Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ทำไมศาลโลกจึงเห็นว่า ประสาทเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา ?


คดีประสาทเขาพระวิหารศึกษา : ทำไมศาลโลกจึงเห็นว่า ประสาทเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ในอาณาเขตของประเทศกัมพูชา ?

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙

--------------

ข้อเท็จจริง

-------------

มีความพยายามที่จะกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชามาตั้งแต่ก่อน พ.ศ.๒๔๙๗ (ค.ศ.๑๙๕๔) กล่าวคือ ตั้งแต่ในยุคที่ประเทศกัมพูชายังตกอยู่ภายใต้การอารักขาของประเทศฝรั่งเศส

ในวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔) ประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสได้ตกลงทำสนธิสัญญาเพื่อแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ตามสนธิสัญญาดังกล่าว ประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสตกลงใช้ “เส้นสันปันน้ำ (Watershed line)” ในการแบ่งดินแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา เพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้แห่งสนธิสัญญาฯ ภาคีในสนธิสัญญาฯทั้งสองได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อกำหนดแนวเขตแดนที่แท้จริงระหว่างรัฐทั้งสอง แต่คณะกรรมาธิการดังกล่าวก็มิได้ดำเนินการกำหนดเขตแดนที่แท้จริงให้เสร็จลุล่วงไป

แต่ต่อมา รัฐบาลไทยในสมัยนั้นก็ได้มอบหมายให้คณะสำรวจชาวฝรั่งเศสจัดทำแผนที่เขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา และได้มีการจัดพิมพ์แผนที่ดังกล่าวในกรุงปารีสใน พ.ศ.๒๔๕๑ (ค.ศ.๑๙๐๘) แผนที่ดังกล่าวได้รับการส่งให้รัฐบาลไทยและได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง โดยแผนที่ฉบับนี้ บริเวณภูเขาอันเป็นที่ตั้งของประสาทเขาพระวิหารอยู่ในเขตแดนฝั่งกัมพูชา

ประมาณ พ.ศ.๒๔๗๘ (ค.ศ.๑๙๓๕) ประเทศไทยได้พบว่า ถ้าแบ่งพรมแดนตามแนวสันปันน้ำตามสนธิสัญญาข้างต้นแล้ว บริเวณที่ตั้งของเขาพระวิหารจะอยู่ในเขตแดนด้านฝั่งไทย ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้ส่งกองทหารเข้าไปประจำการบริเวณที่ตั้งประสาทเขาพระวิหาร อันเป็นเหตุให้รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งหนังสือประท้วงต่อประเทศไทยหลายครั้ง อาทิ ใน พ.ศ.๒๔๙๒ (ค.ศ.๑๙๔๙) และใน พ.ศ.๒๔๙๓ (ค.ศ.๑๙๕๐) แต่รัฐบาลไทยในสมัยนั้นก็มิได้มีคำตอบแต่ประการใด

เมื่อประเทศกัมพูชาได้รับเอกราชจากประเทศฝรั่งเศสใน พ.ศ.๒๕๐๒ (ค.ศ.๑๙๕๙) รัฐบาลกัมพูชาก็ยังไม่สามารถเจรจาตกลงกับประเทศไทย จึงไม่อาจเข้าดูแลประสาทเขาพระวิหาร ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ประเทศกัมพูชาจึงได้ฟ้องประเทศไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก เพื่อขอให้ศาลนี้ยืนยันว่า อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนบริเวณประสาทดังกล่าวเป็นของประเทศกัมพูชา และขอให้ศาลสั่งให้ประเทศไทยถอนกองทหารซึ่งประจำการอยู่ในบริเวณดังกล่าว

ประเทศไทยต่อสู้ว่า ศาลนี้ไม่มีเขตอำนาจในการพิพาทคดีนี้ แต่ศาลนี้ไม่เห็นด้วยกับข้อคัดค้านนี้ของประเทศไทย การพิจารณาข้อพิพาทในคดีจึงได้เริ่มต้นในปี พ.ศ.๒๕๐๔

---------

คำถาม

-----------

๑. สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔) ดังกล่าวมีผลผูกพันประเทศกัมพูชาภายหลังที่ได้รับเอกราชหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

๒. ในกรณีที่เนื้อความของสนธิสัญญาขัดกับแผนที่อันเป็นเอกสารแนบท้ายสนธิสัญญา โดยแนวปฏิบัติของนานารัฐ สิ่งที่ศาลโลกจะถือว่า มีผลผูกพันภาคในสนธิสัญญาคืออะไร ? เพราะเหตุใด ?

๓. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินให้ประสาทเขาพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศไทยหรือประเทศกัมพูชา ? เพราะเหตุใด ?

----------

คำตอบ

----------

(๑.) สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔) ดังกล่าวมีผลผูกพันประเทศกัมพูชาภายหลังที่ได้รับเอกราชหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่นานาประเทศยอมรับ เขตแดนซึ่งกำหนดโดยสนธิสัญญา หรือพันธกรณีและสิทธิซึ่งกำหนดโดยสนธิสัญญาและเกี่ยวข้องกับระบบเขตแดนย่อไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนใดๆ จากการสืบทอดของรัฐ ดังจะเห็นว่า หลักดังกล่าวปรากฏในข้อ ๑๑ แห่งอนุสัญญาแห่งกรุงเวียนนาลงวันที่ ๒๓ กันยายน ค.ศ.๑๙๗๘ ว่าด้วยการสืบทอดของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับสนธิสัญญา (Vienna Convention on 23 August 1978 on Succession of States in respect of Treaties) ว่าด้วยระบอบของเขตแดน (Boundary regimes)

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศสลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๗ (ค.ศ.๑๙๐๔) ดังกล่าวมีผลผูกพันประเทศกัมพูชาซึ่งเข้ามาสืบทอดที่จะมีสิทธิและหน้าที่เหนือพื้นที่ดังกล่าวในฐานะรัฐภาคีในสนธิสัญญาแทนประเทศฝรั่งเศสภายหลังจากการประกาศเอกราชของประเทศกัมพูชาจากการปกครองของประเทศฝรั่งเศส

(๒.) ในกรณีที่เนื้อความของสนธิสัญญาขัดกับแผนที่อันเป็นเอกสารแนบท้ายสนธิสัญญา โดยแนวปฏิบัติของนานารัฐ สิ่งที่ศาลโลกจะถือว่า มีผลผูกพันภาคในสนธิสัญญาคืออะไร ? เพราะเหตุใด ?

โดยผลของคำพิพากษาของศาลและคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในคดีระหว่างประเทศ เมื่อมีความขัดแย้งกับระหว่างเนื้อหาของสนธิสัญญาและภาคผนวกของสนธิสัญญา กล่าวคือ แผนที่อันผนวกท้ายสนธิสัญญา สิ่งที่มีผลก็คือตัวข้อกำหนดของสนธิสัญญา เนื่องจากตัวบทบัญญัติของสนธิสัญญาย่อมแสดงถึงเจตนาในสาระสำคัญของภาคีในสนธิสัญญา

ดังนั้นจากข้อเท็จจริงในคดีประสาทเขาพระวิหาร ศาลจะต้องรับฟังบทบัญญัติแห่งสนธิสัญญาฯ มิใช่แผนที่อันเป็นภาคผนวกของสนธิสัญญาฯ

(๓.) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินให้ประสาทเขาพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศไทยหรือประเทศกัมพูชา ? เพราะเหตุใด ?

เนื่องจากศาลโลกฟังข้อเท็จจริงว่า มีทางปฏิบัติของประเทศไทยในเวลาต่อมาที่ยอมรับแผนที่นั้นทั้งที่ได้ประจักษ์ถึงความผิดพลาดของแผนที่แล้ว โดยหลักกฎหมายปิดปาก (Estoppel Principle) ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่อารยประเทศยอมรับ ศาลโลกจึงถือว่า ประเทศไทยได้ยอมรับว่า ประสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่ในเขตแดนของประเทศกัมพูชาทั้งที่ขัดต่อสนธิสัญญากำหนดเขตแดนที่ผูกพันรัฐทั้งสอง


หมายเลขบันทึก: 615054เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2016 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2016 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you.

It comes out again. We (and our people in power) do not pay enough attention to detail in what we do. We have more examples in 'National Projects' (even Programs for Education, Health and Infrastructures) today. Our CEOs of those projects see little of 'small errors'. Sigh!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท