Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บุตรที่เกิดในประเทศไทยจากมารดาสัญชาติไทยและบิดาตามกฎหมายสัญชาติอเมริกัน จะมีสิทธิในสัญชาติอเมริกันหรือไม่ ? เพราะอะไร ? อย่างไร ?


กรณีศึกษานางเพ็ญศรี : การกำหนดสิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาของบุตรที่เกิดในประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒ จากมารดาสัญชาติไทย กับบิดาสัญชาติอเมริกัน

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙

-----------------

ข้อเท็จจริง

------------------

ปรากฏข้อเท็จจริง[1] ว่า นางเพ็ญศรี ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนายโทนี่ ณ จังหวัดชลบุรี ประเทศไทย ใน พ.ศ.๒๕๕๐ และบุคคลทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกัน ๑ คน ซึ่งมีชื่อว่า “เด็กหญิงแองเจลินา” ซึ่งเกิด ณ โรงพยาบาลพญาไท ๒ กทม. ประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

เราพบอีกว่า ในขณะจดทะเบียนสมรสกันนั้น นางเพ็ญศรี มีสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย ในขณะที่นายโทนี่ มีสถานะคนสัญชาติอเมริกันในทะเบียนราษฎรอเมริกัน และมีสถานะเป็นคนต่างด้าวสัญชาติอเมริกันในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.๑๓) ในทะเบียนราษฎรไทย ส่วนเด็กหญิงแองเจลินาได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย อันทำให้เธอได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทย แต่ยังไม่ได้มีการแจ้งการเกิดของเด็กหญิงผู้นี้ในทะเบียนราษฎรอเมริกัน อนึ่ง กฎหมายอเมริกันไม่ห้ามการถือสองสัญชาติ

นางเพ็ญศรีไม่เคยร้องใช้สิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยการสมรสกับชายสัญชาติอเมริกัน และไม่เคยร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรอเมริกัน เธอไม่เคยเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกันแต่อย่างใด

ส่วนนายโทนี่ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท AIM ซึ่งเป็นบริษัทตามกฎหมายอเมริกัน ซึ่งเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทดังกล่าวเข้ามาตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๐ นายโทนี่ถูกส่งมาทำงานในสำนักงานนี้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ จนถึงปัจจุบัน

ในราว พ.ศ.๒๕๕๖ นางเพ็ญศรีและนายโทนี่เริ่มมีปากเสียงกัน จนแยกกันอยู่ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ แต่ยังมิได้จดทะเบียนหย่าจากกัน

ในต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ นางเพ็ญศรีร้องขอมายังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อขอความเห็นทางกฎหมาย เนื่องจากเธอมีความต้องการจัดการปัญหาครอบครัวกับนายโทนี่หลายประการ กล่าวคือ (๑) เธออยากหย่าขาดจากนายโทนี่ (๒) เธอต้องการให้นายโทนี่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ รวมถึง (๓) เธอต้องการให้นายโทนี่ดำเนินการทำหนังสือเดินทางอเมริกันให้แก่บุตร เพื่อที่บุตรจะมีเอกสารแสดงความเป็นคนสัญชาติอเมริกัน

----------

คำถาม

----------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า จะต้องใช้กฎหมายใดบ้างกำหนดสิทธิในสัญชาติอเมริกันของเด็กหญิงแองเจลินา ? เพราะเหตุใด ? และด้วยข้อกฎหมายใดในกฎหมายดังกล่าว เธอย่อมมีสิทธิในสัญชาติอเมริกันได้หรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?[2]

----------------

แนวคำตอบ

----------------

ประเด็นของเรื่อง เป็นคำถามเพื่อให้กำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของมนุษย์/บุคคลธรรมดา จึงเป็นเรื่องของการพิจารณาสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลตามกฎหมายเอกชน เป็นกรณีของนิติสัมพันธ์ของเอกชนตามกฎหมายมหาชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สิทธิในสัญชาติของมนุษย์/บุคคลธรรมดา ย่อมเป็นไปตามกฎหมายมหาชนภายในของรัฐเจ้าของสัญชาติ ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น โดยทางปฏิบัติของนานารัฐ รัฐมักยอมรับรองสิทธิในสัญชาติของตนให้แก่มนุษย์ที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับตน ซึ่งอาจจะเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิด หรือเป็นจุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิด และหลักคิดที่นานารัฐมักใช้ในการกำหนดสัญชาติไทย ก็คือ (๑) หลักบุคคล (Personal Principle) และ (๒) หลักดินแดน (Territorial Principle)

โดยพิจารณาหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและทางปฏิบัติของนานารัฐ เพื่อกำหนดสิทธิในสัญชาติอเมริกันของเด็กหญิงแองเจลินา เราจึงต้องเริ่มต้นพิจารณาจากกฎหมายอเมริกันว่าด้วยสัญชาติอเมริกันที่มีผลในขณะที่เด็กหญิงแองเจลินาเกิด กล่าวคือ ในวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๒

เราก็น่าจะพบว่า โดยหลักกฎหมายอเมริกันว่าด้วยสิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยการเกิด บุคคลย่อมมีสิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยการเกิดในสถานการณ์ทั่วไป หากมีข้อเท็จจริงที่แท้จริงกับประเทศไทยใน ๓ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นบุคคลที่เกิดจากบิดาทั้งตามข้อกฎหมายและตามข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นคนสัญชาติอเมริกัน จะเห็นว่า สัญชาติอเมริกันในสถานการณ์นี้จึงเรียกกันว่า “สัญชาติอเมริกันโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา”

(๒) เป็นบุคคลที่เกิดจากมารดาซึ่งเป็นคนสัญชาติอเมริกัน จะเห็นว่า สัญชาติอเมริกันในสถานการณ์นี้จึงเรียกกันว่า “สัญชาติอเมริกันโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา”

(๓) เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศสหรัฐอเมริกัน จะเห็นว่า สัญชาติอเมริกันในสถานการณ์นี้จึงเรียกกันว่า “สัญชาติอเมริกันโดยการเกิดโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมาย”

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงของเด็กหญิงแองเจลินาแล้ว จะเห็นว่า เธอย่อมมีสถานะบุคคลตามกฎหมายอเมริกันว่าด้วยสัญชาติอเมริกันเป็น “คนสัญชาติอเมริกันโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา” ทั้งนี้ เพราะนายโทนี่เป็นคนสัญชาติอเมริกันในการรับรองของทางราชการอเมริกัน แม้ว่า โดยหลักกฎหมายไทย เด็กหญิงแองเจลินาจะมีสถานะเป็น “คนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา” ทั้งนี้ เพราะ นางเพ็ญศรี ผู้เป็นมารดา เป็นคนที่ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และ “คนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดน” ทั้งนี้ เพราะ เด็กหญิงแองเจลินาเกิดในประเทศไทย โดยสรุป ขอให้ตระหนักว่า โดยการเกิด เด็กหญิงแองเจลินาจึงมีทั้งสิทธิในสัญชาติไทยและสัญชาติอเมริกัน เธอจึงมีสถานะเป็น “คนที่มีสิทธิในสองสัญชาติ”

แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นจากข้อเท็จจริงว่า บุพการีของเด็กหญิงแองเจลินายังไม่ได้แจ้งการเกิดของเธอในทะเบียนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของสัญชาติอีกสัญชาติหนึ่ง ดังนั้น จึงสรุปได้ชัดเจนลงไปอีกว่า เด็กหญิงแองเจลินาจึงยังเป็น “คนที่ถือสัญชาติเดียว” แม้ว่าจะเป็น “คนที่มีสิทธิในสัญชาติ”

ขอให้ตระหนักต่อไปว่า บุพการีอาจใช้สิทธิในสัญชาติอเมริกันนี้เพื่อเด็กหญิงแองเจลินาเมื่อใดก็ได้ หรือเมื่อเด็กหญิงผู้นี้เติบโตขึ้นจนอาจใช้สิทธิในสัญชาตินี้ได้เอง และเราคงตระหนักได้ว่า เมื่อเด็กหญิงแองเจลินาประสบผลสำเร็จที่จะขอการรับรองการใช้สิทธิในสัญชาติอเมริกัน เธอก็จะมีสถานะเป็น “คนถือสองสัญชาติ” กล่าวคือ มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของสัญชาติทั้งสอง และถือเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาติทั้งสอง เราพบในปัจจุบัน ในสังคมไทยว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ถือทั้งสัญชาติไทยและอเมริกัน ทั้งนี้ เพราะพวกเขามีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงทั้งกับประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา

เราคงต้องไม่ลืมว่า แม้เด็กหญิงแองเจลินาจะได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยแล้ว และกฎหมายของประเทศนี้มิได้ห้ามการถือสิทธิในสองสัญชาติ ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่ทำให้เด็กหญิงแองเจลินาเสียสิทธิในสัญชาติไทยดังที่ยังมีความเข้าใจผิดกันอยู่บ้างในสังคมไทย

โดยสรุป เด็กหญิงแองเจลินาจึงน่าจะมีสิทธิในสัญชาติอเมริกันโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ทั้งนี้ เพราะบิดามีสถานะเป็นคนสัญชาติอเมริกัน แต่การใช้สิทธินั้นจะเป็นไปโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย หรือโดยมีเงื่อนไข ย่อมเป็นไปตามกฎหมายอเมริกันว่าด้วยสัญชาติอเมริกัน

-------------------------------------------------------------



[1] เป็นข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงที่หารือเข้ามาโดยประชาชนเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ยังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต ภาคบัณฑิต วิทยาเขตท่าพระจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ภาคที่ ๒



หมายเลขบันทึก: 608748เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 23:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2016 23:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท