เงินก้อนฟรี เพื่อทำสิ่งดีดี


เงินกำลังจะหมุนไป...

ฉันขอขอบคุณที่องค์กรของฉันลุกขึ้นมาทำเรื่องดีดีให้เป็นขวัญกำลังใจคนทำงานระดับหัวหน้างาน ซึ่งมีอยู่ประมาณกว่า 300 คน แม้ว่าการจะให้ "ให้ได้" นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เฉกเช่นค่าตอบแทนในตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับเลขานุการคณะ สถาบัน สำนัก ผู้อำนวยการกอง ศูนย์ และด้วยเป็นตำแหน่งที่มีฐานปฏิบัติการควบคุมดูแล พร้อมเป็นผู้ลงมือปฏิบัติไปด้วยกันเป็นทีมงาน เป็นหมู่คณะ ตำแหน่งหัวหน้างานระดับผู้ปฏิบัติการจึงต้องใช้พลังทุ่มเททั้งสมอง ทั้งแรงกาย และแรงใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแรงใจนั้น เราจำต้องบริหารจัดการอย่างเหมาะสมโดยต้องมีบัญชีสะสมเงินทุนหนึ่งกอง แน่นอนว่าส่วนมากเงินสะสมนั้นมาจากเงินเดือน เงินค่าตอบแทนพิเศษของตัวหัวหน้างานเอง เรียกง่ายๆ คือต้องจัดสรรเงินเดือนที่ได้รับแต่ละเดือนไว้เป็นเงินก้นถุงบำรุงหล่อเลี้ยงทีมงาน เป็นเงินสำรองที่ต้องออกไปก่อน หากเบิกจ่ายคืนได้ก็จะมีเงินกลับมาสำรองหมุนเวียนต่อไป แต่หากไม่ นั่นคือภาษีสังคมที่ปฏิเสธไม่ได้ ผู้เป็นหัวหน้าควรยอมรับได้และต้องบริหารจัดการเพื่อความลื่นไหลในการทำงานของทีมทำงาน

ตลอดระยะเวลาที่มารับตำแหน่งหน้าที่หัวหน้างาน ฉันเองได้เรียนรู้การบริหารจัดการจัดสรรเงินเพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนทีมงาน สังคมของทีมงาน เงินนั้นมาจากสองทางคือ 1) ได้มาโดยชอบธรรมจากการทำงานให้หน่วยงานภายนอกเช่น เงินค่าวิทยากร ค่าออกข้อสอบ นอกจากนั้นเวลามีค่าตอบแทนนอกเวลาทำงาน ฉันจะพยายามนำบริจาคให้กับกองทุนสนับสนุนทีมงานนี้ และบางครั้งก็ยังต้องพึ่งพา 2) เงินในกระเป๋าส่วนตัว เช่นเดียวกับหัวหน้างานคนก่อนๆ เพราะมันเบิกไม่ได้ จึงยอมรับได้ว่าไม่ได้มีแค่ฉัน ผู้มาใหม่ขณะนั้น ที่ต้องเสียสละ

ต่อมาเมื่อองค์กรเห็นดีงามจัดสรรค่าตอบแทนหัวหน้างานให้ในปีที่ห้าของการมารับตำแหน่ง มันดูเป็นเรื่องดีมากที่หัวหน้างานจะได้มีแหล่งเงินสำรองจ่ายแทนการควักออกจากกระเป๋าสตางค์ส่วนตัวที่ยังมีค่าใช้จ่ายในครอบครัวรออยู่

แต่หัวหน้างานจะทำอย่างไรให้ได้รับ "เงินก้อนฟรี"นี้มาใช้จ่ายตามแผนบริหารจัดการที่วางไว้ โดยไม่ต้องเหลือบแลในกระเป๋าสตางค์ส่วนตัวอีก ในเมื่อเกณฑ์การพิจารณาประเมินค่างานของหัวหน้างาน และการประเมินผลการปฏิบัติงานของหัวหน้างาน มีระบบกำหนดกฎเกณฑ์ "อย่างเยอะ" ที่หลายหัวหน้างานถอดใจขอไม่สมัครใจลงมือเขียนผลงาน (องค์กรไม่ได้บังคับ)

สำหรับตัวฉันเองยอมรับว่า เฉยๆ ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ โดยขอฟังจากทีมงานระดับหัวหน้างาน เพราะจริงๆแล้วมันน่าเหน็ดเหนื่อยมากที่ต้องเขียนบอกว่าเราทำอะไรไปบ้างทุกเดือน สองเดือน สามเดือน หรือสี่เดือน แล้วแต่หน่วยงานสังกัดจะกำหนด จนกว่าเขาจะขอให้เลิกดำรงหน้าที่หัวหน้างาน แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่อยากทำ ฉันก็ทำ เพื่อไม่แปลกแยก

(ถอดบทเรียน) สิ่งดีจากการทำพบว่า ทำแล้วได้อะไรมากมาย เช่น รู้หลักการประเมินคุณค่าในตัวของเราเอง รู้ว่าผู้บริหารมองงานเราอย่างไร รู้ว่าจุดแข็ง/จุดอ่อนของเราคืออะไร แล้วจะปรับปรุงตัวใหม่อย่างไร ควรจะลดบทบาทลง หรือเพิ่มความขยันมากขึ้นกว่าที่ทำดีแล้วยังดีไม่สุดสุดในสายตาผู้ใหญ่ที่มองเห็นภาพกว้าง ภาพรวมมากกว่าที่เราพยายามจะมองจากตำแหน่งที่หยุดยืน

(หลังทบทวนดีแล้ว) ดังนั้น เมื่อหน่วยงานทำเรื่องดี ฉันเองก็ขอส่งต่อสิ่งดีดีจาก "เงินก้อนฟรี" ให้ทีมงานเล็กๆ นี้ด้วย แม้ไม่รู้ว่าจะทำได้นานเท่าไร เพราะผลการพิจารณามีขึ้นมีลง มีสอบผ่าน และสอบได้ต่ำกว่าเกณฑ์พิจารณาที่ถูกกำหนด ที่สำคัญการพิจารณาแต่ละงานนั้น เป็นการกำหนดวัดตัวตัดเย็บเฉพาะเนื้องานแต่ละงานนั้นๆ ด้วย

(บทสรุป) สำหรับผลการประเมินในครั้งแรก ฉันไม่รู้ว่าจะเป็นที่น่าพอใจไหม เมื่อเปรียบเทียบกับความเพียรพยายามของตัวฉันเอง แต่สิ่งหนึ่งที่คิดได้คือ การทำงานเพื่อให้ได้รับ “เงินก้อนฟรี” (นายบอกมาอย่างนั้น) มาจุนเจือในทีมงาน น่าจะเป็นเรื่องดีดีที่ควรทำ ส่วนความเพียรพยายามในการทำงานตามหน้าที่ยังมีเรื่องให้ต้องคิดทำอีกเยอะก่อนจะเกษียณ หรือละวางจากตำแหน่งนี้ไปในวันข้างหน้าอาจเป็น 1 ปี 2 ปีแต่ไม่เกิน7 ปีแน่นอน (อ่านบันทึกเพิ่มเติม>> ขอบคุณที่ได้เรียนรู้ผูก และรู้คลาย..... อ่านต่อได้ที่:https://www.gotoknow.org/posts/582038) คำพูดหนึ่งประโยคที่ถูกทิ้งท้ายไว้ในการประชุมเกริ่นแจ้งผลการประเมินที่ทำให้ฉันคิด (เอง)ได้ คือ จงเลือกว่าจะทำชำนาญการเพื่อให้ได้เงินมาติดตัวระหว่างวันเดือนทำงานที่เหลืออยู่ หรือจะเลือก “รอเงินก้อนฟรี” ที่ไม่แน่นอนนักว่าบางเดือนอาจจะไม่ได้ สรุปคือบทบาทของหัวหน้างานเช่นฉันยังไม่ได้ทำหน้าที่ได้แค่เสมอตัว (เปลี่ยนคนทำแทนเมื่อไรก็ได้) แต่นั่นไม่สำคัญอะไร เมื่อเรารู้เป้าหมายของตัวเราอย่างชัดเจนอยู่ก่อนแล้วว่า มาอยู่ทำไมที่นี่ (อ่านบันทึกเพิ่มเติม >> เมื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญมาถึง..... อ่านต่อได้ที่:https://www.gotoknow.org/posts/467531)

(สัญญาใจ ไฟปรารถนา) ฉันวางแนวทางการใช้ประโยชน์จาก “เงินก้อนฟรี” นี้ ซึ่งคิดว่ามันเป็นสิ่งดีดีที่ควรจะเป็น เพราะผลงานที่นำเสนอเป็นเรื่องของผลงานภายในงานล้วนๆ เป็นหน้าที่หัวหน้างานนำเสนอให้ หัวหน้างานมีหน้าที่ “รับใช้” ลูกน้อง! (อ่านบันทึกเพิ่มเติม>> ยุคนี้หัวหน้างานต้องพัฒนาทักษะอะไร..... อ่านต่อได้ที่:https://www.gotoknow.org/posts/590734) ผลการประเมินอาจได้มากกว่า 3,000 ขั้นต่ำต่อเดือน หากทีมงานจะร่วมแรงร่วมใจ ดำเนินภารกิจให้เป็นที่ประจักษ์ ช่วยกันส่งเสริมภาพลักษณ์ความรู้สึกที่ดีให้งานเนื่องเพราะงานประชาสัมพันธ์เป็นงานเล่นกับความรู้สึก ยากจะได้ผลคะแนนเกินความคาดหมาย

หัวหน้าส่วนใหญ่จะต้องควักเงินส่วนตัวออกสำรองจ่ายหรือจ่ายเปล่าเฉลี่ยปีละ 15,000 บาท ต่อหน่วยงานที่มีทีมงาน 10 คน (พี่สาวของฉันก็ควักส่วนตัวจ่ายต่อหัวพอๆกันแต่คนเยอะกว่า อิอิอิ) ค่าตอบแทนขั้นต่ำที่ได้รับ ณ ผลการประเมินผ่าน 80 มาเล็กน้อย อยู่ที่ 3,000 หลังหักชำระภาษี ฉันจะนำมาจัดสรรให้ทีมงาน และจะยึดเป็นแนวทางปฏิบัติระหว่างฉันเป็นหัวหน้า และภายใต้กฎเกณฑ์หากผลประเมินสอบผ่าน หากเดือนใด รอบการประเมินใดสอบไม่ได้ จะไม่มีการควักเงินเดือนส่วนตัวมาสมทบ ถือว่าเดือนนั้นจบไป

การจัดสรรจะมีสัดส่วนตามความจำเป็นการใช้เงิน 4-5 ปี ที่ผ่านมา คือคำนวณฐานเดิมที่ใช้จริงต่อปี 2,000 บาทสำหรับรายการจ่ายที่เบิกไม่ได้ เช่น ค่าพวงหรีดการตายที่ส่วนบุคคล ดอกไม้เยี่ยมไข้ เยี่ยมยินดี มีงานเกษียณ(แล้วแต่จำนวนผู้เกษียณ) ไม่เกิน 3,000 บาท คราวนี้น่าจะได้เพิ่มเติมเต็มสำหรับทีมงานที่ได้มีการนำเสนอแผนงานและจำเป็นต้องใช้เงินที่เบิกไม่ได้มาเป็นน้ำมันหล่อลื่นการทำงาน อาจเป็นเงินค่าต้องอยู่โยงในยามเย็นเมื่อปิดต้นฉบับไม่แล้วเสร็จในเวลา อาจเป็นค่าน้ำมันยานพาหนะส่วนตัวที่จำเป็นต้องใช้ แล้วแต่ทีมงานจะมีมานำเสนอว่าต้องใช้ ไม่น่าเกินเดือนละ 1,000 ที่เหลือ หัวหน้างานเปิดบัญชี "ก.ไก่ กิ้กก็อก" (ลอกเลียนวิธีการจากผู้บริหารหอสมุดท่านหนึ่ง กองทุน "ป.ปลาตากลม" ท่านสะสมเงินที่ได้รับจากค่าตอบแทนผู้บริหาร) บัญชีนี้จะเก็บสะสมสำหรับใช้จ่ายเมื่อหน่วยงานแม่ร้องขอให้หัวหน้างานสมทบส่วนตัวเป็นค่าของขวัญ ของรางวัลตามเทศกาลต่างๆ ที่มีมาประปราย (ประมาณว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างดีไปเลย) 3,000 - 4,000 บาทรวมทั้งสำหรับโอกาสพิเศษภายในทีมงาน ที่หมายรวมถึงเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานพีอาร์ เฉลี่ยปีละครั้ง (ปีนี้ที่ผ่านไปสดร้อน ควักจ่ายอาหารและเครื่องดื่ม เกินจากที่เก็บรายหัว 5,000 บาท)

จากผลการประเมินที่ได้รับทราบ เมื่อวิเคราะห์และประมวลสรุปได้พบว่าเนื้องานที่ครองตำแหน่งไว้ ลึกลงไปมอง Outcome ผลงาน วัดได้ที่ความพึงพอใจ มากกว่า Output ชิ้นงานที่เป็นผลผลิต คนที่ตัดสินใจมาในตำแหน่งงานนี้ล้วนได้ยอมรับความจริงตั้งแต่แรกเริ่มเรียนในวิชาชีพนี้แล้วว่า การสร้างภาพลักษณ์ ไม่เหมือนสิ่งปลูกสร้างดั่งเช่น ตึกเรียน อาคารสถานที่ การทำงานที่อ้างอิงตัวบทกฎหมายชัดเจน มันเปลี่ยนแปรผันได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง แน่นอนหนึ่งในนั่นคือ คน

หมายเลขบันทึก: 606818เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2016 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2016 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท