Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ศาลไทยจะใช้กฎหมายของประเทศใดกำหนดความสามารถของคนสัญชาติลาวที่อาศัยในประเทศกัมพูชา ??


กรณีศึกษานายบุญสวาท : เมื่อศาลไทยจะต้องเลือกกฎหมายเพื่อกำหนดความสามารถของคนสัญชาติลาวซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศกัมพูชา

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10154150170348834

------------

ข้อเท็จจริง

------------

นายบุญสวาทเกิดในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๘ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติลาวซึ่งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐลาว และถือเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐลาว

เขาจบการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตในประเทศลาวใน พ.ศ.๒๕๕๔ และมาจบนิติศาสตร์มหาบัณฑิตในประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๙

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ นายบุญสวาทได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนางสาวพิมพ์ผกาซึ่งมีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ณ เขตบางรัก กทม. ประเทศไทย

ฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นางสาวพิมพ์ผกาเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยซึ่งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และถือเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐไทย

หลังจากการสมรส นายบุญสวาทและนางสาวพิมพ์ผกาตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพราะนายบุญสวาทได้เข้าทำงานเป็นนักกฎหมายประจำสาขาสำนักงานกฎหมาย H&L ประจำประเทศกัมพูชา ส่วนนางสาวพิมพ์ผกาชอบทำงานอิสระ จึงคิดจะผลิตขนมไทยขายในเมืองพนมเปญ

สำนักงานกฎหมาย H&L มีสถานะบุคคลตามกฎหมายเป็นบริษัทตามกฎหมายไทย โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะผู้ถือหุ้นข้างมากเป็นคนสัญชาติอเมริกัน ในขณะที่ผู้ถือหุ้นข้างน้อยเป็นคนสัญชาติไทย

ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นางสาวพิมพ์ผกาตั้งเริ่มตั้งท้องบุตรกับนายบุญสวาท ซึ่งมีกำหนดจะคลอดบุตรในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๙ แต่บุคคลทั้งสองไม่แน่ใจว่า จะคลอดบุตรในประเทศใด แต่บุคคลทั้งสองได้ตกลงตั้งชื่อเล่นของบุตรว่า “น้องกอไก่”

อนึ่ง นายบุญสวาทมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวเพื่อทำงานในประเทศกัมพูชา ในขณะที่นางสาวพิมพ์ผกามีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวเพื่อติดตามครอบครัว เอกสารแสดงตัวในประเทศกัมพูชาของนายบุญสวาท ก็คือ หนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เอกสารนี้ระบุว่า นายบุญสวาทมีสถานะเป็นคนสัญชาติลาว ในขณะที่นางสาวพิมพ์ผกาถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศไทย เอกสารนี้ระบุว่า นางสาวพิมพ์ผกามีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย

นายบุญสวาทยังถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนางสาวพิมพ์ผกายังถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย

---------

คำถาม

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ศาลไทยจะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดบ้างในการพิจารณาประเด็นแห่งคดีที่เกี่ยวกับความสามารถในการทำนิติกรรมของนายบุญสวาท ? เพราะเหตุใด ?[1]

อนึ่ง กฎหมายขัดกันไทย ลาว และกัมพูชา มีบทบัญญัติในเรื่องการเลือกกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคลธรรมดาในลักษณะเดียวกัน เพราะเป็นกฎหมายขัดกันในตระกูลกฎหมายแบบ Civil Law เหมือนกัน

--------------

แนวคำตอบ

---------------

ประเด็นตามคำถาม เป็นเรื่องการเลือกกฎหมายเพื่อกำหนดความสามารถของบุคคลธรรมดา จึงเป็นเรื่องของนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชน โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล จะต้องเริ่มต้นพิจารณากรณีภายใต้กฎหมายขัดกันของรัฐที่มีการกล่าวอ้างนิติสัมพันธ์ ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เป็นการพิจารณาคดีเกี่ยวกับคนสัญชาติลาวในศาลของประเทศไทย ก็จะต้องใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ และเมื่อเป็นเรื่องของการกำหนดความสามารถของบุคคล จึงเป็นไปภายใต้มาตรา ๑๐ ซึ่งบัญญัติว่า

“ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แต่ถ้าคนต่างด้าวทำนิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติ คนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดสำหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่า บุคคลนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมนั้นได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก

ในกรณีที่เป็นนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ความสามารถของบุคคลที่จะทำนิติกรรม เช่นว่านั้นย่อมเป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่”

จะเห็นว่า กรณีอาจจำแนกได้เป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) กรณีของความสามารถในการทำนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และ (๒) กรณีของความสามารถในการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

ในกรณีของความสามารถในการทำนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

กรณีโดยทั่วไปเป็นไปภายใต้มาตรา ๑๐ วรรค ๑ ซึ่งบัญญัติว่า ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น” ดังนั้น กฎหมายที่มีผลกำหนดความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญาของนายบุญสวาท จึงได้แก่ กฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคล แต่หากบุคคลไม่มีความสามารถตามกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติ แต่เป็นการทำนิติกรรมอันไม่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกที่เกิดในประเทศไทย ก็อาจพิจารณาภายใต้กฎหมายไทยได้ด้วย ดังที่มาตรา ๑๐ วรรค ๒ บัญญัติว่า “แต่ถ้าคนต่างด้าวทำนิติกรรมในประเทศสยาม ซึ่งตามกฎหมายสัญชาติ คนต่างด้าวนั้นย่อมจะไร้ความสามารถหรือมีความสามารถอันจำกัดสำหรับนิติกรรมนั้น ให้ถือว่า บุคคลนั้นมีความสามารถทำนิติกรรมนั้นได้เพียงเท่าที่จะมีความสามารถตามกฎหมายสยาม ความในวรรคนี้ไม่ใช้แก่นิติกรรมตามกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก”

ดังจะเห็นว่า เมื่อนายบุญสวาทได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติลาวในทะเบียนราษฎรของรัฐลาว จึงเป็นผลให้ศาลไทยจะต้องใช้กฎหมายขัดกันลาวซึ่งเป็นกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของนายบุญสวาท ทั้งนี้ เป็นไปโดยผลของมาตรา ๑๐ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑

โดยกฎหมายขัดกันลาว ซึ่งเป็นกฎหมายในตระกูลกฎหมายแบบ Civil Law ปัญหาความสามารถของบุคคลในสถานการณ์ทั่วไป ก็เป็นไปตามกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติเช่นกัน ดังนั้น เพื่อเคารพกฎหมายขัดกันลาว ศาลไทยจึงต้องนำเอากฎหมายแพ่งสาระบัญญัติลาวมาใช้กำหนดความสามารถของนายบุญสวาท อีกด้วย นั่นก็คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศลาวย่อมจะได้รับการปรับใช้โดยศาลไทย

จะเห็นว่า เมื่อศาลไทยต้องใช้กฎหมายลาว ซึ่งเป็นกฎหมายต่างประเทศ จึงมีประเด็นที่จะต้องพิสูจน์อีก ๒ สถานการณ์ กล่าวคือ

สถานการณ์แรก ฝ่ายที่กล่าวอ้างกฎหมายลาวจะต้องพิสูจน์เนื้อหาของกฎหมายนี้จนศาลไทยพอใจ ทั้งนี้ เป็นไปโดยผลของมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งหากศาลไทยไม่พอใจว่า เนื้อหาของกฎหมายลาวเป็นไปดังที่กล่าวอ้าง ศาลไทยก็อาจกลับมาใช้กฎหมายไทยในการกำหนดความสามารถของนายบุญสวาท

สถานการณ์ที่สอง ฝ่ายที่กล่าวอ้างกฎหมายลาวจะต้องพิสูจน์ว่า การปรับใช้กฎหมายลาวนี้จะไม่ขัดความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศไทย ทั้งนี้ เป็นไปโดยผลของมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งหากศาลไทยไม่พอใจว่า เนื้อหาของกฎหมายลาวเป็นไปดังที่กล่าวอ้าง ศาลไทยก็อาจกลับมาใช้กฎหมายไทยในการกำหนดความสามารถของนายบุญสวาท เช่นกัน

ในกรณีของความสามารถในการทำนิติกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายที่มีผลกำหนดความสามารถในกรณีนี้ของนายบุญสวาท ก็คือ กฎหมายของรัฐเจ้าของถิ่นอันเป็นที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ ดังปรากฏตามมาตรา ๑๐ วรรคที่ ๓ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่เป็นนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ความสามารถของบุคคลที่จะทำนิติกรรม เช่นว่านั้นย่อมเป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่

ดังนั้น หากอสังหาริมทรัพย์ตั้งในประเทศไทย กฎหมายที่จะใช้กำหนดความสามารถของนายบุญสวาท ก็คือ กฎหมายไทย แต่หากอสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในประเทศกัมพูชา หรือลาว กฎหมายที่จะใช้กำหนดความสามารถของนายบุญสวาท ก็คือ กฎหมายต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าของดินแดนที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น จะเห็นว่า เมื่อศาลไทยต้องใช้กฎหมายต่างประเทศดังกล่าว กรณีจึงจำเป็นต้องพิสูจน์เนื้อหาของกฎหมายต่างประเทศ และจำเป็นต้องพิสูจน์ความไม่ขัดความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของกฎหมายต่างประเทศทั้งนี้ เป็นไปโดยผลของมาตรา ๘ และมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ อีกเช่นกัน แต่หากศาลไทยจะต้องใช้กฎหมายไทย ก็ไม่จำต้องมีการพิสูจน์ดังกล่าว เพราะศาลไทยย่อมรู้กฎหมายไทยได้เอง อีกทั้งกฎหมายไทยย่อมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประเทศไทย



[1] ข้อสอบปลายภาคในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 606997เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2016 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2016 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท