Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คีรีนคร และ นานาแลนด์ มีสถานะเป็นรัฐหรือไม่


ชุมชนทางการเมืองที่มีสถานะเป็นรัฐ

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙

----------

คำถาม[1]

----------

ชุมชนทางการเมืองดังต่อไปนี้มีสถานะเป็นรัฐหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?

เรื่องที่ ๑ “คีรีนคร” เป็นดินแดนที่อยู่ระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวซึ่งมีขนาดของพื้นที่ใกล้เคียงกับจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น และมีจำนวนประชากรเพียงไม่เกิน ๒.๐๐๐ คน ประชากรในคีรีนครใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ คีรีนครมีระบบการปกครองแบบสมบรูณาญาสิทธิราช กล่าวคือ กษัตริย์ของคีรีนครมีอำนาจปกครองแต่ผู้เดียวและเด็ดขาด นอกจากนั้น ยังปรากฏมีสัญญาระหว่างประเทศไทยและคีรีนครฉบับหนึ่งซึ่งกำหนดให้ประเทศไทยเข้าจัดการระบบการเงินการคลัง และระบบคมนาคมในคีรีนคร เงินบาทไทยจึงเป็นระบบเงินตราที่ใช้ในคีรีนคร และการสื่อสารทางไปรษณีย์และโทรศัพท์ในคีรีนครจึงตกอยู่ในอำนาจจัดการและควบคุมดูแลของกระทรวงคมนาคมไทย

เรื่องที่สอง “นานาแลนด์” เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า “นานา” ในบริเวณที่อยู่ระหว่างประเทศไทยและประเทศอัมริสา จากการสำรวจขององค์การสหประชาชาติ ชนกลุ่มนี้มีจำนวนเพียงไม่เกิน ๑ ล้านคน ชนกลุ่มนี้มีภาษาของตนเองและพูดภาษาอังกฤษได้เพราะเคยอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษ ชาวนานาแลนด์ต่างก็ยอมรับให้ “นายโจเซฟ” เป็นประมุขของนานาแลนด์ ครอบครัวของนายโจเซฟทำหน้าที่ผู้ปกครองนานาแลนด์มาตลอดเวลา ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศอัมริสาไม่ยอมรับความมีอยู่ของนานาแลนด์ ประเทศอัมริสาพยายามเข้าปราบปรามการก่อตัวของชนกลุ่มนี้เพราะดินแดนที่อ้างว่า เป็นดินแดนของนานาแลนด์นั้นมีความทับซ้อนกับดินแดนที่ประเทศอัมริสาอ้างว่าเป็นอาณาเขตของประเทศอัมริสา ที่ตั้งของนานาแลนด์จึงยังไม่มีความชัดเจนทั้งในแง่ที่ตั้งและขอบเขตเพราะเป็นพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบระหว่างประเทศอัมริสาและนานาแลนด์และกองกำลังของนานาแลนด์ยังไม่อาจยึดครองพื้นที่ใดเลยอย่างมีประสิทธิภาพ การปรากฏตัวของนานาแลนด์มีความชัดเจนอยู่ที่การรวมตัวอย่างชัดเจนของกลุ่มชนชาวนานาตลอดเวลากว่า ๑๐๐ ปี ในขณะที่ประเทศไทยไม่เคยมีนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งต่อชนกลุ่มนี้เลย

---------

คำตอบ

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับกันนั้น ความเป็นรัฐย่อมเกิดจากข้อเท็จจริงอย่างน้อย ๓ ประการ กล่าวคือ ดินแดน ประชากร และอำนาจอธิปไตยที่จะปกครองดินแดนและประชากรอย่างมีประสิทธิภาพ (effective control) และที่จะมีความสามารถที่จะดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเป็นอิสระ (independence)

กรณีของคีรีรัฐ

ดังนั้น จึงสรุปได้ในประการแรกว่า คีรีนครมีข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความเป็นรัฐครบถ้วน แม้ขนาดของดินแดนและจำนวนประชากรจะค่อนข้างน้อย และแม้ระบบการปกครองจะไม่มีลักษณะของการปกครองแบบประชาธิปไตยดังเช่นรัฐส่วนมากในประชาคมระหว่างประเทศ นอกจากนั้น การยอมให้ประเทศไทยเข้าดูแลกิจการของคีรีรัฐบางประการไม่ทำให้คีรีรัฐขาดองค์ประกอบของความเป็นรัฐ เพราะการที่ประเทศไทยเข้าใช้อำนาจเหนือดินแดนและประชากรของคีรีรัฐเกิดจากความยินยอมของคีรีรัฐเอง

กรณีของนานาแลนด์

ในประการที่สอง นานาแลนด์ย่อมไม่สถานะเป็นรัฐ เพราะแม้จะมีการรวมตัวของบุคคลอันนำไปสู่ความเป็นประชากรของนานาแลนด์ และแม้ชนกลุ่มนี้จะมีผู้ปกครองอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ความมีอยู่ของดินแดนของนานาแลนด์ก็ยังไม่แน่นอนชัดเจน นอกจากนั้น การที่นานาแลนด์ไม่อาจแสดงอำนาจยึดครองพื้นที่ที่อาจว่า เป็นดินแดนของนานาแลนด์อย่างมีประสิทธิภาพ (effective control) จึงไม่อาจจะยืนยันได้ว่า มี “ดินแดน” ที่ชัดเจนเพียงพอที่จะแสดงถึงองค์ประกอบประการหนึ่งของความเป็นรัฐ กรณีจะเป็นอย่างเดียวกับปาเลสไตน์ก่อนที่จะได้รับการยอมรับให้ครอบครองพิ้นที่ที่อ้างสิทธิเป็นประเทศปาเลสไตน์ในปัจจุบัน หรือตัวอย่างอีกกรณีที่เกิดขึ้นก็คือ กรณีของกรัฐเหรี่ยงที่อาจตัวเป็นรัฐอธิปไตยในพื้นที่บริเวณหนึ่งซึ่งยอมรับกันว่าเป็นประเทศพม่า



[1] ข้อสอบปลายภาคในวิชา น. ๔๖๕ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ภาคที่ ๑ ของปีการศึกษา ๒๕๔๑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ


คำสำคัญ (Tags): #ความเป็นรัฐ
หมายเลขบันทึก: 615069เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2016 01:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2016 01:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท