Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บุตรที่เกิดในกัมพูชาจากมารดาสัญชาติไทยและบิดาสัญชาติลาว ย่อมมีสิทธิในหลายสัญชาติใช่หรือไม่ ?


กรณีศึกษานายบุญสวาท : การกำหนดสิทธิในสัญชาติของบุตรที่เกิดในประเทศกัมพูชาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙ จากบิดาตามกฎหมายสัญชาติลาวและมารดาสัญชาติไทย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10154184507308834

------------

ข้อเท็จจริง

------------

นายบุญสวาทเกิดในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติลาวซึ่งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐลาว และถือเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐลาว

เขาจบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตในประเทศลาวใน พ.ศ.๒๕๕๔ และมาจบนิติศาสตร์มหาบัณฑิตในประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๙

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ นายบุญสวาทได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนางสาวพิมพ์ผกาซึ่งมีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ณ เขตบางรัก กทม. ประเทศไทย

ฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นางสาวพิมพ์ผกาเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยซึ่งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และถือเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐไทย

หลังจากการสมรส นายบุญสวาทและนางสาวพิมพ์ผกาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพราะนายบุญสวาทได้เข้าทำงานเป็นนักกฎหมายประจำสาขาสำนักงานกฎหมาย H&L ประจำประเทศกัมพูชา ส่วนนางสาวพิมพ์ผกาชอบทำงานอิสระ จึงคิดจะผลิตขนมไทยขายในเมืองพนมเปญ

สำนักงานกฎหมาย H&L มีสถานะบุคคลตามกฎหมายเป็นบริษัทตามกฎหมายไทย โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะผู้ถือหุ้นข้างมากเป็นคนสัญชาติอเมริกัน ในขณะที่ผู้ถือหุ้นข้างน้อยเป็นคนสัญชาติไทย

ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นางสาวพิมพ์ผกาตั้งเริ่มตั้งท้องบุตรกับนายบุญสวาท ซึ่งมีกำหนดจะคลอดบุตรในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙ แต่บุคคลทั้งสองไม่แน่ใจว่า จะคลอดบุตรในประเทศใด แต่บุคคลทั้งสองได้ตกลงตั้งชื่อเล่นของบุตรว่า “น้องกอไก่”

อนึ่ง นายบุญสวาทมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวเพื่อทำงานในประเทศกัมพูชา ในขณะที่นางสาวพิมพ์ผกามีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวเพื่อติดตามครอบครัว เอกสารแสดงตัวในประเทศกัมพูชาของนายบุญสวาท ก็คือ หนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เอกสารนี้ระบุว่า นายบุญสวาทมีสถานะเป็นคนสัญชาติลาว ในขณะที่นางสาวพิมพ์ผกาถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศไทย เอกสารนี้ระบุว่า นางสาวพิมพ์ผกามีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย

นายบุญสวาทยังถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนางสาวพิมพ์ผกายังถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย

---------

คำถาม

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หากน้องกอไก่ ซึ่งเป็นบุตรของนายบุญสวาทและนางสาวพิมพ์ผกา เกิดในประเทศกัมพูชา บุตรผู้นี้จะมีสิทธิในสัญชาติใดบ้าง ? เพราะเหตุใด ?[1]

---------------

แนวคำตอบ

---------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลว่าด้วยหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐและหลักการเลือกการกฎหมาย จะเห็นว่า กรณีเป็นเรื่องของสิทธิในสัญชาติเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน ด้วยว่า เป็นเรื่องระหว่างรัฐและเอกชน เป็นนิติสัมพันธ์ของเอกชนตามกฎหมายมหาชน แม้มีลักษณะระหว่างประเทศ ก็จะต้องพิจารณาภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น ดังนั้น การพิจารณาสิทธิในสัญชาติของรัฐ จึงต้องพิจารณาภายใต้กฎหมายภายในว่าด้วยสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาติ ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่นโดยรัฐที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนั้น โดยหลักกฎหมายสัญชาติสากล รัฐเจ้าของสัญชาติจะรับรองสิทธิในสัญชาติของตนให้แก่บุคคลธรรมดาใด ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริง (Real Connecting Points) กับรัฐเจ้าของสัญชาติ ซึ่งโดยทั่วไป มนุษย์จะมีสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดตามข้อเท็จจริง ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) มนุษย์ย่อมมีสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดโดยหลักดินแดนเพราะมนุษย์ย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงโดยการเกิดกับรัฐเจ้าของดินแดนที่มนุษย์ผู้นั้นเกิด (๒) มนุษย์ย่อมมีสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาเพราะมนุษย์ย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงโดยการเกิดกับรัฐเจ้าของสัญชาติของบิดา และ (๓) มนุษย์ย่อมมีสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาเพราะมนุษย์ย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงโดยการเกิดกับรัฐเจ้าของสัญชาติของมารดา แต่อย่างไรก็ตาม ความสามารถที่จะใช้สิทธิในสัญชาติแต่ละลักษณะอาจจะเป็นไปโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย หรืออาจจะเป็นไปโดยคำสั่งของฝ่ายบริหารที่รักษาการตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ทั้งนี้ เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายภายในของรัฐเจ้าของสัญชาตินั้นๆ

เมื่อกลับพิจารณาข้อเท็จจริงของ น้องกอไก่ซึ่งจะเกิดในประเทศกัมพูชาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙ จากนายบุญสวาท ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติลาวในทะเบียนราษฎรของรัฐลาว และนางสาวพิมพ์ผกาซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย โดยหลักกฎหมายสัญชาติสากล จึงอาจสรุปได้ว่า

(๑) น้องกอไก่ย่อมมีสิทธิในสัญชาติกัมพูชาโดยการเกิดโดยหลักดินแดน เพราะน้องย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงโดยการเกิดกับประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่น้องเกิด

(๒) น้องกอไก่ย่อมมีสิทธิในสัญชาติลาวโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาเพราะน้องย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงโดยการเกิดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของนายบุญสวาท ซึ่งเป็นบิดา และ

(๓) น้องกอไก่ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาเพราะน้องกอไก่ย่อมมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงโดยการเกิดกับประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของนางสาวพิมพ์ผกา ซึ่งเป็นมารดา

จะสรุปต่อไปได้อีกว่า น้องกอไก่จึงมีสิทธิใน ๓ สัญชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่จะถือสิทธิในหลายสัญชาติย่อมเป็นไปตามกฎหมายของทุกรัฐที่เกี่ยวข้อง เราคงทราบว่า กฎหมายไทยและกัมพูชายอมรับให้ผู้ทรงสิทธิในสัญชาติของตนถือหลายสัญชาติได้ แต่กฎหมายลาวมิได้ยอมรับเช่นนั้น ดังนั้น น้องกอไก่จึงมีทางเลือกในการถือสิทธิในสัญชาติที่มีใน ๓ สถานการณ์ดังนี้

ในสถานการณ์แรก หากบุพการีจะเลือกให้น้องกอไก่ถือสิทธิในสัญชาติลาว ก็หมายความว่า น้องกอไก่ก็จะไม่อาจถือสิทธิในสัญชาติไทยและสัญชาติกัมพูชา

ในสถานการณ์ที่สอง หากบุพการีจะเลือกให้น้องกอไก่ถือสิทธิในสัญชาติไทย ก็หมายความว่า น้องกอไก่ก็อาจถือสัญชาติกัมพูชาควบคู่ไปด้วยก็ได้ เพราะทั้งกฎหมายไทยและกัมพูชาไม่ห้ามถือหลายสัญชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์นี้ น้องกอไก่ก็จะไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติลาว

ในสถานการณ์ที่สาม หากบุพการีจะเลือกให้น้องกอไก่ถือสิทธิในสัญชาติกัมพูชา ก็หมายความว่า น้องกอไก่ก็อาจถือสัญชาติไทยควบคู่ไปด้วยก็ได้ เพราะทั้งกฎหมายไทยและกัมพูชาไม่ห้ามถือหลายสัญชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์นี้ น้องกอไก่ก็จะไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติลาวเช่นกัน

ขอให้สังเกตว่า เมื่อน้องกอไก่บรรลุนิติภาวะแล้ว น้องกอไก่ก็อาจใช้เสรีภาพโดยตนเองที่จะเลือกสัญชาติในลักษณะที่ตนเองต้องการ

โดยสรุป การที่มนุษย์มีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับหลายรัฐ ก็จะทำให้มีสิทธิในหลายสัญชาติโดยการเกิด แต่สถานะความเป็นคนสัญชาติในสายตาของรัฐนั้น ย่อมเป็นไปตามข้อเท็จจริงว่า มนุษย์ผู้นั้นได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติในทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของสัญชาติหรือไม่ ? เท่าใด ? แม้มนุษย์มีสิทธิในหลายสัญชาติ แต่มิได้รับการรับรองในทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของสัญชาติทุกรัฐ บุคคลดังกล่าวก็จะไม่มีสถานะเป็นคนหลายสัญชาติแต่อย่างใด การได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติในทะเบียนราษฎรของรัฐใด ก็จะมีสถานะคนสัญชาติของรัฐนั้น และจะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในสายตาของรัฐเจ้าของสัญชาติที่ยังไม่รับรองสถานะคนสัญชาติในทะเบียนราษฎร เสรีภาพในการใช้สิทธิในสัญชาติเป็นของมนุษย์เจ้าของสิทธิในสัญชาตินั้นๆ ในลักษณะเดียวกัน หน้าที่รับรองสิทธิดังกล่าว ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐเจ้าของสัญชาตินั้นๆ ในทางปฏิบัติของรัฐจำนวนมากบนโลกนี้ มีความเป็นไปได้ที่รัฐเจ้าของสัญชาติยอมรับให้มนุษย์ใช้สิทธิในหลายสัญชาติ มนุษย์บนโลกนี้จำนวนมากจึงมีสถานะเป็น “คนหลายสัญชาติ” จะเห็นว่า น้องกอไก่จึงอาจมีสถานะเป็นคนสองสัญชาติในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยและรัฐกัมพูชา




[1] ข้อสอบปลายภาคในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 606975เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2016 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2016 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท