Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รัฐใดเป็นเจ้าของตัวบุคคลของเด็กชายอามิน ซึ่งเป็นบุตรที่เกิดในประเทศมาเลเซียจากหญิงสัญชาติไทยและชายสัญชาติมาเลเซีย



กรณีศึกษานางสาวสายชล

: การกำหนดรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ของบุตรที่เกิดในประเทศมาเลเซียของมารดาสัญชาติไทยกับบิดาสัญชาติมาเลเซีย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

------------

ข้อเท็จจริง

-------------

ปรากฏข้อเท็จจริงว่า[1] นางสาวสายชล คนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายมาเลเซียกับนายฮาซิค คนสัญชาติมาเลเซียในทะเบียนราษฎรมาเลเซีย ณ เมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ใน พ.ศ.๒๕๕๐ และบุคคลทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๑ คน ซึ่งมีชื่อว่า “เด็กชายอามิน” ซึ่งเกิด ณ เมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓

เด็กชายอามินได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรมาเลเซียในสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย แต่ไม่ได้มีการแจ้งการเกิดของเด็กชายผู้นี้ในทะเบียนราษฎรไทย อนึ่ง กฎหมายมาเลเซียยังห้ามการถือสองสัญชาติ เด็กชายอามินจึงถือเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติมาเลเซียที่ออกโดยทางราชการมาเลเซียเท่านั้น

ส่วนนางสาวสายชลไม่เคยร้องใช้สิทธิในสัญชาติมาเลเซียโดยการสมรสกับชายสัญชาติมาเลเซีย และไม่เคยร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย เธอร้องขอเพียงสิทธิอาศัยไม่ถาวรกับครอบครัว กล่าวคือ สามีตามกฎหมาย และบุตร ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย การต่อวีซ่าครอบครัวเป็นไปแบบปีต่อปี

ในราว พ.ศ.๒๕๕๕ นางสาวสายชลมีปากเสียงกับนายฮาซิคอย่างรุนแรง เธอจึงตกลงแยกทางกับนายฮาซิค แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน เพราะยังตกลงกันในเรื่องการเลี้ยงดูเด็กชายอามินไม่ได้ ทั้งนางสาวสายชลและนายฮาซิคต่างก็อยากเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กชายอามินแต่ผู้เดียว แต่อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕ นางสาวสายชลตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยแต่ผู้เดียว ส่วนเด็กชายอามินยังคงอาศัยอยู่กับบิดาในเมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เขาไม่เคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเลย

ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ นางสาวสายชลพยายามจะเจรจากับนายฮาซิคเพื่อขอสิทธิเลี้ยงดูเด็กชายอามิน และขอนำเด็กชายอามินมาอาศัยกับตนเองในประเทศไทย แต่การเจรจาก็ไม่ประสบผลสำเร็จ นายฮาซิคไม่ยินยอมรับข้อเสนอของนางสาวสายชล แต่ยอมรับที่จะจดทะเบียนหย่าขาดจากนางสาวสายชล และยอมรับที่จะจ่ายค่าเลี้ยงดูให้แก่นางสาวสายชล จนกว่าเธอผู้นี้จะมีคู่สมรสใหม่

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นางสาวสายชลตัดสินใจที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อขอใช้สิทธิเลี้ยงดูเด็กชายอามินแต่ผู้เดียว เธอจึงเริ่มต้นหารือกับสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเสียงหลายแห่งเพื่อการนี้ เธอยังลังเลว่า จะร้องขอต่อศาลไทย หรือศาลมาเลเซีย หรือทั้งสองศาล ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำคำสั่งศาลไปขอรับตัวบุตรชายมาอยู่กับเธอในประเทศไทย

----------

คำถาม

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า รัฐใดบ้างที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กชายอามิน เพราะเหตุใด[2]

----------------

แนวคำตอบ

----------------

ประเด็นของเรื่อง เป็นคำถามเพื่อให้กำหนดตัวรัฐเจ้าของตัวบุคคลของมนุษย์/บุคคลธรรมดา ซึ่ง ก็คือ เป็นเรื่องของการพิจารณาสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลตามกฎหมายเอกชน เราจึงต้องมาพิจารณาว่า รัฐอธิปไตยใดที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับบุคคลธรรมดาตามข้อเท็จจริงอันเป็นโจทย์ อันทำให้มีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของบุคคลธรรมดาดังกล่าว

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ข้อเท็จจริงที่ทำให้รัฐอธิปไตยหนึ่งมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล” ของบุคคลธรรมดาคนใด ย่อมเกิดจากสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลธรรมดานั้นใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ความเป็นคนที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐนั้น และ (๒) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐนั้น และ (๓) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐนั้น

เมื่อเราพิจารณาข้อเท็จจริงของเด็กชายอามินตามข้อเท็จจริงที่ให้มา เราก็อาจสรุปได้เป็น ๓ ข้อวิเคราะห์ กล่าวคือ

ในประการแรก เราอาจสรุปได้อย่างชัดเจนว่า รัฐมาเลเซียจึงมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของเด็กชายอามิน ในสถานะรัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กชายอามิน ทั้งนี้ เพราะเด็กชายอามินได้รับการรับรองสถานะความเป็นคนสัญชาติมาเลเซียโดยรัฐมาเลเซียเท่านั้น ดังจะเห็นว่า เด็กชายอามินจึงถือเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติมาเลเซียที่ออกโดยทางราชการมาเลเซียเท่านั้น

สำหรับรัฐไทยนั้น แม้ว่า จะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติและรัฐเจ้าของภูมิลำเนาทั้งตามกฎหมายเอกชนและมหาชนของนางสาวสายชล ซึ่งมีสถานะเป็นมารดาของเด็กชายอามิน ซึ่งย่อมทำให้เด็กชายอามินสามารถสืบสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาได้อย่างแน่นอน แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า การแจ้งการเกิดของเด็กชายผู้นี้ยังมิได้ทำในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย รัฐดังกล่าวจึงไม่อาจตระหนักรู้ได้ว่า มีเด็กชายอามินซึ่งทรงสิทธิในสัญชาติไทยอยู่บนโลกนี้ เมื่อการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทยให้แก่เด็กชายอามินยังไม่เกิดขึ้น รัฐไทยก็จะไม่อาจเข้าทำหน้าที่รัฐเจ้าของตัวตัวบุคคลของเด็กชายอามินในสถานะรัฐเจ้าของสัญชาติ จึงไม่ปรากฏมีการออกเอกสารรับรองสถานะบุคคลใดๆ แก่เด็กชายอามิน

ในประการที่สอง จึงกล่าวได้อีกว่า รัฐมาเลเซียจึงยังเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กชายอามิน ในสถานะรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กชายอามินอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะเด็กชายอามินได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย และได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลเพียงในทะเบียนราษฎรตามกฎหมายมาเลเซีย เขาจึงมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายมาเลเซียว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เขาจึงมีสถานะเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐมาเลเซีย ดังนั้น นอกจากรัฐมาเลเซียจะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กชายผู้นี้แล้ว รัฐนี้ยังเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กชายผู้นี้อีกด้วย

ในส่วนของรัฐไทยนั้น แม้เราจะตระหนักได้ดีว่า หากมีการแจ้งการเกิดย้อนหลังให้เด็กชายอามินในทะเบียนราษฎรไทยหรือมีการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรดังกล่าวนี้ รัฐไทยก็จะเริ่มต้นมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กชายอามิน แต่เมื่อยังไม่มีการกระทำดังกล่าว ในปัจจุบัน รัฐไทยก็ยังไม่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กชายอามินแต่อย่างใด

ในประการที่สาม รัฐมาเลเซียยังเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กชายอามิน เพราะเขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐดังกล่าวอีกด้วยจะเห็นว่า เด็กชายอามินยังคงอาศัยอยู่กับนายฮาซิค บิดาในเมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เราจึงฟังได้ว่า เด็กชายอามินมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐมาเลเซีย มิใช่ประเทศไทย ซึ่งจนถึงปัจจุบัน เขาไม่เคยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเลย รัฐไทยในวันนี้ จึงไม่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของเด็กชายอามินแต่อย่างใด

โดยสรุป จึงมีรัฐเดียวบนโลกนี้ที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กชายอามิน กล่าวคือ รัฐมาเลเซีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้ง (๑) รัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กชายอามิน (๒) รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กชายอามิน และ (๓) รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของเด็กชายอามิน ส่วนรัฐไทยนั้น ก็อาจเป็นรัฐต่อไปที่อาจเข้าทำหน้าที่รัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กชายอามิน หากจะมีการขอการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยของเด็กชายอามิน และหากเด็กชายอามินถูกบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรไทย รัฐไทยก็จะเข้ามาทำหน้าที่รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กชายอามิน ได้เช่นกัน หรือแม้เด็กชายอามินจะใช้สิทธิเข้ามาอาศัยอยู่กับนางสาวสายชล ผู้เป็นมารดา รัฐไทยก็จะเข้ามาทำหน้าที่รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของเด็กชายอามิน ได้เช่นกัน รัฐไทยจึงเป็นรัฐที่สองที่พร้อมจะเข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยเหนือตัวบุคคลของเด็กชายอามิน ด้วยจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงระหว่างรัฐนี้และเด็กชายอามินโดยผ่านมารดา ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย นั่นเอง

จะเห็นว่า ด้วยว่า เด็กชายอามินเป็นมนุษย์/บุคคลธรรมดา/บุคคลตามธรรมชาติ ซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงโดยการเกิดกับ ๒ รัฐอธิปไตยพร้อมๆ กัน แต่บุพการีของเด็กชายอามินยังมิได้ใช้เสรีภาพแทนบุตรผู้เยาว์ที่จะขอการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายจากทั้งสองรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับตนแล้ว ดังนั้น เขาจึงได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเพียงภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐๆ เดียว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อบุพการีตัดสินใจใหม่ หรือเมื่อเด็กชายอามินบรรลุนิติภาวะ เขาก็อาจใช้เสรีภาพที่จะขอการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายที่เหมาะสมกับเขา อันจะทำให้รัฐทั้งสองมีโอกาส “ร่วมกัน” ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองเด็กชายอามิน ขอให้เราตระหนักว่า การปรากฏตัวของประชาคมอาเซียน ซึ่งรัฐทั้งสองต่างเป็นสมาชิก จะยิ่งทำให้โอกาสที่จะร่วมกันดูแลเด็กชายอามินของรัฐทั้งสองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่า กรณีจะเป็นเช่นใด เด็กชายอามินก็คือ “ประชาชนอาเซียน (ASEAN People) ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎบัตรอาเซียน” อย่างปฏิเสธมิได้

-------------------------------------------------------------


[1] เป็นข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงที่หารือเข้ามาโดยประชาชนเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ ยังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคปกติ ศูนย์รังสิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ภาคที่ ๒

หมายเลขบันทึก: 607729เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 00:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท