Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รัฐใดที่มียอมรับเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของน้องเนรัต ซึ่งเกิดที่โรงพยาบาลเลิศสินเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๘ จากแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติเมียนมาแล้ว


กรณีศึกษาเด็กชายเนรัต : รัฐใดมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของบุคคลซึ่งเกิดในโรงพยาบาลไทยเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ จากแรงงานไร้ฝีมือสัญชาติเมียนมาที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๙

-------------

ข้อเท็จจริง

-------------

ปรากฏข้อเท็จจริง[1] โดยเฉพาะตามสูติบัตรประเภท ท.ร.๓ สำหรับบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในลักษณะชั่วคราว ที่ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตบางรัก กทม. ว่า เด็กชายเนรัต เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๙.๑๕ น. ณ โรงพยาบาลเลิดสิน เลขที่ ๑๙๐ ถนนศรีเวียง แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. เป็นบุตรลำดับที่ ๑ มีน้ำหนักแรกเกิด ๓,๐๑๐ กรัม

สูติบัตรนี้ระบุว่า มารดาของเด็กชายเนรัตมีชื่อว่า "นางมุยมุย" มีสัญชาติเมียนมา เกิดที่ประเทศเมียนมา อายุ ๓๕ ปี อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ ๒๐๐ ถนนท่าดินแดง แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กทม. เธอผู้นี้มีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐

ส่วนบิดานั้น สูติบัตรนี้ระบุชื่อว่า "นายเมี้ยน เตง" ถือหนังสือเดินทางเมียนมา ซึ่งออกโดยกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ และมีผลถึงวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔ หนังสือเดินทางนี้ระบุว่า เกิดในประเทศเมียนมา อายุ ๓๑ ปี สูติบัตรนี้ไม่ได้ระบุว่า เขาผู้นี้มีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยดังเช่นภริยา

ปรากฏตามสูติบัตรดังกล่าวต่อไปว่า เด็กชายเนรัตได้รับการเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านกลางเลขที่ ๕ ถนนนเรศ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. โดยมีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรขึ้นต้นด้วยเลข ๗ แต่สูติบัตรนี้ระบุว่า เด็กชายเนรัตไม่ได้สัญชาติไทย จนถึงปัจจุบัน บิดาและมารดายังไม่ได้ย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลางดังกล่าว

นอกจากนั้น บิดาและมารดาก็ยังไม่ได้แจ้งการเกิดของเด็กชายเนรัตในทะเบียนราษฎรเมียนมา บิดาได้ขอให้พี่สาวในเมืองย่างกุ้งแจ้งการเกิดของเด็กชายเนรัตในทะเบียนบ้านตามกฎหมายเมียนมาว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แต่พี่สาวก็ยังไม่ได้แจ้งกลับมาว่า การแจ้งการเกิดเพื่อเด็กชายเนรัตในทะเบียนราษฎรเมียนมาทำได้หรือไม่ แต่หากพี่สาวไม่อาจทำแทนได้ บิดาและมารดาก็ตั้งใจที่จะเก็บเงินให้เพียงพอเพื่อเดินทางกลับประเทศเมียนมาเพื่อแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรเมียนมาให้แก่เด็กชายเนรัต

นอกจากนั้น นายวีระ ชุบทอง น้องชายของนางมุยมุย ให้ข้อเท็จจริงว่า ทั้งนายเมี้ยน เตง และ นางมุยมุยต่างก็ได้เคยแสดงตนขึ้นทะเบียนแรงงานกับกระทรวงแรงงานของรัฐไทยในสถานะแรงงานสัญชาติเมียนมา ทั้งเขาและเธอจึงมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนใน ท.ร.๓๘/๑ และถือเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ ต่อมา ทั้งเขาและเธอก็ได้รับการรับรองโดย Ministry of Home Affair ของประเทศเมียนมาในสถานะคนสัญชาติเมียนมา ซึ่งช่วงแรก เป็นหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport หรือ TP) และต่อมา เป็นหนังสือเดินทางฉบับที่ใช้ปกติที่คนสัญชาติเมียนมาใช้กัน (Passport หรือ PP) ในปัจจุบัน บุพการีของเด็กชายเนรัตถือหนังสือเดินทางที่โดยทางการเมียนมาซึ่งออกเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ และมีผลจนถึงวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔

เราพบอีกว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ ของรัฐไทยเพิ่งมีมติรับรองสิทธิอันจำเป็นของคนสัญชาติเมียนมา/ลาว/กัมพูชาที่ยอมรับขึ้นทะเบียนแรงงานกับกระทรวงแรงงาน สิทธิอันจำเป็นนี้ประกอบด้วย (๑) สิทธิขอรับใบอนุญาตทำงานในสาขาอาชีพที่ขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือในประเทศไทย (๒) สิทธิอาศัยของผู้ใช้แรงงานและผู้ติดตาม ตราบเท่าที่ยังได้รับอนุญาตให้ทำงาน และ (๓) สิทธิในหลักประกันสุขภาพของผู้ใช้แรงงานและผู้ติดตาม ตราบเท่าที่ยังได้รับอนุญาตให้ทำงาน

เราพบต่อไปว่า หนังสือเดินทางของนายเมี้ยน เตง ซึ่งออกโดย Ministry of Home Affair ของประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ และได้รับการตรวจลงตรา (VISA) ที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสมุทรสาครเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ และวีซ่านี้มีผลจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ จึงสรุปได้ว่า เขาจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวเพื่อทำงานในขณะที่เด็กชายเนรัตเกิดในวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙

ส่วนนางมุยมุยนั้น ยังไม่ได้นำหนังสือเดินทาง ซึ่งออกโดย Ministry of Home Affair ของประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ไปขอรับการตรวจลงตราที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสมุทรสาครพร้อมกับนายเมี้ยน เตง สามี ทั้งนี้ เพราะเธอตั้งท้องเด็กชายเนรัตและใกล้คลอดเต็มที่ ดังนั้น นายวีระ ชุบทอง ซึ่งเป็นน้องชายไปหารือกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสมุทรสาครแทนพี่สาว แต่มีเจ้าหน้าที่ในสำนักงานดังกล่าวให้ข้อมูลว่า นางมุยมุยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับวีซ่าในหนังสือเดินทาง นายวีระจึงร้องขอคำปรึกษามายังบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเขาต้องการให้นางมุยมุยมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง เขาตระหนักดีว่า การขอรับใบอนุญาตทำงานย่อมทำให้นางมุยมุยมีสิทธิอาศัยชั่วคราวเพื่อทำงานในประเทศไทย แต่เขาก็อยากให้นางมุยมุยมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมาย ดังเช่นนายเมี้ยน เตง อีกด้วย

จากการสอบปากคำจากนายวีระ ชุบทอง น้องชายของนางมุยมุย เราจึงทราบว่า นางมุยมุยเกิดเมื่อราว พ.ศ.๒๕๒๑ ณ หมู่บ้านก้อเปงก้อเป้า รัฐมอญ ประเทศเมียนมา เป็นบุตรลำดับที่ ๑ ของนายหน่าย-โอ่ง ชุบทอง ซึ่งเป็นคนในชาติพันธุ์มอญ กับนางวาวา ซึ่งเป็นคนในชาติพันธ์มอญ ในขณะที่นายวีระเกิดในประเทศไทย เมื่อราว พ.ศ.๒๕๓๔ และเป็นบุตรคนที่ ๔ ของบิดาและมารดา แต่นายเมี้ยน เตง เกิดในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เมื่อราว พ.ศ.๒๕๒๙ และเป็นคนในชาติพันธุ์ยะไข่ เมี้ยน เตง นับถือศาสนาพุทธ

ในปัจจุบัน เด็กชายเนรัตได้รับการเลี้ยงดูโดยคุณตาและคุณยาย ซึ่งอาศัยอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ส่วนบิดาและมารดาทำงานใน กทม. ในช่วงวันหยุด จึงจะได้มีโอกาสไปเยี่ยมเด็กชายเนรัต บิดาและมารดายังไม่เคยพาเด็กชายเนรัตไปประเทศเมียนมาเลย บุคคลทั้งสองอยากให้เด็กชายเนรัตเรียนหนังสือในประเทศไทยจนจบมหาวิทยาลัย

---------

คำถาม

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า รัฐใดบ้างที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กชายเนรัต เพราะเหตุใด[2]

----------------

แนวคำตอบ

----------------

ประเด็นของเรื่อง เป็นคำถามเพื่อให้กำหนดตัวรัฐเจ้าของตัวบุคคลของมนุษย์/บุคคลธรรมดา ซึ่งก็คือ เป็นเรื่องของการพิจารณาสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลตามกฎหมายเอกชน เราจึงต้องมาพิจารณาว่า รัฐอธิปไตยใดที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับบุคคลธรรมดาตามข้อเท็จจริงอันเป็นโจทย์ อันทำให้มีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ของบุคคลธรรมดาดังกล่าว

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ข้อเท็จจริงที่ทำให้รัฐอธิปไตยหนึ่งมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล” ของบุคคลธรรมดาคนใด ย่อมเกิดจากสัมพันธภาพระหว่างรัฐอธิปไตยและบุคคลธรรมดานั้นใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ความเป็นคนที่มีสถานะเป็นคนสัญชาติของรัฐนั้น และ (๒) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐนั้น และ (๓) ความเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐนั้น

เมื่อเราพิจารณาข้อเท็จจริงของเด็กชายเนรัตตามข้อเท็จจริงที่ให้มา เราก็อาจสรุปได้เป็น ๓ ข้อวิเคราะห์ กล่าวคือ

ในประการแรก เราไม่อาจสรุปได้อย่างชัดเจนว่า รัฐเมียนมา หรือรัฐไทยจึงมีสถานะเป็น “รัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” ในสถานะรัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กชายเนรัต ทั้งนี้ เพราะเด็กชายเนรัตยังไม่ได้รับการรับรองสถานะความเป็นคนสัญชาติในทะเบียนราษฎรของรัฐทั้งสองที่มีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับเขา

แต่อย่างไรก็ตาม หากพี่สาวของบิดาของเด็กชายเนรัตบรรลุที่จะแจ้งการเกิดของเขาในทะเบียนราษฎรเมียนมา หรือบุพการีกลับไปแจ้งการเกิดของเขาเองในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมา หรือสถานกงสุลเมียนมาเริ่มต้นรับแจ้งการเกิดของบุตรของแรงงานสัญชาติเมียนมาในประเทศไทย รัฐเมียนมาก็จะเริ่มต้นมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กชายเนรัต ความเป็นไปได้นี้อาจเป็นไปได้สูงเพราะรัฐเมียนมายอมรับรองสถานะของบุพการีทั้งสองในสถานะคนสัญชาติเมียนมาในทะเบียนราษฎรของรัฐเมียนมาแล้ว โดยหลักสืบสายโลหิต จึงเป็นไปได้ที่รัฐเมียนมาจะยอมรับรองบุตรของบุพการีดังกล่าว

ในส่วนรัฐไทยนั้น การยอมแสดงตนเป็นรัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กชายเนรัตก็อาจเกิดขึ้นได้ หากเด็กชายผู้นี้มีข้อเท็จจริงครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยกำหนด ทั้งนี้ เพราะเขาเกิดในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม เราคงต้องไม่ลืมว่า กฎหมายเมียนมาว่าด้วยสัญชาติยังไม่ยอมรับให้คนสัญชาติเมียนมาถือสองสัญชาติ ดังนั้น ตราบเท่าที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายเมียนมาดังกล่าว เด็กชายเนรัตจึงไม่อาจถือสิทธิในสัญชาติเมียนมาควบคู่กับสัญชาติไทย นอกจากนั้น สิ่งที่เราจะต้องตระหนักมากไปกว่า ก็คือ ยังมีความเป็นไปได้น้อยมากที่รัฐไทยจะมีมติคณะรัฐมนตรีรับรองสิทธิที่จะใช้สัญชาติไทยของบุตรของคนต่างด้าวที่เข้าเมืองไม่ถาวรและยังไม่มีความกลมกลืนกับสังคมไทย

ในประการที่สอง เรากลับสรุปได้อย่างชัดเจนว่า รัฐไทยย่อมมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กชายเนรัตในสถานะรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กชายเนรัตอีกด้วย ทั้งนี้ เพราะเด็กชายเนรัตได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลเพียงในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ทั้งนี้ เพราะเมื่อบุพการีมีสิทธิอาศัยในประเทศไทย บุตรผู้เยาว์ก็ต้องมีสิทธิอาศัยตามบุพการี เด็กชายเนรัตก็ย่อมมีสิทธิอาศัยเพียงชั่วคราวตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง เขาจึงมีชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เขาจึงมีสถานะเป็นคนที่มีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนบนดินแดนของรัฐไทย จึงสรุปในที่สุดได้ว่า แม้รัฐไทยยังไม่ยอมรับรองสถานะของรัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กชายผู้นี้ รัฐนี้กลับรับรองสถานะของรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กชายผู้นี้

แต่ขอให้สังเกตว่า ในส่วนของรัฐเมียนมานั้น หากมีการแจ้งการเกิดให้เด็กชายเนรัตในทะเบียนราษฎรเมียนมาหรือมีการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรดังกล่าวนี้ รัฐเมียนมาก็จะเริ่มต้นมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กชายเนรัต คู่ขนานไปกับรัฐไทย เด็กชายเนรัตในสถานการณ์แห่งอนาคต ก็อาจมีสถานะเป็นคนสองทะเบียนราษฎร

ในประการที่สาม รัฐไทยยังเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กชายเนรัต ทั้งนี้ เพราะเขามีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐดังกล่าวอีกด้วย จะเห็นว่า เด็กชายเนรัตยังคงอาศัยอยู่กับบิดาและมารดา ตลอดจนปู่และย่าในประเทศไทย เราจึงฟังได้ว่า เด็กชายเนรัตมีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนบนดินแดนของรัฐไทย มิใช่รัฐเมียนมา หรือรัฐอื่นใดเลย

โดยสรุป จากข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏ จึงมีรัฐเพียงรัฐเดียวบนโลกนี้ที่มีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของเด็กชายเนรัต กล่าวคือ รัฐไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้ง (๑) รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนของเด็กชายเนรัต และ (๒) รัฐเจ้าของภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของเด็กชายเนรัต ในส่วนรัฐเมียนมานั้น ก็อาจเป็นรัฐต่อไปที่อาจเข้าทำหน้าที่รัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กชายเนรัต หากกระบวนการแจ้งการเกิดเพื่อเด็กชายเนรัตในทะเบียนราษฎรเมียนมาแล้วเสร็จลง อันทำให้รัฐเมียนมาเริ่มต้นเป็นรัฐที่สองที่พร้อมจะเข้ามาใช้อำนาจอธิปไตยเหนือตัวบุคคลของเด็กชายเนรัต ด้วยจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงระหว่างรัฐนี้และเด็กชายเนรัตโดยผ่านบิดาและมารดา ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติเมียนมา นั่นเอง

จะเห็นว่า ด้วยว่า เด็กชายเนรัตเป็นมนุษย์/บุคคลธรรมดา/บุคคลตามธรรมชาติ ซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงโดยการเกิดกับ ๒ รัฐอธิปไตยพร้อมๆ กัน แต่บุพการีของเด็กชายเนรัตยังไม่ประสบความสำเร็จในการใช้เสรีภาพแทนบุตรผู้เยาว์ที่จะขอการรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายจากทั้งสองรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับตนแล้ว ดังนั้น เขาจึงได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเพียงภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐๆ เดียว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อบุพการีประสบความสำเร็จที่จะแจ้งเกิดให้ในทะเบียนราษฎรเมียนมา หรือเมื่อเด็กชายเนรัตบรรลุนิติภาวะ เขาก็อาจใช้เสรีภาพที่จะขอการรับรองสถานะบุคคลคนสัญชาติเมียนมา อันจะทำให้รัฐทั้งสองมีโอกาส “ร่วมกัน” ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองเด็กชายเนรัต ขอให้เราตระหนักว่า การปรากฏตัวของประชาคมอาเซียน ซึ่งรัฐทั้งสองต่างเป็นสมาชิก จะยิ่งทำให้โอกาสที่จะร่วมกันดูแลเด็กชายเนรัตของรัฐทั้งสองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่า กรณีจะเป็นเช่นใด เด็กชายเนรัตก็คือ “ประชาชนอาเซียน (ASEAN People) ซึ่งเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎบัตรอาเซียน” อย่างปฏิเสธมิได้




[1] เป็นข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงที่หารือเข้ามาโดยประชาชนเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ ยังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ภาคแก้ตัว ทั้ง (๑) ภาคปกติ ศูนย์รังสิต (๒) ภาคปกติ ศูนย์ลำปาง และ (๓) ภาคบัณฑิต ท่าพระจันทร์

หมายเลขบันทึก: 612215เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2016 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2016 14:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท