ความอ่อนน้อมถ่อมตน เครื่องมือการตลาดที่ไม่มีต้นทุน


“...แต่เป็นเพราะความอ่อนน้อมถ่อมตนที่มีปรากฎในตัวของเจ้าชายต่างหากที่ทำให้สื่อหันมาให้ความสนใจ และตีพิมพ์เรื่องราวของเจ้าชายพระองค์นี้โดยไม่ต้องเสียเงินทองในการซื้อสื่อ...”

ท่านคงเคยได้ยินผู้ประกอบการหลายท่านบอกว่า ตอนนี้ต้นทุนแพงไปซะทุกอย่างตั้งแต่น้ำมันขึ้นราคา ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าการผลิต หรือแม้แต่ค่าแรง ส่วนราคาสินค้าสินค้านั้น  สินค้าบางชนิดหากขยับราคาขึ้น ยอดขายก็จะตกลงอย่างวูบวาบ1   แต่ถ้าเราไม่ขึ้นราคาก็อยู่รอดได้ยาก  ในด้านกำไรก็เหลือน้อยจนในแทบจะกลายเป็นเพื่อนสนิทกับต้นทุนไปเสียแล้ว  ผู้ประกอบการหลายท่านที่ว่านี้ได้ไปขอคำปรึกษาจากนักการตลาด  ก็ได้รับคำแนะนำว่าถ้าจะขายสินค้าให้ได้ ก็ต้องทำสินค้าและบริการให้แตกต่างจากสินค้าของชาวบ้านเขา และต้องสร้างตราสินค้าร่วมด้วย เพื่อทำให้คนรู้จักมากขึ้น

พอลองกลับมาคิดดูอีกที ที่นักการตลาดว่า เราต้องทำสินค้าให้มีแตกต่างและต้องสร้างตราสินค้าเพื่อที่จะทำให้สินค้าและบริการขายได้ดีมากขึ้นนั้นก็เป็นเรื่องจริง  แต่ว่าไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการทั้งหลายจะไม่อยากทำ  ครั้นพอคิดลงมือทำก็ไปติดขัดในเรื่องของเงินทุน  อีกประการผู้ประกอบการหลายท่านก็ยังหวั่นใจอยู่ในการทำสินค้าและบริการให้แตกต่างจากคู่แข่งนั้น  ก็ไม่ได้มีคำรับรองอะไรว่าสินค้าที่แตกต่างเหล่านั้นจะสามารถขายได้  อีกทั้งการสร้างตราสินค้านั้น หากจะทำให้คนรู้จักอาจต้องหมายถึงการลงทุนและลงแรงในการเข้าถึงสื่อ และซื้อสื่อ  ซึ่งผู้ประกอบการหลายท่านอาจคิดว่าการลงแรงนั้นไม่เป็นปัญหา แต่ลงทุนนี่ซิครับคือปัญหาที่หนักอกพวกเขาอยู่

อย่างไรก็ตามแนวทางสร้างความต่างนั้นไม่ได้มีเพียงแค่สร้างความแตกต่างเฉพาะเรื่องของตัวสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการสามารถสร้างความแตกต่างด้านอื่นๆ ให้กับสินค้าของเราได้อีกเช่น การสร้างความแตกต่างในด้านช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า สร้างความแตกต่างในเรื่องของการให้บริการ หรือสร้างความแตกต่างในด้านของอารมณ์และความรู้สึกของผู้ซื้อที่มีต่อตัวสินค้าและผู้ขายสินค้า บางครั้งสินค้าที่ท่านขายอาจมีลักษณะการใช้ รูปแบบ หรือคุณประโยชน์เหมือนหรือใกล้เคียงกับคู่แข่งของท่านแต่ความแตกต่างที่ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อหรือใช้บริการของท่านอาจไม่ได้เกิดจากตัวสินค้าหรือโดยบริการโดยตรง แต่เกิดจากความรู้สึกได้รับ ความรู้สึกที่เป็นมิตร ความรู้สึกอบอุ่น  ซึ่งทำให้พวกเขากลับมาแวะเยี่ยมเยียนเพื่อใช้บริการของท่านซ้ำแล้วซ้ำอีก

แนวคิดของการตลาดที่ผมอยากให้ท่านผู้ประกอบการได้พิจารณาในสภาวะที่สินค้ามีต้นทุนที่สูงขึ้นคือการสร้างความแตกต่างบนความรู้สึกของลูกค้า  เครื่องมือการตลาดอย่างหนึ่งที่มักใช้ได้ผลมาตลอดและไม่มีต้นทุนการลงทุนด้านการเงินคือ การอ่อนน้อมถ่อมตนครับ

 ที่ว่าการอ่อนน้อมถ่อมตนไม่มีต้นทุนด้านการเงินนั่นคือ  เครื่องมือชิ้นนี้ไม่ต้องลงทุนซื้อหาครับ เป็นสิ่งที่เกิดภายในตัวของท่านเอง เป็นสิ่งที่ท่านสามารถทำได้ในทันทีหากท่านตัดสินใจที่จะทำ กรณีศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ที่เห็นได้ชัดในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนก็คือการเสด็จมาเยือนประเทศไทยของเจ้าชาย จิกมี เคซาร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาณ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในพิธีฉลองครองราชย์ครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ก่อนหน้านี้มีคนไม่มากนักที่รู้จักประเทศภูฏาณ ที่เคยรู้จักก็อาจจะเป็นที่ได้ได้ร่ำเรียนกันมาบ้างว่าประเทศภูฏาณเป็นประเทศเล็กๆ มีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย และก็เท่านั้น  มีกี่คนที่ใส่ใจที่จะศึกษาในรายละเอียดมากกว่านี้ว่า  ประเทศเล็กๆ แห่งนี้มีอะไรอื่นอีกที่น่าสนใจ น่าไปเยือน แต่จากการเสด็จมาเยือนประเทศไทยของเจ้าชายจิ๊กมีในครั้งนี้ ทำให้ประเทศภูฏาณเป็นประเทศที่ผู้คนกล่าวถึงมากที่สุดประเทศหนึ่งและเป็นที่ปรารถนาของคนหลายคนที่ต้องการไปเยือนในชั่วข้ามคืนก็เนื่องจากพระจริยาวัตรของเจ้าชายที่ผู้คนได้พบเห็นและรับทราบจากทางสื่อต่าง ภูฎาณกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งที่หลายคนต้องการที่จะไปเยี่ยมเยือน  ราคาค่าใช้จ่ายในการไปเยือนภูฏาณกับหลายๆ ท่านก็ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป  เรื่องราวของเจ้าชาย จิ๊กมี หนังสือ แผนที่ ข้อมูลของประเทศและข้อมูลการเดินทางที่เกี่ยวกับประเทศภูฏาณกลายเป็นสินค้าที่มีคนถามถึงเป็นจำนวนมาก และต้องการที่จะได้มาศึกษา
 

เห็นหรือไม่ครับภายในชั่วข้ามคืนประเทศเล็กๆ อย่างภูฏาณกลายเป็นที่รู้จักของคนในประเทศเราและประเทศอื่นๆ ไปทั่วโลก  ไม่ใช่เพราะการซื้อสื่อโฆษณาลงหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ แต่เป็นเพราะความอ่อนน้อมถ่อมตนที่มีปรากฎอยู่ในตัวของเจ้าชายต่างหากที่ทำให้สื่อหันมาให้ความสนใจตีพิมพ์และโฆษณาเรื่องราวของเจ้าชายพระองค์นี้โดยประเทศภูฎาณไม่ต้องเสียเงินทองในการซื้อสื่อเลย

จากกรณีศึกษาของเจ้าชายจิ๊กมีทำให้เราได้เรียนรู้ว่าความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้นสามารถใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการทำให้ธุรกิจของเราให้เป็นที่รู้จัก ขยายวงได้กว้างและรวดเร็วจากการบอกแบบปากหนึ่งสู่อีกปากหนึ่ง2 สร้างความแตกต่างให้กับตัวสินค้าและบริการและเป็นสิ่งที่ไม่ต้องใช้เงินทองในการจัดหามา สำหรับผู้ประกอบการที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วก็อย่างละทิ้งไปเสียนะครับ แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะทำให้ตนเองมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นหรือมีมากขึ้นก็เพียงแต่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการให้บริการ  หากไม่ใช่ที่ตัวท่านเองก็อาจจะลองดูที่ลูกน้องของท่าน  ว่าพวกเขามีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ การพูดให้เห็นถึงความสำคัญและทำให้ลูกน้องของท่านรู้สึกถึงความสำคัญในเรื่องการอ่อนน้อมถ่อมตนด้วยตนเองจะได้ผลในการปฏิบัติมากกว่าการสั่งให้ทำนะครับ 

ความรู้เพิ่มเติมเรื่องการตลาด

1อาการของธุรกิจที่มียอดขายลดลงมากเมื่อเพิ่มราคาสินค้าขึ้นเพียงนิดหน่อย เราเรียกว่าลูกค้ามีความรู้สึกที่ไวต่อราคาที่เปลี่ยนไปครับ  หรือที่ฝรั่งเรียกว่ามี Price Sensitivity สูง

2 การบอกจากปากต่อปากนั้นเป็นแนวคิดในการสร้างกระแสนิยมต่อสินค้าและบริการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้คนพูดสินค้าและบริการของเรา  ซึ่งเรียกเป็นภาษาฝรั่งกว่า Word-of-Mouth (WOM) หรือ Buzz หรือ Viral Marketing

บุริม โอทกานนท์

5 สิงหาคม 2549

หมายเลขบันทึก: 60729เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2006 20:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 20:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
ได้ความรู้มากครับอาจารย์ จะเอาไปปรับใช้กับการทอผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่บ้านของผม

ยินดีครับ ที่บทความที่เขียนขึ้นผู้อ่านเช่นคุณออตจะได้นำไปใช้ประโยชน์ครับ

ถูกแล้วค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท