ร่วมงานอาสาขอบคุณผืนป่าดอยสุเทพ


วันหยุดไม่ได้สูญเปล่า

ในระหว่างมื้ออาหารกลางวันของฤดูร้อนแล้ง กับเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่ง หัวข้อสนทนาเกี่ยวกับบ้านเมืองของเราคือเรื่องการมีผู้ใหญ่จิตใจดีกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาชวนให้ชาวเมืองเชียงใหม่ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ คือ

กิจกรรมจิตอาสา ขุดลอกและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำตลอดลำน้ำห้วยแก้ว ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อคืนความชุ่มชื้นและฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนป่าดอยสุเทพ กำหนดระดมพลกันในระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม 2559 วันที่ 14-15 และ 21-22 พฤษภาคม 2559


กิจกรรมดังกล่าวเป็นการรวมพลังจิตอาสาตามโครงการฟื้นฝายตามรอยในหลวง ที่เครือข่ายตามรอยในหลวง ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เครือข่ายประชาชนจิตอาสา และหลายฝ่ายร่วมกันดำเนินการ เพื่อทำให้ฝายชะลอน้ำที่ตั้งอยู่ตามลำน้ำห้วยแก้ว และลำน้ำตกมณฑาธาร อยู่ในสภาพที่ดีพร้อมใช้งานสำหรับชะลอกักเก็บน้ำและคืนความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า หลังจากที่ในช่วงฤดูแล้งปีนี้ต้องเผชิญปัญหาความแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี มีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ทั้งโดยส่วนบุคคล และในนามขององค์กร หน่วยงาน ชมรม อาทิ กลุ่มสหพันธุ์แรงงานข้ามชาติ กลุ่มโบสถ์มอร์มอน นักศึกษา นักเรียน ประชาชนทั่วไป และที่ฉันได้มีโอกาสเป็นมดตัวเล็กๆ ในกิจกรรมดีๆ เพื่อผืนป่าดอยสุเทพครั้งนี้ เนื่องมาจากพี่ๆ น้อง ชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชักชวนกันมา ความรู้สึกอยากทำสิ่งดีตั้งแต่แรกเริ่มพูดคุยกับเพื่อนรุ่นพี่จึงขยับดีกรีความอยากมากขึ้น และในเช้าวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2559จึงเป็นวันแห่งความสุขที่ได้เก็บสะสมไว้ใน “บันทึกเรื่องดี บัญชีมีสุข” นี้ค่ะ

ก่อนอื่นเรามารับรู้ถึง แผนปฏิบัติการภายในวันทำกิจกรรมก่อนค่ะ
เวลา 8.00-8.30 นัดรวมพลที่ น้ำตกมณฑาธาร เพื่อซักซ้อมความเข้าใจ
เวลา 8.30 น. ขึ้นรถเคลื่อนพลไปยังจุดลอกฝายฯ
เวลา 12.00 น.พักรับประทานอาหาร
เวลา 16.00 น.เก็บของเดินทางกลับ

ส่วน เป้าหมายการทำงาน ที่รับทราบนั้นได้เอ่ยถึง การขุดลอก แบ่งเป็นสองชุดแยกกัน ประกอบไปด้วย 1. แรงงานขุดที่แข็งแรงและชำนาญ จัดจ้างร่วมกับทหารบางส่วน 2. แรงคนจิตอาสาตั้งแถวสองฝั่งฝายรับเศษวัสดุขุดลอกใส่บุ้งกี๋ส่งต่อๆกันไปทิ้ง ซึ่งในแต่ละวันจะทำได้มากน้อยขึ้นอยู่กับกำลังคน หากมีวันละ 120 คนอาจทำได้ได้ วันละ 3 ฝาย รวมทั้งหมดในผืนป่าดอยสุเทพ มีแผนตั้งใจสร้าง 21 ฝายค่ะ
สำหรับ คุณสมบัติของอาสาสมัคร นั้น จะต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคเสี่ยงใดๆ เป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะ หากเป็นนักเรียน จะต้องมีครูอาจารย์มาให้คำรับรองเป็นเอกสาร โดยในวันที่ลงทะเบียน ผู้อาสาต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนด้วยค่ะ

วันที่ฉันไปร่วมทำกิจกรรมนั้น เราได้รับโจทย์การสร้าง ซ่อมแซมฝายลำดับหมายเลข 15 ค่ะ เราเลือกไปทำกิจกรรมพร้อมกันกับนักเรียนโรงเรียนสาธิตรุ่น 45 (ส่วนลุงป้าพวกเรารุ่นเลขตัวเดียว) ฝายหมายเลข15 มีขนาดกว้างสุดขนาดเกือบครึ่งสนามฟุตบอล ทรายหนามาก วันนี้ที่เราร่วมแรงกันเป็นพลังจิตอาสาร้อยกว่าคนยังทำได้เพียงครึ่งของฝายนั่นคืองานยังไม่สำเร็จ ภายในวันเดียว จึงมีการต่อเวลาออกไปในสัปดาห์ข้างหน้าคือวันที่ 21 และ 22 พฤษภาคม ก่อนฝนจะหล่นฟ้าลงมาค่ะ ฝายนี้จะสามารถเก็บน้ำได้ปริมาณมหาศาล สามารถบรรเทาปัญหาความแห้งแล้ง มีแหล่งน้ำให้สัตว์ป่ากินจะเป็นประโยชน์กับสภาพรอบข้างอีกมากมาย ทีสำคัญเป็นผลงานเชิงประจักษ์อย่างชัดเจน

วันนี้พอเลิกงานเก็บข้าวของเตรียมตัวเดินทางกลับออกจากพื้นที่ ราวบ่ายสามโมง เสียงฟ้าร้องครืนหลายครั้ง เข้าใจกันไปว่ารุกขเทวดาท่านคงจะรับรู้การมาทำกิจกรรมดีดีร่วมกันของทุกคน รวมทั้งเด็กนักเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เด็กทุกรุ่นที่ได้เคยป่ายปีนขึ้นเขา ลงเขาในทางลัดเลาะอย่างน้อปีละ 1-2 ครั้ง

ขอบคุณที่ได้ไปทำงานสาธารณะในวันหยุดพักผ่อนและมีเรื่องราวดีๆมาเก็บบันทึกไว้

หมายเลขบันทึก: 606826เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2016 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2016 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท