เติมเต็มเรียนเรื่องทำอย่างไรให้ข่าวที่ส่งไปไม่ต้องถูก Re-write ใหม่


ความรู้จากสื่อมวลชนเพื่อคนทำงานพีอาร์..

ในระหว่างการทำงาน ฉันพยายามตรวจสอบต้นฉบับข่าวจากแหล่งข่าว และการปรับปรุงเนื้อความข่าวของทีมงานที่กำกับดูแล เปรียบเทียบกับการนำเสนอเผยแพร่โดยสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็น การพาดหัวข่าว เนื้อข่าวใหม่จากข่าวที่เราส่งไป ทำให้เรารู้ว่ายังมีอีกจุดอ่อนมากมายที่นักประชาสัมพันธ์จะต้องปรับปรุง

ฉันกลับมาทบทวนทีมงาน และเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ในสังกัดหน่วยงานคณะและส่วนงานต่างๆ และเห็นว่าการพบอีกครึ่งทางทำงานของสื่อมวลชนผู้เป็นเป้าหมายสำคัญในการรับข่าวสารจากเราไปเผยแพร่ จะเป็นประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย จึงเป็นที่มาที่ไปของกิจกรรมครั้งนี้

มาติดตามอ่านกันค่ะ

กิจกรรม พีอาร์ มช.และสื่อมวลชนสุนทรียสนทนา เรื่องทำอย่างไรให้ข่าวที่ส่งไปไม่ต้องถูก Re-write ใหม่ โดย คุณรุจิรา โสภาศรี หรือ ครูติ๋ว สื่อมวลชนคอลัมน์ข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ ให้เกียรติเป็นวิทยากรในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้แก่เครือข่ายพนักงานปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 45 คน เมื่อวันอังคารที่ 28 เมษายน 2558 เวลา 13.30-15.30 น. ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา สำนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยมีโอกาสเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน และนำเสนอความคิดเห็นในการดำเนินงานร่วมกัน และร่วมกับสื่อมวลชน

สรุปสาระสำคัญในการเขียนข่าว จากประสบการณ์ตรงของคุณรุจิรา โสภาศรี ได้กล่าวถึงโครงสร้างการเขียนข่าว องค์ประกอบของข่าว แนวทางพิจารณาคัดเลือกข่าวมานำเสนอว่าควรมีคุณสมบัติอะไรบ้าง และได้มีการสรุปเหตุผลของข่าวที่จะถูก Re-write ดังนี้

โครงสร้างการเขียนข่าว

ในการเขียนข่าวเพื่อการประชาสัมพันธ์ ซึ่งมักเป็นข่าวประเด็นเดียว (Single-element Story) มีส่วนประกอบพื้นฐาน 4 ส่วนคือ

  • ส่วนพาดหัวข่าว (Headline) เป็นประโยค วลี หรือข้อความสั้นๆ ที่เป็นสาระ หรือใจความสำคัญของเนื้อข่าว พิมพ์ด้วยตัวอักษรขนาดใหญ่ และมักจะอยู่ด้านบนของเนื้อข่าว เพื่อดึงดูดความสนใจของเนื้อข่าว
  • ความนำหรือวรรคนำ (Lead) คือข้อความส่วนสรุปใจความสำคัญของเนื้อข่าว อาจมีสาระสำคัญหลายประการ เป็นการนำเสนอเรียงตามลำดับความสำคัญ นับเป็นเนื้อหาส่วนแรกของเนื้อข่าว ซึ่งผู้อ่านเห็นก่อนส่วนอื่น เป็นสาระความหมาย ที่กระตุ้นความรู้สึกต้องการรู้ สร้างอารมณ์คล้อยตามในวงการวิชาชีพ นสพ.เรียกวรรคนำว่า “โปรยข่าว”
  • ส่วนเชื่อม (Neck หรือ Bridge) เป็นข้อความส่วนเชื่อมต่อระหว่างส่วนความนำ กับส่วนเนื้อข่าวที่เป็นรายละเอียด ส่วนเชื่อมนั้นอาจจะนำเสนอรายละเอียดของบุคคล สถานที่ เหตุการณ์ หรือเวลาที่ปรากฏในส่วนความนำ ให้ความเป็นมาของข่าว ที่มีการนำเสนอต่อเนื่อง รวมทั้งการให้ข้อมูลในลักษณะภูมิหลังของเนื้อข่าว ส่วนเชื่อมจึงมีความสำคัญ เปรียบเสมือนสะพานในการเชื่อมโยงให้ผู้อ่านข่าวเข้าใจความหมายของข่าวที่ต้องการสื่อได้มาก
  • เนื้อข่าว (Body) คือส่วนที่ให้รายละเอียดของเหตุการณ์ หรือเรื่องราวแก่ผู้อ่าน ทำให้เข้าใจและติดตามเหตุการณ์ทั้งหมด โดยอาจเรียงเนื้อเรื่องแบบใดแบบหนึ่งคือ ลำดับตามความสำคัญ(Significant order) หรือลำดับเวลา หรือเหตุการณ์ (Chronological order)

องค์ประกอบของข่าว

1.ใคร (WHO) เป็นคำถามที่เกี่ยวกับบุคคล อาทิ ใครทำอะไร,ใครคือบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับข่าว

2.อะไร (WHAT) เกิดอะไรขึ้น การกระทำหรือเหตุการณ์ใด ของข่าวที่เป็นเรื่องราวและเหตุการณ์ที่สำคัญ

3.ที่ไหน (WHERE) การกระทำหรือเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่ใด

4.เมื่อไร (WHEN) การกระทำหรือเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นวัน/เวลา/ใด

6.ทำไม (WHY) สาเหตุของการกระทำนั้น

5.อย่างไร (HOW) เกิดเหตุการณ์ได้อย่างไร



คุณสมบัติของข่าว

การพิจารณาคัดเลือกเรื่องราวหรือข่าวสารที่จะนำตีพิมพ์เป็นข่าวนั้น นอกจากจะต้องพิจารณาเรื่ององค์ประกอบของข่าว จะต้องพิจารณาด้านคุณภาพของข่าว สำหรับคุณสมบัติของข่าวมีดังนี้

1.มีความถูกต้องครบถ้วน (Accuracy) ทุกรายละเอียดของข่าวไม่ว่าจะเป็นชื่อแหล่งข่าว ตำแหน่ง หรือความคิดเห็นจะต้องถูกรายงานอย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นข้อเท็จจริงไม่ถูกบิดเบือน

2.มีความสมดุลและเป็นธรรม (Balance and Fairness) ผู้รายงานข่าวหรือนำเสนอข่าวต้องนำเสนอทุกแง่ ทุกมุมอย่างสมดุลอาทิ เรื่องที่เสนอความขัดแย้ง ต้องนำเสนอความคิดเห็นของทั้งสองฝ่ายที่โต้แย้งกันอย่างสมดุลและเป็นธรรม

3.มีความเที่ยงตรง (Objectivity) รายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมาอย่างปราศจากอคติใดๆ ไม่สอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัวของผู้รายงานข่าวเข้าไปในข่าว

4.เข้าใจง่าย กะทัดรัด และชัดเจน (Simplicity, Concise and Clear) การรายงานข่าวต้องเข้าใจง่าย ให้ผู้อ่านสามารถจับประเด็นได้เร็ว ด้วยประโยคกะทัดรัด แจ่มแจ้ง

5.ความใหม่สดทันต่อเหตุการณ์ (Recentness) ข่าวที่นำเสนอต้องใหม่ สด ทันเหตุการณ์ เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจึงแข่งขันกัน ในเรื่องความรวดเร็วของการนำเสนอให้ถึงมือผู้อ่านเร็วที่สุด

เหตุผลที่ ข่าวที่ส่งไป ถูก RE-WRITE

1.ข่าวขาดองค์ประกอบของข่าว 5W/1H(หรือความสมบูรณ์ของข่าว)

2.พื้นที่นำเสนอข่าวมีขนาดจำกัด(พื้นที่มาก-ขยายความ/พื้นที่น้อย-ย่อความ)

3.ระยะเวลาในการนำเสนอข่าว(ความสด-ใหม่) ต้องปรับมุมมองให้ข่าวทันสมัย

4.โครงสร้างการเขียนไม่สมบูรณ์(ลำดับเหตุการณ์ไม่น่าสนใจ สับสน)

5.การใช้ภาษาไม่เหมาะสม(ภาษาพูด,ภาษาเขียน,ภาษาอังกฤษ,ภาษาต่างประเทศ,ภาษาทางวิชาการ)

6.เจ้าของหน้า(บรรณาธิการหน้า) ต้องการปรับข่าวให้เป็นมุมมองการเขียนข่าวอื่นๆอาทิ คอลัมน์นิสต์(ข่าวสังคม) บทความ,รายงานพิเศษ,สกุ๊ปข่าว

7.การเขียนไม่มีความเป็นกลาง(ผู้สื่อข่าวต้องมีความเป็นกลาง)

8.ผู้เขียนสอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัวลงไปในเนื้อข่าวมากเกินไป(ซึ่งข่าวจะไม่มีความคิดเห็นของผู้เขียน ยกเว้นบทความ บทวิเคราะห์)

9.เนื้อหาข่าวกล่าวพาดพิงถึงบุคคลอื่น ซึ่งอาจเป็นการก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคลได้

10.เนื้อหาข่าวขาดที่มา-ที่ไปของแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ

11.ขาดข้อมูลเชิงสถิติ(ตัวเลข)ที่เชื่อถือได้ หรือไม่นำเสนอข่าวทำให้ขาดความเชื่อถือ

12.ชื่อบุคคลภายในหน่อยงานหรือต่างหน่วยงาน/ตำแหน่ง/สรรพนามเรียกขาน/ควรให้ถูกต้องตามหลักของการเขียนข่าว

13.ผู้นำเสนอข่าวต้องเข้าใจข่าวนั้นอย่างละเอียด สามารถตอบคำถามได้และประสานงานกับแหล่งข่าวได้ทันที.

สรุปประเมินผลการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีประโยชน์ต่อการทำงานอย่างมาก อยากให้มี Workshop เพิ่มเติม วิทยากรดีมาก เต็มที่กับการถ่ายทอด มีตัวอย่างชัดเจน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สนุกไม่น่าเบื่อ

12/05/2559

หมายเหตุ อ่านเพิ่มเติม

เล่าแลกเปลี่ยนการเขียนข่าว (1)

เล่าแลกเปลี่ยนการเขียนข่าว (2)




หมายเลขบันทึก: 606295เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2016 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2016 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีประโยชน์มากๆค่ะ ครูนกสามารถนำไปใช้ในการสอนรายวิชา IS ได้

สวัสดีค่ะครูนก noktalay

ขอบคุณมากค่ะ ได้เพิ่มเรื่องแลกเปลี่ยนการเขียนข่าวไว้อีกสองบันทึกค่ะ

เล่าแลกเปลี่ยนการเขียนข่าว (1)

เล่าแลกเปลี่ยนการเขียนข่าว (2)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท