื่อนบ้าน

แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ประชาคมอาเซียนเริ่มนับหนึ่ง และในวันเวลาที่กระทรวงแรงงานไทยมีประสบการณ์ในการจัดการตลาดแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือมากขึ้น ระบบการขอวีซ่าทำงาน/การต่อใบอนุญาตทำงาน/การประกันสังคม ก็จะค่อยๆ พัฒนาให้ดีขึ้น ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น ดังที่ในวันนี้ เริ่มต่อใบอนุญาตทำงานได้ในร้านสะดวกซื้อเป็นต้น

ในอนาคต การขอวีซ่าครอบครัวก็อาจจะยุ่งยากไปกว่าวีซ่าทำงานก็เป็นได้

---------------------------------------

การขอรับบุตรบุญธรรมซึ่งบุตรบุญธรรมมีสถานะคนสัญชาติลาว ก็จะต้องพิจารณาเงื่อนไขตามกฎหมายลาวอีกด้วย

---------------------------------------

ด้วยว่า เป็นการรับบุตรบุญธรรมระหว่างชายสัญชาติไทยและหญิงสัญชาติลาว จึงมีลักษณะเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงเกิดการขัดกันแห่งกฎหมาย อันทำให้ต้องนำมาตรา ๓๕ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ มาใช้ในการเลือกกฎหมายกำหนดเงื่อนไขในการรับบุตรบุญธรรมนี้ ซึ่งมาตรา ๓๕ วรรค ๒ และ ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ บัญญัติว่า

“ถ้าผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมมีสัญชาติแตกต่างกัน ความสามารถและเงื่อนไขแห่งการรับบุตรบุญธรรมให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย แต่ผลแห่งการรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของผู้รับบุตรบุญธรรม

สิทธิและหน้าที่ระหว่างบุตรบุญธรรมกับครอบครัวของตนตามกำเนิดนั้นให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุตรบุญธรรม”

ดังนั้น ความสามารถและเงื่อนไขแห่งการรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นไปตาม “กฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย” ซึ่งก็คือ กรณีของคุณสกล ผู้รับบุตรบุญธรรม เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทยว่าด้วยบุตรบุญธรรม ในขณะที่กรณีของหญิงสัญชาติลาว เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งลาวว่าด้วยครอบครัว นอกจากนั้น ผลแห่งการรับบุตรบุญธรรมนี้ ย่อมเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทยว่าด้วยบุตรบุญธรรม ซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของคุณสกล ผู้รับบุตรบุญธรรม ส่วนสิทธิและหน้าที่ระหว่างหญิงสัญชาติลาวกับครอบครัวของตนตามกำเนิด ย่อมเป็นไปตามกฎหมายลาว ซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของหญิงซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม

สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนเลย ก็คือ ความห่างของอายุระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมตามกฎหมายไทย ก็คือ ๑๕ ปี[2] ซึ่งกรณีของคุณสกลและหญิงสัญชาติลาว ก็คือ ๑๙ ปี จึงมีความเป็นไปได้ทางกฎหมาย แต่ในกรณีตามกฎหมายลาวนั้น ผู้เขียนไม่มีความรู้ และได้ลองหาดูในอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็ไม่พบ จึงแนะนำให้คุณสกลไปหารือสถานกงสุลลาวประจำประเทศไทย

----------------

บทส่งท้าย

---------------

เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๑๐.๕๕ น. คุณสกล ตอบกลับมา หลังจากผู้เขียนส่งบันทึกความเห็นทางกฎหมายไปให้ในเวลา ๙.๔๕ น. เขาผู้นี้ตอบว่า “ขอบพระคุณ อาจารย์ที่ให้ความรู้และข้อแนะนำครับ ผมจะนำไปไตร่ตรองครับ ตอนนี้ฟังจากอาจารย์แล้วเข้าใจว่า (๑) กรณีแบบผม ในประเทศเรา ยังไม่มีกรณีศึกษา หรือมีน้อยมาก (๒) อาจมีข้อยุ่งยาก เนื่องจากต้องใช้กฏหมายของทั้ง ๒ ประเทศมาดำเนินการ (๓) การพำนักโดยการ ขอ visa ทำงาน ทั้งปัจจุบัน และ ในอนาคต อาจจะง่ายกว่า การขอ visa แบบครอบครัว ขอบพระคุณนะครับ โอกาสหน้า หากเกิดข้อสงสัย ขอเรียนปรึกษาอีกนะครับ”

เมื่อเวลา ๑๑.๑๖ น. ผู้เขียนจึงตอบกลับไปว่า “ยินดีค่ะ การให้ความรู้ทางกฎหมาย ก็เป็นหน้าที่ของครูสอนกฎหมาย การก่อตั้งครอบครัวก็เป็นสิ่งที่สร้างความมั่นคงให้ชีวิต ในวันนี้ คุณอาจให้ความมั่นคงแก่เด็ก แต่ในวันข้างหน้า เด็กคนนี้ก็อาจดูแลคุณในยามแก่เฒ่า ก็คิดดูให้ดี การแปรเปลี่ยนสัมพันธภาพจากสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นครอบครัวบุญธรรม ก็เป็นความงดงามของสังคมมนุษย์ค่ะ อ.แหววค่ะ”



[1] http://www.twglawoffice.com/visa-thai.htm ให้ข้อมูลว่า กรณีบุตร บุตรบุญธรรม หรือบุตรของ คู่สมรสขออยู่ในความอุปการะ บุตร บุตรบุญธรรม หรือบุตรของคู่สมรสนั้นต้องยังไม่ได้สมรส และอยู่อาศัยเป็น ส่วนแห่งครัวเรือนนั้น และต้องมีอายุ ไม่เกิน ๒๐ ปีบริบูรณ์”

[2] มาตรา ๑๕๙๘/๑๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย บัญญัติว่า “บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีจะรับบุคคลอื่นเป็นบุตรบุญธรรมก็ได้ แต่ผู้นั้นต้องมีอายุแก่กว่าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อยสิบห้าปี”


หมายเลขบันทึก: 606048เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2016 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2016 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท