​"ประวัติศาสตร์" สมการเชิงเดี่ยว/ซ้อน?


"ประวัติศาสตร์" สมการเชิงเดี่ยว/ซ้อน?

วันนี้เห็นมีหลายๆที่จัดกิจกรรมรำลึกประวัติศาสตร์ด้านมืดของประเทศไทย คือวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ผมคงจะไม่ได้เขียนอะไรถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ (เพราะยังเด็กมากในตอนนั้น รวมทั้งในเวลาต่อมาก็ไม่ได้รวบรวมข่าวสารข้อมูลลึกซึ้งเพียงพอที่จะ make comment intelligently ได้) แต่ที่อ่านๆมาคำว่า "ประวัติศาสตร์" ในฐานะสาระหรือศาสตร์หนึ่งผุดขึ้นมาหลายครั้ง... จนกระตุกใจ

สมัยก่อนวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เราเรียนแบบ rote learning คือ "ท่องจำ" เหมือนๆกับวิชาทาง "เฉดสังคมศาสตร์" ทุกชนิดก็ว่าได้ หน้าที่พลเมือง หน้าที่ศีลธรรม สมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ช่วยจำ จึงทำให้เด็กที่ถนัดจำได้เปรียบในการเรียนวิชาแบบนี้เหนือกว่าเด็กที่ถนัดแบบอื่นอย่างมีนัยสำคัญ ทักษะการจดจำจึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนสมัยนั้น (สมัยนี้ก็ยังสำคัญ แต่มีตัวช่วยเยอะมาก) จนมาภายหลังใช้เวลานานเป็นสิบๆปีถึงรู้ว่า "เราเรียนผิดวิธี"

ประวัติศาสตร์เป็นวิชาสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นต่อชีวิตคนจริงๆ ต่อสังคมจริงๆ เป็นสมการคล้ายๆฟิสิกส์ เคมี คือมีตัวแปรต่างๆ เข้าสมการ แล้วก็ออกมาเป็นผลลัพธ์จริงๆ ที่แตกต่างจากวิทยาศาสตร์สายฟิสิกส์เคมีก็คือ scale ของประวัติศาสตร์นั้น มี "ตัวแปรที่ไม่ได้ควบคุม หรือมองไม่เห็น" เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ เราอาจจะแค่พอมองเห็นมากขึ้นหลังจากฝุ่นหายตลบ มีเวลาพอจะเรียบเรียงเหตุการณ์ เอามาประติดประต่อกันจึงค่อยๆเห็นว่าชิ้น mosaic นั้น แท้ที่จริงเป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมใหญ่อย่างไร

อันที่จริงสายวิทย์ก็มีพูดถึงเรื่องนี้ เช่น เราศึกษาการเคลื่อนที่ของโมเลคิวแก๊สยากมาก เพราะมันฟุ้ง และไวต่อการเคลื่อนไปเคลื่อนมา แต่ก็มีนักพฤกษศาสตร์หัวใสชื่อ Robert Brown อธิบายด้วยการมอง "ภาพรวม" ของโมเลคิวของไหล (liquid) และแก๊ส (gas) ว่าถ้าเรามองเห็นกลุ่มแล้ว เราพอจะเห็นรูปแบบได้เหมือนกัน แม้ว่าในก้อนใหญ่นั้น ข้างในมันจะมั่วขนาดไหนก็ตาม แต่พลังงานผลลัพธ์รวมก็จะออกมาได้เป็นทิศทางและพลังงานสุดท้าย เราเรียกว่า Brownian Motion เป็นที่รำลึก เป็นเกียรติให้แก่ตา Brown คนคิด

ประวัติศาสตร์ของชุมชน ชนชาติ หรือประเทศ ก็เปรียบเทียบได้กับ Brownian Motion ประเภทหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นโมเมนตัมผลรวมของปัจจัยเล็กๆจำนวนมากมายมหาศาลภายใน ถ้าเราไปหมกมุ่นศึกษาโมเลคิวเดี่ยวๆ เราอาจจะไม่เคยมองเห็นหรือเข้าใจได้เลยว่าผลลัพธ์ปลายมันออกมาเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร เพราะบางทีผลลัพธ์สุดท้ายมันอาจจะไปในทางตรงกันข้ามกับโมเลคิวที่เรากำลังศึกษาอยู่ก็ยังได้ (ถ้าเราโชคไม่ดี ไปหยิบเอาโมเลคิวที่ไม่ได้ให้ "พลังงานหลัก" ของทั้งหมด)

ในหลักการวิจัย หรือวิเคราะห์ สิ่งเหล่านี้คือการมี "อคติ" อคติประเภทหนึ่งคือ การเหมารวม (generalization / stereotyping) หรือการคิดแบบ "สมการเชิงเดี่ยว (linear equation)" เห็นตัวแปร A + B แล้วเกิด Z เราก็รีบสรุปว่า A + B = Z ทั้งๆที่ของจริงคือ A + B + X + Y ...... กว่าจะไปถึง Z พอเราไปหมกมุ่นกับแค่ A กับ B เท่านั้น เราก็ละเลยปัจจัยอื่นๆทั้งหมดในสมการเต็มๆไป ไปแก้ปัญหาแค่ A กับ B แล้วก็ฉงนฉงายว่าทำไมปัญหามันไม่หมดไป

แบบนี้เรียกว่า "เรียนประวัติศาสตร์ไม่เป็น"

ต้นเหตุอย่างหนึ่งของการเรียนไม่เป็นก็คือ การสรุปแบบนั้นของเราเป็นการสรุปแบบที่มีคำตอบเอาไว้ในใจก่อนแล้ว จึงไม่อยากจะไปหาคำตอบแบบอื่นๆ เรียกว่ามี hidden agenda พอเห็นแนวทางที่เข้าทางที่ตั้งเอาไว้ก่อน ก็จะสรุปไปเลย ดีใจ ไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง เน้นที่ความถูกใจ

ประวัติศาสตร์นั้นสำคัญแน่นอน สำคัญเพราะมันสำแดงเชิงประจักษ์ในความละเอียด ลึกซึ้ง และซับซ้อนของชีวิต และหากเราจะเข้าใจชีวิต มันไม่ได้มี short-cut ที่เข้าถึงโดยง่าย หากแต่ต้องใช้ความเพียร ความละเอียดรอบคอบ การขจัดซึ่งโมหะ โทสะ และความรักความเกลียดชังออกไปเสียก่อน เข้าใจในความเป็น "สมการเชิงซ้อน" ของชีวิต เรียนประวัติศาสตร์แล้วขจัดอคติลดน้อยลงไป ขจัดความเกลียดความชัง ขจัดความชอบความเป็นพวกพ้องลงไป เราถึงจะเรียนประวัติศาสตร์ไปด้วย และเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ไปด้วย

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๙ นาฬิกา ๔๔ นาที
วันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก

หมายเลขบันทึก: 616666เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2016 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2016 09:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณำหรับบทความดีๆครับอ่านแล้วได้ข้อคิดดีๆหลายอย่างเลยครับ


https://goo.gl/xEBruK

Thank you for the insight.

A life is too short for detailed observations and analyses of events, so 'history' approximates by a a selected frame of reference (in plays and movies we call this frame 'spotlight' - on stars or main characters). Spotlight not only makes something easier to see, it also dims other things (into background). So as we now see. What we call 'history' may be just "view" in a street with lights.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท