​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๖๐: ประโยชน์ของแพทยศาสตร์อยู่ที่ใด?


แพทยศาสตร์เป็น "วิทยาศาสตร์" แขนงหนึ่งที่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์สำคัญ นั่นคือ "ผลลัพธ์" ของศาสตร์แขนงนี้มันวางอยู่บน "อารมณ์และความรู้สึก" นั้นคือ ความสุขและความทุกข์

ลำพัง "ความจริง" นั้น ไม่เพียงพอที่จะท้าทายให้เกิดศาสตร์สาขานี้ขึ้นมา เพราะ เกิด แก่ เจ็บ แล้วก็ตาย นั้นเป็นสัจธรรมมาแต่ไหนแต่ไร แต่ในการเดินทางของวัฎสังสารที่ว่ามันมีเรื่องความสุข ความทุกข์ด้วย คนจึงเกิดความคิดที่จะทำอะไรสักอย่างกับสัจธรรมที่เห็นกับตา สัมผัสกับมือกันอยู่ทุกวัน ก็ปรากฏว่าเทคโนโลยีใหม่ๆแทบจะทุกชนิดที่ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ จะต้องนึกถึงการนำไปใช้กับการยืดต่อชีวิตด้วยเสมอ รวมทั้งการทำ "ชีวิตให้สุขสบายมากขึ้น"

วิทยาศาสตร์พื้นฐานทางการแพทย์จึงยิ่งมายิ่งลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ ลงไประดับเซลล์ก็แล้ว โมเลคิวก็แล้ว ยังไม่พอ ลงไปถึงระดับ DNA นั่นเลย จนตำรับตำราเล่มทั้งหนาขึ้นทั้งแตกตัวแตกหน่อออกไปอีกหลายสิบ หลายร้อยเล่ม สมกับที่วางอยู่บน "ระบบความคิด" ของมนุษย์ที่วันหนึ่งๆคิดได้เป็นหลายหมื่นเรื่อง แต่ที่ต้องระวังก็คือ ความสุขหรือความทุกข์ของคนนั้นไม่ได้เป็นเพียง "ความคิด" หากแต่มีสัดส่วนของ "ความรู้สึก และอารมณ์" อยู่มากทีเดียว

การ "รู้มาก" ของแพทย์จึงเป็นเรื่องจำเป็นพื้นฐาน แต่ต้องผนวกกับศักยภาพของการรับรู้อารมณ์ความรู้สึก นั่นคือ "ความเห็นอกเห็นใจ" ไปด้วย เพราะหากเราไม่มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจแล้ว เราจะไม่เคยได้สัมผัสกับรากเหง้าที่มาของศาสตร์สาขานี้ได้เลย

ปัญหาอยู่ที่การเรียนศึกษาแพทยศาสตร์ในปัจจุบันนั้น มี "เนื้อหา" เยอะมากที่ทำให้บรรดานักศึกษาสมองร้อน หัวดี มีอะไรให้ลงไปเสพอย่างเหลือเฟือ แต่ทว่า competency ทางอารมณ์ความรู้สึกนั้น จะต้องเกิดจากการ "คลุกวงใน" ที่ใช้ความละเอียด ประณีต และความอ่อนโยนของหัวใจเข้าไปเกิดการเรียนรู้เท่านั้น ตรงกับคำว่า "ศึกษา" ซึ่งมาจากคำว่า "สิกขา: ส แปลว่า ตนเอง และ อิกฺขา แปลว่า รู้/ทำให้รู้" จะสิกขาหรือศึกษาความเป็นมนุษย์ ใช้แค่คิดอย่างเดียวไม่พอ ต้องลงไปเปลือยหัวใจสัมผัสกับความสั่นสะเทือนทางอารมณ์ของจริงๆด้วย

และนักศึกษาต้องรู้จัก "ใช้ชีวิต" จึงจะทราบว่าชีวิตนั้นมีค่าอย่างไร จะสูญเสียอะไรที่เป็นองค์ประกอบของชีวิตนั้นมันหนักหนาสาหัสเช่นไร และหากมีใครมาช่วยบรรเทาและรักษาไม่ให้สูญเสียนั้น มันจะมี "ความหมาย" เช่นไรต่อชีวิตคนๆนั้น (และคนไปช่วย) บ้าง

และเรื่องเหล่านี้มัน "ตัดเกรดไม่ได้" และ "ให้คะแนนก็ไม่ได้" ยังไม่มีใครคิดค้นหาเครื่องมือวัดสิ่งที่เรียกว่า "เมตตาบารมี" ขึ้นมาได้ อันเป็น competency ทื่เราหวังว่าประคบประหงมให้เกิดเจริญงอกงามขึ้นในจิตใจของว่าที่บัณฑิตแพทย์ในระยะเวลาหกปี

ในขณะที่คณะวิชาสาขาต่างๆมี "เกียรตินิยม" ที่แปลจาก competency ของบัณฑิตที่พึงปราถนาของสาขาวิชานั้นๆ อันว่าบัณฑิตต้องมี
๑) ถึงพร้อมซึ่งความรู้ ทักษะ และทัศนคติของศาสตร์สาขานั้นๆ
๒) ถึงพร้อมซึ่งความสง่างามของกาย วาจา และใจ ตามหลักแห่งความดีและคุณธรรม
๓) ถึงพร้อมซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

บัณฑิตแพทย์ที่พึงปราถนา หรือได้เกียาตินิยม ควรจะได้รับพิจารณาเรื่องที่ "นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์การแพทย์" ด้วยหรือไม่? สถาบันควรไหมที่จะการันตีได้ระดับหนึ่งว่า บัณฑิตที่พึงปราถนาบุคคลนี้ เป็นคนที่เห็นประโยชน์ส่วนตัวเป็นอันดับรอง เห็นประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นอันดับหนึ่ง หรือเราเอาแค่ "เรียนเก่ง" ก็พอ?

"People don't care how much you know until they know how much you care."
Theodore Roosevelt ("ผู้คนไม่สนใจหรอกว่าคุณรู้มากแค่ไหนจนกว่าเขาเหล่านั้นจะรู้ว่าคุณเห็นอกเห็นใจความรู้สึกของเขาแค่ไหน" ธีโอดอร์ รูสเวลท์)

บัณฑิตในปัจจุบันนั้น "รู้มาก know a lot" แต่ถ้ารู้มากแต่ไม่เคยแคร์หรือใส่ใจความรู้สึกรู้สาของผู้คน ผู้คนก็จะไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่ว่าจะรู้มากแค่ไหนก็ตาม

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เวลา ๙ นาฬิกา ๕๔ นาที
วันแรม ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 607080เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2016 10:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2016 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท