Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ร่างรัฐธรรมนูญที่จะประชาพิจารณ์รับรองคนสัญชาติไทยที่มีองค์ประกอบต่างด้าวอย่างไรกัน ? .มองผ่านมาร์คแอนโทนี่ โรสแมรี่ และชานนท์


กรณีศึกษานายมารค์แอนโทนี นางโรสแมรี่และนายชานนท์

: การกำหนดสิทธิของคนสัญชาติไทยภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.... ซึ่งจะเข้ารับการทำประชาพิจารณ์ในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อสอบปลายภาค วิชา กม. ๖๗๒ วิชากฎหมายระหว่างประเทศชั้นสูง ภาคที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๕๘ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ

เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙

-------------

ข้อเท็จจริง

-------------

นายมารค์แอนโทนีเกิดในประเทศอังกฤษในปี พ.ศ.๒๔๙๓ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษ เขาจึงมีสัญชาติอังกฤษโดยการเกิดเช่นกัน แต่ต่อมา ติดตามบิดาและมารดาเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย และได้รับการแปลงสัญชาติเป็นไทยในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๔ โดยผลของมาตรา ๑๓ แห่ง พ.ร.บ.แปลงชาติ ร.ศ.๑๓๐/พ.ศ.๒๔๕๔

เขาสมรสตามกฎหมายสิงคโปร์เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ กับนางโรสแมรี่ ซึ่งเกิดในประเทศสิงคโปร์ใน พ.ศ.๒๕๐๑ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติอังกฤษ เธอจึงมีสัญชาติอังกฤษโดยการเกิดเช่นกัน และต่อมา นางโรสแมรี่ได้รับอนุญาตให้ถือสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลของคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามมาตรา ๙ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘

นายมารค์แอนโทนีและนางโรสแมรี่มีบุตรด้วยกัน ๑ คน กล่าวคือ นายชานนท์ ซึ่งเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๐ ซึ่งบุตรผู้นี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาโดยผลของมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ และโดยหลักดินแดนโดยการเกิดโดยผลของมาตรา ๗ (๓) แห่ง พระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน

นอกจากนั้น มาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ก็ยังยอมรับสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยการเกิดตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕

ในขณะเดียวกัน นายชานนท์ก็มีสิทธิในสัญชาติอังกฤษโดยหลักสืบสายโลหิตจากทั้งบิดาและมารดา เพราะบุพการีทั้งสองยังคงมีสถานะเป็นคนสัญชาติอังกฤษ เขาจึงถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแสดงความเป็นคนสัญชาติอังกฤษตั้งแต่เกิด

ในปัจจุบัน ทั้งนายมาร์คแอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์มีชื่อในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ณ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และถือบัตรประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยบัตรประชาชน เพื่อแสดงสิทธิในสัญชาติไทย

นายมารค์แอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์ตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย แต่มีทรัพย์สินทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ในทั้งประเทศอังกฤษ ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย

---------------------------------------------------------------------

ร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งจะเข้ารับการทำประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ที่เกี่ยวข้องกับสัญชาติไทย

-----------------------------------------------------------------------

(๑.) มาตรา ๓๕ วรรคสี่ บัญญัติว่า “เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย

(๒.) มาตรา ๓๙ วรรคแรก บัญญัติว่า “การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้”

(๓.) มาตรา ๓๙ วรรคแรก บัญญัติว่า “การถอนสัญชาติของบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จะกระทำมิได้”

(๔.) มาตรา ๙๕ วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (๑) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี (๒) มีอายุไม่ต่ากว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง (๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง …….”

(๕.) มาตรา ๙๗ บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (๒) มีอายุไม่ต่ากว่ายี่สิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง (๓) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน (๔) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย (ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง (ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง (ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา (ง) เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี

(๖.) มาตรา ๑๐๘ บัญญัติว่า “สมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ ก. คุณสมบัติ (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (๒) มีอายุไม่ต่ากว่าสี่สิบปีในวันสมัครรับเลือก (๓) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทางานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี หรือเป็นผู้มีลักษณะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (๔) เกิด มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทางาน หรือมีความเกี่ยวพันกับพื้นที่ที่สมัครตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ..........”

(๗.) มาตรา ๑๖๐ บัญญัติว่า “รัฐมนตรีต้อง (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (๒) มีอายุไม่ต่ากว่าสามสิบห้าปี (๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ากว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (๕) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง…….”

(๘.) มาตรา ๒๐๑ บัญญัติว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ด้วย (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (๒) มีอายุไม่ต่ากว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่ถึงหกสิบแปดปีในวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา (๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ากว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

--------

คำถาม[1]

---------

โดยพิจารณาร่างบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ที่เกี่ยวข้องกับสัญชาติไทย นายมารค์แอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์มีสิทธิในข้อดังต่อไปนี้หรือไม่ ? มีเงื่อนไขเพียงใด ? (๑.) สิทธิในสัญชาติไทย (๒.) สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (๓.) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (๔.) สิทธิทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา (๕.) สิทธิทำหน้าที่รัฐมนตรี (๖.) สิทธิในการเข้ามาและอาศัยในประเทศไทย (๗.) สิทธิทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (๘.) สิทธิเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน

---------------

แนวคำตอบ

---------------

เราตระหนักได้ว่า นานารัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยของรัฐเหนือดินแดนและประชากรของตน ดังนั้น การกำหนดกฎหมายภายในของแต่ละรัฐก็ย่อมเป็นไปภายใต้อำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม เราก็พบอีกว่า นานารัฐมีแนวโน้มที่จะยอมรับหลักเกณฑ์ที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของเอกชนในลักษณะที่เป็นเอกรูป (uniform) โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่นานาประเทศยอมรับว่าด้วยมนุษย์ (Human Being)/บุคคลธรรมดา (Natural Person) นั้น เราก็พบต่อไปว่า นานารัฐบนประชาคมโลกมักกำหนดการรับรองสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์เอาไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของแต่ละประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ไม่ควรจะขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย หรือขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่มีสถานะเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศและหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน มีการกำหนดการรับรองสิทธิของมนุษย์ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งก็อาจมีรายละเอียดมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย

สำหรับการรับรองสิทธิและเสรีภาพของคนสัญชาติไทยก็ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยตลอดมา เช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ จะเข้ารับการทำประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นักศึกษานิติศาสตร์ไทยจึงควรที่จะมาพิจารณาบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสัญชาติไทยกัน เพื่อที่จะทราบว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นไปโดยสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย ตลอดจนหลักสิทธิมนุษยชนสากลที่มีสถานะเป็นจารีตประเพณีและหลักทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ หรือไม่ ?

เราอาจพิจารณาคุณภาพแห่งสิทธิในสัญชาติไทย ซึ่งได้รับการประกันสิทธิในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่กำลังจะเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์ดังต่อไปนี้

(๑.) สิทธิในสัญชาติไทยของนายมาร์คแอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์ ได้รับการคุ้มครองโดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ อย่างไร ?

เราพบว่า ร่างมาตรา ๓๙ วรรคแรก บัญญัติว่า “การถอนสัญชาติของบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จะกระทำมิได้” ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า เฉพาะนายชานนท์เท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกถอนสัญชาติไทย ทั้งนี้ เพราะนายชานนท์มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ทั้งนี้ เพราะเขาเกิดในขณะที่บิดามีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยแล้ว (๒) สัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ทั้งนี้ เพราะเขาเกิดในขณะที่มารดามีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยแล้ว และ (๓) สัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ทั้งนี้ เพราะเขาเกิดในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม เราย่อมต้องตระหนักว่า นายมาร์คแอนโทนี ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ และนางโรสแมรี่ ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยการสมรส ย่อมมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยภายหลังการเกิด จึงไม่ได้รับการคุ้มครองจากการถูกถอนสิทธิในสัญชาติไทย

แนวคิดว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการห้ามถอนสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดก็น่าจะเพื่อมิให้มนุษย์ตกเป็นคนไร้สัญชาตินั่นเอง แม้การถอนสัญชาติภายหลังการเกิดจะทำได้ แต่การถอนสัญชาติโดยการเกิดจะทำมิได้เลย ดังนั้น มนุษย์ก็จะยังคงมีสัญชาติโดยการเกิดเหลืออยู่เสมอ ปัญหาความไร้สัญชาติก็จะไม่เกิดแก่มนุษย์ในสังคมไทย ดังที่เคยเกิดแก่คนที่เกิดในประเทศไทยจำนวนหนึ่งในระหว่างวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖ จนถึงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕

จะเห็นว่า บทบัญญัติในลักษณะนี้ย่อมจะทำให้ข้อกล่าวหาในเวทีระหว่างประเทศที่ว่าด้วยความละเลยของประเทศไทยต่อปัญหาความไร้สัญชาติของชนกลุ่มน้อยที่เกิดในประเทศไทยลดลงและหมดไปในที่สุด เพราะปัญหาความไร้สัญชาติอันเกิดจากการละเลยการจดทะเบียนคนเกิดให้แก่ชาวเขา/ชาวป่า/ชาวเลในสถานะคนสัญชาติไทย โดยอ้างการตกอยู่ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ย่อมเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ขอให้เราตระหนักว่า การประกันความมั่นคงแห่งสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดยังไม่มีเคยมีมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับก่อนๆ ในลำดับต่อไป หากว่า ร่างนี้ได้รับการยอมรับ เราก็คงจะต้องมาตีความกันว่า คำว่า “สัญชาติไทยโดยการเกิด” นี้ หมายถึงเฉพาะสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย” เท่านั้น หรือหมายถึง “สิทธิในสัญชาติไทยแบบมีเงื่อนไข” อีกด้วย

(๒.) สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายมาร์คแอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์ ได้รับการคุ้มครองโดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ อย่างไร ?

เราพบว่า มาตรา ๙๕ วรรคแรก บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (๑) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี (๒) มีอายุไม่ต่ากว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง (๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง …….” ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า นายมารค์แอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพราะว่า บุคคลทั้งสามมีสิทธิในสัญชาติไทย แม้บทบัญญัตินี้จะดูเหมือนเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ แต่การเลือกปฏิบัตินี้ก็ไม่มีผลต่อนายมาร์คแอนโทนี่ เพราะเขาแปลงสัญชาติเป็นไทยมานานกว่า ๕ ปี เขาจึงเลือกตั้งได้ และเขาจึงร่วมลงประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ได้

แนวคิดว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการเลือกตั้ง ก็คือ การยอมรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองสัญชาตินั่นเอง จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า การเลือกปฏิบัติต่อคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาตินั้นจะถูกต้องหรือไม่ จะเห็นว่า ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกโดยคณะกรรมธิการตามอนุสัญญาอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (International Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination – CERD) ใน Concluding Observation ฉบับที่ ๒ ที่มีต่อประเทศไทย[2] แต่อย่างไรก็ตาม โดยพิจารณาทางปฏิบัติของนานาประเทศ ก็มีการเลือกปฏิบัติในประเด็นนี้เช่นกัน

ในส่วนนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีท่าทีแตกต่างไปจากที่เคยมีในอดีต

(๓.) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของนายมาร์คแอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์ ได้รับการคุ้มครองโดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ อย่างไร ?

เราพบว่า มาตรา ๙๗ บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (๒) มีอายุไม่ต่ากว่ายี่สิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง (๓) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน (๔) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย (ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง (ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง (ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา (ง) เคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี” ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า เฉพาะนายชานนท์เท่านั้นที่ได้รับการรับรองสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ เพราะนายชานนท์มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดใน ๓ ลักษณะ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ในขณะที่นางโรสแมรี่และนายมาร์คแอนโทนี่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิดังกล่าวนี้

แนวคิดว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็คือ การยอมรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองสัญชาติ อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะทำให้บุคคลที่มีส่วนร่วมนี้จะเข้าไปทำหน้าฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทย ส่วนที่เรียกว่า “สภาล่าง” หรือ “สภายกร่างกฎหมาย” ขอให้สังเกตว่า การประกันสิทธิในลักษณะนี้จึงเป็นการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวในการเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งในแนวปฏิบัติของนานารัฐในโลกนี้ ก็ทำกันแบบนี้ จึงทำให้การเลือกปฏิบัติในทิศทางนี้เป็นที่ยอมรับได้ ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ในส่วนนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีท่าทีแตกต่างไปจากที่เคยมีในอดีต

(๔.) สิทธิทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาของนายมาร์คแอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์ ได้รับการคุ้มครองโดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ อย่างไร ?

เราพบว่า (๖.) มาตรา ๑๐๘ บัญญัติว่า “สมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ ก. คุณสมบัติ (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (๒) มีอายุไม่ต่ากว่าสี่สิบปีในวันสมัครรับเลือก (๓) มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทางานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี หรือเป็นผู้มีลักษณะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (๔) เกิด มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทางาน หรือมีความเกี่ยวพันกับพื้นที่ที่สมัครตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ..........” ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า เฉพาะนายชานนท์เท่านั้นที่ได้รับการรับรองสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทั้งนี้ เพราะนายชานนท์มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดใน ๓ ลักษณะ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ในขณะที่นางโรสแมรี่และนายมาร์คแอนโทนี่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิดังกล่าวนี้

แนวคิดว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ก็คือ การยอมรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองสัญชาติ อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะทำให้บุคคลที่มีส่วนร่วมนี้จะเข้าไปทำหน้าฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทย ส่วนที่เรียกว่า “สภาบน” หรือ “สภากลั่นกรองกฎหมาย” ขอให้สังเกตว่า การประกันสิทธิในลักษณะนี้จึงเป็นการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวในการเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งในแนวปฏิบัติของนานารัฐในโลกนี้ ก็ทำกันแบบนี้ จึงทำให้การเลือกปฏิบัติในทิศทางนี้เป็นที่ยอมรับได้ ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ในส่วนนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีท่าทีแตกต่างไปจากที่เคยมีในอดีต

(๕.) สิทธิทำหน้าที่รัฐมนตรีของนายมาร์คแอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์ ได้รับการคุ้มครองโดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ อย่างไร ?

เราพบว่า มาตรา ๑๖๐ บัญญัติว่า “รัฐมนตรีต้อง (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (๒) มีอายุไม่ต่ากว่าสามสิบห้าปี (๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ากว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (๕) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง…….” ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า เฉพาะนายชานนท์เท่านั้นที่ได้รับการรับรองสิทธิในการเป็นรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพราะนายชานนท์มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดใน ๓ ลักษณะ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ในขณะที่นางโรสแมรี่และนายมาร์คแอนโทนี่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิดังกล่าวนี้

แนวคิดว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการเป็นรัฐมนตรี ก็คือ การยอมรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองสัญชาติ อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะทำให้บุคคลที่มีส่วนร่วมนี้จะเข้าไปทำหน้าฝ่ายบริหารของประเทศไทย ส่วนที่เรียกว่า “รัฐบาล” นั่นเอง ขอให้สังเกตว่า การประกันสิทธิในลักษณะนี้จึงเป็นการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวในการเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งในแนวปฏิบัติของนานารัฐในโลกนี้ ก็ทำกันแบบนี้ จึงทำให้การเลือกปฏิบัติในทิศทางนี้เป็นที่ยอมรับได้ ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ในส่วนนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีท่าทีแตกต่างไปจากที่เคยมีในอดีต

(๖.) สิทธิในการเข้ามาและอาศัยในประเทศไทยของนายมาร์คแอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์ ได้รับการคุ้มครองโดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ อย่างไร ?

เราพบว่า มาตรา ๓๙ วรรคแรก บัญญัติว่า “การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้” ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า ทั้งนายมาร์คแอนโทนี่ นางโรสแมรี่ และนายชานนท์ต่างก็ได้รับการรับรองสิทธิในเข้าเมืองและอาศัยในประเทศไทย ทั้งนี้ เพราะบุคคลทั้งสามต่างก็มีสิทธิในสัญชาติไทย แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกต ๒ ประการ กล่าวคือ

ข้อสังเกตในประการแรก โดยหลักการ การเนรเทศบุคคลทั้งสามออกจากประเทศไทยจึงทำไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการถอนสิทธิในสัญชาติไทยของนายมาร์คแอนโทนี่และนางโรสแมรี่ ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยภายหลังการเกิด เป็นไปได้ ดังนั้น การเนรเทศบุคคลทั้งสองหลังจากการถูกถอนสัญชาติไทยจึงเป็นไปได้ ในขณะที่การเนรเทศนายชานนท์ทำไม่ได้เลย เพราะเขาไม่อาจถูกถอนสิทธิในสัญชาติไทย

ข้อสังเกตในประการที่สอง โดยหลักการ การห้ามมิให้บุคคลทั้งสามเข้ามาในประเทศไทยจึงทำไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อการถอนสิทธิในสัญชาติไทยของนายมาร์คแอนโทนี่และนางโรสแมรี่ ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยภายหลังการเกิด เป็นไปได้ ดังนั้น การห้ามบุคคลทั้งสองมิให้เข้ามาในประเทศไทยหลังจากการถูกถอนสัญชาติไทยจึงเป็นไปได้ ในขณะที่การห้ามนายชานนท์เข้ามาในประเทศไทยจึงทำไม่ได้เลย เพราะเขาไม่อาจถูกถอนสิทธิในสัญชาติไทย

แนวคิดว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการรับรองสิทธิเข้าเมืองไทยและสิทธิอาศัยถาวรของคนสัญชาติไทย ก็คือ การรับรองสิทธิทางแพ่งหรือสิทธิพลเมืองของบุคคลธรรมดาที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติ จะเห็นว่า การประกันสิทธิในลักษณะนี้จึงทำให้สิทธิเข้ามาในประเทศไทยและสิทธิอาศัยในประเทศนี้ของคนสัญชาติไทยย่อมเป็นไปในลักษณะที่เด็ดขาดและไม่มีเงื่อนไข การประกันสิทธิในลักษณะนี้ที่เฉพาะเจาะจงดังนี้จึงเปิดโอกาสให้ประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดน อาจจำกัดสิทธิ และตั้งเงื่อนไขสำหรับการเข้ามาและการอาศัยในประเทศไทยของคนต่างด้าว ซึ่งในแนวปฏิบัติของนานารัฐในโลกนี้ ก็ทำกันแบบนี้ จึงทำให้การเลือกปฏิบัติในทิศทางนี้เป็นที่ยอมรับได้ ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ในส่วนนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีท่าทีแตกต่างไปจากที่เคยมีในอดีต

(๗.) สิทธิทำหน้าที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของนายมาร์คแอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์ ได้รับการคุ้มครองโดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ อย่างไร ?

เราพบว่า มาตรา ๒๐๑ บัญญัติว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ด้วย (๑) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (๒) มีอายุไม่ต่ากว่าสี่สิบห้าปี แต่ไม่ถึงหกสิบแปดปีในวันที่ได้รับการคัดเลือกหรือวันสมัครเข้ารับการสรรหา (๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ากว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (๔) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (๕) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า เฉพาะนายชานนท์เท่านั้นที่ได้รับการรับรองสิทธิในการเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพราะนายชานนท์มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดใน ๓ ลักษณะ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ในขณะที่นางโรสแมรี่และนายมาร์คแอนโทนี่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิดังกล่าวนี้ แนวคิดว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็คือ การยอมรับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองสัญชาติ อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะทำให้บุคคลที่มีส่วนร่วมนี้จะเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายตุลาการของประเทศไทย การประกันสิทธิในลักษณะนี้จึงเป็นการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวในการเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งในแนวปฏิบัติของนานารัฐในโลกนี้ ก็ทำกันแบบนี้ จึงทำให้การเลือกปฏิบัติในทิศทางนี้เป็นที่ยอมรับได้ ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ในส่วนนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีท่าทีแตกต่างไปจากที่เคยมีในอดีต

(๘.) สิทธิเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ของนายมาร์คแอนโทนี นางโรสแมรี่ และนายชานนท์ ได้รับการคุ้มครองโดยร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ อย่างไร ?

เราพบว่า มาตรา ๓๕ วรรคสี่ บัญญัติว่า “เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย” ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่า ทั้งนายมาร์คแอนโทนี่ นางโรสแมรี่ และนายชานนท์ต่างก็ได้รับการรับรองสิทธิในการเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น ทั้งนี้ เพราะบุคคลทั้งสามมีสิทธิในสัญชาติไทย

แนวคิดว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการเป็นเจ้าของสื่อในประเทศไทย ก็คือ การยอมรับให้คนสัญชาติไทยมีสิทธิในความเป็นเจ้าของกิจการสื่อสารมวลชน ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางความคิดของคนในประเทศ การประกันสิทธิในลักษณะนี้จึงเป็นการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวในการเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการดังกล่าวนั่นเอง ซึ่งในแนวปฏิบัติของนานารัฐในโลกนี้ ก็ทำกันแบบนี้ จึงทำให้การเลือกปฏิบัติในทิศทางนี้เป็นที่ยอมรับได้ ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ในส่วนนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้มีท่าทีแตกต่างไปจากที่เคยมีในอดีต

สิ่งที่จะต้องตั้งข้อสังเกตเป็นข้อสรุปสุดท้าย ก็คือ คนสัญชาติไทยโดยการเกิด ซึ่งแม้จะมีเชื้อสายต่างด้าว ก็ย่อมได้รับการประกันสิทธิจากร่างรัฐธรรมนูญนี้ในลักษณะเดียวกับคนสัญชาติไทยโดยการเกิด ซึ่งไม่มีเชื้อสายต่างด้าว บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญนี้มิได้มีบทบัญญัติที่ใช้เชื้อชาติ/เชื้อสายในการเลือกปฏิบัติต่อคนสัญชาติไทยโดยการเกิด ในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังไม่ยอมประกันสิทธิของคนสัญชาติไทยภายหลังการเกิดในเรื่องการมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตย โดยเฉพาะในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ตลอดจนการควบคุมความถูกต้องในการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่การประกันสิทธิในแผ่นดินนั้น กล่าวคือ การเข้ามาและการอาศัยนั้น ย่อมเป็นสิทธิอันเป็นของคนสัญชาติไทยในทุกคุณภาพแห่งสิทธิ

--------------------------------------------------------------------

[1] ข้อสอบปลายภาค วิชา กม. ๖๗๒ วิชากฎหมายระหว่างประเทศชั้นสูง ภาคที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๕๘ หลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙

[2] http://www.rlpd.go.th/rlpdnew/images/rlpd_1/International_HR/2557/CERD_01/book_3.pdf

หมายเลขบันทึก: 606441เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2016 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2016 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท