Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บุตรเกิดไทยจากแรงงานผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในไทยแบบถูกกฎหมายไหม ? ต้องขอวีซ่ารับรองสิทธิอย่างไร ?


กรณีศึกษาเด็กชายเนรัต : เด็กซึ่งเกิดในโรงพยาบาลไทยเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ จากแรงงานไร้ฝีมือสัญชาติเมียนมาที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว ย่อมมีสิทธิในเสรีภาพที่จะเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ? เพียงใด ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งปรับปรุงเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๙

-------------

ข้อเท็จจริง

-----------

ปรากฏข้อเท็จจริง[1] โดยเฉพาะตามสูติบัตรประเภท ท.ร.๓ สำหรับบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในลักษณะชั่วคราว ที่ออกโดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเขตบางรัก กทม. ว่า เด็กชายเนรัต เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ เวลา ๙.๑๕ น. ณ โรงพยาบาลเลิดสิน เลขที่ ๑๙๐ ถนนศรีเวียง แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. เป็นบุตรลำดับที่ ๑ มีน้ำหนักแรกเกิด ๓,๐๑๐ กรัม

สูติบัตรนี้ระบุว่า มารดาของเด็กชายเนรัตมีชื่อว่า "นางมุยมุย" มีสัญชาติเมียนมา เกิดที่ประเทศเมียนมา อายุ ๓๕ ปี อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ ๒๐๐ ถนนท่าดินแดง แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กทม. เธอผู้นี้มีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐

ส่วนบิดานั้น สูติบัตรนี้ระบุชื่อว่า "นายเมี้ยน เตง" ถือหนังสือเดินทางเมียนมา ซึ่งออกโดยกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ และมีผลถึงวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔ หนังสือเดินทางนี้ระบุว่า เกิดในประเทศเมียนมา อายุ ๓๑ ปี สูติบัตรนี้ไม่ได้ระบุว่า เขาผู้นี้มีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐไทยดังเช่นภริยา

ปรากฏตามสูติบัตรดังกล่าวต่อไปว่า เด็กชายเนรัตได้รับการเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านกลางเลขที่ ๕ ถนนนเรศ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. โดยมีเลขประจำตัว ๑๓ หลัก ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรขึ้นต้นด้วยเลข ๗ แต่สูติบัตรนี้ระบุว่า เด็กชายเนรัตไม่ได้สัญชาติไทย จนถึงปัจจุบัน บิดาและมารดายังไม่ได้ย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านกลางดังกล่าว

นอกจากนั้น บิดาและมารดาก็ยังไม่ได้แจ้งการเกิดของเด็กชายเนรัตในทะเบียนราษฎรเมียนมา บิดาได้ขอให้พี่สาวในเมืองย่างกุ้งแจ้งการเกิดของเด็กชายเนรัตในทะเบียนบ้านตามกฎหมายเมียนมาว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แต่พี่สาวก็ยังไม่ได้แจ้งกลับมาว่า การแจ้งการเกิดเพื่อเด็กชายเนรัตในทะเบียนราษฎรเมียนมาทำได้หรือไม่ แต่หากพี่สาวไม่อาจทำแทนได้ บิดาและมารดาก็ตั้งใจที่จะเก็บเงินให้เพียงพอเพื่อเดินทางกลับประเทศเมียนมาเพื่อแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรเมียนมาให้แก่เด็กชายเนรัต

นอกจากนั้น นายวีระ ชุบทอง น้องชายของนางมุยมุย ให้ข้อเท็จจริงว่า ทั้งนายเมี้ยน เตง และ นางมุยมุยต่างก็ได้เคยแสดงตนขึ้นทะเบียนแรงงานกับกระทรวงแรงงานของรัฐไทยในสถานะแรงงานสัญชาติเมียนมา ทั้งเขาและเธอจึงมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนใน ท.ร.๓๘/๑ และถือเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ ต่อมา ทั้งเขาและเธอก็ได้รับการรับรองโดย Ministry of Home Affair ของประเทศเมียนมาในสถานะคนสัญชาติเมียนมา ซึ่งช่วงแรก เป็นหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport หรือ TP) และต่อมา เป็นหนังสือเดินทางฉบับที่ใช้ปกติที่คนสัญชาติเมียนมาใช้กัน (Passport หรือ PP) ในปัจจุบัน บุพการีของเด็กชายเนรัตถือหนังสือเดินทางที่โดยทางการเมียนมาซึ่งออกเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ และมีผลจนถึงวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๔

เราพบอีกว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ ของรัฐไทยเพิ่งมีมติรับรองสิทธิอันจำเป็นของคนสัญชาติเมียนมา/ลาว/กัมพูชาที่ยอมรับขึ้นทะเบียนแรงงานกับกระทรวงแรงงาน สิทธิอันจำเป็นนี้ประกอบด้วย (๑) สิทธิขอรับใบอนุญาตทำงานในสาขาอาชีพที่ขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือในประเทศไทย (๒) สิทธิอาศัยของผู้ใช้แรงงานและผู้ติดตาม ตราบเท่าที่ยังได้รับอนุญาตให้ทำงาน และ (๓) สิทธิในหลักประกันสุขภาพของผู้ใช้แรงงานและผู้ติดตาม ตราบเท่าที่ยังได้รับอนุญาตให้ทำงาน

เราพบต่อไปว่า หนังสือเดินทางของนายเมี้ยน เตง ซึ่งออกโดย Ministry of Home Affair ของประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ และได้รับการตรวจลงตรา (VISA) ที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสมุทรสาครเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ และวีซ่านี้มีผลจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ จึงสรุปได้ว่า เขาจึงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวเพื่อทำงานในขณะที่เด็กชายเนรัตเกิดในวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙

ส่วนนางมุยมุยนั้น ยังไม่ได้นำหนังสือเดินทาง ซึ่งออกโดย Ministry of Home Affair ของประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ไปขอรับการตรวจลงตราที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสมุทรสาครพร้อมกับนายเมี้ยน เตง สามี ทั้งนี้ เพราะเธอตั้งท้องเด็กชายเนรัตและใกล้คลอดเต็มที่ ดังนั้น นายวีระ ชุบทอง ซึ่งเป็นน้องชายไปหารือกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองสมุทรสาครแทนพี่สาว แต่มีเจ้าหน้าที่ในสำนักงานดังกล่าวให้ข้อมูลว่า นางมุยมุยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขอรับวีซ่าในหนังสือเดินทาง นายวีระจึงร้องขอคำปรึกษามายังบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเขาต้องการให้นางมุยมุยมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง เขาตระหนักดีว่า การขอรับใบอนุญาตทำงานย่อมทำให้นางมุยมุยมีสิทธิอาศัยชั่วคราวเพื่อทำงานในประเทศไทย แต่เขาก็อยากให้นางมุยมุยมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมาย ดังเช่นนายเมี้ยน เตง อีกด้วย

จากการสอบปากคำจากนายวีระ ชุบทอง น้องชายของนางมุยมุย เราจึงทราบว่า นางมุยมุยเกิดเมื่อราว พ.ศ.๒๕๒๑ ณ หมู่บ้านก้อเปงก้อเป้า รัฐมอญ ประเทศเมียนมา เป็นบุตรลำดับที่ ๑ ของนายหน่าย-โอ่ง ชุบทอง ซึ่งเป็นคนในชาติพันธุ์มอญ กับนางวาวา ซึ่งเป็นคนในชาติพันธ์มอญ ในขณะที่นายวีระเกิดในประเทศไทย เมื่อราว พ.ศ.๒๕๓๔ และเป็นบุตรคนที่ ๔ ของบิดาและมารดา แต่นายเมี้ยน เตง เกิดในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เมื่อราว พ.ศ.๒๕๒๙ และเป็นคนในชาติพันธุ์ยะไข่ เมี้ยน เตง นับถือศาสนาพุทธ

ในปัจจุบัน เด็กชายเนรัตได้รับการเลี้ยงดูโดยคุณตาและคุณยาย ซึ่งอาศัยอยู่ที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ส่วนบิดาและมารดาทำงานใน กทม. ในช่วงวันหยุด จึงจะได้มีโอกาสไปเยี่ยมเด็กชายเนรัต บิดาและมารดายังไม่เคยพาเด็กชายเนรัตไปประเทศเมียนมาเลย บุคคลทั้งสองอยากให้เด็กชายเนรัตเรียนหนังสือในประเทศไทยจนจบมหาวิทยาลัย

---------

คำถาม

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ในระหว่างที่เด็กชายเนรัตยังมิได้รับรองสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย เขาจะต้องร้องขอวีซ่าเพื่อแสดงสิทธิเข้าเมืองไทยและสิทธิอาศัยในประเทศไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?[2]

----------------

แนวคำตอบ

----------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เรื่องของวีซ่าเพื่อแสดงสิทธิเข้าเมืองไทยและสิทธิอาศัยในประเทศไทยย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองของรัฐเจ้าของดินแดนซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เพราะเรื่องการเข้าเมืองเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชนย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐเจ้าของดินแดน ซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี แต่อย่างไรก็ตาม รัฐที่เกี่ยวข้องอาจจะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

โดยพิจารณาหลักกฎหมายสากลว่าด้วยการเข้าเมือง การเข้าเมืองของคนชาติเป็นสิทธิที่เด็ดขาด ในขณะที่การเข้าเมืองของคนต่างด้าวเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข

ในข้อเท็จจริงนี้ เมื่อคำถามก็คือว่า เนรัตจะต้องร้องขอวีซ่าเพื่อเข้าเมืองและอาศัยในประเทศไทยหรือไม่ กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณีสำหรับกรณีนี้ จึงได้แก่ กฎหมายไทยว่าการเข้าเมืองไทย ซึ่งแยกออกเป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) บทกฎหมายหลักสำหรับคนที่ได้รับรองสถานะคนสัญชาติไทยแล้ว ก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปัจจุบัน ก็คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๕๗ และ (๒) ส่วนคนที่ไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทย ก็ย่อมเป็นไปตามกฎหมายหลักว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งในปัจจุบัน ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ดังจะเห็นว่า มาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คำว่า “คนต่างด้าว” หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และคำว่า “คนเข้าเมือง” หมายถึงคนต่างด้าวเท่านั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เนรัตไม่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติไทย จึงต้องใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ในการพิจารณาปัญหาการเข้าเมืองไทยของเด็กชายเนรัต จะเห็นว่า เงื่อนไขในการรับรองสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยในประเทศไทยย่อมปรากฏในบทบัญญัติฉบับนี้

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของเด็กชายเนรัต เราก็พบว่า โดยหลักกฎหมายสัญชาติสากล เขาไม่อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิต ทั้งนี้ เพราะทั้งบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว เขาจึงไม่อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยตามบิดาและตามมารดา แต่เมื่อเขาเกิดในประเทศไทย จึงมีความเป็นได้ที่เขาจะมีสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด เมื่อพิจารณามาถึงจุดนี้ เขาจึง “น่า” จะมิใช่คนต่างด้าวและคนเข้าเมืองในสายตาของรัฐไทย เขาจึง “น่า” จะมีสิทธิเข้าเมืองไทยแบบไม่มีเงื่อนไข

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลักกฎหมายสัญชาติสากลจะรับรองให้รัฐไทยรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนให้แก่เนรัตก็ตาม แต่การร้องขอเพิ่มชื่อเขาในสถานะคนสัญชาติไทยก็ไม่อาจทำได้โดยพลัน เพราะเขายังไม่มีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ บัญญัติว่า “ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด” ดังนั้น เงื่อนไขในการใช้สิทธิในสัญชาติไทยของเนรัตจึงมี ๒ ประการ กล่าวคือ (๑) การมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทย และ (๒) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและสั่งให้ได้สัญชาติไทย ซึ่งอาจเป็นคำสั่งเฉพาะรายหรือทั่วไป ก็ได้

ในระหว่างที่เงื่อนไขทั้งสองยังไม่แล้วเสร็จ สถานะบุคคลตามกฎหมายหมาชนไทยก็เนรัตย่อมเป็นไปตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง”

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงสรุปได้ว่า

ในประการแรก ฐานะการอยู่ของคนที่เกิดในประเทศไทย แต่ยังไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยได้โดยพลัน อันเป็นผลอัตโนมัติของกฎหมาย จะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ นี้ ซึ่งกฎกระทรวงนี้จะต้องเป็นไปตาม “ข้อคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน” แต่โดยข้อเท็จจริงของปัจจุบัน ก็ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าวเกิดขึ้น

ในประการที่สอง ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ก็ให้ถือว่า “ผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” ดังนั้น การปรับสถานะให้เป็น “ผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” ก็จะต้องทำตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.คนเข้าเมืองที่มีผลในขณะที่มีการพิจารณา อันได้แก่ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของเด็กชายเนรัตอีกครั้ง เราก็จะสรุปได้ว่า

ในประการแรก ถ้ากฎกระทรวงตามมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ถูกประกาศใช้แล้ว ฐานะการอยู่ของเด็กชายเนรัตก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎกระทรวงนี้

ในประการที่สอง ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว มาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ ก็ให้ถือว่า เด็กชายเนรัตย่อมมีสถานะเป็น “ผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” ดังนั้น การปรับสถานะให้ เด็กชายเนรัตเป็น “ผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” ก็จะต้องทำตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.คนเข้าเมืองที่มีผลในขณะที่มีการพิจารณา

โดยหลักกฎหมายคนเข้าเมืองสากล บุตรผู้เยาว์ก็ย่อมต้องมีสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยในประเทศใดประเทศหนึ่งตามบุพการี ซึ่งรัฐไทย อันหมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งขาติ ก็ยึดถือตามหลักกฎหมายสากลนี้ เราคงตระหนักว่า หลักการอยู่รวมกันของครอบครัว (Principle of Family Unification) เป็นหลักสิทธิมนุษยชนที่ศักดิ์สิทธิ ซึ่งผูกพันรัฐไทยและนานาในประชาคมระหว่างประเทศอย่างไม่มีข้อสงสัย หากบุพการีมีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยในประเทศไทย บุตรก็ย่อมมีสิทธิตามบุพการี โดยเฉพาะบุตรผู้เยาว์และบุตรที่ยังต้องพึ่งพิงบุพการี

ดังนั้น เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของเด็กชายเนรัตและบุพการีอีกครั้ง เราพบว่า นายเมี้ยน เตง ผู้เป็นบิดา ได้รับวีซ่าเข้าเมืองไทยตั้งแต่วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๙ จนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ในขณะที่นางมุยมุย ผู้เป็นมารดา ยังไม่ได้รับการตรวจลงตราตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง แต่อย่างใดก็ตาม ทั้งนายเมี้ยน เตง และนางมุยมุยต่างก็มีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิอาศัยชั่วคราวตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ เพื่อทำงานกรรมกรในประเทศไทย

เราจึงอาจสรุปในส่วนของเด็กชายเนรัตได้ว่า

ในประการแรก เมื่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙ รับรองให้ทั้งบิดาและมารดาของเด็กชายเนรัตมีสิทธิอาศัยชั่วคราวเพื่อทำงานกรรมกรในประเทศไทยได้จนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ ดังนั้น เด็กชายเนรัตย่อมมีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามบิดาและมารดาตลอดระยะเวลาดังกล่าว

ในประการที่สอง แม้มารดาจะยังไม่ได้รับการตรวจลงตราในหนังสือเดินทางที่ใช้แสดงตน แต่เมื่อบิดามีวีซ่าตามการตรวจลงตราของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองไทยบนหนังสือเดินทางที่ใช้แสดงตนจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ แล้ว จึงไม่เป็นข้อสงสัยว่า บิดาของเด็กชายเนรัตมีสิทธิเข้าเมืองหรือไม่ เมื่อบิดามีสิทธิเข้าเมือง เด็กชายเนรัตก็ย่อมมีสิทธิเข้าเมืองไทยตามบิดา ทั้งนี้ เพราะเด็กย่อมได้รับความคุ้มครองในประโยชน์ที่ดีที่สุด ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๒๒ วรรคแรก[3] แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ความไม่ชัดเจนของสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองของมารดาไม่อาจส่งผลร้ายต่อบุตรผู้เยาว์

โดยสรุป เด็กชายเนรัตจึงมีสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกตามบิดา และมีสิทธิอาศัยในคุณภาพเดียวกับทั้งบิดาและมารดา เมื่อเขามิใช่คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เขาจึงไม่อาจถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทางในประเทศไทย และเขาย่อมอาศัยอยู่กับบิดาและมารดาได้จนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๑ และหากบิดาและมารดาได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ต่อไป เขาก็จะมีสิทธิอาศัยได้ต่อไปตามบุพการีทั้งสอง ปัญหาที่จะต้องคิดต่อไป ก็คือ เด็กชายเนรัตจะใช้เอกสารใดเพื่อรับรองสถานะผู้ทรงสิทธิเข้าเมืองและอาศัยในประเทศไทย ? เราจึงเข้าใจว่า เหล่าแรงงานสัญชาติเมียนมาจึงพากันร้องขอเอกสารรับรองสิทธิในสัญชาติเมียนมาและสิทธิอาศัยในประเทศไทยจากท่านอองซานซูจี ซึ่งเพิ่งมาเยือนประเทศไทย เพราะแม้มีสิทธิตามกฎหมาย แต่ยังไม่มีเอกสารรับรองสิทธิ ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกปฏิเสธสิทธิที่มีอยู่ ก็เป็นไปได้

กลับมาสรุปเรื่องวีซ่าเพื่อแสดงสิทธิของเนรัตที่จะเข้าเมืองและอาศัยในประเทศไทยนั้น เราจึงสรุปได้ว่า ย่อมจะต้องเป็นไปตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ประกอบกับหลักกฎหมายคนเข้าเมืองสากลในเรื่องสิทธิเข้าเมืองของเด็ก ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่รักษาการตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ย่อมจะต้องพิจารณากำหนดรูปแบบของวีซาดังกล่าวเพื่อบุตรที่เกิดในประเทศไทยของแรงงานเมียนมาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙

จะเห็นว่า ยังมีปัญหาในส่วนการบังคับการตามสิทธิของเด็กในสถานการณ์ดังน้องเนรัต ซึ่งจะปรากฏมีปัญหามากขึ้นในอนาคต และอาจเป็นอุปสรรคในการใช้สิทธิมนุษยชนของน้องเนรัต ซึ่งยังปัญหาความไร้สัญชาติอยู่อีก เรื่องของเด็กอาเซียนที่ยังประสบปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย แม้พวกเขาจะไม่มีเสรีภาพอย่างไม่มีขอบเขตที่จะเข้ามาและอาศัยในประเทศไทย แต่พวกเขาก็ควรจะมีสิทธฺในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองไทยในลักษณะเดียวกับบุพการีและเป็นสิทธิที่ดีที่สุด มิใช่หรือ ?

-------------------------------------------------------------



[1] เป็นข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงที่หารือเข้ามาโดยประชาชนเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๙ ยังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[2] เป็นข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ภาคแก้ตัว ทั้ง (๑) ภาคปกติ ศูนย์รังสิต (๒) ภาคปกติ ศูนย์ลำปาง และ (๓) ภาคบัณฑิต ท่าพระจันทร์

[3] ซึ่งบัญญัติว่า “การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”




ความเห็น (1)

Thank you for sharing your analysis of this case.

I do think this case is not one unique instance but a class of a lot more instances (replacing Myanmar with another country) now and to come (due to ASEAN).

Are there similar cases in the past with Malysians involved?

Though I suspect that these cases would have been under Malaysian jurisdiction rather than Thailand's.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท