ทำไมคนไทยถึงไม่ชอบเรียนปรัชญา


ถ้าไปถามเด็กประถม เด็กมัธยมว่ารู้จักปรัชญาไหม เขาจะรู้จักปรัชญา ว่าคือคำคม สุภาษิต ปรัชญาของโรงเรียนที่เป็นคำพระ

แล้วถ้าถามว่ารู้จักวิชาปรัชญาไหม เค้าก็จะทำหน้างงๆ แล้วก็จะถามว่า "แล้วเรียนอะไร"

ถ้าไปดูตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะพบว่ามีที่เปิดเป็นภาควิชา สาขาวิชา และมีการเปิดเป็นวิชาเอกจริงๆ เหลือไม่กี่แห่ง...

ถ้าไปดูรายวิชาศึกษาทั่วไปของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะพบว่าวิชาปรัชญาถูกเปลี่ยนเป็นวิชาอื่นๆ เช่น ความเป็นจริงของชีวิต แล้วเขาสอนปรัชญาหรือเปล่า คำตอบคือสอนปรัชญา แต่เป็นปรัชญาพุทธเสียเป็นส่วนใหญ่

ถ้าไปดูการเลือกเรียนปรัชญาเป็นวิชาเอก หรือโท จะพบว่าน้อยลงๆ ทุกๆ ปี แต่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ จะเป็นสาขาพระพุทธศาสนาและปรัชญา มีผู้เรียนไม่น้อย แต่เน้นพุทธปรัชญา

มีทรรศนะสำคัญอยู่ที่ แนวทางการจัดการศึกษาไทยที่ไม่ชอบให้เถียงหรือแสดงทรรศะที่ตรงกันข้ามกับจารีต คือ ผู้สอนเป็นใหญ่ ทุกคนต้องเชื่อครู ดังนั้นโครงสร้างการศึกษาจึงไม่ส่งเสริมปรัชญา เพราะปรัชญาส่งเสริมการคิดต่าง และหาเหตุผลยืนยันความคิดของตนเอง หากเรียนปรัชญาก็จะค้นหาความคิดที่หลากหลาย มีการถกเถียงกันมาก ทำให้โครงสร้างสังคม โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของครูกับนักเรียนซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจนั้นสั่นคลอนลง การสอนจึงเป็นการสอนเชิงท่องจำ แม้จะมีการปฏิรูปการศึกษา เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ก็เป็นเพียงการนำเอาระบบทางปรัชญาและการสร้างความรู้เข้ามาแต่รูปแบบ คือ เน้นการมีส่วนร่วม แต่ไม่มีกิจกรรมที่นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง (ไม่มีการถกเถียงเหตุผลว่าทำไมต้องทำ)

คำถามสำคัญอีกอย่างคือ จบปรัชญาแล้วทำงานอะไร มีอาชีพรองรับหรือเปล่า เงินเดือนเท่าไร

เพราะมีผู้มองว่าวิชาปรัชญานั้น เป็นวิชาที่ "ไร้ประโยชน์" มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว (เป็นเพียงแค่วิชา intellectual play) เพราะว่าวิชาปรัชญาไม่สามารถ contribute อะไรให้สังคมได้ ยิ่งกว่านั้นวิชาปรัชญาเองจะทำให้คนเรียน "ทำมาหากิน" ได้อย่างไร

ปรัชญาจะสามารถลงหลักปักฐานในสังคมได้นั้น สังคมต้องมีความสามารถในการผลิตอยู่ในระดับหนึ่ง มี economic surplus อยู่พอสมควร (สังคมอยู่ดีกินดี มีทรัพยากรเหลือพอ จึงจะเหลือพอเลี้ยงเหล่านักปรัชญาได้)

คนส่วนใหญ่..แม้แต่นักศึกษาวิชาปรัชญาเอง ก็ยังไม่เข้าใจว่าปรัชญาเอาไปใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง อาจจะถึงขั้นไม่เข้าใจนิยามของคำว่าปรัชญาเลยด้วย ดังนั้น ปรัชญาจึงไม่เป็นที่น่านิยมในสายตาของหลาย ๆ คนในยุคนี้

ผู้ที่ชอบปรัชญา ก็มักคิดว่า หากเราชอบอะไร ไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องก็ได้ เรียนรู้ด้วยตัวเองก็ได้ แต่ถ้าจะดำรงชีวิตให้ได้ ควรเรียนสายวิชาชีพดีกว่า มีงานทำ มีรายได้แน่นอน


การศึกษาไทยทกวันนี้ ศึกษาเพื่อตอบสนองตลาดงาน เรียนอเพื่อตอบคำถามว่า "จะทำมาหากินอะไร" ไม่ใช่เรียนเพื่อจะรู้อย่างเดียว

แล้วทำไมต่างประเทศ เขาจึงเรียนปรัชญากันมาก ก็ต้องถามว่า แล้ววิชาปรัชญาสอนอะไรกันแน่

ปรัชญาเป็นวิชาของปัญญา สอนเรื่องปัญญา สอนให้รู้จักคิดเป็น และคิดเป็นระบบ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้วิชาปรัชญาแตกต่างจากวิชาอื่น ๆ คือ วิชาปรัชญาสอนให้คิดอย่างปรัชญา ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นความเป็นจริง ความจริง จะเป็นนามธรรมขนาดไหนก็ตาม วิชาปรัชญาสามารถทำให้เรากำหนดเป้าหมายชีวิต (determine destiny) ของเราได้ นี่คือ สิ่งสำคัญมาก

โลกที่ถูกจำแนกโดยวิชาการสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โลกทุนนิยม/โลกาภิวัตน์/เสรีนิยม หรือโลกอะไรก็ตาม ล้วนกำลังมุ่งไปสู่สังคมฐานความรู้ และเศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based society/economy) ดังนั้น เป้าหมายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชุมชนใด ๆ ก็ตาม สามารถทำการผลิต/บริโภค และสร้างชีวิตที่ดีได้ (ศัพท์ล่าสุด ใช้ การพัฒนาคุณภาพชีวิต)

ผู้สอนปรัชญาบางท่านก็แนะนำถึงเรื่องการนำเอาปรัชญาไปปรับสอนในเชิงประยุกต์ เช่น รวมกับสาขาวิชาอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการเรียนให้มากขึ้น เพื่อจะได้แฝงปูพื้นแนวคิดปรัชญาในวิชานั้นๆ

สำหรับคำตอบสำคัญ คือ ผู้ที่จบปรัชญาออกไปทำงานอะไร คำตอบที่คิดได้ทันทีคือ อาจารย์สอนปรัชญา แต่งานที่ใช้ความรู้ความสามารถจากการเรียนปรัชญาก็เป็นงานที่ผู้จบปรัชญาสามารถเลือกทำได้ ได้แก่ งานบริหารบุคลากร งานสัมพันธ์ระหว่างแผนกหรือองค์กร ที่ปรึกษาขององค์กรหรือบริษัท งานส่วนใหญ่จะเป็นตัวกลางหรือเกี่ยวข้องกับผู้คน เพราะทักษะที่ปรัชญาให้ไว้โดยตรงคือ การเข้าใจคนและชีวิต และสัญชาติของบริษัทที่มักจะรับนักศึกษาที่มีวุฒิการศึกษาด้านปรัชญามากที่สุด คือ ญี่ปุ่น เยอรมัน เป็นต้น

ทั้งนี้ในปัจจุบันปัญหาคุณธรรมจริยธรรมเห็นเด่นชัด แต่เมืองไทยจะนำเอาหลักศาสนามาใช้คิดกัน ไม่ค่อยนำปรัชญามาใช้แยกแยะ จึงเป็นพื้นที่ๆ ยังเปิดให้นักปรัชญาแสดงคุณค่าของตนได้มากกว่าเพียงการทำอาชีพ

คำสำคัญ (Tags): #เรียนปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 607238เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2016 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2016 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท