Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แม้ซาฟิอิจะมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทย แต่เมื่อเขาไม่ถือสัญชาติไทย เขาก็ต้องร้องขอวีซ่าเพื่อเข้ามาในประเทศไทย


รณีศึกษานางสาวอัจฉรีย์ : การกำหนดสิทธิเข้าเมืองไทยของบุตรที่เกิดในประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕ จากมารดาสัญชาติไทยกับบิดาตามกฎหมายสัญชาติมาเลเซีย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

-------------

ข้อเท็จจริง

--------------

ปรากฏข้อเท็จจริง[1]ว่า นางอัจฉรีย์ คนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายมาเลเซียกับนายกาซิม คนสัญชาติมาเลเซียในทะเบียนราษฎรมาเลเซีย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ใน พ.ศ.๒๕๓๔ และบุคคลทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๑ คน ซึ่งมีชื่อว่า “นายซาฟิอี” ซึ่งเกิด ณ โกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕

นายซาฟิอีได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรมาเลเซียในสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย แต่ไม่ได้มีการแจ้งการเกิดของชายผู้นี้ในทะเบียนราษฎรไทย อนึ่ง กฎหมายมาเลเซียยังห้ามการถือสองสัญชาติ

ส่วนนางอัจฉรีย์ไม่เคยร้องใช้สิทธิในสัญชาติมาเลเซียโดยการสมรสกับชายสัญชาติมาเลเซีย และไม่เคยร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย เธอร้องขอเพียงสิทธิอาศัยถาวรกับครอบครัว กล่าวคือ สามีตามกฎหมาย และบุตร ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย

ภายหลังจากการสมรสกับนายกาซิม นางอัจฉรีย์ได้เข้านับถือศาสนาอิสลามตามสามี

ในราว พ.ศ.๒๕๕๐ นายกาซิมได้เสียชีวิตลง

ต่อมา ในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ นางอัจฉรีย์ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยแต่ผู้เดียว ส่วนนายซาฟิอียังคงอาศัยอยู่กับปู่และย่าในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

ใน พ.ศ.๒๕๕๙ นายซาฟิอีเรียนจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐกลันตัน เขาอยากที่จะมาอาศัยอยู่กับมารดาในประเทศไทย จึงพยายามหางานทำในประเทศไทย

ในที่สุด ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ เขาก็ได้เข้าทำงานในบริษัทตามกฎหมายไทย ซึ่งมีชื่อว่า “Happy Body For All (Thailand)” บริษัทนี้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ถือหุ้นร้อยละ ๖๐ เป็นของคนสัญชาติอเมริกัน ส่วนหุ้นข้างหุ้นน้อยร้อยละ ๒๕ ถือโดยคนสัญชาติไทย และร้อยละ ๑๕ ถือโดยคนสัญชาติมาเลเซีย สัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายซาฟิอีและบริษัท “Happy Body For All (Thailand)” ทำ ณ สำนักงานของ “Happy Body For All (Malaysia)” ณ โกตาบารู ซึ่งตั้งตามกฎหมายมาเลเซีย

เขาตั้งใจที่จะอาศัยอยู่กับมารดา และไม่กลับไปประเทศมาเลเซียอีกแล้ว

----------

คำถาม

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ในระหว่างที่นายซาฟิอิยังมิได้รับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และในกรณีที่นายซาฟิอิเดินทางเข้ามาอาศัยในประเทศไทย กับนางอัจฉรีย์ ผู้เป็นมารดา ตลอดจนตาและยาย เขาจะต้องร้องขอวีซ่าเพื่อการเดินทางเข้าประเทศไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?[2]

----------------

แนวคำตอบ

----------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สิทธิในการเข้าเมืองย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองของรัฐเจ้าของดินแดนซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เพราะเรื่องการเข้าเมืองเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชนย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐเจ้าของดินแดน ซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี แต่อย่างไรก็ตาม รัฐที่เกี่ยวข้องอาจจะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

ในข้อเท็จจริงนี้ กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ก็คือ กฎหมายไทยว่าการเข้าเมืองไทย ในปัจจุบัน บทกฎหมายหลัก ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ จึงต้องใช้กฎหมายนี้พิจารณาปัญหาการเข้าเมืองไทยของนายซาฟิอิ

โดยหลักกฎหมายสากลว่าด้วยการเข้าเมือง การเข้าเมืองของคนชาติเป็นสิทธิที่เด็ดขาด ในขณะที่การเข้าเมืองของคนต่างด้าวเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข จะเห็นว่า บทบัญญัติใน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ก็ยอมรับแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน โดยผลของมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คำว่า “คนต่างด้าว” หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และคำว่า “คนเข้าเมือง” หมายถึงคนต่างด้าวเท่านั้น

เมื่อนายซาฟิอิมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทย เขาจึงมีสิทธิในสัญชาติไทยตามมารดา เขาจึง “น่า” จะมิใช่คนต่างด้าวและคนเข้าเมืองในสายตาของรัฐไทย เธอจึง “น่า” จะมีสิทธิเข้าเมืองไทยโดยไม่มีเงื่อนไข

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีการร้องขอเพิ่มชื่อนายซาฟิอิในทะเบียนราษฎรไทย รัฐไทยจึงยังไม่มีโอกาสรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่เด็กชายผู้นี้ แม้ว่าเขาน่าจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย จึงอาจใช้สิทธิได้โดยพลัน แต่หากเขายังไม่ใช้สิทธิในสัญชาตินี้ เขาจึงยังไม่ได้รับการรับรองว่า มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย โดยผลต่อไป นายซาฟิอิจึงถูกถือว่า “คนต่างด้าว” โดยมาตรา ๕๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ จนกว่าจะพิสูจน์ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย ทั้งนี้ เป็นตามบัญญัติแห่งมาตรา ๕๗ วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย

ดังนั้น ตราบเท่าที่นายซาฟิอิยังไม่อาจได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทย เขาก็จะต้องเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้หนังสือเดินทางมาเลเซียในสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย ในสถานการณ์นี้ เขาก็จะต้องร้องขออนุญาตเข้าเมืองตามมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งรัฐไทยบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต่อคนต่างด้าวในสถานการณ์ทั่วไป

โดยสรุป เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายย่อมทำให้นายซาฟิอิมีสิทธิเข้ามาในประเทศไทยอย่างเด็ดขาดและไม่มีสิ้นสุด ตราบเท่าที่ยังไม่เสียสิทธิในสัญชาติไทย แต่อย่างไรก็ตาม การที่เขาไม่มีเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติไทยที่ออกโดยรัฐไทยอาจทำให้เขามีปัญหาในการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองไทย การขอวีซ่าเข้าเมืองไทยดังเช่น “คนต่างด้าวแท้” จึงเป็นการจัดการปัญหาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

-------------------------------------------------------------



[1] เป็นข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงที่หารือเข้ามาโดยประชาชนเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ ยังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคปกติ ศูนย์ลำปาง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ภาคที่ ๒








หมายเลขบันทึก: 608620เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2016 18:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2016 19:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท