​ในช่วงเวลานี้ "อ่อนไหว" ควรไปด้วยกันกับ "อ่อนโยน"


ในช่วงเวลานี้ "อ่อนไหว" ควรไปด้วยกันกับ "อ่อนโยน"

สภาพจิตใจของคนเรามันแปรเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์และบริบท ง่ายๆคือสภาวะ "ปกติ" กับ "เปราะบาง" เปรียบเสมือนเป็น "สีพื้น" ของอารมณ์ของเรา และพลอยเป็น "สีพื้น" ของพฤติกรรมของเราไปด้วยทั้งการคิด การพูด และการกระทำ ในสภาวะปกติเวลาใครมาตีเบาๆที่แขน ขา เราก็แค่คันๆ อาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ในสภาวะที่เรามีแผลสด แค่ลมโชยมากระทบ น้ำหยดลงบนแผลก็แสบเข้าไปถึงไหนๆ เหมือนภูมิคุ้มกัน ตอนปกติเราแข็งแรงดี เจอไอ เจอจาม เจอฝุ่น ก็ยังสบายๆ แต่เวลาภูมิคุ้มกันลดลง เราอาจจะเป็นโรคที่เราไม่เคยเป็นเลยก็ได้ ล้มหมอนนอนเสื่อกันไป

ภาษาไทยถึงมีคำพิเศษคำหนึ่งคือ "ตรอมใจ" แสดงว่าเรารู้ซึ้งถึงความเชื่อมโยงของจิตใจกับสุขภาวะมานานมากแล้ว

มีภาพยนต์เรื่องหนึ่ง เรื่อง WIT ที่นางเอกเป็นศาสตราจารย์ทางวรรณศิลป์ เชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านปรัชญาแห่งความตาย พอตัวเองเป็นมะเร็งรังไข่ระยะลุกลาม ก็ยังคิดว่าสามารถจะใช้ "ความฉลาด" จัดการกับทุกข์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ ใช้นิยาม ใช้คำจำกัดความ ใช้ความรู้ ใช้ความเข้าใจ หวังว่าความฉลาดจะรักษา "ปกติ" เอาไว้ได้ เยียวยาทุกข์ได้ แต่สุดท้ายก็พังทลายลงเมื่อทุกเรื่องราวมันไม่เป็นไปตาม "เหตุผล" และเธอพบว่าสิ่งสุดท้ายที่อยากจะได้ก็คือ "ความรัก และความเมตตา" ต่างหาก อยากจะได้อ้อมกอดไม่ใช่ protocol การรักษาต่างหาก อยากจะได้มนุษย์และมิตรภาพ ไม่ใช่ "ห้องแยก" ต่างหาก

มนุษย์เราหยิบยืมพลังพิเศษมาจากการ "ให้ความหมาย" เพราะเราเป็นสัตว์สังคม และเราเป็นสัตว์ที่สามารถมองเห็นอะไรที่เหนือไปกว่าสัมผัสทางกาย ทางความรู้สึก เราไม่เพียงอยู่เพื่อการอยู่รอด หรืออยู่ร่วมกัน แต่เราสามารถที่จะ "อยู่อย่างมีความหมาย" ได้อีกขั้นหนึ่ง จากภาษาเราจึงสร้าง "บทกวี" จากบทกวีเราจึงสร้าง "บทเพลง ลำนำ ดนตรี" เราบทเพลงเราจึงสร้าง "นาฎศิลป์" และจากนาฎศิลป์เราจึงสร้าง "พิธีกรรม" เพื่อที่จะขยายความหมายที่ต้องการจะสื่อนั้นให้ได้มากที่สุด เท่าที่ "หัวใจ" ของเราจะรับรู้่ได้ (ไม่เพียงแค่ "สมอง" หรือความฉลาดเท่านั้น)

ทุกๆพิธีกรรมจึงมีที่มา เป็นสัญญลักษณ์ที่ต้อง "สื่อ" อะไรบางอย่าง เมื่อไรก็ตามที่เราสูญเสีย "การสื่อ" ที่ว่านี้ไป พิธีกรรมเหล่านั้นก็จะด้อยความหมายลงไป หรืออาจจะไม่มีความหมายอะไรเลย

เช่นการ "กราบ" ประเด็นไม่ได้อยู่ที่องศา อยู่ที่ศอกต่อเข่า อุณาโลมจรดดิน แต่ประเด็นอยู่ที่เราขอ "น้อมรับต่อคุณความดีที่ถือว่าสูง" เราจึงทำตัวให้ต่ำ ก้มศีรษะให้สิ่งที่สูง และอาราธนาคุณงามความดีนั้นๆเป็นของๆเรา เราอาจจะพิมพ์ _/\_ เป็นกราบก็ได้ ขอให้เรากำลังน้อมรับคุณความดีที่ถือว่าสูงเป็นของๆเรา เราก็กำลังกราบอยู่ หรือในทางตรงกันข้าม แม้ว่าเรากราบอยู่ แต่สายตาชำเลืองไปดูคนอื่นที่กราบไม่สวย กราบไม่ถูก protocol กราบงกๆเงิ่นๆแล้วจิตไปหมกมุ่นกับเรื่องเหล่านั้น เราเองที่ "ไม่ได้กำลังกราบอย่างแท้จริง"

ตอนนี้สังคมกำลังอยู่ในสภาวะจิตใจไม่ปกติ แผลที่เกิดขึ้นเป็นแผลสดสำหรับคนจำนวนมาก บางคนก็อาจจะเริ่มหายเร็ว บางคนก็จะหายช้า หรือมีบางคนที่ไม่ได้มีแผลอะไรเลยก็มีด้วย แต่ "ทุกๆคนต้องการการเยียวยาทั้งสิ้น" (แม้แต่คนที่ไม่มีแผล แต่คิดหรือว่าอยู่ท่ามกลางคนที่ทุกข์ แล้วเราจะไม่กระทบ?) เราอาจจะ "อ่อนไหว (sensitive)" กับพิธีกรรมที่เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทำอะไร แบบไหน อย่างไร และสำคัญที่สุดคือหมายความว่าอะไร เป็นสัญญลักษณ์ถึงเรื่องอะไร แต่เมื่อเราเห็นคนอื่นที่ทำแบบอื่น เราอย่ารีบไปด่วนตัดสินเขาได้ไหม เขาอาจจะกำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้วเพื่อที่จะเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำอยู่

เราพาลูกไปร้านอาหาร ลูกแคะขี้มูกบนโต๊ะ เราจะตบกระโหลกลูกแล้วสอนว่าห้ามทำแบบนี้ไหม? หรือเราจะสอนเขาอย่างไร เราจะประจานเขาในร้านว่าทำแบบนี้มันโลโครก ไม่มีการศึกษา ไม่เข้าใจมารยาทไหม หรือเราจะทำอย่างไร การสอนเรื่องราวที่ถูกต้องนั้น ไม่ได้สำคัญที่ "เนื้อหา" อย่างเดียว แต่สำคัญที่การกระทำ การสอน การแสดงออกด้วย ซึ่งต้องอาศัยความ "อ่อนโยน" มาใช้ เมื่อไรที่เรา "จิตหลุด จิตตก" ไม่สามารถจะสื่อ จะสอน จะแนะนำด้วยความอ่อนโยนได้นั้น แปลว่าเราเองที่ต้องการการเยียวยา โลกแห่งระเบียบของเรามันสั่นคลอน เรารู้สึกไร้การควบคุม และเรากำลังเปราะบาง จนกระทั่งบีบบังคับให้เราต้องใช้ความดุดัน aggressive เพราะที่แท้เราเองก็หมดพลังที่จะรัก หมดพลังที่จะดูแลคนอื่น เราดุดัน และ aggressive ต่อเมื่อเรากำลังจนตรอก เรากำลังดูแลตนเองเท่านั้น

ส่วนตัวผมชอบ protocol เพราะมันมีที่มาที่พิศดารและลึกซึ้ง ยิ่งพระราชพิธีอะไรต่างๆ จะทำอย่างนี้ตอนนี้ ก่อนหรือหลัง ทำอย่างไร ฯลฯ มันมีที่มาทั้งสิ้น หากทางการยังคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ ก็ควรจะสื่อสารให้ชัดเจน และไม่เพียงแค่ "ทำอะไร อย่างไร เมื่อไร" เท่านั้น ควรจะบอกด้วยว่า "สัญญลักษณ์เหล่านี้มันสะท้อนคุณงามความดีในด้านใด" บ้าง เราจะได้ไม่เพียงแค่ "จำ" แต่จะได้อาราธนาความหมาย มงคล สิริมคล เหล่านั้นมาประดับชีวิตเราเองด้วย เพราะสุดท้ายพิธีกรรมทุกอย่าง ไม่เคยที่จะออกแบบมาเพื่อจะทำร้ายคน เพื่อกระตายตวามเกลียดชัง ดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ทุกๆพิธีกรรมของมนุษย์จะแฝงการเยียวยาหัวใจมนุษย์ไว้ด้วยเสมอ แฝงคุณค่าที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ทุกๆคนคือความรัก ความดี และความงามไว้ด้วยเสมอ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตรรกะอย่างเดียว แต่เป็นสุนทรีย์ เป็นศักยภาพที่แท้แห่งมนุษย์

เราลองอ่อนโยนต่อตัวเอง อ่อนโยนต่อครอบครัว อ่อนโยนต่อเพื่อนมนุษย์กันเถิด แล้วเราจะก้าวพ้นความทุกข์ไปด้วยกันทั้งหมด

นายแพทย์สกล สิงหะ
บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๗ นาฬิกา ๒๑ นาที
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก (วันออกพรรษา)

คำสำคัญ (Tags): #อ่อนไหว#อ่อนโยน
หมายเลขบันทึก: 617083เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2016 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2016 17:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เราลองอ่อนโยนต่อตัวเอง อ่อนโยนต่อครอบครัว อ่อนโยนต่อเพื่อนมนุษย์กันเถิด แล้วเราจะก้าวพ้นความทุกข์ไปด้วยกันทั้งหมด....

ขอบคุณค่ะ ทำให้เยียวยาตัวเองได้บ้าง

ขอบคุณอาจารย์ สำหรับบทความที่ช่วยเยียวยาจิตใจในครั้งนี้ค่ะ ขออนุญาตแบ่งปันต่อนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท