แปรความทุกข์โศกให้เป็นกำลังปัญญา


บทนำ

เทอมนี้ผมสอน 4 รายวิชา 9 กลุ่มเรียน โดยในสัปดาห์หนึ่งสอน 4 วัน มีวันและช่วงเวลาที่ไม่ได้สอนอยู่ประมาณ 1 วันครึ่งในวันอังคารและครึ่งบ่ายของวันพุธ เพื่อเอาไว้ประชุม ทำงานบริหาร พัฒนาการเรียนการสอน อ่านเขียนหนังสือ ทำงานวิจัย บริการวิชาการทั้งในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งพัฒนาวิชาการและพัฒนาตนเองทางด้านต่างๆ

ในจำนวนนี้ มีรายวิชาสำหรับนักศึกษาปี 1 อยู่ 1 รายวิชา ได้แก่ รายวิชา นศ 113 เทคโนโลยีสื่อและการสื่อสารเพื่อการเกษตร เป็นรายวิชาเชิงบริหารจัดการ บริการ และดำเนินการทางวิชาชีพ รวมทั้งเป็นพื้นฐานในการเข้าสู่การเรียนรู้ทักษะเชิงวิชาชีพในขั้นสูงต่อไป

รายวิชาดังกล่าวนี้ มีกลุ่มเรียนที่เป็นนักศึกษาปี 1 อยู่ 2 กลุ่มเรียนและมีเวลาเรียนในภาคการศึกษา 1 ของปีการศึกษา 2559 นี้ ในช่วงเช้าและบ่ายของวันจันทร์ ซึ่งในสัปดาห์นี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559 อันเป็นวันแรกของห้วงเวลาภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ

ภายหลังการประกาศอย่างเป็นทางการของสำนักพระราชวังและนายกรัฐมนตรีผู้นำการบริหารในรัฐบาลปัจจุบันถึงการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศในช่วงหัวค่ำของวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 แล้ว บรรยากาศและสภาพโดยทั่วไปของสังคมก็ตกเข้าสู่ภาวะความสะเทือนใจ โศกเศร้า พลัดพราก สูญเสีย

บรรยากาศของมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ทั้งนักศึกษา คณาจารย์ และหมู่คณะต่างๆของมหาวิทยาลัย ต่างก็อยู่ในภาวะชะงักงัน ซบเซา ไม่อยู่ในภาวะที่จะทำสิ่งต่างๆดังเช่นทุกวัน หากจะสอน บรรยาย และจัดกระบวนการเรียนการสอนดังเช่นที่ดำเนินมาอยู่ทุกวัน นักศึกษาก็คงไม่อยู่ในภาวะที่จะจดจ่อและเรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา ผู้สอนเองหากสอนและบรรยายในสิ่งที่ไม่สื่อสะท้อนกับความเป็นชีวิตจิตใจในยามนั้น การเรียนการสอนต่างๆก็จะเป็นเพียงการทำสิ่งต่างๆให้ผ่านไปด้วยความว่างเปล่า ไร้ความหมาย

แต่ทุกอย่างยังคงต้องดำเนินไป สังคมต้องมีพัฒนาการไปข้างหน้า การจมไปกับภาวะการพลัดพรากสูญเสีย อีกทั้งการหยุดนิ่งอยู่กับความว่างเปล่า ปล่อยให้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของสังคมไหลผ่านไป ณ ห้วงชีวิตและในยุคสมัยที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย ไม่ได้มีความหมายจากสิ่งที่อยู่ในชีวิตการงานของเราที่เราได้ร่วมสร้างขึ้น เหตุการณ์อย่างนี้ก็จะไม่มีอีกแล้ว

ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญและเห็นความหมายต่ออนาคตอีกยาวไกลทั้งของสังคมและของนักศึกษา ผมจึงมีแนวคิดแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนภายใต้บรรยากาศแบบนี้ และให้กลายเป็นการได้มัโอกาสบูรณาการการเรียนรู้ของนักศึกษาในวันแรกที่สังคมไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การไม่มีในหลวง แต่จะต้องพัฒนาการไปข้างหน้า ให้เป็นกระบวนการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อเลือกสรรพัฒนาตนเองและได้มีส่วนร่วมในการสร้างประสบการณ์ต่อสังคมที่มีความหมาย แปรทุกข์ให้เป็นกำลังปัญญาของชีวิต

บทความนี้จึงมุ่งที่จะนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาบันทึก รายงาน เผยแพร่ไว้เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแง่มุมหลากหลาย และเป็นการบันทึกรวบรวมไว้ ให้เป็นส่วนหนึ่งของการได้นำมาย้อนรำลึกอย่างมีพลังและมีความหมายต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาที่จะต้องเติบโตงอกงามไปเป็นผู้นำของสังคมกันต่อไป

รายละเอียดของกรณีศึกษากิจกรรมและการดำเนินการ

กิจกรรมและสิ่งดำเนินการ ดังที่นำมาเรียนรู้และบันทึกเผยแพร่ไว้นี้ ดำเนินการขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559 โดยบูรณาการลงไปบนกระบวนการเรียนการสอนที่มีตามตารางเรียนและตารางสอนในรายวิชา นศ 113 เทคโนโลยีสื่อและการสื่อสารเพื่อการเกษตร ของหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์บูรณาการ ของคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กลุ่มนักศึกษาประกอบด้วย 2 กลุ่มเรียน โดยกลุ่มเรียนที่ 2 จำนวน 40 คน เรียนในภาคเช้า เวลา 09.00-12.00 น. และกลุ่มเรียนที่ 1 เรียนในภาคบ่าย เวลา 13.00-16.00 น.

กิจกรรมที่ดำเนินการขึ้น มีชื่อกิจกรรมว่า ‘เมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน….เจริญรอยตามพระราชปณิธานในหลวง’ เป็นกิจกรรมพัฒนาการคิดวิเคราะห์และสร้างการเรียนรู้อย่างมีความหมาย เพื่อวาดภาพแสดงความคิดและพัฒนาการความมุ่งหวังต่อการพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสังคมในอนาคต ที่สะท้อนให้เห็นภาพของสิ่งที่ตนเองจะทำ และสื่อสะท้อนการมีความบันดาลใจจากแบบอย่างพระราชกรณีกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังกิจกรรมนำเสนองานเรียนและการบรรยายเสริมวิชาการให้แก่ศึกษา ดำเนินการแยกเป็น 2 ครั้งและ 2 รอบ ให้แก่นักศึกษาทั้ง 2 กลุ่มเรียน ใช้การสังเกต เก็บข้อมูล และวิเคราะห์แบบผสมผสาน โดยการถ่ายภาพ บันทึกวิดีโอ การวิเคราะห์ภาพวาดบนแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ 1 เมตร x 5 เมตร การอภิปรายและการบรรยายรายละเอียดของนักศึกษาเป็นรายบุคคลที่ต่างก็ได้ร่วมวาดภาพบนกระดาษแผ่นเดียวกันทุกคน

แนวคิด หลักทฤษฎี และการสะท้อนความบันดาลใจ

กิจกรรมต่างๆที่ดำเนินการในครั้งนี้ ไม่มีหลักทฤษฎีที่แปลกใหม่ และไม่ได้มุ่งสร้างความรู้เชิงทฤษฎีเพื่อการอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนแต่อย่างใด แต่เป็นการนำเอาสิ่งที่โดยมากก็เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปดีอยู่แล้วของคนทำงานทางการศึกษาและนักวิชาการด้านวิทยาการเรียนรู้ ตลอดจนนักวิทยาศาสตร์ทางการศึกษาสาขาต่างๆ มาออกแบบและดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์เงื่อนไขใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยหนักและอาจจะไม่เหมือนดังที่เคยบังเกิดขึ้นเลยในสังคม ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคต โดยมีหลักคิดและแนวการพิจารณาปัจจัยและองค์ประกอบต่างๆที่สำคัญ เพื่อกำกับอยู่เบื้องหลังของสิ่งที่ดำเนินการขึ้นต่างๆ ที่ขอ กล่าวถึงโดยสรุปในสาระสำคัญ เพื่อได้กระบวนการเรียนรู้ และเห็นนัยสำคัญของกระบวนการภาคปฏิบัติที่ดำเนินขึ้นได้ต่างๆ ดังนี้

(1) ประเภทการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ และจุดหมายการเรียนรู้

การบูรณาการการเรียนการสอนที่ดำเนินการอยู่เป็นปรกติ เข้ากับปรากฏการณ์และสภาวะแวดล้อมของสังคม ที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงและอยู่นอกเหนือการเข้าไปกำกับได้ของกระบวนการทางการศึกษา ในลักษณะนี้ต้องเน้นการออกแบบและเชื่อมโยงให้องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มีความสอดคล้องกลมกลืนและมีความหมายที่เกื้อหนุนส่งเสริมกัน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้สถานการณ์ทางสังคมและกิจกรรมการเรียนการสอนที่วางแผนเบ็ดเสร็จไว้มาก่อนแล้ว ได้กลายเป็นสถานการณ์การเรียนรู้และมีความเป็นชุดประสบการณ์เชิงความหมายเดียวกัน(Meaningful and Situation Learning) จึงมีความเป็นการเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดและเชื่อมโยงความหมายจากสถานการณ์จริงของสังคมที่กำลังเกิดขึ้นบนปัจจุบันขณะของชีวิต

กระบวนการเรียนรู้และกระบวนการทางการศึกษาในลักษณะดังกล่าวนี้ มีความสำคัญต่อการพัฒนาปัจเจกภาวะหรือความเป็นตัวตนของพลเมือง ให้มีความเจริญงอกงามอยู่บนเงื่อนไขแวดล้อมทางสังคมที่เป็นจริง มีความสำนึกร่วมและสามารถเชื่อมโยงตนเองเข้ากับชุมชนรอบข้าง รวมไปจนถึงมีทักษะในการจัดปฏิสัมพันธ์และร่วมสร้างความเป็นส่วนรวมในระดับสากลของสังคม ได้อย่างเหมาะสม มีความบูรณาการทั้งเป็นกระบวนการทางการศึกษาเพื่อสร้างคนดังที่พึงประสงค์ และเป็นกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม อยู่ในตนเอง

กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในชีวิต โดยปัจเจกต้องพัฒนาการเลือกสรรการเรียนรู้อย่างมีความหมายอันลึกซึ้งสะเทือนอารมณ์ในลักษณะนี้ นับว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของปัจเจกในการเข้าสู่สถานการณ์การเรียนรู้ที่ต้องใช้ทักษะความเป็นผู้สังเกตการณ์ทั้งต่อปรากฏการณ์ภายนอกและสิ่งที่เกิดขึ้นด้านในของปัจเจก กิจกรรมการปฏิบัติต่างๆทั้งในระดับบุคคล ระดับกลุ่มย่อย และในระดับหลอมรวมเข้ากับความเป็นทั่วไปของกลุ่มใหญ่ จึงจัดว่าเป็นกิจกรรมและการปฏิบัติของกระบวนการทางสุนทรียปัญญา (Knowledge-Intellectual-Aesthetic practice) ปัจเจกเป็นผู้สร้างการเรียนรู้ด้วยความริเริ่มทางการปฏิบัติ (Active learning) พัฒนาโครงสร้างปัญญาและโครงสร้างการเรียนรู้อย่างบูรณาการ จากมวลประสบการณ์ของการปฏิบัติ (Integrated Learning Through Practice)

การเข้าถึงจุดหมายความรู้ความจำ (Knowledge and Information Learning) ประกอบด้วยเรื่องราวทางสังคม ประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางสังคม ทั้งพัฒนาการเชิงเดี่ยวและพัฒนาการของความแตกต่างหลากหลาย ความรู้เกี่ยวกับระบบสังคมและลักษณะเฉพาะบางประการของสังคมไทยที่เกี่ยวข้องรอบด้านกับเหตุการณ์ ครอบคุลมไปจนถึงความรู้ความเข้าใจในเชิงเทคนิคปฏิบัติใกล้ตัว โดยเฉพาะการเพิ่มพูนประสบการณ์และการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อ สื่อศิลปะ การเขียนภาพความคิด เครื่องมือ กระดาษ ระบบขยายศักยภาพสื่อเสียง สื่อทัศนภาพ ความรู้เชิงศัพท์เทคนิค

ในด้านความเข้าใจ ประกอบด้วยกระบวนการเพื่อเข้าถึงความรู้ความเข้าใจหลายระดับ ที่สำคัญคือ การพัฒนาการรับรู้และขยายขอบข่ายความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของสังคมที่กำลังเกิดขึ้น นัยสำคัญต่อสังคมไทยและต่อความเติบโตงอกงามในภายหน้านับจากปัจจุบันและการจัดความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ต่างๆอย่างมีความหมายเฉพาะตน

นอกจากนี้ ก็ประกอบไปด้วยการสร้างความเข้าใจและรู้แจ้งผ่านการปฏิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพและศาสตร์สาขาของนักนิเทศศาสตร์ โดยเฉพาะที่เชื่อมโยงใกล้ชิดกับการพัฒนาการเรียนรู้ในรายวิชาเทคโนโลยีสื่อและการสื่อสารเพื่อการเกษตร เช่น การสื่อสารและจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นชุมชน ขั้นตอนปฏิบัติการสื่อและการพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ ระบบวิธีคิด เกี่ยวกับศิลปะและสื่อภาพเชิงสะท้อนความหมาย เหล่านี้เป็นต้น ในด้านทักษะการปฏิบัติ เป็นการให้ประสบการณ์ตรงเพื่อเพิ่มพูนทักษะและสร้างความชำนาญต่อวิธีเขียนภาพข้อมูลและภาพความคิด การสเก๊ตช์แนวคิดและการขยายสู่การวาดภาพจริง ของการแบ่งปันประสบการณ์และถ่ายทอดการเรียนรู้ การนำเสนอและบรรยายต่อชุมชน

ในด้านสุนทรียปัญญา เป็นกระบวนการเข้าถึงความสั่นสะเทือนต่ออารมณ์ ความรู้สึก จิตใจ ด้วยกระบวนการใคร่ครวญ กอปรด้วยการเจริญสติทั้งระดับบุคคลและกลุ่มก้อน นำเข้าสู่กระบวนการและเชื่อมต่อกระบวนการต่างๆด้วยความละเอียดอ่อน เน้นสื่อและกระบวนการเสริมสร้างทักษะการสื่อสารภายใน เช่น การร้องเพลงพระราชนิพนธ์และเพลงเทอดพระเกียรติ การจัดหาเครื่องเขียน ปากการะบายสีหลากสี กระดาษวาดรูป สีเกรยอง ซึ่งให้ผลสวยงาม มีคุณภาพ และยืดหยุ่นต่อความสนใจหลากหลายของกลุ่มนักศึกษา

นอกจากนี้ นักศึกษาสามารถริเริ่มและสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการศึกษาค้นคว้าข้อมูลโดยการใช้สื่อออนไลน์ คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต เพื่อประกอบการศึกษาค้นคว้าข้อมูลสำหรับพัฒนาการคิดและสร้างเรื่องราวในการเขียนภาพการคิด

(2) การออกแบบกระบวนการและการจัดองค์ประกอบ ออกแบบแนวคิดและกรอบดำเนินการ เพื่อยืดหยุ่นกิจกรรมและการดำเนินการต่างๆ ให้สอดคล้องไปตามสภาพความเหมาะสมจากรอบด้าน ดังนี้

การออกแบบกระบวนการและการจัดองค์ประกอบ

3.1 การบอกจุดหมายและแนวคิดรวบยอด นำเข้าสู่กระบวนการ ทบทวนสถานการณ์สังคม
3.2 การแนะนำเครื่องมือและวิธีทำงาน แสดงตัวอย่างการคิดและวาดภาพ เสริมพลังใจ
3.3 การให้นักศึกษาวาดภาพความคิด
3.4 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอภิปราย
3.5 การสรุปบทเรียน เสริมความรู้เชิงทฤษฎี และเสริมพลังใจ
3.6 การถ่ายภาพหมู่

(4) สถานะและบทบาทของผู้เรียน

กระบวนการต้องการผู้เรียนที่ตื่นตัว มีส่วนร่วม กล้าคิด กล้าแสดงออก เป็นศูนย์กลางของการยืดหยุ่นของกระบนการทั้งหมดให้เกื้อหนุนและส่งเสริมการทำงานความคิดและการวาดภาพความคิด

(5) สถานการณ์การเรียนรู้และการนำเสนอ

ต้องการการเริ่มต้นและมีส่วนร่วมด้วยความพร้อมเป็นหมู่คณะของนักศึกษา บรรยากาศแวดล้อมมีความสงบ อยู่ในภาวะที่เอื้อต่อการเกิดความรู้สึกดีงาม ลึกซึ้ง แยบคาย สร้างปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารแบบ 2 ทาง หยิบยกเหตุการณ์และอธิบายให้ได้ความคิดความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆไปด้วยอย่างผสมผสาน

(6) สื่อ เทคโนโลยีการศึกษา และสิ่งเสริมพลังดำเนินการ

ใช้สื่อและโสตทัศนูปกรณ์ผสมผสาน โดยเน้นการเสริมกระบวนการคิดและให้มีความเพียงพอต่อการวาดภาพเป็นกลุ่มหมุนเวียนกันได้อยู่ตลอดเวลาโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ประกอบด้วยดังนี้

6.1 ปากกาเคมีตราม้า เขียนได้ 2 ด้าน ปากกลมและปากแบน สีแดง น้ำเงิน ดำ และเขียวอ่อน สีละ 6 ด้าม
6.2 แท่งถ่านเกรยอง บรรจุกล่อง 6 แท่ง 1 กล่อง ประกอบด้วย สีดำ เทา น้ำตาลเข้ม น้ำตาลอ่อน สีเหลืองน้ำตาล สีครีม เพื่อใช้ระบายสีพื้นหรือตบแต่งภาพรวม
6.3 กระดาษขาวอย่างดี 80 แกรม หน้ากว้าง 90 เซนติเมตร x ยาว 5 เมตร
6.4 เทปกระดาษหนังไก่ 1 นิ้ว 2 ม้วน เทปกาวสันปกหนังสือ 2 นิ้วสีดำ 1 ม้วน
6.5 คัดเตอร์ 1 อัน
6.6 ภาพบนปฏิทินพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เป็นภาพเขียนทรงคล้องกล้องถ่ายภาพอยู่บนพระศอ
6.7 เครื่องเสียงและระบบเสียงในห้องเรียน ปรับแต่งเสียงโดยเน้นความไพเราะนุ่มนวลของเสียงเพลงที่ใช้ประกอบดำเนินการกิจกรรม
6.8 จอฉายภาพ ใช้ฉายภาพลงบนผนังห้องเรียน
6.9 สื่อพาวเวอร์พ๊อยต์สำหรับนำเสนอในห้องเรียนเพื่อประกอบการบรรยายและดำเนินกิจกรรม
6.10 สื่อออนไลน์เพื่อให้ข้อมูลและแนะนำการเตรียมตัวเพื่อการมีส่วนร่วมกิจกรรมของนักศึกษา
6.11 เพลงพระราชนิพนธ์คาราโอเกะจากคลิปออนไลน์เพลงความฝันอันสูงสุด และเพลงต้นไม้ของพ่อคาราโอเกะ
6.12 บอร์ดตั้งดัดแปลงโดยใช้โต๊ะในห้องตั้งขึ้นและวางคู่กัน 2 ตัว
6.13 สื่อออนไลน์ facebook ของแต่ละกลุ่มเรียน สำหรับสื่อสาร ให้นักศึกษาส่งงาน เผยแพร่สื่อการเรียนการสอน บันทึกและสรุปการบรรยาย
6.14 กล้องถ่ายภาพดิจิตัล บันทึกเสียงและถ่ายทำภาพเคลื่อนไหวได้ในตัวเอง

(7) บรรยากาศและสภาพแวดล้อม

จัดสภาพห้องให้ลดความเป็นทางการ เปิดบริเวณหน้าห้องเรียนให้เป็นที่ว่างสำหรับเดินไปวาดภาพบนผนังได้เป็นกลุ่ม เปิดแสงสว่างในห้องให้ทั่วถึง จัดวางวัสดุเครื่องเขียนไว้ให้หยิบและวางเป็นสัดส่วนที่หน้าห้อง

(8) การเตรียมพื้นฐานและปัจจัยเริ่มต้น

กิจกรรมและการดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่เกี่ยวเนื่องกัน

8.1 การสื่อสารและแจ้งแก่นักศึกษาทางสื่อออนไลน์ของกลุ่มเรียน โดยดำเนินการล่วงหน้า 1 คืนของวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 ภายหลังการได้ทราบกันอย่างเป็นทางการถึงการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ โดยบอกถึงกระบวนการและการเตรียมตัวต่างๆเพื่อมีส่วนร่วมในการทำหมายเหตุชีวิต รวมทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ทางสังคม ซึ่งในอนาคตจะเป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ที่นักศึกษาจะย้อนรำลึกความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในชีวิตตนเองได้อย่างมีความหมาย
8.2 การเตรียมการรับรู้ของนักศึกษาก่อนเริ่มกระบวนการในวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2559 โดยการบรรยายและเล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับลักษณะเฉพาะของสังคมไทย ความเป็นประมุขของกษัตริย์ไทยและบทบาทต่อพัฒนาการที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ความหมายของสิ่งที่ทำในอนาคตต่อนักศึกษา
8.3 กลุ่มเรียนที่ 2 ในช่วงเช้า ได้จัดกระบวนการนำเสนอรายงานจากกิจกรรมให้นักศึกษาไปสำรวจและเรียนรู้เทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆในมหาวิทยาลัยแม่โจ้โดยใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมงซึ่งทำให้เหลือเวลาทำกิจกรรมอย่างจำกัด จึงต้องเตรียมบรรยากาศให้มีความเป็นสมาธิด้วยการอัญเชิญและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์โดยนักศึกษาซึ่งเป็นนักร้องของวงดนตรีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วย

บทบาทของครูอาจารย์และผู้สอน

กระบวนการต้องการบทบาทของครูอาจารย์และผู้สอนหลายด้านในจังหวะที่เหมาะสม ดังนี้

9.1 เป็นผู้บรรยายถ่ายทอดให้ข้อมูลสร้างการเรียนรู้ (Lecturer) บรรยายและเล่าเรื่องถ่ายทอด ให้การรับรู้และจัดระบบวิธีคิดให้เห็นแง่มุมที่มีความหมาย
9.2 เป็นผู้สอนและชี้แนะเพื่อเข้าสู่การเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ (Instructor) แนะนำขั้นตอน
9.3 เป็นผู้จัดกระบวนการและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ (Learning Facilitation)
9.4 เป็นผู้กำกับการเรียนรู้ (Master of Learning Process) ให้การสรุป จัดกระบวนการอภิปราย และคอยกำกับวาระการดำเนินกิจกรรม ตลอดจนแก้ปัญหาและยุติกระบวนการต่างๆ

โจทย์และประเด็นเพื่อการคิดและวาดภาพ

(1) มีแรงบันดาลใจจากแบบอย่างและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศอย่างไรบ้าง และสะท้อนไปเป็นความมุ่งหวังเพื่อพัฒนาตนเองและมีส่วนร่วมสร้างสิ่งดีแก่สังคมในอนาคตอย่างไรบ้าง ให้นักศึกษาวาดออกมาเป็นภาพ
(2) แลกเปลี่ยนแบ่งปันแนวคิด ความหมาย และสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของภาพที่นักศึกษาวาด
ขั้นตอนการดำเนินการ

(1) ติดกระดาษสำหรับวาดภาพความยาว 5 เมตรบนผนังห้องเรียน
(2) จัดวางวัสดุเครื่องเขียนไว้ให้หยิบและวางโดยง่ายบริเวณหน้าห้องเรียน
(3) นำเข้าสู่รายการด้วยบรรยากาศที่มีจิตใจอันสงบ ครุ่นคิด เป็นสมาธิ เป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ ใช้ความรู้และความบันดาลใจจากในหลวง
(4) จัดเวลาให้นักศึกษาวาดภาพ กลุ่มเรียนที่ 2 ในช่วงเช้าใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง กลุ่มเรียนที่ 1 ในช่วงบ่ายใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยวาดภาพบนกระดาษแผ่นเดียวกัน กลุ่มเรียนที่ 1ในตอนบ่ายวาดภาพต่อเนื่องจากการวาดภาพของกลุ่มเรียนที่ 2 ในช่วงเช้า
(5) จัดเวลาให้นักศึกษาอธิบายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิด ความหมาย และความบันดาลใจจากในหลวงในพระบรมโกศที่บันทึกและถ่ายทอดด้วยภาพ
(6) สรุปกระบวนการ
(7) อาจารย์ผู้สอนถ่ายภาพและบันทึกข้อมูลต่างๆอย่างรอบด้านถ่ายภาพหมู่เป็นที่ระลึกและเป็นสื่อเผยแพร่ต่อไป

ผลดำเนินการและภาพความบันดาลใจของนักศึกษา

(1) นักศึกษาหมุนเวียนกันวาดภาพความคิดอย่างอิสระ กระจายการวาดภาพพร้อมกันไปบนกระดาษซึ่งติดบนผนังห้องเรียนยาวประมาณ 5-6 เมตร
(2) ประเด็นความบันดาลใจจากในหลวง ที่สะท้อนการมุ่งนำไปใช้ในอนาคตของนักศึกษา และปรากฏอยู่ในภาพความคิดของนักศึกษา
- เศรษฐกิจพอเพียง
- การชลประทานและการกสิกรรม
- การออมและประหยัดมัธยัสถ์
- การเป็นชีวิตจิตใจและเป็นพลังใจตลอดไป
- การอุทิศตนต่อประเทศชาติและแผ่นดิน
- การพัฒนาตนเองเพื่อเจริญรอยตามพระกรณียกิจด้วยการเป็นสื่อที่มีบทบาทต่อการสร้างสิ่งดีในสังคม
- การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและระบบธรรมชาติบนถิ่นฐาน
- การพัฒนาการศึกษาเรียนรู้
- การเป็นอาสาสมัครและมุ่งสร้างสังคมด้วยพลังจิตอาสา
(3) หลังจากเขียนแล้วก็ให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความมุ่งหวังต่างๆสู่กันฟัง แล้วก็ถ่ายภาพร่วมกันไว้เป็นหมายเหตุชีวิตเล็กๆ เอาไว้เป็นพลังชีวิตและได้รำลึกถึงในอนาคต
(4) อาจารย์ผู้สอนถ่ายภาพจากภาพวาดของนักศึกษาทั้งภาพกว้างและภาพรายละเอียดเฉพาะจุดทุกภาพของนักศึกษาทั้งสองกลุ่ม
(5) อาจารย์ผู้สอนบันทึกและทำสื่อเผยแพร่ออนไลน์ เผยแพร่ผลงานของนักศึกษา ส่งให้กลุ่มเรียนรู้ทางสื่อออนไลน์
(6) อาจารย์ผู้สอนเผยแพร่กิจกรรมและผลการเรียนรู้ของนักศึกษาในสื่อ facebook และสื่อออนไลน์ youtube เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นของจริงจากตนเองในการผลิตและเผยแพร่สื่อเพื่อสังคมในมิติใหม่ๆที่อยู่ในสิ่งรอบตัวของตนเอง
(7) อาจารย์ผู้สอนตรวจสอบข้อมูลและทำบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมและข้อมูลเกี่ยวกับผลงานการวาดภาพความคิดความมุ่งหวังของนักศึกษาไว้ให้นักศึกษาในอนาคต
(8) คงการติดตั้งภาพวาดของนักศึกษาไว้บนผนังห้องเรียน เพื่อให้นักศึกษากลุ่มต่างๆได้ดูเป็นสื่อการศึกษาเรียนรู้ต่างๆไประยะหนึ่ง การวาดภาพของนักศึกษาให้ความน่าสนใจหลายด้าน ทำให้นักศึกษารุ่นพี่ที่เห็นการทำกิจกรรมของนักศึกษาให้ความสนใจในการชมและเรียนรู้แนวคิดต่างๆที่ปรากฏอยู่ในภาพวาด

นอกจากนี้ ภายหลังการวาดภาพและเห็นภาพรวมที่ปรากฏ ซึ่งนอกจากมีความเป็นสื่อที่สวยงาม น่าสนใจ ทำให้เกิดจินตภาพและสื่อความหมายที่ดีได้หลายแง่แล้ว ก็เป็นพลังหนุนเสริมให้ยิ่งเกิดกระบวนการคิดมากยิ่งๆขึ้น ทำให้นักศึกษาอีกจำนวนหนึ่งยังคงหมุนเวียนเขียนภาพความคิดและแต่งเติมรายละเอียดของตนเองและของเพื่อน สื่อสะท้อนให้เห็นถึงการทำด้วยใจและการเกิดพลังการคิดที่ดี สอดคล้องกับความคาดหวังของการจัดกระบวนการ ‘ภาพเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน....เจริญรอยตามพระปณิธานในหลวง' ในครั้งนี้ ได้เป็นอย่างดี

สรุปบทเรียนและการสะท้อนความบันดาลใจ

การเรียนรู้อย่างมีความหมายจากสถานการณ์ของการเปลี่ยนผ่านทางสังคมครั้งนี้มีความหมายทั้งต่อสังคมไทยและต่อความเป็นประสบการณ์ตรงของผู้คนที่ร่วมสมัยกับเหตุการณ์ กระบวนการพัฒนาการคิดและวาดภาพ ‘เมล็ดพันธุ์ของแผ่นดิน… เจริญรอยตามพระปณิธานในหลวง’ ที่จัดให้เป็นการสร้างประสบการณ์อย่างมีความหมายต่อเหตุการณ์ทางสังคมแก่นักศึกษา เสมือนเป็นการพาคนรุ่นหลังให้ก้าวข้ามการเปลี่ยนผ่านทางสังคม โดยแปรความรู้สึกร่วมของสังคมจากความโศกเศร้า พลัดพราก และชะงักงัน ให้เป็นการมีพลังความมุ่งหวัง กอปรด้วยสติ การใคร่ครวญ การมีศรัทธาด้วยการปฏิบัติต่อการพัฒนาชีวิตตนเองและสังคม รวมทั้งได้ลุกขึ้นมาสร้างหมายเหตุชีวิต ได้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มพูนความลึกซึ้งแยบคายต่อการเป็นพลเมืองและมีส่วนร่วมในการเลือกสรรวิถีแห่งการเติบโตงอกงามไปเป็นผู้นำการพัฒนาของสังคมในอนาคต มีความศรัทธาที่ดำเนินควบคู่ไปกับกระบวนการทางปัญญาและการเรียนรู้ให้บรรลุมรรคผลในทางปฏิบัติ

เป็นก้าวแรกในวันแรกบนประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของสังคมไทย ที่ทุกคนร่วมสร้างให้มีความหมายบนวิถีปฏิบัติในชีวิตการงานของตนเอง.

ภาพประกอบ : โจทย์และกระบวนการ


ภาพบรรยากาศการหมุนเวียนวาดภาพ การนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การอภิปราย


การถ่ายภาพหมู่หลังสรุปผลการวาดภาพและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้



ผลจากกระบวนการคิด การวาดภาพ และประเด็นความบันดาลใจจากในหลวง

หมายเลขบันทึก: 617047เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2016 16:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2016 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ทำให้คิดได้ว่า

เราต้องแปรความทุกข์

ให้เป็นปัญญา

ขอบคุณค่ะ

พาพวกเขาทำหมายเหตุชีวิตไปด้วยครับ ผมบอกพวกเขาว่าเมื่อจบไปทำงานทำการ แก่เฒ่าในภายหน้า จะได้เป็นเครื่องย้อนรำลึกให้มีความหมายบนรายทางของชีวิต

ขอบคุณอาจารย์ที่ทำหน้าที่ได้อย่างดีในวันที่เศร้าที่สุดวันหนึ่งในชีวิตของคนไทยนะคะ

ช่วงต้นๆเป็นวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม ไม่ใช่วันศุกร์น่ะค่ะ แต่ช่วงห่วงหลังๆตรงแล้วค่ะ

ขอบคุณอย่างมากเลยครับอาจารย์ ผมท่าจะเบลอไปหน่อย

สวัสดีครับพี่ใหญ่ครับ ขอบพระคุณที่นำภาพที่แสนงดงามมาแบ่งปันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท