Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รัฐใดบ้างล่ะที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุตรที่เกิดในประเทศไทยจากมารดาสัญชาติไทยและบิดาตามกฎหมายที่มีสัญชาติอเมริกัน ?


กรณีศึกษานางเพ็ญศรี : การกำหนดรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ของบุตรที่เกิดในประเทศไทยจากมารดาสัญชาติไทยซึ่งสมรสตามกฎหมายไทยกับชายสัญชาติอเมริกัน

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

-----------------

ข้อเท็จจริง

------------------

ปรากฏข้อเท็จจริง[1] ว่า นางเพ็ญศรี ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนายโทนี่ ณ จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย ใน พ.ศ.๒๕๕๐ และบุคคลทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คน ซึ่งมีชื่อว่า “เด็กหญิงแองเจลินา” ซึ่งเกิด ณ โรงพยาบาลพญาไท ๒ กทม. ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

เราพบอีกว่า ในขณะจดทะเบียนสมรสกันนั้น นางเพ็ญศรี มีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ในขณะที่นายโทนี่ มีสถานะคนสัญชาติอเมริกันในทะเบียนราษฎรอเมริกัน และมีสถานะเป็นคนต่างด้าวสัญชาติอเมริกันในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ในทะเบียนราษฎรไทย ส่วนเด็กหญิงแองเจลินาได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย อันทำให้เธอได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้มีการแจ้งการเกิดของเด็กหญิงผู้นี้ในทะเบียนราษฎรอเมริกัน อนึ่ง กฎหมายอเมริกันไม่ห้ามการถือสองสัญชาติ

นางเพ็ญศรีไม่เคยร้องใช้สิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยการสมรสกับชายสัญชาติอเมริกัน และไม่เคยร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรอเมริกัน เธอไม่เคยเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกันแต่อย่างใด

ส่วนนายโทนี่ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท AIM ซึ่งเป็นบริษัทตามกฎหมายอเมริกัน ซึ่งเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทดังกล่าวเข้ามาตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ นายโทนี่ถูกส่งมาทำงานในสำนักงานนี้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบัน

ในราว พ.ศ.๒๕๕๖ นางเพ็ญศรีและนายโทนี่เริ่มมีปากเสียงกัน จนแยกกันอยู่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ แต่ยังมิได้จดทะเบียนหย่าจากกัน

ในต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นางเพ็ญศรีร้องขอมายังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อขอความเห็นทางกฎหมาย เนื่องจากเธอมีความต้องการจัดการปัญหาครอบครัวกับนายโทนี่หลายประการ กล่าวคือ (๑) เธออยากหย่าขาดจากนายโทนี่ (๒) เธอต้องการให้นายโทนี่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ รวมถึง (๓) เธอต้องการให้นายโทนี่ดำเนินการทำหนังสือเดินทางอเมริกันให้แก่บุตร เพื่อที่บุตรจะมีเอกสารแสดงความเป็นคนสัญชาติอเมริกัน

----------

คำถาม

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า รัฐใดบ้างที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กหญิงแองเจลินา เพราะเหตุใด[2]

----------------

แนวคำตอบ

----------------

ประเด็นของเรื่อง เป็นคำถามเพื่อให้กำหนดตัวรัฐเจ้าของตัวบุคคลของมนุษย์/บุคคลธรรมดา ซึ่ง ก็คือ เป็นเรื่องของการพิจารณาสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลตามกฎหมายเอกชน เราจึงต้องมาพิจารณาว่า รัฐอธิปไตยใดที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับบุคคลธรรมดาตามข้อเท็จจริงอันเป็นโจทย์ อันทำให้มีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของบุคคลธรรมดาดังกล่าว

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ข้อเท็จจริงที่ทำให้รัฐอธิปไตยหนึ่งมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล” ของบุคคลธรรมดาคนใด ย่อมเกิดจากสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลธรรมดานั้นใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ความเป็นคนที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐนั้น และ (๒) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐนั้น และ (๓) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐนั้น

เมื่อเราพิจารณาข้อเท็จจริงของเด็กหญิงแองเจลินาตามข้อเท็จจริงที่ให้มา เราก็อาจสรุปได้เป็น ๓ ข้อวิเคราะห์ กล่าวคือ

ในประการแรก เราอาจสรุปได้อย่างชัดเจนว่า รัฐไทยเท่านั้นที่มีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของเด็กหญิงแองเจลินา ในสถานะรัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กหญิงแองเจลินา ทั้งนี้ เพราะเด็กหญิงแองเจลินาได้รับการรับรองสถานะความเป็นคนสัญชาติไทยโดยรัฐไทยเท่านั้น ดังจะเห็นว่า เด็กหญิงแองเจลินาจึงถือเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติไทยที่ออกโดยทางราชการไทยเท่านั้น

สำหรับสหรัฐอเมริกานั้น แม้ว่า จะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติและรัฐเจ้าของภูมิลำเนาทั้งตามกฎหมายเอกชนและมหาชนของนายโทนี่ ซึ่งมีสถานะเป็นบิดาของเด็กหญิงแองเจลินา ซึ่งย่อมทำให้เด็กหญิงแองเจลินาสามารถสืบสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาได้อย่างแน่นอน แต่ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า การแจ้งการเกิดของเด็กหญิงผู้นี้ยังมิได้ทำในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย รัฐดังกล่าวจึงไม่อาจตระหนักรู้ได้ว่า มีเด็กหญิงแองเจลินาซึ่งทรงสิทธิในสัญชาติอเมริกันอยู่บนโลกนี้ เมื่อการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติอเมริกันให้แก่เด็กหญิงแองเจลินายังไม่เกิดขึ้น สหรัฐอเมริกาก็ย่อมไม่อาจเข้าทำหน้าที่รัฐเจ้าของตัวตัวบุคคลของเด็กหญิงแองเจลินาในสถานะรัฐเจ้าของสัญชาติ จึงไม่ปรากฏมีการออกเอกสารรับรองสถานะบุคคลใดๆ แก่เด็กหญิงแองเจลินา

ในประการที่สอง จึงกล่าวได้อีกว่า รัฐไทยจึงยังเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กหญิงแองเจลินา ในสถานะรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กหญิงแองเจลินาอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะเด็กหญิงแองเจลินาได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลเพียงในทะเบียนราษฎรตามกฎหมายไทย เธอจึงมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เธอจึงมีสถานะเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐไทย ดังนั้น นอกจากรัฐไทยจะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กหญิงผู้นี้แล้ว รัฐนี้ยังเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กหญิงผู้นี้อีกด้วย

ในส่วนของสหรัฐอเมริกานั้น แม้เราจะตระหนักได้ดีว่า หากมีการแจ้งการเกิดย้อนหลังให้เด็กหญิงแองเจลินาในทะเบียนราษฎรอเมริกันหรือมีการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรดังกล่าวนี้ สหรัฐอเมริกาก็จะเริ่มต้นมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กหญิงแองเจลินา แต่เมื่อยังไม่มีการกระทำดังกล่าว ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาก็ยังไม่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กหญิงแองเจลินาแต่อย่างใด

ในประการที่สาม รัฐไทยได้เข้ามาเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของเด็กหญิงแองเจลินาตั้งแต่เกิด กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เพราะเธออาศัยอยู่กับนางอัจฉรีย์ ผู้เป็นมารดาในประเทศไทยมาตั้งแต่เกิด โดยหลักกฎหมายภูมิลำเนาสากล บุตรผู้เยาว์ย่อมมีภูมิลำเนาตามบุพการีซึ่งใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ ซึ่งก่อนที่บุพการีจะแยกกันอยู่ เด็กหญิงแองเจลิน่าก็ย่อมมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชน ณ ถิ่นที่บิดาและมารดามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อบุพการีแยกกันอยู่ กล่าวคือ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เด็กหญิงแองเจลิน่าก็จะมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชน ณ ถิ่นที่มารดามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชน ทั้งนี้ เพราะมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงผู้นี้ในความเป็นจริง แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เราก็ฟังได้ว่า เด็กหญิงแองเจลินามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐไทย มิใช่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศอื่นใดบนโลก รัฐไทยในวันนี้ จึงมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของเด็กหญิงแองเจลินา นอกจากจะมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลด้วยเหตุที่เป็นรัฐเจ้าของสัญชาติและรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กหญิงแองเจลินา อีกด้วย

โดยสรุป จึงมีรัฐเดียวบนโลกนี้ที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กหญิงแองเจลินา กล่าวคือ รัฐไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้ง (๑) รัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กหญิงแองเจลินา (๒) รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กหญิงแองเจลินา และ (๓) รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของเด็กหญิงแองเจลินา ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น ก็อาจเป็นรัฐต่อไปที่อาจเข้าทำหน้าที่รัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กหญิงแองเจลินา หากจะมีการขอการรับรองสิทธิในสัญชาติอเมริกันของเด็กหญิงแองเจลินา และหากเด็กหญิงแองเจลินาถูกบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรอเมริกัน สหรัฐอเมริกันก็จะเข้ามาทำหน้าที่รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กหญิงแองเจลินา ได้เช่นกัน หรือแม้เด็กหญิงแองเจลินาจะใช้สิทธิเข้าไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกากับนายโทนี่ ผู้เป็นบิดา หากเขาเดินทางกลับไปอาศัยในรัฐดังกล่าว สหรัฐอเมริกาก็จะเข้ามาทำหน้าที่รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของเด็กหญิงแองเจลินา ได้เช่นกัน สหรัฐอเมริกาจึงเป็นรัฐที่สองที่พร้อมจะเข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยเหนือตัวบุคคลของเด็กหญิงแองเจลินา ด้วยจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงระหว่างรัฐนี้และเด็กหญิงแองเจลินาโดยผ่านบิดา ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติอเมริกัน นั่นเอง

จะเห็นว่า ด้วยว่า เด็กหญิงแองเจลินาเป็นมนุษย์/บุคคลธรรมดา/บุคคลตามธรรมชาติ ซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงโดยการเกิดกับ ๒ รัฐอธิปไตยพร้อมๆ กัน แต่บุพการีของเด็กหญิงแองเจลินายังมิได้ใช้เสรีภาพแทนบุตรผู้เยาว์ที่จะขอการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายจากทั้งสองรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับตนแล้ว ดังนั้น เธอจึงได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเพียงภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐๆ เดียว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อบุพการีตัดสินใจใหม่ หรือเมื่อเด็กหญิงแองเจลินาบรรลุนิติภาวะ เธอก็อาจใช้เสรีภาพที่จะขอการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายที่เหมาะสมกับเธอ อันจะทำให้รัฐทั้งสองมีโอกาส “ร่วมกัน” ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองเด็กหญิงแองเจลินา ขอให้เราตระหนักว่า บรรยากาศฉันท์มิตรของประชาคมระหว่างประเทศ ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาย่อมเป็นโอกาสที่ทั้งสองรัฐจะร่วมกันดูแลเด็กหญิงแองเจลินาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่า กรณีจะเป็นเช่นใด เด็กหญิงแองเจลินาก็คือ “พลเมืองโลก (World Citizen) ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศสมัยใหม่” อย่างปฏิเสธมิได้

-------------------------------------------------------------



[1] เป็นข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงที่หารือเข้ามาโดยประชาชนเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ยังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคบัณฑิต วิทยาเขตท่าพระจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ภาคที่ ๒




หมายเลขบันทึก: 608746เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 23:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท