...น้ำ...


บางทีความขาดแคลนก็ช่วยให้เราใส่ใจและเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมากยิ่งขึ้น

Precious resource - My Waterway @Ponggol

น้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคในสิงคโปร์มาจาก 4 แหล่งด้วยกัน น้ำดิบที่ซื้อมาจากอ่างเก็บน้ำในมาเลเซีย น้ำฝนที่เก็บไว้ตามแหล่งเก็บน้ำตามหน้าดิน น้ำที่มาจากการรีไซเคิลน้ำจากน้ำเสียจากครัวเรือน หรือ NEWater และน้ำที่มาจากการกำจัดเกลือออกจากน้ำทะเล (Water Desalination)

การกำจัดเกลือออกน้ำจากทะเลนั้นมีไว้ในยามฉุกเฉินเท่านั้นเพราะต้นทุนในการผลิตสูงมาก น้ำที่ซื้อจากมาเลเซียจะหมดสัญญาในอีกไม่ถึง 50 ปีข้างหน้า และไม่แน่ใจว่าจะต่อสัญญาได้อีกหรือไม่แล้วราคาจะแพงขึ้นอีกกี่มากน้อย น้ำฝนก็ต้องแล้วแต่สภาพดินฟ้าอากาศ หากฝนทิ้งช่วงก็อาจมีผลต่อระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ ดังนั้นรัฐบาลสิงคโปร์จึงให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำโดยการนำน้ำที่ผ่านการใช้งานมาแล้วกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งโดยผ่านกระบวนการกรองให้สะอาด (microfiltration, reverse osmosis, uv technology) ของการประปา

ปัจจุบันมีเพียงน้ำเสียจากครัวเรือนจำนวนน้อยที่นำกลับมากรองสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ แต่เพื่อการมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและรองรับการใช้น้ำที่มากขึ้นเมื่อประชากรเพิ่มขึ้น ในอนาคตน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมก็จะนำมากรองให้สะอาดเช่นเดียวกัน ดังนั้นกระทรวงสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์จึงเข้มงวดกับการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก หากตรวจพบว่าบริษัทไหนมีการปล่อยน้ำเสียที่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผู้บริหารของบริษัทจะได้รับโทษทั้งจำและปรับเลยทีเดียว

ไม่เพียงแต่โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องระมัดระวังเรื่องการปล่อยน้ำเสีย แม้แต่กระทรวงวิ่งแวดล้อมเองซึ่งมีหน้าที่ดูแลต้นไม้และสวนสาธารณะทั้งหมดของสิงคโปร์ก็ต้องเปลี่ยนวิธีการจัดการของตัวเองด้วยเช่นกัน ฉันเคยถามเพื่อนที่ทำงานที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมว่าทำไมพักหลังเห็นสวนสาธารณะใช้ปุ๋ยหมักรอบโคนต้นไม้เยอะจัง เขาเล่าให้ฟังว่าเขามีนโยบายหยุดใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงต้นไม้ในสิงคโปร์มาหลายปีแล้วและจุดเปลี่ยนนั้นก็คือการทำ NEwater เพื่อป้องกันการชะล้างของสารเคมีลงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งจะมีผลต่อการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่

ตามแม่น้ำลำคลองและและอ่างเก็บน้ำแทบทุกที่จะมีป้ายรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของน้ำและขอให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ ผู้อำนวยการการประปาออกเยี่ยมบริษัทต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนร่วมมือกันป้องกันการปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงาน บ่อยครั้งที่ฉันเห็นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี ออกเดินตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในตอนเช้าและตอนเย็น เขารณรงค์ปลูกต้นไม้ในแทบทุกพื้นที่ว่างที่พอมี เพื่อเก็บกักความชุ่มชื้นของหน้าดิน

ทุกครั้งที่เห็นสิงคโปร์รณรงค์เรื่องความสำคัญของน้ำทุกหยด ฉันคิดถึงบ้านเรา นึกถึงความโชคดีที่เรามีน้ำใช้โดยไม่ต้องซื้อจากประเทศอื่น เราไม่ต้องใช้เทคโนโลยีราคาแพงลิ่วในการจัดการน้ำ เราไม่ต้องห่วงว่าอีก 50 ปีข้างหน้าเราจะมีน้ำใช้ไหม น้ำจึงไม่ใช่ความกังวลอันดับต้นๆ ของผู้บริหารประเทศของบ้านเรา

แต่ข่าวคราวที่มาจากบ้านเราระยะหลังมานี้ทำให้ฉันคิดสงสัยว่าเพราะเพราะความโชคดีนี่หรือเปล่าที่ทำให้เราเห็นคุณค่าของน้ำน้อยลง เราตัดไม้ทำลายป่ากันเป็นว่าเล่น น้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสียถือเป็นเรื่องธรรมดา โรงงานปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำได้ตามปกติ แม่น้ำที่แห้งขอดเราก็ได้แต่ตั้งหน้าตั้งตารอหน้าฝนถัดไป

เรามีแผนการรักษาน้ำของเราอย่างไรบ้างที่จะทำให้เราแน่ใจว่าเรายังจะมีน้ำใช้ในอีก 50 ปีข้างหน้าหรือลูกหลานเราจะมีน้ำสะอาดใช้อย่างที่สิงคโปร์ทำอยู่ตอนนี้ วิธีการอาจแตกต่างและเราคงมีศาสตร์ที่ยั่งยืนเหมาะกับเมืองไทยอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะรณรงค์และปรับใช้กันมากน้อยแค่ไหน

บางทีความขาดแคลนก็ช่วยให้เราใส่ใจและเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมากยิ่งขึ้น

เอาบรรยากาศบ้านริมคลองแห่งหนึ่งที่สิงคโปร์มาฝากค่ะ












คำสำคัญ (Tags): #น้ำ#ทรัพยากร
หมายเลขบันทึก: 613669เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2016 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2016 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ...หายไปนานเลยสบายดีนะครับ...ด้วยความระลึกถึง...:)

อ.ปริม สบายดีไหมครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท